http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (12 มกราคม 2564) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่
กองทุนวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม)
2. เรื่อง ร่างกฎหมายตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. ….
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณหมู่เกาะกระ ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง พ.ศ. ....
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ
จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ....
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ....
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหารต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่.. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากภาครัฐตามมาตรการหรือโครงการอันเนื่องมาจากการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019)
10. เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
11. เรื่อง การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022
12. เรื่อง การทบทวนหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
13. เรื่อง รายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่จะเสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
14. เรื่อง ขออนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปกระทรวงยุติธรรม
15. เรื่อง แผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ (ทุนเสมอภาค)
16. เรื่อง รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563
17. เรื่อง แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563-2580
18. เรื่อง รายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2562
19. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร
20. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนพฤศจิกายน 2563
21. เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19)
22. เรื่อง ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ พ.ศ. 2563
23. เรื่อง ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม
24. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ระยะที่ 5
25. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม
ครั้งที่ 1/2564 (โครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019)
26. เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน(เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2564) จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส
โคโรนา 2019 ในระลอกใหม่
27. เรื่อง มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
28. เรื่อง การรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเอเปค พ.ศ. 2563 – 2567
29. เรื่อง เอกสารที่จะมีการรับรองในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล
ครั้งที่ 1
30. เรื่อง ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
31. เรื่อง ผลการประชุมทางไกลระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 10
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
33. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
34. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร
35. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
****************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
กค. เสนอว่า
1. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535 ถูกยุบเลิก และได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติขึ้น รวมทั้งได้โอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และเงินของกองทุนสนับสนุนการวิจัยไปเป็นของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมด้วย
2. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมขอให้ กค. พิจารณาขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการหักเงินบริจาคเป็นจำนวนสองเท่าตามมาตรการภาษีในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรฯ ซึ่งได้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ออกไปอีก เพื่อให้เป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมและส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมสนับสนุนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจูงใจให้มีการบริจาคเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้ในการดำเนินงานด้านพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม) ขึ้น โดยได้กำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่ผู้บริจาคที่ได้บริจาคให้แก่กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแทนกองทุนสนับสนุนการวิจัยซึ่งถูกยุบเลิก และกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข นับแต่วันที่ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
4. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยรายงานว่ามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 5 ล้านบาท แต่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับมีดังนี้
4.1 ช่วยในการจูงใจให้ภาคเอกชนบริจาคให้แก่กองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศ
4.2 เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อดำเนินการและสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นกลไกสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
สาระสำคัญของร่างพระราชฤษฎีกา
1. กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินให้แก่กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข สามารถนำเงินที่บริจาคมาหักเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าลดหย่อนได้สองเท่าของจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายสำหรับการบริจาคตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของเงินที่ได้จ่ายตามกรณีที่กำหนดไว้ ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนแล้ว
2. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้แก่กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข สามารถนำเงินที่บริจาคมาหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรซึ่งกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาแล้ว ตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
3. การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวทั้งหมดข้างต้น มีผลใช้บังคับสำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่กองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
2. เรื่อง ร่างกฎหมายตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ กค. รับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. โดยที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ และเพื่อให้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบงานให้สอดคล้องกับระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งจูงใจให้ผู้ประกอบการใช้งานระบบการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e – Withholding Tax) อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยการลดต้นทุนและปริมาณเอกสาร อันจะเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเปลี่ยนรูปแบบองค์กร (Digital Transformation) ของทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 ตลอดจนสร้างเสริมการปรับตัวให้เข้ากับความปกติใหม่ (New Normal) ในการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโรนา 2019
2. กค. พิจารณาแล้ว จึงเห็นควรขยายระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนของการลงทุนพัฒนาระบบ e – Tax Invoice & e – Receipt และระบบ e – Withholding Tax และการใช้บริการระบบ e - Tax Invoice & e – Receipt ของผู้ให้บริการ แต่ไม่รวมถึงการลงทุนติดตั้งเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) ซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบดังกล่าว และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ครอบคลุมถึงการใช้บริการระบบ e – Withholding Tax ของผู้ให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และเห็นควรขยายระยะเวลามาตรการภาษีตามมาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในส่วนที่มีอัตราร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 361 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ และเพิ่มเติมการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวให้ครอบคลุมในส่วนที่มีอัตราร้อยละ 5 เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
3. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว ดังนี้
3.1
ประมาณการการสูญเสียรายได้
3.1.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมาณ 3,000 ล้านบาท
3.1.2 ร่างกฎกระทรวงฯ จะไม่ทำให้สูญเสียรายได้ภาษี แต่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาดำเนินมาตรการประมาณ 24,840 ล้านบาท (รวมผลจากการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 361 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้แล้ว) ซึ่งกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะเป็นเม็ดเงินที่หมุนเวียนเพิ่มมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจต่อไป
3.2
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
3.2.1 ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
3.2.2 ภาคเอกชนจะมีการใช้ระบบ e – Withholding Tax อย่างแพร่หลายในการทำธุรกรรมระหว่างกันและการทำธุรกรรมกับภาครัฐ ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการแปลงเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
3.2.3 ภาคเอกชนจะมีต้นทุนและภาระในการจัดทำและการจัดเก็บเอกสาร รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลง
จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง
1.
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนพัฒนาระบบ e – Tax Invoice & e – Receipt และระบบ e – Withholding Tax และการใช้บริการระบบ e - Tax Invoice & e – Receipt ของผู้ให้บริการ แต่ไม่รวมถึงการลงทุนติดตั้งเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale : POS) และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ครอบคลุมถึงการใช้บริการระบบ e – Withholding Tax ของผู้ให้บริการ ได้เป็นจำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับรายจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
2.
ร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 361 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ โดยขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตราร้อยละ 3 เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 361 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในส่วนที่มีอัตราร้อยละ 5 เหลืออัตราร้อยละ 2 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e – Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติดังนี้
1. เห็นชอบตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
2. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมตามประเด็นข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า
1) โดยที่พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 มาตรา 4 บัญญัติให้ “เขตป่าอนุรักษ์” หมายความว่า เขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หรือเขตพื้นที่อื่นใดที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือคุณค่าอื่นอันควรแก่การอนุรักษ์หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ดังนั้น เพื่อเป็นการสงวนและรักษาเขตพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือคุณค่าอื่นอันควรแก่การอนุรักษ์ หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในบางพื้นที่ไว้ให้ยังคงอยู่ในสภาพตามธรรมชาติเดิม และมิให้นำไปจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ทส. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. …. เพื่อกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ซึ่ง ทส. ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด (30 พฤษภาคม 2563) และได้รายงานคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563
2) ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามข้อ 1) และให้ดำเนินการต่อไป
3) ทส. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับร่างกระทรวงฉบับนี้ตามมาตรา 16 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดทำหนังสือเวียนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นโดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมเสนอความคิดเห็นแล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎกระทรวงฉบับนี้แล้วมีข้อสังเกตว่า หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้เขตพื้นที่ที่จะกำหนดในร่างกฎกระทรวงนี้ครอบคลุมถึงเขตพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวหรือเป็นพื้นที่เปราะบางของระบบนิเวศด้วย ก็จะทำให้การอนุรักษ์สอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหัสวรรษ อาทิ พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยแท้จริง หากสูญเสียสภาพป่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้พื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติ หรือมีคุณค่าแก่การอนุรักษ์หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นเขตป่าอนุรักษ์ที่มิให้นำมาจัดตั้งเป็นป่าชุมชน ได้แก่ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ พื้นที่ป่าที่ได้รับการประกาศหรือขึ้นทะเบียนไว้กับองค์การระหว่างประเทศ พื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ พื้นที่ป่าที่เป็นเขตโบราณสถาน
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณหมู่เกาะกระ ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณหมู่เกาะกระ ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดบทนิยาม คำว่า “แนวชายฝั่งทะเล” และ “หน่วยงานของรัฐ”
2. กำหนดให้หมู่เกาะกระ ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ทะเลรอบหมู่เกาะดังกล่าว เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยจำแนกพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบ่งออกเป็น 3 บริเวณ ดังนี้
2.1
บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินของ เกาะกระใหญ่ เกาะกระกลาง และเกาะกระเล็ก
2.2
บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลลงมาจนถึงแนวปะการังตามธรรมชาติและบริเวณต่อเนื่อง
2.3
บริเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ทะเลถัดจากบริเวณที่ 2 ออกไปภายในบริเวณเส้นตรงที่เชื่อมต่อจุดพิกัด
3.
กำหนดให้พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม อาทิ การทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล ปล่อยน้ำเสีย การทำเหมืองแร่ในทะเล การสำรวจ รวมถึงการขุด การถมทะเล หรือการขุดลอกร่องน้ำ
4. กำหนดให้การนำเรือเข้าออกในบริเวณที่ 2 และบริเวณที่ 3 ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือ เป็นอันตรายต่อแนวปะการัง
5. กำหนดให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายกำกับดูแลและติดตามการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ และรายงานผลการบังคับใช้มาตรการฯ ต่อคณะกรรมการอย่างน้อยปีละครั้ง สนับสนุนโครงการส่งเสริมองค์ความรู้ ให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือชุมชน ในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ตำบลน้ำบ่อ อำเภอ ปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อสงวนไว้ซึ่งสภาพธรรมชาติเดิม ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของปะการังและสัตว์ทะเลหายากในฝั่งอ่าวไทย ดังนี้
1. กำหนดให้บริเวณเกาะโลซิน ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานีและพื้นที่ทะเล รอบเกาะดังกล่าว ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง เป็นพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยมีมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะพื้นที่ โดยให้จำแนกพื้นที่ออกเป็น 2 บริเวณ ดังนี้
1.1 บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่บนแผ่นดินรวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในบริเวณเส้นตรงที่ผ่านจุดพิกัดที่ 1 ถึงจุดพิกัดที่ 4 เป็นไปตามแผนที่แนบท้าย
1.2 บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ทะเลถัดจากบริเวณที่ 1 ออกไปภายในบริเวณเส้นตรงที่ผ่านจุดพิกัดที่ 5 ถึงจุดพิกัดที่ 8 เป็นไปตามแผนที่แนบท้าย
2. กำหนดให้ภายในพื้นที่บริเวณที่ 1 ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม ดังนี้
2.1 ห้ามทำให้เกิดมลพิษ ขยะ สารแขวนลอย ตะกอนแขวนลอย และมลสารปนเปื้อนจากการเดินเรือ การจอดเรือ การขนส่ง หรือการขนถ่าย ที่มีผลทำให้คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมหรือเสียสภาพความเป็นธรรมชาติ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ปะการัง หญ้าทะเล และสัตว์น้ำหายาก
2.2 กระทำหรือดำเนินกิจกรรมใด ที่เป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย หรืออาจเป็นอันตราย ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของแนวปะการัง ซากปะการัง กัลปังหา สัตว์น้ำในแนวปะการังและสัตว์ทะเลหายาก
2.3 การประกอบการประมงตามกฎหมายว่าด้วยการประมง
2.4 การทิ้งสมอ โดยกรณีที่ประสงค์จะจอดเรือ ให้กระทำโดยการผูกเรือกับทุ่นจอดเรือในบริเวณที่กำหนด และการกระทำหรือดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่
2.5 การก่อสร้าง เว้นแต่เป็นการดำเนินการของทางราชการ เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อรักษาความมั่นคงทางทะเล หรือเพื่อการศึกษาวิจัย ซึ่งต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็น กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และไม่เป็นการทำลายสภาพธรรมชาติเดิม โดยต้องได้รับความเห็นของกรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง และกองทัพเรือ เพื่อนำไปประกอบการขออนุญาตก่อสร้างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการเก็บทรัพยากรธรรมชาติหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายต่อสัตว์และพืช เว้นแต่เป็นการดำเนินการของทางราชการเพื่อการศึกษาวิจัย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด และการนำสัตว์และพืชเข้าไปเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี
2.6 การทำเหมืองแร่ในทะเล การสำรวจ การขุดเจาะน้ำมัน การผลิต การถ่ายเทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การขุด การถมทะเล หรือการขุดลอกร่องน้ำ
3. กำหนดให้พื้นที่บริเวณที่ 2 ห้ามกระทำการหรือประกอบกิจกรรม ดังนี้
3.1 ทำให้เกิดมลพิษ ขยะ สารแขวนลอย ตะกอนแขวนลอย และมลสารปนเปื้อนจากการเดินเรือ การจอดเรือ การขนส่ง หรือการขนถ่าย ที่มีผลทำให้คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมโทรมหรือเสียสภาพความเป็นธรรมชาติ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ปะการัง หญ้าทะเล และสัตว์น้ำ
3.2 กระทำหรือดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่เป็นการทำลาย ทำให้เสียหายหรืออาจเป็นอันตราย ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของแนวปะการัง ซากปะการัง กัลปังหา สัตว์น้ำในแนวปะการังและสัตว์ทะเลหายาก
3.3 การทำเหมืองแร่ในทะเล การสำรวจ การขุดเจาะน้ำมัน การผลิต การถ่ายเทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การขุด การถมทะเล หรือการขุดลอกร่องน้ำ และการประกอบการประมงตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ยกเว้นการทำการประมงโดยใช้เบ็ดมือ
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่การใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ในราชการของกองทัพเรือ
4. กำหนดให้การประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด
5. กำหนดให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดังนี้
5.1 จัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยแนวทางการอนุรักษ์ คุ้มครอง ดูแลและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การคุ้มครองและการดูแลรักษาสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ การติดตามและประเมินผล โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดปัตตานี
5.2 สนับสนุนโครงการส่งเสริมองค์ความรู้ท้องถิ่นหรือกิจกรรมแก่ชุมชนในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่กรมประกาศกำหนด
5.3 ให้คำปรึกษาและข้อมูลแก่ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการการบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
5.4 กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วและให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ คค. เสนอ ว่า
1. ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ทำ ณ นครเจนีวา ค.ศ. 1949 และได้ภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2505 ซึ่งการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวมีผลให้กรมการขนส่งทางบกจะต้องออกใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้ตราพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้มีใบอนุญาต ขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี เป็นใบอนุญาตขับรถประเภทหนึ่งและออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2546 ข้อ 2 (14) กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถยนต์ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ทำ ณ นครเจนีวา ค.ศ. 1949 ซึ่งประเทศไทยได้ภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2505 ฉบับละ 500 บาท
2. ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (7 เมษายน 2563) เห็นชอบการให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ทำ ณ กรุงเวียนนา ค.ศ. 1968 โดยกระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำสัตยาบันและได้นำส่งสัตยาบันต่อสหประชาชาติ ซึ่งสหประชาชาติได้แจ้งการรับยื่นสัตยาบันสารของประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 มีผลให้อนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ทำให้ประเทศไทยต้องดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถให้เป็นไปตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ เช่น กำหนดรูปแบบของใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับรูปแบบของใบอนุญาตตามอนุสัญญาดังกล่าวเพิ่มเติม อีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากรูปแบบของใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ทำ ณ กรุงเวียนนา ค.ศ. 1968
3. โดยที่กฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบัน คือ กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2546 ข้อ 2 (14) ได้กำหนดค่าธรรมเนียมเฉพาะใบอนุญาตขับรถยนต์ตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ทำ ณ นครเจนีวา ค.ศ. 1949 ยังไม่ครอบคลุมถึงการออกใบอนุญาตขับรถตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ทำ ณ กรุงเวียนนา ค.ศ. 1968 จึงไม่มีค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บในการออกใบอนุญาตขับรถตามอนุสัญญาดังกล่าว
4. ดังนั้น เพื่อให้กฎกระทรวงดังกล่าวครอบคลุมถึงอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ทำ ณ กรุงเวียนนา ค.ศ. 1968 รวมถึงความตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ประเทศไทยเป็นภาคี จึงสมควรกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถให้ครอบคลุมอนุสัญญาดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2546 เพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ฉบับละ 500 บาท
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหารต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหารต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ อก. เสนอว่า
1. ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2542 ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2542 ซึ่งกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 1136 – 2536
2. ต่อมาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหารตามพระราชกฤษฎีกาข้อ 1 เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบันและเพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหารภายในประเทศให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีคุณภาพ ตลอดจนสอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 1136 – 2559 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 5508 (พ.ศ.2562) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้ เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รวมพิจารณา ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้กับร่างกฎกระทรวงฯ ที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกันซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้เป็นฉบับเดียวกัน แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ สขค. เสนอว่า
1. โดยที่มาตรา 63/15 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ในกรณีที่มีการบังคับให้ชำระเงินและคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงินเป็นที่สุดแล้ว หากหน่วยงานของรัฐที่ออกคำสั่งให้ชำระเงินประสงค์ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดกรมบังคับคดีดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ให้ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับให้เป็นเป็นไปตามคำสั่งทางปกครองนั้น โดยระบุจำนวนเงินที่ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองยังมิได้ชำระตามคำสั่งทางปกครอง ทั้งนี้ ไม่ว่าหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้บังคับทางปกครองหรือได้ดำเนินการบังคับทางปกครองแล้ว แต่ยังไม่ได้รับชำระเงินหรือได้รับชำระเงินไม่ครบถ้วน และมาตรา 63/15 วรรคหก บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐตามมาตรานี้ หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
2. สขค. มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่งและเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 และมีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม รวมทั้งพิจารณากำหนดโทษปรับทางปกครองในกรณีมีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น สขค. จึงอาจมีคำสั่งเรียกให้ผู้ประกอบการชำระค่าปรับอันมีสถานะเป็นคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน และเมื่อถึงกำหนดชำระเงินแล้ว หากไม่มีการชำระเงินโดยครบถ้วน จึงอาจต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดทรัพย์สิน ซึ่งในการดำเนินการดังกล่าว สขค. ไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการบังคับทางปกครอง จึงจำเป็นต้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทนตามมาตรา 63/15 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตาม สขค. มิได้มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 63/15 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3. ดังนั้น เพื่อให้ สขค. เป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทนได้ตามมาตรา 63/15 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อันจะทำให้การบังคับทางปกครองของหน่วยงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับนี้
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ สขค. เป็นหน่วยงานของรัฐที่สามารถยื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับตามคำสั่งทางปกครอง โดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับทางปกครองแทนได้ตามกฎหมายว่าด้วย วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
9. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่.. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับจากภาครัฐตามมาตรการหรือโครงการอันเนื่องมาจากการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่.. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้รับจากภาครัฐตามมาตรการหรือโครงการอันเนื่องมาจากการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบจากโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2563 จากการที่ผู้มีเงินได้ได้รับเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรการหรือโครงการที่ได้รับความเห็นชอบ จากคณะรัฐมนตรี ทั้งสิ้น 4 มาตรการหรือโครงการ ได้แก่ (1) มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (2) โครงการ เราเที่ยวด้วยกัน (3) โครงการกำลังใจ และ (4) โครงการคนละครึ่ง
10. เรื่อง การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของเทศบาล ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
ทั้งนี้ มท. เสนอว่า
1. ปัจจุบันสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศแล้ว ในเดือนพฤษภาคม 2561 โดยที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ลงวันที่ 25 ธันวาคม พุทธศักราช 2557 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2559 เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2560 เรื่อง การแต่งตั้งนายกเมืองพัทยา ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2560
2. ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดก่อน ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแล้ว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563
3. คณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานกรรมการ ได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2563 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นต่อไป สรุปผลการประชุมได้ดังนี้
1)
การดำเนินการของ มท.
1.1) ข้อมูลจำนวนราษฎรที่ใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ได้ประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 มกราคม 2563
1.2) การรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งขององค์การบริหารส่วนตำบล กรมการปกครองได้ดำเนินการสำรวจและประกาศรวมหมู่บ้านที่มีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ไม่ถึง 25 คน กับหมู่บ้านอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 41 จังหวัด 109 อำเภอ 128 ตำบล 203 หมู่บ้าน รวม 150 เขตเลือกตั้ง โดยปี พ.ศ. 2563 ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ภายในวันที่ 31 มกราคม 2563 และดำเนินการต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2564 ภายในวันที่ 31 มกราคม 2564
1.3) การเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้แจ้งจังหวัดกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิก สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้เป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะการจัดเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับ การจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตั้งงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ไว้พร้อมแล้ว
1.4) กรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งของสมาชิกสภาเทศบาลเมืองบางริ้น เทศบาลตำบลปากน้ำ และเทศบาลตำบลปากน้ำท่าเรือ จังหวัดระนอง มท. ตรวจสอบแล้วแนวเขตพื้นที่มีความชัดเจน โดยสำนักทะเบียนในพื้นที่ดำเนินการย้ายทะเบียนบ้านให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแล้ว สำหรับกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งของสมาชิกสภาเทศบาลตำบลปากน้ำปราณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แนวเขตพื้นที่มีความชัดเจน และสำนักทะเบียนในพื้นที่ดำเนินการย้ายทะเบียนบ้านให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว
2)
การดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
2.1) ดำเนินการออกระเบียบและประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นแล้ว
2.2) ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถประกาศแต่งตั้งได้ทันทีที่มีการประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั้น
2.3) ดำเนินการอบรมผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว สำหรับการอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จะดำเนินการเมื่อมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
2.4) ดำเนินการจัดทำร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ดังนี้
(1)
ร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง
กรอบระยะเวลา |
การดำเนินการ |
วันอังคารที่ 12 มกราคม 2564
วันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2564
วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2564 |
คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งคาดว่าจะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี
เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี |
(2)
ร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง (สำรอง)
กรอบระยะเวลา |
การดำเนินการ |
วันอังคารที่ 19 มกราคม 2564
วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2564 |
คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งคาดว่าจะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี
เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี |
3)
การดำเนินการของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตามที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว
ทั้งนี้ ความพร้อมของ มท. และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไว้แล้ว
ประกอบกับพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 142 บัญญัติในการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลังจากที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้แจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นแล้ว ให้ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการงดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และกำหนดวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นสิ้นผลบังคับสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
11. เรื่อง การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 โดยใช้กรอบงบประมาณวงเงินทั้งสิ้น 20 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานนั้น เห็นควรที่ อว. โดยมหาวิทยาลัยมหิดลจะพิจารณาถึงความครอบคลุมทุกแหล่งเงินที่ต้องใช้ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ จากเงินรายได้และหรือเงินอื่นใดที่มีอยู่หรือนำมาใช้จ่ายได้ รวมทั้งการสนับสนุนจากภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่นมาสมทบการดำเนินงานในลำดับแรกก่อน เพื่อให้เกิดภาระต่องบประมาณในสัดส่วนที่เหมาะสม และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามความจำเป็นเหมาะสมตามขั้นตอน ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดังกล่าวควรคำนึงถึงความประหยัด การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) รวมทั้งการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
อว. รายงานว่า
1. การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยสมาพันธ์ระดับนานาชาติ RoboCup (International RoboCup Federation) และมีการจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งประเทศไทยได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งขันหุ่นยนต์ Robocup ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 โดยการส่งตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง และได้รับความสำเร็จเป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยและหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก วิทยาการหุ่นยนต์จึงกลายเป็นสาขาที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ส่งผลให้รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญและส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาการหุ่นยนต์มาเป็นลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้รับการทาบทามให้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับภูมิภาคเป็น Super Regional RoboCup ภายใต้ชื่อ RoboCup Asia Pacific หรือ RCAP มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน จาก 20 ประเทศทั่วโลก และในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยได้จัดการแข่งขันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 - 18 ธันวาคม 2560 ภายใต้ชื่องานมหกรรม Thailand Robotics Week 2017 และการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ RoboCup Asia Pacific 2017 (RCAP 2017) [ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เป็นต้น] สมาพันธ์ระดับนานาชาติ RoboCup ได้ประจักษ์ถึงศักยภาพของประเทศไทย จึงได้เชิญให้เข้าร่วมคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกครั้งที่ 25 (RoboCup 2021) ซึ่ง
อว. โดยมหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท เอ็น.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล อีเว้นท์ จำกัด ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (อว.) กรมศุลกากร (กระทรวงการคลัง) และกรมการกงสุล (กระทรวงการต่างประเทศ) เป็นต้น ได้เข้าร่วมการประมูลสิทธิ์การจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกครั้งที่ 25 ของคณะกรรมการสมาพันธ์ RoboCup (RoboCup Trustee) และ
ที่ประชุมคณะกรรมการสมาพันธ์ Robocup มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกครั้งที่ 25 ทั้งนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) คณะกรรมการสมาพันธ์ RoboCup จึงได้ขอเลื่อนกำหนดการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกครั้งที่ 25 RoboCup 2021, Bangkok, Thailand ออกไปเป็น RoboCup 2022, Bangkok, Thailand โดยมีกำหนดจัดงานในช่วงเดือนมิถุนายน 2565
2.
การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญของโครงการ |
วัตถุประสงค์ |
· เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล
· เพื่อกระตุ้นการวิจัยและการต่อยอดงานวิจัยในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างประเทศ
· เพื่อเชื่อมโยงและสนับสนุนกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในระบบอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมถึงแสดงศักยภาพของนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักเรียน และนักศึกษาไทย ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
· เพื่อขับเคลื่อนงานจัดประชุมและแสดงสินค้าในกลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมมุ่งสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (New S - Curve)
· เพื่อกระตุ้นการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศไทย ผู้ประกอบการ นักประดิษฐ์ นักวิจัย นิสิตนักศึกษาให้เป็นวิศวกรพันธุ์ใหม่ ที่สนใจแก้ไขปัญหาทำงานร่วมกันเป็นทีม รู้จักแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีข้ามสถาบันการศึกษาทั่วโลกเกิดเป็นเครือข่ายพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีโดยยึดหลักวิชาการ และการวิจัยและพัฒนาเป็นสำคัญ
· เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์จากนักวิชาการระดับโลก และทีมหุ่นยนต์ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศสู่ประเทศไทยเพื่อยกระดับมาตรฐานของหุ่นยนต์ภายในประเทศสู่การนำไปใช้จริง |
กิจกรรมหลัก
ที่ต้องดำเนินการ |
(1) จัดประชุมคณะกรรมการหรือคณะทำงานทุก 2 เดือน
(2) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเดือนมีนาคม – เมษายน 2564 เพื่อพัฒนาและสร้างบุคลากรของประเทศไทยให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และเป็นตัวแทนในการเข้าร่วมการแข่งขัน RoboCup Thailand 2021 ในงาน Thailand Robotics Week 2021 ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 และหาตัวแทนของประเทศเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup 2022 ในช่วงเดือนมิถุนายน 2565
(3) รายงานความพร้อมของการจัดการแข่งขัน RoboCup 2022, Bangkok, Thailand ต่อคณะกรรมการสมาพันธ์ RoboCup ในการแข่งขัน RoboCup 2021 ณ เมืองบอร์โด (Bordeaux) ประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างวันที่ 23 - 29 มิถุนายน 2564
(4) แถลงข่าวและประชาสัมพันธ์การจัดงาน Thailand Robotics Week 2021
(5) จัดงาน Thailand Robotics Week 2021 ในช่วงเดือนธันวาคม 2564
(6) จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup ครั้งที่ 25 ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมีกิจกรรมแบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 การจัดการแข่งขัน แบ่งเป็น 2 กลุ่มการแข่งขันหลัก ประกอบด้วย การแข่งขันในกลุ่มอายุไม่เกิน 19 ปี หรือ RoboCup Junior League และการแข่งขันในกลุ่มอายุ 19 ปี ขึ้นไป หรือ RoboCup Major League
ส่วนที่ 2 Exhibition เป็นพื้นที่สำหรับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และส่วนที่จะแสดงถึงวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักของนานาประเทศ ส่วนนิทรรศการสำหรับหน่วยงานที่สนับสนุนและแสดงสินค้าสำหรับผู้ประกอบการไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล และกลุ่มนักลงทุนจากต่างชาติ
ส่วนที่ 3 symposium จะเป็นการนำเสนอและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้โดยนักวิชาการ ด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีส่วนผลักดันในการพัฒนาหุ่นยนต์ในด้านต่าง ๆ
ส่วนที่ 4 Startup Pitching เป็นเวทีกลางที่เปิดโอกาสให้ผู้ประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ได้เข้ามามีโอกาสในการนำเสนอนวัตกรรมการประดิษฐ์ของตนต่อกลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งเป็นการ Matching กันก่อให้เกิด Startup ได้ในอนาคต |
ประโยชน์
ที่คาดว่าจะได้รับ |
· เสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรและเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ของประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล
· เสริมสร้าง พัฒนาการวิจัย และการต่อยอดงานวิจัยในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ รวมทั้งสาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงและความร่วมมือระหว่างประเทศ
· เป็นการเชื่อมโยงและสนับสนุนกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะระบบอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ รวมถึงแสดงศักยภาพของนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักเรียน และนักศึกษาไทยให้เป็นที่รู้จักเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
· เกิดการลงทุนระหว่างประเทศจากอุตสาหกรรมขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ |
ผลกระทบ |
การพัฒนาวิทยาการด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม
New S – Curves ในรูปแบบของการจัดการแข่งขันทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจึงเป็นการตอบรับต่อนโยบายภาครัฐสู่การเป็น Thailand 4.0 ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบนิเวศขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการศึกษา ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และด้านอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะสามารถจุดประกายนักเรียนและนักศึกษาซึ่งจะเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพของประเทศ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมทางด้านหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติภายในประเทศต่อไปในอนาคต |
โดย อว. ขอใช้กรอบงบประมาณวงเงิน 20 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 [ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 70 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 50 ล้านบาท อว. จะขอรับงบประมาณสนับสนุนจากสมาพันธ์ระดับนานาชาติ RoboCup และหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กระทรวงศึกษาธิการ) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) เป็นต้น]
12. เรื่อง การทบทวนหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 - 2565) ตามมติ คปร. ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 โดยเพิ่มเติมตำแหน่งที่เห็นควรจัดสรรคืนทั้งหมดเพื่อให้ส่วนราชการสามารถแต่งตั้งบุคคลได้อย่างต่อเนื่องทันที เฉพาะตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ประเภทอำนวยการตามที่สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอ ดังนี้
1. ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด
2. ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. ตำแหน่งผู้อำนวยการภายในสถาบันการอาชีวศึกษา
สำหรับการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) เฉพาะตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทวิชาการ และตำแหน่งประเภททั่วไป ในหน่วยงานการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ร้อยละ 10 โดยให้พิจารณาในภาพรวมของอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุทั้งหมดของหน่วยงานในปีงบประมาณนั้น ๆ
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. รายงานว่า
1. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) ได้ขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามที่กำหนดไว้ในมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 - 2565) ตามมติคณะรัฐมนตรี (19 มีนาคม 2562) ในกรณีการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุด้วยการจ้างงานในรูปแบบอื่นในตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 38 ค. (2) ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด รองศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการภายในสถาบันการอาชีวศึกษา ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง ก.ค.ศ. กำหนดให้เป็น
ตำแหน่งประเภทอำนวยการ โดยให้พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุในตำแหน่งดังกล่าวคืนให้ส่วนราชการเดิมทั้งหมดเช่นเดียวกับตำแหน่งประเภทอำนวยการของข้าราชการพลเรือนสามัญ
2.
คปร. ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบการทบทวนหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามที่กำหนดไว้ในมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562 - 2565) (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562)
โดยให้เพิ่มเติมตำแหน่งที่เห็นควรจัดสรรคืนทั้งหมด เพื่อให้ส่วนราชการสามารถแต่งตั้งบุคคลได้อย่างต่อเนื่องทันที
เฉพาะตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ประเภทอำนวยการ เช่นเดียวกันกับการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทอำนวยการ สรุปสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ฯ ได้ ดังนี้
หลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี
(19 มีนาคม 2562) |
หลักเกณฑ์ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมตามมติ คปร.
ครั้งที่ 2/2563 |
-ให้ ก.ค.ศ. พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนี้
1) ตำแหน่งที่เห็นควรจัดสรรคืนทั้งหมด เพื่อให้ส่วนราชการสามารถแต่งตั้งบุคคลได้อย่างต่อเนื่องทันที ได้แก่
1.1) ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา
1.2) ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป ซึ่งไม่อยู่ในแผนการถ่ายโอนให้แก่ อปท. หรือไม่อยู่ในแผนการควบรวมสถานศึกษา เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อการบริหารงานของสถานศึกษา ตลอดจนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและนโยบายสำคัญของ ศธ. |
- ให้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในข้อ 1) ดังนี้
“1.3) ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) เฉพาะตำแหน่งที่ ก.ค.ศ.กำหนดให้เป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการ ได้แก่
1.3.1) ตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดและตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด
1.3.2) ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
1.3.3) ตำแหน่งผู้อำนวยการภายในสถาบันการอาชีวศึกษา” |
2) ตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. พิจารณาจัดสรรตามเงื่อนไขเฉพาะกรณี ดังนี้
ฯลฯ
2.11) ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) ในหน่วยงานทางการศึกษา ศธ. |
|
3) การทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ให้ ก.ค.ศ. พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ในหน่วยงานการศึกษาสังกัด ศธ. ด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ร้อยละ 10 โดยให้พิจารณาในภาพรวมของอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุทั้งหมดของหน่วยงานในปีงบประมาณนั้น ๆ |
- ปรับข้อ 3) เป็น “ 3) การทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ให้ ก.ค.ศ. พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) เฉพาะตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทวิชาการและตำแหน่งประเภททั่วไป ในหน่วยงานการศึกษา สังกัด ศธ. ด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น ร้อยละ 10 โดยให้พิจารณาในภาพรวมของอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุทั้งหมดของหน่วยงานในปีงบประมาณนั้น ๆ |
13. เรื่อง รายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่จะเสนอคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ ให้ ตช. นำรายการโครงการอาคารที่ทำการพร้อมอาคารสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่และอาคารพักอาศัยให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ของ ตช. ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จำนวน 9 อาคาร วงเงินทั้งสิ้น 7,680 ล้านบาท เสนอเป็นคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 1,536 ล้านบาท และเป็นภาระผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถึงปีสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ (พ.ศ. 2569) อีกจำนวน 6,144 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
ตช. รายงานว่า
1. ตช. มีภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนและการควบคุมฝูงชนหรือกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีสถานที่พักที่อยู่ใกล้กับสถานที่ทำงาน เพื่อให้สามารถเรียกระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่และภารกิจดังกล่าวได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติภารกิจดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นชั้นผู้น้อย และไม่สามารถเบิกค่าเช่าบ้านได้ ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
2. อย่างไรก็ดี หน่วยงานต่าง ๆ ของ ตช. มีอาคารที่พักไม่เพียงพอกับจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น
ตช. จึงได้เสนอโครงการอาคารที่ทำการพร้อมอาคารสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่และอาคารพักอาศัยให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ของ ตช. เช่น (1) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ (2) สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เป็นต้น
โดยทำการก่อสร้างอาคารบนที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในความครอบครองของ ตช. บริเวณเมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จำนวน 9 อาคาร รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,680 ล้านบาท ดังนี้
ลักษณะอาคาร |
ขนาด |
จำนวนอาคาร |
จำนวนเตียง/ห้องพักต่ออาคาร |
รวม |
อาคารที่ทำการ |
30 ชั้น |
1 |
- |
- |
7 ชั้น |
1 |
- |
- |
อาคารสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ |
6 ชั้น |
1 |
- |
- |
14 ชั้น |
2 |
1,800 เตียง |
3,600 เตียง1 |
อาคารที่พักอาศัย (แบบ A) |
17 ชั้น |
2 |
528 ห้องพัก |
1,056 ห้องพัก2 |
อาคารที่พักอาศัย
(แบบ B) |
17 ชั้น |
2 |
576 ห้องพัก |
1,152 ห้องพัก2 |
หมายเหตุ:
1แบบเตียงพักให้กับข้าราชการตำรวจ จำนวน 3,600 เตียง
2แบบห้องพักอาศัยแบบครอบครัวจำนวนทั้งสิ้น จำนวน 2,208 ครอบครัว
3.
ประมาณการรายจ่ายและแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ รายละเอียดดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
แหล่งเงิน |
ปีงบประมาณ |
รวม |
พ.ศ. 2565 |
พ.ศ. 2566 - 2569 |
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ |
1,536
(ร้อยละ 20) |
6,144 |
7,680 |
4. ตช. แจ้งว่า สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการพร้อมอาคารสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่และอาคารพักอาศัยให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ ภายในเดือนตุลาคม 2564 โดยจะใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศไทย จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ทำให้เกิดการสร้างงานให้กับแรงงานไทยด้านการก่อสร้างภายในประเทศ และเกิดการสร้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารซึ่งผลิตในประเทศไทย
14. เรื่อง ขออนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป กระทรวงยุติธรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 5 โครงการ จำนวนเงิน 7,520.35 ล้านบาท เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้
โครงการ |
วงเงิน (ล้านบาท) |
1. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ |
1,448.62 |
2. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดยโสธร |
1,437.34 |
3. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ |
1,587.27 |
4. โครงการก่อสร้างเรือนจำกลางลำปาง |
1,506.10 |
5. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดชัยนาท |
1,541.02 |
รวมวงเงิน |
7,520.35 |
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงยุติธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้นำรายการก่อสร้างเรือนจำแห่งใหม่ จำนวน 5 โครงการ [โครงการก่อสร้างเรือนจำ รวม 4 จังหวัด (บุรีรัมย์ ยโสธร อุตรดิตถ์ และชัยนาท) และโครงการก่อสร้างเรือนจำกลางลำปาง] วงเงินรวม 7,520.35 ล้านบาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการก่อสร้างเพื่อทดแทนเรือนจำเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม และพื้นที่มีความแออัดทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง โดยมีประมาณการรายจ่ายและแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการของทั้ง 5 โครงการ สรุปได้ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
แหล่งเงิน |
ปีงบประมาณ |
รวม |
พ.ศ. 2565 |
พ.ศ. 2566 |
พ.ศ. 2567 |
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ |
1,504.05 |
3,008.15 |
3,008.15 |
7,520.35 |
หมายเหตุ: งบประมาณดำเนินการในปีแรกคิดเป็นร้อยละ 20 ของงบประมาณดำเนินการทั้งหมด |
15. เรื่อง แผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ (ทุนเสมอภาค)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายในกรอบวงเงิน 6,556.8649 ล้านบาท ตามนัยมาตรา 6 (3) ของพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 โดยให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนของกฎหมายวิธีการงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณารายละเอียดของแผนงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของ กสศ. ให้สอดคล้องกับแนวทางและหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามความจำเป็นและเหมาะสม ภายในกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 อีกครั้งหนึ่ง ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และเห็นควรที่ กสศ. คงอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษในอัตราเท่าเดิมไปก่อน โดยการทบทวนปรับปรุงกระบวนการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายในการจ่ายเงินอุดหนุนให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพการดำเนินการตามภารกิจของ กสศ. เพื่อเป็นต้นแบบและส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
กสศ. รายงานว่า คณะกรรมการบริหาร กสศ. ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบแผนการใช้เงินและแผนการดำเนินงานของ กสศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และการขอเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
1. กสศ. ได้จัดทำแผนการใช้เงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีรายละเอียดแผนงาน โครงการและกิจกรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำแนกเป็น 9 แผนงาน สรุปได้ ดังนี้
แผนงาน 1 นวัตกรรมและการวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ประกอบด้วย
-
นวัตกรรมระบบเทคโนโลยีและระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เช่น พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. (เด็กยากจนเด็กนอกระบบ เด็กพิการ เด็กกำพร้า แม่วัยรุ่น)
-
วิจัยเชิงระบบและการประเมินผล เช่น วิจัยเพื่อขยายผลนวัตกรรมต้นแบบการแก้ไขและป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสซ้ำซ้อน
-
พัฒนาเครือข่ายการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น สัมมนาวิชาการระดับชาติ -นานาชาติ การพัฒนาเครือข่ายนักวิจัย/องค์กรวิชาการ ระดับชาติ – นานาชาติ
แผนงาน 2 ส่งเสริมโอกาสและพัฒนาคุณภาพนักเรียน ประกอบด้วย
-
ส่งเสริมโอกาสและพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เช่น การจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (นร. ทุนเสมอภาค) ให้แก่ นักเรียนระดับอนุบาล - ม.3 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม และกลุ่มโรงเรียนเอกชน เฉพาะโรงเรียนการกุศลที่ขาดแคลนทุนทรัพย์/ด้อยโอกาส โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือจะต้องมาเรียนสูงกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียนทั้งหมดในภาคเรียนนั้น ๆ เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา
แผนงาน 3 สร้างนวัตกรรมการพัฒนาครูและสถานศึกษา ประกอบด้วย
- พัฒนาครูทั้งในและนอกระบบการศึกษา เช่น สร้างต้นแบบการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ ผ่านโครงการพัฒนาตนเอง โดยทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อเรียนรู้ร่วมกันผ่านปฏิบัติการจริงที่สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น
- พัฒนาโรงเรียนและสถานศึกษา เช่น ศึกษาวิจัยองค์ความรู้และถอดบทเรียนโครงการพัฒนาครูและโรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
แผนงาน 4 พัฒนากลไกจังหวัดและระบบช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่ยากจนและเด็กนอกระบบการศึกษา เช่น พัฒนากลไกจังหวัด โดยคณะทำงานจังหวัดจัดเวทีเพื่อสร้างภาคีความร่วมมือระดับพื้นที่และจังหวัด/จัดประชุมเพื่อจัดตั้งกลไกระดับพื้นที่ (อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน)
แผนงาน 5 สร้างต้นแบบระบบการผลิตและพัฒนาครู ประกอบด้วย
- สร้างครูรุ่นใหม่สำหรับพื้นที่ห่างไกล เช่น สนับสนุนงบประมาณสำหรับนักศึกษาผู้รับทุน จำนวน 328 คน ผ่านสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรักษ์ถิ่น
แผนงาน 6 สร้างนวัตกรรมสายอาชีพสร้างโอกาสนักเรียนอัจฉริยะที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาสได้เรียนต่อระดับสูง และพัฒนาประชากรวัยแรงงานด้อยโอกาส ประกอบด้วย
- สร้างนวัตกรสายอาชีพและสร้างโอกาสนักเรียนอัจฉริยะที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาสได้เรียนต่อระดับสูง (ป.ตรี – ป.เอก) “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” เช่น ส่งเสริมการสร้างโอกาสทางการศึกษาด้านสายอาชีพ ปวส./อนุปริญญา มีทุนใหม่ (รุ่น 4) จำนวน 2,500 ทุน
- พัฒนาประชากรวัยแรงงานด้อยโอกาส เช่น โครงการพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน/พัฒนานวัตกรรมโมเดลทางธุรกิจระดับชุมชน กลุ่มเป้าหมาย 10,000 คน
แผนงาน 7 สร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติและวิเทศสัมพันธ์ เช่น จัดประชุมเครือข่ายองค์กรนานาชาติ/จัดการความรู้และขับเคลื่อนความรู้ด้านต่างประเทศ
แผนงาน 8 งานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และระดมความร่วมมือทางสังคม เช่น พัฒนาและสร้างเครือข่ายจังหวัดสื่อสารรณรงค์ขับเคลื่อนวาระความเสมอภาคทางการศึกษา/พัฒนาเครือข่ายครู อาสาสมัครทางการศึกษา
แผนงาน 9 บริหารและพัฒนาระบบงาน ประกอบด้วย
- สร้างเสริมระบบหุ้นส่วนธรรมาภิบาลกับภาคี เช่น การพัฒนาระบบธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริต (เช่น จัดทำ/ปรับปรุงโครงสร้าง กฎระเบียบ เครื่องมือ คู่มือ จรรยาบรรณ และแนวทางปฏิบัติ ที่เหมาะสมตามหลักธรรมาภิบาลฯ พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อบริหารหรือสนับสนุนการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลฯ)
-
บริหารและพัฒนาระบบงาน เช่น งานบุคลากร/สวัสดิการ/การพัฒนาความรู้และการฝึกอบรมต่อเนื่อง งานอำนวยการ ค่าใช้สอยสำนักงาน
- พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น งานบุคลากร/สวัสดิการ/การพัฒนาความรู้และการฝึกอบรมต่อเนื่อง งานอำนวยการ ค่าใช้สอยสำนักงาน
2.
อัตราเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค)
ระดับการศึกษา |
อัตราเดิม (บาท/ปี) |
อนุบาล |
4,000 |
ประถมศึกษา |
3,000 |
มัธยมศึกษาตอนต้น |
3,000 |
มัธยมศึกษาตอนปลาย/อาชีวศึกษา |
3,000 |
_____________________
*
นักเรียนยากจนพิเศษ หมายถึง นักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมแบบ Proxy Means Test: PMT จากระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอยู่ในกลุ่มที่ค่าคะแนนความยากจนอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษหรือครอบครัวที่มี
รายได้เฉลี่ย 1,200 บาท/คน/เดือน
16. เรื่อง รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563 ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 มาตรา 11 (4) ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเสนอรายงานเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี และจัดให้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณชนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563
1.1
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)
ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises: MSME)
ปี 2562 มีมูลค่า 5,963,156 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3 ต่อ GDP รวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 34.6 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GDP MSME ยังคงขยายตัวได้สูงมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ได้แก่ การบริโภคของภาครัฐและภาคเอกชนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคการบริการยังคงเติบโตได้ในอัตราที่สูง
1.2
การค้าระหว่างประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2562 การส่งออกของ MSME มีมูลค่า 1,023,712.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 ของมูลค่าการส่งออกของทั้งประเทศ ขยายตัวเล็กน้อยจากปี 2561 ในส่วนของการนำเข้าของ MSME มีมูลค่า 1,279,677.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.2 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ปรับตัวลดลงจากปี 2561 ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกและนำเข้าส่วนใหญ่เป็นของวิสาหกิจขนาดใหญ่และวิสาหกิจอื่น ๆ ซึ่งมีมูลค่าร้อยละ 86.6 และ 82.8 ตามลำดับ
1.3
ดัชนีความเชื่อมั่นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2562 อยู่ที่ระดับ 47.5 เท่ากับค่าเฉลี่ยของปี 2561 และเมื่อจำแนกตามกลุ่มธุรกิจพบว่า ผู้ประกอบการ MSME ภาคการค้าและ ภาคการบริการมีระดับความเชื่อมั่นเฉลี่ยในปี 2562 ลดลง ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคการผลิตมีระดับความเชื่อมั่นสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยของดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ยังต่ำกว่าค่าฐานที่ 50 แสดงถึงความเชื่อมั่นที่ไม่ดี นัก โดยมีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกที่เกิดจากความต้องการของตลาดโลกลดลง การย้ายฐาน การผลิตของนักลงทุนต่างชาติ สงครามการค้าระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริการวมทั้งค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยที่แข็งค่า รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตรและรายได้ของเกษตรกรขณะที่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME มีค่าสูงกว่าค่าฐานที่ 50 เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอย และผลจากมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ซึ่งกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
1.4
จำนวนและการจ้างงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2562 มี MSME จำนวน 3,105,096 ราย ขยายตัวจากปี 2561 ร้อยละ 1.1 โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.5 ของจำนวนวิสาหกิจ ทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ในสาขาธุรกิจขายปลีกมากที่สุด (ยกเว้นยานยนต์และจักรยานยนต์) รองลงมาคือสาขาธุรกิจการบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มและสาขากิจกรรมการบริการอื่น ๆ ส่วนบุคคล ในส่วนของการจ้างงานของ MSME นั้น พบว่ามีจำนวน 12,060,369 คน ขยายตัวจากปี 2561 ร้อยละ 3.3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69.5 ต่อการ จ้างงานรวมทั้งประเทศ
1.5
การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของ MSME และมาตรการส่งเสริม MSME ให้สามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในปีงบประมาณ 2562 มี MSME ที่ยื่นเสนอราคาในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต่าง ๆ จำนวน 61,956 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.8 ของ MSME ที่เป็นนิติบุคคลทั้งหมด โดยปัญหาหรืออุปสรรค ที่ MSME ไม่สามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ได้แก่ การเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดเตรียมเอกสาร การวางหลักประกันทางการเงิน รายการเอกสารประกอบการยื่นเสนอราคามีจำนวนมาก และการให้ความสำคัญกับเกณฑ์การคัดเลือกที่พิจารณาราคาเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่ MSME จะขาดความสามารถ ในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของ MSME ในเดือนกันยายน 2563 พบว่า
สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐแก้ไขมากที่สุดในประเด็นการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ได้แก่ การปรับขั้นตอนและกฎระเบียบให้เข้าถึงได้ง่าย การปรับหลักเกณฑ์การค้ำประกันสัญญา การเร่งการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้นการปรับเกณฑ์ราคาจัดซื้อจัดจ้างให้สูงขึ้น การกระจายโครงการให้เข้าถึงกิจการรายใหม่ การให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนระเบียบวิธีการเข้าถึง และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง
1.6
ผลการสำรวจข้อมูล MSME ปี 2562 จากการสำรวจผู้ประกอบการในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี ขอนแก่น สงขลา และเชียงใหม่ จำนวน 2,058 ราย พบว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อยส่วนมากเป็นเพศหญิง โดยอยู่ในภาคการผลิตร้อยละ 72.6 ภาคการค้าร้อยละ 67.7 และภาคการบริการร้อยละ 72.1 ขณะที่รายจ่ายที่สูงที่สุดของ MSME คือรายจ่ายด้านค่าวัตถุดิบและต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจในปี 2550 และปี 2562 พบว่า
ผู้ประกอบการทั้งในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคการบริการมีรายได้เฉลี่ยต่อปีเพิ่มสูงขึ้น
1.7
MSME กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ MSME เป็นอย่างมาก โดย สสว. ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP MSME ในปี 2563 อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0.5 ถึงร้อยละ 6.2 (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ) ทั้งนี้ จากการสำรวจความเห็นของ MSME 2,700 ราย พบว่า
MSME มีแผนการปรับตัวทางธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 84.8 ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับตัวในด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นรองลงมาคือการพัฒนาคุณภาพสินค้าและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ และการเพิ่มประเภทสินค้าและรูปแบบการให้บริการ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการขายในตลาดออนไลน์มากขึ้น และ
สิ่งที่ MSME ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในการขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ การส่งเสริมทักษะในการทำตลาดออนไลน์ การสนับสนุนต้นทุนขนส่งสินค้าและการประชาสัมพันธ์สินค้าออนไลน์ท้องถิ่น ในส่วนของ
มาตรการช่วยเหลือโดยตรงต่อธุรกิจ MSME ที่มีความต้องการแต่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ได้แก่ มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาตรการพักชำระหนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษี และเงินกู้ฉุกเฉิน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาสภาพคล่องของกิจการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่ทำให้ MSME ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้แก่ การขาดหลักประกันหรือมีหลักประกันไม่เพียงพอ ปัญหาด้านประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา และการขาดเอกสารหลักฐานแสดงรายได้
ทั้งนี้ สสว. ได้เสนอรายงานสถานการณ์ MSME ปี 2563 ต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 และได้เผยแพร่รายงาน MSME เพื่อเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์ของ สสว. รวมทั้งได้จัดส่งรายงานให้กับ 573 หน่วยงานแล้ว โดยภาพรวมของการใช้ประโยชน์จากรายงานฯ พบว่า มีการนำไปใช้ประโยชน์ร้อยละ 92.8 และนำไปใช้ประโยชน์มากที่สุดในการจัดทำนโยบาย และ/หรือยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริม MSME คิดเป็น ร้อยละ 87.0 รองลงมา คือ นำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดมาตรการหรือแผนงาน/โครงการ คิดเป็นร้อยละ 86.7
2. สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2563
2.1
มูลค่า GDP MSME ในไตรมาสที่สามของปี 2563 ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.3 แต่ปรับตัวดีขึ้นกว่าในไตรมาสก่อนที่ลดลงถึงร้อยละ 17.1 โดยมีมูลค่า 1,318,037.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศ เท่ากับร้อยละ 34.1 ส่งผลให้ภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 GDP MSME ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.7 คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศเท่ากับร้อยละ 34.0 ในส่วนของสถานการณ์ MSME ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 คาดว่า ธุรกิจในภาคการค้าและภาคการบริการจะสามารถฟื้นตัวเร่งขึ้นกว่าไตรมาสที่สาม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
2.2
มูลค่าการส่งออกของ MSME ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 621,484.6 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.8 โดยมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงในเกือบทุกตลาด มีเพียงตลาดสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวได้ร้อยละ 31.1 ขณะที่สินค้าส่งออกของ MSME ที่ยังขยายตัวได้ คือ สินค้าในกลุ่มผลไม้สด กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบและกลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ ที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 22.1 และ 1.7 ตามลำดับ
2.3
ดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของ ปี 2563 มีค่าเท่ากับ 42.5 ลดลงจากค่าเฉลี่ย 46.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ระดับ 52.2
สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อการดำเนินธุรกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ผลดี ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจที่จะออกมาใช้จ่ายและเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น รวมทั้งผลจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐทั้งในรูปแบบของเงินอุดหนุนและ การลดหย่อนภาษี หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ
2.4
การจดทะเบียนนิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีจำนวน 50,178 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.9 ในขณะที่มีกิจการยกเลิกจำนวน 10,393 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.5
17. เรื่อง แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563-2580 คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2563-2580 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ เพื่อหน่วยงานและ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน ทั้งนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้ว โดยมีสาระสำคัญครอบคลุมเกี่ยวกับ 1)
วิสัยทัศน์ คือ “สิ่งแวดล้อมชุมชนแห่งอนาคตที่ยั่งยืน” 2)
เป้าประสงค์ เช่น (1) สิ่งแวดล้อมชุมชนของไทยมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติ และ (2) สิ่งแวดล้อมชุมชนพัฒนาบนพื้นฐานที่สอดคล้องกับภูมินิเวศและบริหารจัดการภายใต้ข้อมูล องค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และ 3)
ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ตัวชี้วัด |
กลยุทธ์ |
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก |
ยุทธศาสตร์ที่ 1 อนุรักษ์และฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติตามแนวศาสตร์พระราชา มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแล รักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน โดยชุมชนมีส่วนร่วมสามารถรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดภัยพิบัติ |
1. พื้นที่ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแล รักษาเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 18 พื้นที่ 2) สัดส่วนพื้นที่สีเขียวในเมือง/ชุมชน ร้อยละ 5 ของพื้นที่ทั้งประเทศ และ 3) ท้องถิ่นมีแผนการจัดการ
ความเสี่ยง /การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ/ภัยพิบัติ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง
|
อนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟู ดูแลรักษาและจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศภายในชุมชนท้องถิ่น โดยชุมชนมีส่วนร่วมตามแนวพระราชดำริฯ และการใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียว เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และการดำรงชีวิตของคนในชุมชน |
กระทรวงการคลัง (กค.)
กระทรวงคมนาคม (คค.)
ทส. กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) |
ยุทธศาสตร์ที่ 2 บริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาเมืองและชุมชนอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชน บนพื้นฐานภูมินิเวศ โดยคำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศ วิถีวัฒนธรรมและศักยภาพของชุมชน และมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ |
1) ใช้แผนผังภูมินิเวศเป็นกรอบและแนวทางการพัฒนาครบทุกภาคของประเทศไทย และ 2) มีเมืองต้นแบบที่พัฒนาบนพื้นฐานภูมินิเวศ อย่างน้อย 43 เมือง และ 3) มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชน เป็นไปตามมาตรฐานอย่างน้อย 61 เมือง |
1) จัดทำแผนผังภูมินิเวศของชุมชนครอบคลุมการใช้ประโยชน์เชิงภูมิสังคมและการพัฒนาเมืองบนพื้นฐานภูมินิเวศ 2) ปรับโครงสร้างพื้นฐานเมืองสู่โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และ 3) จัดการสิ่งแวดล้อมภูมิทัศน์เมืองและชุมชน |
คค. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ทส. มท. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) |
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนที่ดีบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนและการเติบโตสีเขียว มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีการพัฒนาเศรษฐกิจของสมาชิกในชุมชนบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนและการเติบโตสีเขียว |
1) ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 2) ชุมชนที่มีการพัฒนาท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยชุมชน อย่างน้อย 80 แห่ง และ 3) ผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนบนพื้นฐานของอัตลักษณ์และวิถีชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น |
1) พัฒนาแนวทางในการจัดการของเสียและน้ำเสียของทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน 2) ส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนบนพื้นฐานของอัตลักษณ์และวิถีชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดลอม 3) ส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยชุมชน และ 4) ส่งเสริมและสนับสนุนภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน |
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ทส. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) มท. กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) |
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาระบบ กลไกเครื่องมือ และมาตรการในการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมชุมชนอย่างมี ธรรมาภิบาล และประสิทธิภาพ มีเป้าหมายเพื่อให้มีระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนที่มีประสิทธิภาพจากการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน มีระบบ โครงสร้าง เครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนมาตรการด้านกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการพัฒนาของชุมชนและกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก |
1) ระบบและโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนมีความชัดเจน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น 2) มีกฎหมายสิทธิชุมชนรองรับปัญหาด้านสิ่งวดล้อมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 3) ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น รวมทั้ง มีความร่วมมือ ระหว่างชุมชน ท้องถิ่น ภาคเอกชนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และ 4) มีข้อมูลและฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมชุมชนอัจฉริยะของประเทศ |
1) พัฒนาระบบโครงสร้างการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนแบบบูรณาการ 2) กำหนดมาตรการกระตุ้นและจูงใจให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และ3) ปรับปรุงแก้ไข กฎ ระเบียบ กฎหมาย เพื่อสนับสนุนการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน และจัดทำฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมชุมชนอัจฉริยะ |
กค. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดศ. ทส. มท. และสำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) |
ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ นวัตกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมเชิงนิเวศ เพื่อสร้างชุมชนแห่งอนาคต มีเป้าหมายเพื่อให้ภาคีพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงบนฐานองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยทัดเทียมประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก |
1) จำนวนกลุ่ม เครือข่าย ที่มีลักษณะที่หลากหลายและมีส่วนร่วมกับภาคีการพัฒนาในการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และ 2) จำนวนนวัตกรรม เทคโนโลยีและจำนวนชุมชน ที่มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของตนเองหรือมีวัฒนธรรมเชิงนิเวศในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้น |
1) เสริมสร้างความรู้ จิตสำนึกและความสามารถในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 2) ส่งเสริมการวิจัย และพัฒนา รวมทั้งเทคโนโลยีด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน 3) ส่งเสริมความรับผิดชอบภาคีพัฒนาเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนผ่านกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนและการสร้างวัฒนธรรมเชิงนิเวศ และ 4) เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน |
กระทรวงการต่างประเทศ
อว. ดศ. ทส. มท.
วธ. ศธ. และ นร. |
ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนฯ ตามยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ยุทธศาสตร์ มีประสิทธิภาพ ได้มีการกำหนดแผนที่นำทาง (Roadmap) การดำเนินงานโดยมีมาตรการแบ่งเป็นระยะสั้น (พ.ศ. 2563 - 2565) ระยะกลาง (พ.ศ. 2566 - 2570) และระยะยาว (พ.ศ. 2571 - 2580) มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนในแต่ละระดับ รวมทั้งมีการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานและการจัดทำรายงานเรื่องดังกล่าวด้วย
18. เรื่อง รายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ รายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2562 และให้เสนอรัฐสภาทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
พม. เสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550มาตรา 17 บัญญัติให้ พม. จัดทำรายงานประจำปีแสดงจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ และจำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาลและจำนวนการยอมความ และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบ ปีละครั้ง ดังนั้น เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว พม. จึงได้จัดทำรายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ ประจำปี 2562 ประกอบด้วยเนื้อหา 3 ส่วน ดังนี้
1.
ส่วนที่ 1 ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ปี 2562 ที่รวบรวมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 3) สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร 4) ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ 5) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 6) บ้านพักเด็กและครอบครัวกรมกิจการเด็กและเยาวชน 7) สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประทศไทยฯ 8) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 9) ศูนย์บริการปรึกษา สภาสังคมสงเคระห์แห่งประทศไทย 10) สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์ฯ 11) มูลนิธิปวีณา หงสกุลเพื่อเด็กและสตรี (องค์กรสาธารณประโยชน์) 12) มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 13) มูลนิธิศุภนิมิตรแห่งประเทศไทย 14) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว 15) โรงพยาบาลรามาธิบดี 16) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและ
ความมั่นคงของมนุษย์
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ พม. ใช้อ้างอิงในการดำเนินงานมาจาก 2 หน่วยงาน ได้แก่
หน่วยงาน |
รายละเอียด |
1. กระทรวงสาธารณสุข |
ผู้ถูกกระทำความรุนแรง เข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล จำนวน 512 แห่ง หรือจำนวน 15,797 ราย ในจำนวนนี้ ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดเป็นเพศหญิง จำนวน 14,523 ราย รองลงมาเป็นเพศชาย จำนวน 1,265 ราย และเพศทางเลือก จำนวน 9 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยผู้ถูกกระทำความรุนแรง จำนวน 43 รายต่อวัน
|
2. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. |
- ตามระบบฐานข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้เว็บไซต์ www.violence.in.th แสดงจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เข้าสู่กระบวนการตามพระราชบัญญัติฯ โดยจำแนกตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ช่วงอายุ ประเภท สาเหตุ และสถานที่ เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่บันทึกในปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,532 เหตุการณ์ |
2.
ส่วนที่ 2 ข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ได้แก่ จำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัว จำนวนคำสั่งกำหนด มาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ จำนวนการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่และศาลและจำนวนการยอมความ โดยป็นข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานและแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
ข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวตามมาตรา 17 |
รายละเอียด |
1. หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง 3 หน่วยงาน |
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีจำนวนคดีการกระทำความรุนแรงในครอบครัว 52 คดี ร้องทุกข์ 51 คดี ไม่ร้องทุกข์ 1 คดี คำสั่งกำหนดมาตรการ ฯ 8 คำสั่ง มีการละเมิดคำสั่งกำหนดมาตรการ/วิธีการบรรเทาทุกข์ 2 คำสั่ง และการยอมความชั้นสอบสวน 9 คำสั่ง
- สำนักงานอัยการสูงสุดมีจำนวนคดีสั่งฟ้อง 145 เรื่อง ไม่ฟ้อง 13 เรื่อง ยุติคดี (ยอมความ) 16 เรื่อง และใช้มาตรการ 16 เรื่อง
- สำนักงานศาลยุติธรรมมีคดีฟ้องต่อศาล 52 คดี โดยศาลยุติธรรมมีคำสั่งกำหนดมาตรการ ฯ 1 คำสั่ง และยอมความในชั้นพิจารณาคดี 4 เรื่อง |
2. การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว |
ในปี 2562 มีการช่วยเหลือ จำนวน 1,739 ความช่วยเหลือ
โดยมีการจัดให้ได้รับการเข้ารักษาจากแพทย์ 250 ราย
การจัดให้ได้รับคำปรึกษาแนะนำจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา
นักสังคมสงเคราะห์ จำนวน 502 ราย การจัดให้ร้องทุกข์
และดำเนินคดี 227 ราย การระงับเหตุและสอบถามผู้กระทำ/ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว จำนวน 495 ราย และการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ จำนวน 265 ราย
|
3.
ส่วนที่ 3 บทวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว และข้อเสนอแนะเชิงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและต่อการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในปี 2563 สำหรับข้อเสนอแนะเชิงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ การส่งเสริมสหวิชาชีพและเครือข่าย ด้านครอบครัวไทยปลอดความรุนแรง การเสริมสร้างเครือข่ายในระดับพื้นที่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 การสร้างทัศนคติความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเพื่อยุติความรุนแรงต่อ เด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่และเอกสารวิชาการ
19. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ
โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ดังนี้ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หมวด 4 หน้าที่ของปวงชน ชาวไทย หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ หมวด 7 รัฐสภา หมวด 8 คณะรัฐมนตรี หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หมวด 10 ศาล หมวด 11 ศาลรัฐธรรมนูญ หมวด 12 องค์กรอิสระ หมวด 13 องค์กรอัยการ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และบทเฉพาะกาล
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สคก. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สคก. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว โดยได้รวบรวมผลการพิจารณาเกี่ยวกับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในประเด็นการศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎร และผลการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ
โดยได้สรุปความเห็นในภาพรวม เช่น การกำหนดหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยได้มีการคำนึงถึงสิทธิต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอยู่แล้ว
โดยในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ในรัฐธรรมนูญ และหากไม่มีการห้ามหรือจำกัดโดยรัฐธรรมนูญหรือโดยกฎหมาย บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำได้ทุกเรื่องและได้รับการคุ้มครอง การจะจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดย่อมจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวม
ในส่วนของบทบัญญัติในมาตรา 50 เป็นพื้นฐานอันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย และไม่จำเป็นต้องแยกว่ากรณีใดเป็นสิทธิหรือหน้าที่ อย่างไรก็ตาม หากมีการศึกษาในภายหน้าแล้วเห็นว่าควรมีการปรับปรุงในการกำหนดให้กรณีใดควรเป็นสิทธิหรือหน้าที่ก็สามารถจะกระทำได้ สำหรับ
การบัญญัติหน้าที่ของรัฐตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐเป็นการให้หลักประกันการทำหน้าที่ของรัฐซึ่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการ แต่ในการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว หน่วยงานของรัฐจะเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการซึ่งควรมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดรายละเอียดของหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการด้วย แต่หากกลไกการดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะยังไม่เพียงพอก็สามารถพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายนั้นให้ชัดเจนได้ เช่น การฟ้องคดีต่อศาล ก็สมควรเพิ่มเติมในกฎหมายดังกล่าวเพื่อกำหนดกรอบให้ชัดเจนในการให้อำนาจแก่ประชาชน
การกำหนดให้นโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เป็นข้อจำกัดของคณะรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นแผนระดับที่ 1 ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาที่มีความยืดหยุ่นตามบริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งของโลกและประเทศที่ครอบคลุมทุกมิติซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ การพัฒนาประเทศ รวมทั้ง เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น
จึงได้เสนอผลการพิจารณาฯ มาเพื่อดำเนินการ
20. เรื่อง รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนพฤศจิกายน 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนพฤศจิกายน 2563 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนพฤศจิกายน 2563
การส่งออกของไทยมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดี สินค้าส่งออกปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ ตามการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลก (Global Manufacturing PMI) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศได้ปรับการคาดการณ์ประมาณการเศรษฐกิจดีขึ้นจากเดิม เนื่องจากหลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีปัจจัยบวกจากความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิต และการบริโภค การส่งออกของไทย เดือนพฤศจิกายน 2563 มีมูลค่า 18,932.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.65 ขณะที่การส่งออก 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมูลค่า 211,385.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.92
สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังคงเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1) สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร
2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์
3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ถุงมือยาง
ตลาดส่งออก การส่งออกไปยังตลาดหลักและตลาดศักยภาพขยายตัวหลายตลาด
โดยตลาดหลักอย่าง
ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตลาดญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรก ขณะเดียวกันตลาดศักยภาพอย่าง
ออสเตรเลียขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตลาดแอฟริกา รัสเซีย และ CIS กลับมาขยายตัว ขณะที่หลายตลาดในตะวันออกลางหดตัวน้อยลงและมีบางตลาดขยายตัวเป็นบวก อาทิ ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV ยังหดตัว มีเพียงตลาดมาเลเซียที่ขยายตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนพฤศจิกายน 2563
การส่งออก
มีมูลค่า 18,932.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.65 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY)
การนำเข้า มีมูลค่า 18,880.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 0.99 การค้า
เกินดุล 52.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 211,385.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 6.92
การนำเข้า มีมูลค่า 187,872.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 13.74 ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 2563 การค้า
เกินดุล 23,512.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนพฤศจิกายน 2563
การส่งออก มีมูลค่า 585,911.03 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.65 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY)
การนำเข้า มีมูลค่า 592,369.78 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.98 การค้า
ขาดดุล 6,458.75 ล้านบาท
ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออก มีมูลค่า 6,575,690.45 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 6.78
การนำเข้า มีมูลค่า 5,920,305.57 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 13.76 ส่งผลให้ 11 เดือนแรกของปี 2563 การค้า
เกินดุล 655,384.88 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 2.4 (YoY) หดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อน
สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่
ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 32.5 (ขยายตัว
ในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ)
อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 23.6 (ขยายตัวในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ อิตาลี มาเลเซีย ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย)
ข้าว ขยายตัวร้อยละ 16.7 (ขยายตัวในตลาดเบนิน สหรัฐฯ จีน แอฟริกาใต้)
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 14.0 (ขยายตัวในตลาดจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ มาเลเซีย)
สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 7.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เมียนมา)
ผักผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 2.0 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ฮ่องกง มาเลเซีย ออสเตรเลีย)
สินค้าที่หดตัว ได้แก่
น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 74.1 (หดตัวในหลายตลาด อาทิ อินโดนีเซีย กัมพูชา จีน สปป.ลาว แต่ขยายตัวในตลาดเวียดนาม)
อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.4 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย แคนาดา แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อียิปต์ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย และไต้หวัน)
เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 8.7 (หดตัวในตลาดกัมพูชา และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดเมียนมา จีน สปป.ลาว สิงคโปร์ ฮ่องกง)
ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป หดตัวร้อยละ 6.6 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร แต่ขยายตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง)
ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 4.0
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 2.9 (YoY) หดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน
สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่
รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ กลับมาขยายตัวร้อยละ 10.3 ในรอบ 9 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ)
ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 13.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย)
เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ขยายตัวร้อยละ 41.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย เมียนมา)
โทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 35.5 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์)
เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 22.2 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ แคนาดา)
เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 17.0 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ อินเดีย ไต้หวัน)
เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 10.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา)
สินค้าที่หดตัว ได้แก่
ทองคำ หดตัวร้อยละ 42.7 (หดตัวในตลาดกัมพูชา สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในสิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฮ่องกง)
สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวร้อยละ 11.4 (หดตัวแทบทุกตลาด อาทิ จีน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สปป.ลาว แต่ขยายตัวในเวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ)
เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ กลับมาหดตัวร้อยละ 7.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น แต่ขยายตัวในมาเลเซีย สิงคโปร์ เยอรมนี เกาหลีใต้)
อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 28.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เยอรมนี แต่ขยายตัวในออสเตรเลีย อิตาลี ไต้หวัน)
เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัวร้อยละ 11.0 (หดตัวในหลายตลาด อาทิ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ออสเตรเลีย เมียนมา จีน แต่ขยายตัวในฮ่องกง)
ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 6.6
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญปรับตัวดีขึ้น การส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 15.4 และญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวร้อยละ 5.4 ขณะที่สหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 8.5
2) ตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 11.0 โดยการส่งออกไปตลาดจีน อาเซียน (5) และ CLMV หดตัวร้อยละ 8.9 15.0 และ 13.0 ตามลำดับ ขณะที่
เอเชียใต้หดตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.5 และ
3) ตลาดศักยภาพระดับรอง ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากการขยายตัวของการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย (25) แอฟริกา รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 23.7 4.9 และ 20.8 ตามลำดับ ขณะที่
การส่งออกไปตะวันออกกลาง(15) และ
ลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 12.1 และ 6.6 ตามลำดับ
2. แนวโน้ม และมาตรการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 - 2564
การส่งออกของไทยได้รับปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจน
และจะส่งผลดีต่อการส่งออกในเดือนสุดท้ายของปี หากไทยได้รับมอบวัคซีนในช่วงกลางปี 2564 ตามกำหนด
จะฟื้นคืนความเชื่อมั่นได้เร็วขึ้น และส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัว ซึ่งจะทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ขณะที่
การส่งออกในปี 2564 จะได้รับปัจจัยบวกจากการผลิตและการกระจายวัคซีน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และภาคการขนส่งที่จะสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติเกิดความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อราคาน้ำมัน และการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้
ขณะที่ปัจจัยท้าทาย การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อทั่วโลก อีกทั้งการแพร่ระบาดในจังหวัดสมุทรสาครที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อมิให้ส่งผลต่อการส่งออกอาหารทะเลของไทย
ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าต้องเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกหลังจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และหลายประเทศกลับมาส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น และ
ปัญหาเชิงโครงสร้างของสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังผลิตจากเทคโนโลยีเก่า หากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันหรือไทยไม่สามารถดึงดูดการลงทุนในสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศได้ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะยาว
การส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563 กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการดังนี้ (1) แก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ส่งออก รวมทั้งลดค่าระวางเรือและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ (2) เจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ยังค้างอยู่ และเปิดการเจรจา FTA ใหม่ ๆ อาทิ ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-ยูเรเซีย ไทย-เอฟต้า อาเซียน-แคนาดา (3) ผลักดันการสร้างหุ้นส่วนพันธมิตรรายมณฑลของจีน และ (4) สั่งการให้ทูตพาณิชย์เร่งหาตลาดและโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มแต้มต่อกับการส่งออกของไทยในปี 2564
21. เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) [มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 เรื่อง มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม] พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID - 19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน
กค. จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ เพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจาก COVID - 19 บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ตลอดจนป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
1.1 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 เรื่อง มาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563
มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต |
การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม |
กค. เสนอขอทบทวนในครั้งนี้ |
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อพัฒนาประเทศโดยคิดอัตราดอกเบี้ย ในปีที่ 1 - 2 ร้อยละ 2 ต่อปี ในปีที่ 3 - 5 อัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับเงินกู้สกุลบาท (Prime Rate) ลบร้อยละ 2 ต่อปี และในปีที่ 6 – 7 คิดอัตรา Prime Rate ต่อปี (อัตรา Prime Rate ของ ธสน. อยู่ที่ประมาณร้อยละ 6) วงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท (วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย) โดยระยะเวลาการอนุมัติสินเชื่อตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหรือที่ ธสน. กำหนด ทั้งนี้ ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563 |
ขยายระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 |
หมายเหตุ : การดำเนินมาตรการฯ ถึง ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2563 ธสน. อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 2,858 ล้านบาท จึงยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 2,142 ล้านบาท |
1.2 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2
1. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) |
การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม |
กค. เสนอขอทบทวนในครั้งนี้ |
ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อ จำนวน 20,000 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ให้แก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระ ไม่มีรายได้ประจำหรือเกษตรกรรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน (ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน) โดยรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 |
ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 |
หมายเหตุ : การดำเนินโครงการฯ ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 17,010 ล้านบาท จังยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 2,990 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 8,625 ล้านบาท จึงยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 11,375 ล้านบาท (รวม 2 ธนาคาร มีวงเงินคงเหลือทั้งสิ้น 14,365 ล้านบาท) |
2. โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID - 19) |
การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม |
กค. เสนอขอทบทวนในครั้งนี้ |
ธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ จำนวน 20,000 ล้านบาท (มีการปรับปรุงการดำเนินโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 คงเหลือ จำนวน 5,000 ล้านบาท)*
ให้กับประชาชนที่มีรายได้ประจำแต่มีรายได้ลดลงหรือขาดรายได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก COVID - 19 วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลาสินเชื่อไม่เกิน 3 ปี โดยรับคำขอกู้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 |
จัดสรรวงเงินที่เหลือ (2,987 ล้านบาท) ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก (ตามข้อ 1.3) |
หมายเหตุ : การดำเนินโครงการฯ ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 2,013 ล้านบาท จึงยังมีวงเงินสินเชื่อคงเหลืออยู่อีกจำนวน 2,987 ล้านบาท และโดยที่กลุ่มเป้าหมายของโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก ตามข้อ (1.3) ครอบคลุมถึงประชาชนที่มีรายได้ประจำด้วย ดังนั้น จึงเห็นควรปรับปรุงการดำเนินโครงการโดยจัดสรรวงเงินที่เหลือจากการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจาก COVID - 19 ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก
* มติคณะรัฐมนตรี (18 สิงหาคม 2563) เห็นชอบให้ปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจาก COVID - 19 โดยจัดสรรวงเงิน จำนวน 10,000 ล้านบาท ให้โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก และจัดสรรวงเงิน จำนวน 5,000 ล้านบาท ให้โครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย |
1.3 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม
โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก |
การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม |
กค. เสนอขอทบทวนในครั้งนี้ |
ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก (วงเงินจำนวน 1,000 ล้านบาท) เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงบุคคล
ในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ภัยทางเศรษฐกิจ และภัยทางธรรมชาติ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน (6 งวดแรก) เพื่อบรรเทาภาระให้ลูกค้า โดยรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 |
ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 |
หมายเหตุ : การดำเนินโครงการฯ ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อโครงการสินเชื่อ เสริมพลังฐานรากไปแล้วจำนวน 2,575 ล้านบาท มีวงเงินสินเชื่อคงเหลืออยู่อีกจำนวน 7,425 ล้านบาท(ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติในครั้งนี้ ธนาคารออมสินจะมีวงเงินในการปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ รวมทั้งสิ้น 10,412 ล้านบาท) |
22. เรื่อง ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ พ.ศ. 2563 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (17 มิถุนายน 2545) ที่กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลัก ๆ ของรัฐบาลแล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] โดย สสช. ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 5 – 9 ตุลาคม 2563 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
1.1 การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเมื่อออกนอกบ้าน พบว่า ประชาชนสวมหน้ากากออกจากบ้านมากที่สุด (ร้อยละ 96.7) รองลงมาคือ สวมหน้ากากเมื่อต้องพูดคุยกับบุคคลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ญาติ/ พี่น้อง (ร้อยละ 94.8) และตรวจวัดไข้ก่อนเข้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ (ร้อยละ 91.7)
1.2 การใช้เทคโนโลยีทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรค พบว่า ประชาชนใช้แอปพลิเคขันไทยชนะสแกนเข้าออกห้าง/ร้านมากที่สุด (ร้อยละ 62.2) รองลงมาคือ ชำระเงินผ่านทางออนไลน์แทนเงินสด (ร้อยละ 45.7) และซื้อสินค้าออนไลน์ (ร้อยละ 44.4)
1.3 มาตรการ/แนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรสนับสนุนให้คนไทยเที่ยวภายในประเทศ (ร้อยละ 58.3) รองลงมาคือ ปิดประเทศเพื่อไม่ให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจได้เลยจนกว่าสถานการณ์ จะสงบ (ร้อยละ 47.3) และให้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะหมดไป (ร้อยละ 40.3)
1.4 ผลกระทบด้านรายได้จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่าได้รับผลกระทบด้านรายได้ (ร้อยละ 71.2) โดยประชาชนในกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบมากที่สุด (ร้อยละ 76.7) รองลงมาคือ ภาคใต้ชายแดน (ร้อยละ 75.3) และภาคใต้ (ร้อยละ 73.5) ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ส่วนใหญ่แก้ปัญหาโดยการประหยัดเพิ่มขึ้น/ลดรายจ่ายครัวเรือน (ร้อยละ 78.1) ปรับเปลี่ยนชีวิตโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง (ร้อยละ 49.3) และรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล (ร้อยละ 23.7) โดยเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน (ร้อยละ 67.8) การแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง (ร้อยละ 51.1) และการช่วยเหลือจากภาครัฐ (ร้อยละ 33.2)
1.5 ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการดำเนินมาตรการ/การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนให้คะแนนความเชื่อมั่นฯ เฉลี่ย 7.18 คะแนน (คะแนนเต็ม 10) โดยประชาชนภาคใต้มีคะแนนความเชื่อมั่นสูงที่สุด (7.73 คะแนน) รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (7.29 คะแนน) และภาคใต้ชายแดน (7.26)
1.6 ความสุขในการดำรงชีวิต ประชาชนให้คะแนนความสุขฯ เฉลี่ย 7.22 คะแนน (คะแนนเต็ม 10 คะแนน) โดยประชาชนภาคใต้มีคะแนนความสุขสูงที่สุด (7.60 คะแนน) รองลงมาคือ ภาคเหนือ (7.42 คะแนน) และภาคกลาง (7.31 คะแนน)
2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สสช. มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
2.1 ควรมีมาตรการจูงใจประชาชนให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัสเชื้อโควิด-19 เช่น การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือให้ส่วนลดสำหรับผู้ซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ การประกวดการใช้เทคโนโลยี เพื่อทำกิจกรรมประจำวัน
2.2 ควรมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานหรือสร้างอาชีพ เพื่อให้ประชาชน มีรายงานเพิ่มขึ้น โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การสร้างความรู้ ความเข้าใจผ่านสื่อ และการจัดหาแหล่งเงิน
23. เรื่อง ขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย
เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการ
ผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินงานโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม ภายในกรอบวงเงิน 1,477,758,400 บาท ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยจ่ายงบประมาณเพื่อจัดซื้อนมโรงเรียนขนิด ยู เอช ที ให้เด็กนักเรียนดื่มเพิ่มเติม ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดซื้อนมโรงเรียน ตามรายละเอียดดังนี้
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1,098,086,400 บาท
2. กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 326,396,900 บาท
3. กรุงเทพมหานคร จำนวน 50,822,500 บาท
4. เทศบาลเมืองพัทยา จำนวน 2,452,600 บาท
สาระสำคัญ
1. กรมปศุสัตว์ได้หารือกับผู้ประกอบการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ที่ได้รับผลกระทบ และสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย (ส.อ.น.ท.) ในนามผู้ประกอบการนมพาณิชย์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เพื่อพิจารณาหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณ (หนังสือด่วนที่สุด ที่ 0718/4851 ลงวันที่ 5 มกราคม 2564) และสามารถสรุปข้อมูลได้ ดังนี้
1) การนำนมโรงเรียนชนิด ยู เอช ที ที่ประสบปัญหาไม่มีที่จำหน่าย มาส่งมอบในภาคเรียนที่ 2/2563 นั้น ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงรับซื้อผลผลิตน้ำนมดิบต่อเนื่องทุกวัน เพื่อนำไปผลิตนมโรงรียน ภาคเรียนที่ 2/2563 ตามที่ได้รับการจัดสรรสิทธิ หากไม่สามารถผลิตนมโรงเรียนได้ก็ต้องนำน้ำนมดิบส่วนนี้ไปบรรจุเป็นผลิตภัณฑ์ชนิด ยู เอช ที เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันต่อไป
2) ด้วยโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จัดสรรงบประมาณให้เด็กนักเรียนดื่มนมชนิดพาสเจอร์ไรส์ในวันเปิดภาคเรียน จะดื่มนม ยู เอช ที ในวันปิดภาคเรียน ดังนั้น หน่วยจัดซื้อจึงมีงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับจัดซื้อนมโรงรียนชนิด ยู เอช ที ตลอดภาคเรียน เนื่องจากนมโรงเรียนชนิด ยู เอซ ที มีราคาจำหน่าย 7.82 บาท/กล่อง ในขณะที่นมโรงเรียนชนิดพาสเจอรไรส์ มีราคาจำหน่าย 6.58 บาท/ถุง
3) สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย (ส.อ.น.ท.) ในนามตัวแทนผู้ประกอบการนมพาณิชย์ แจ้งว่าผู้ประกอบการนมพาณิชย์ไม่สามารถรับซื้อน้ำนมดิบในส่วนที่เป็นโควตาของนมโรงเรียนเพิ่มเติมได้ เนื่องด้วยตลาดพาณิชย์ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีการแพร่ ระบาดตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ประชาชนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อลดลง ประกอบกับยังไม่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาภายในประเทศไทย รวมทั้งปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ต้องแบกรับภาระยอดผลิตภัณฑ์ที่คงเหลือเช่นกัน
2. กระทรวงเกษตรละสหกรณ์ได้ประชุมหารือแนวทางช่วยเหลือ เยียวยา เกษตรกรผู้เลี้ยโคนม และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไววัสโคโรนา 2019 ได้ข้อสรุป ดังนี้
1) การแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน เสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จัดซื้อนมโรงเรียนชนิด ยู เอซ ที ที่ค้างสต็อค เพื่อจัดสรรให้นักเรียนตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2563 ได้ดื่มเพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดสภาพคล่องในห่วงโซ่การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม เกษตรกรสามารถจำหน่ายน้ำนมดิบและ ผู้ประกอบการดำเนินกิจการต่อไปได้
2) การแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาว มีข้อเสนอดังนี้
- ศึกษา พัฒนา การนำน้ำนมดิบไปผลิตเป็นอาหารเสริมในสัตว์เลี้ยง
- ศึกษาแนวทางการเพิ่มมูลค่าน้ำนม (Value Added) โดยนำน้ำนมไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เป็นไปตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เช่น วิปครีม ชีส เป็นต้น
3) การรณรงค์การบริโภคนมจะให้คนไทยได้รับทราบว่านมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อ ทุกเพศทุกวัย และเพิ่มการบริโภคนมที่ใช้น้ำนมดิบภายในประเทศ
3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2563
ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย เกษตรกรผู้เลี้ยง โคนม ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม และแรงงานในห่วงโซ่การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม จำนวนกว่า 120,000 ราย ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจทั่วไปถดถอย ยอดการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมใน ตลาดนมพาณิชย์ลดลงประมาณร้อยละ 30 ถึงแม้ว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมจะพยายามแก้ปัญหาเบื้องต้น เพื่อลดการผลิตน้ำนมดิบ และนำน้ำนมดิบไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมชนิด ยู เอช ที โดยบรรจุในกล่องนมโรงเรียน ซึ่งไม่สามารถนำไปจำหน่ายในตลาดนมพาณิชย์ได้ และหมดอายุลงระหว่างปลายปี พ.ศ. 2563 – กลางปี 2564 จำนวนประมาณ 213 ล้านกล่อง ซึ่งมูลค่าตามราคากลางในการจำหน่ายนมโรงเรียนชนิด ยู เอช ที กล่องละ 7.82 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 1,655.66 ล้านบาท แต่หากคิดมูลค่าตามต้นทุนเฉลี่ยการผลิตนมโรงเรียนชนิด ยู เอช ที กล่องละ 7 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 1,477 ล้านบาท
การประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประมาณ 20,000 ฟาร์ม มีภาระค่าใช้จ่ายประจำ ได้แก่ ค่าจ้างแรงงานในการรีดนม ประมาณ 4-6 คนต่อฟาร์ม ทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 120,000 คน
ค่าอาหารสำหรับเลี้ยงโคนม ซึ่งร้อยละ 60 ของอาหารโคนม ต้องเป็นอาหารหยาบ อาทิ หญ้าชนิดต่าง ๆ ฟางข้าว ข้าวโพด กากถั่ว กากมันสำปะหลัง กากปาล์ม เปลือกสับปะรด และกากน้ำตาล และอีกร้อยละ 40 ของอาหารโคนม เป็นอาหารข้นที่เกษตรกรอาจจะผลิตเอง หรือซื้อจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ค่าขนส่งน้ำนมดิบจากฟาร์มไปยังศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ค่าขนส่งน้ำนมดิบจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบไปยังโรงงานแปรรูป เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นม นอกจากนั้น ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ จำนวน 151 แห่ง มีการจ้างงานประมาณ 1,000 คน และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม จำนวน 50 ราย มีการจ้างงานอีกประมาณ 4,000 คน
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องรีดนมโคทุกวัน ทำให้มีผลผลิตน้ำนมดิบเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกวันแต่เกษตรกรก็ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของตนเองโดยการหยุดรีดนมโค (Dry) เพื่อลดปริมาณการผลิตน้ำนมดิบ เพราะผู้ประกอบการลดการรับซื้อลง ดังนั้น น้ำนมดิบที่เกินกว่าปริมาณที่ผู้ประกอบการต้องการรับซื้อ จึงต้องนำไป แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นม ยู เอช ที โดยการบรรจุกล่องนมโรงเรียนเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาน้ำนมดิบให้ได้ถึง 10 เดือน แทนการผลิตเป็นนมชนิดพาสเจอร์ไรส์ซึ่งมีอายุการเก็บรักษาที่สั้นกว่ามาก จากการที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบจำหน่ายน้ำนมดิบได้ลดลง ทำให้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินในการจ่าย ค่าน้ำนมดิบให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ดังนั้น จึงต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน ทำให้เกิดภาระหนี้สิน
เนื่องจากผลิตภัณฑ์นม ยู เอช ที ที่บรรจุไว้ในกล่องนมโรงเรียนกำลังจะหมดอายุหากไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้ จะเกิดปัญหาซ้ำต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ดังนั้น การเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยของบประมาณเพื่อจัดซื้อผสิตภัณฑ์นมชนิด ยู เอช ที ดังกล่าว จำนวนประมาณ 213 ล้านกล่อง เป็นเงินประมาณ 1,477 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้เด็กนักเรียนจะได้บริโภคนมเพิ่มขึ้นเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของร่างกายและภูมิคุ้มกันโรคของเด็กนักเรียน ลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 และยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง สร้างความยั่งยืนของอาชีพการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมนมของประเทศไทยต่อไป
4. วัตถุประสงค์ของโครงการ
1) เพื่อเป็นการช่วยเหลือและเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม ยู เอช ที ที่ผลิตไว้ได้
2) เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้ ของเกษตรกร ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และผู้ประกอบผลิตภัณฑ์นม ให้มีความยั่งยืนของอาชีพการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมนมตลอดห่วงโซ่การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม
3) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนได้มีการบริโภคนมมากขึ้น เสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันเข้มแข็ง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
5. วิธีและขั้นตอนการดำเนินงาน
1) ให้คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จัดสรรสิทธิ
การจำหน่าย และให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) จัดสรรพื้นที่การจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม
2) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรียน (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร และเทศบาลเมืองพัทยา) และโรงเรียน ดำเนินการจัดซื้อนมโรงเรียนในโครงการ โดยใช้วิธีการจัดซื้อลักษณะเดียวกับโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทำสัญญาซื้อขายกับผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิ รวมทั้งจัดซื้อและส่งมอบนมโรงเรียนให้เด็กนักเรียนได้ดื่มตามระยะเวลาโครงการ
3) ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อนมโรงเรีย (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร และเทศบาลเมืองพัทยา) และโรงเรียน ร่วมกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานในสังกัด กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหา
24. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ระยะที่ 5
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 473,150,000 บาท ให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID - 19) ระยะที่ 5 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563) สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ในส่วนของสถานที่เอกชนต่อไป ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ
25. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 (โครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 ที่ได้มีการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
1.
อนุมัติโครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค (A001) สำนักงานปลัดกระทวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 5,816.3631 ล้านบาทประกอบด้วย ค่าสิ่งก่อสร้างไม่เกิน 389.3071 ล้านบาท และค่าครุภัณฑ์ไม่เกิน 5,427.0560 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ภายใต้แผนงานที่ 1.4
2.
เห็นชอบในหลักการของรายการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารจัดการเฝ้าระวัง ติดตาม ควบคุมกำกับ การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ ภายใต้โครงการฯ กรอบวงเงินไม่เกิน 429.6171 ล้านบาท พร้อมทั้งเห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุขขอรับการจัดสรรแหล่งเงินเพื่อดำเนินการจากแหล่งเงินอื่น ๆ ตามความจำเป็นและความเหมาะสมตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
3.
มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน และดำเนินการดังนี้
1) จัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือนเพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ
2) รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงปัญหาอุปสรรค โดยจัดส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
3) ประสานกับกระทรวงการคลังในการรายงานขีดความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดฯ ด้วย
26. เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2564) จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกใหม่
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้
1. รับทราบการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ดำเนินการอยู่ และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2. เห็นชอบในหลักการของมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564) จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกใหม่ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564) จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกใหม่
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 ยังคงขยายขอบเขตอย่างรวดเร็วและครอบคลุมเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยเฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 16 ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 และฉบับที่ 17 ลงวันที่ 4 มกราคม 2564 ตามลำดับ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ดังนั้น สำนักงานฯ ได้ประสานกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564) จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระลอกใหม่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเบื้องต้น รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมไปถึงการใช้ชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมสามารถขับเคลื่อนได้ในระยะต่อไป โดยสรุปได้ดังนี้
1. มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้า น้ำประปา และอินเทอร์เน็ต) สำหรับประชาชนทั่วไป
1.1 ค่าไฟฟ้า เสนอให้สิทธิค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) โดยมอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยดำเนินการ ดังนี้
1.1.1 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
1.1.2 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้
(1) กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
(2) กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้ (2.1) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วย การใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 (2.2) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 ในอัตราร้อยละ 50 และ (2.3) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 2563 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม 62563 ในอัตรา ร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
1.1.3 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรก
ทั้งนี้ มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กำหนดให้ดำเนินการเป็นระยะเวลา 2 เตือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564
1.2 ค่าน้ำประปา เสนอให้ลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 โดยมอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยดำเนินการต่อไป
1.3 ค่าอินเทอร์เน็ต มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ประสานขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายระบบโทรคมนาคมในการพิจารณากำหนดมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตของครัวเรือน รวมทั้งดูแลระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้มีเสถียรภาพสูงสุดเพื่อรองรับการใช้งานได้อย่างเต็มที่
2. มาตรการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด - 19 อาทิ หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์ ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เป็นต้น โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด - 19 ให้เพียงพอและครอบคลุมทั่วถึงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อจำนวนมากและในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อน้อย
3. มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้โรงงานของตนเองเป็นสถานที่ในการกักตัวแรงงานในพื้นที่โรงงาน (Factory quanrantine) โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยโดย ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยองจันทบุรี และตราด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือในการใช้พื้นที่โรงงานของตนเองเป็นสถานที่กักตัวแรงงาน หรือผู้ปฏิบัติงานในโรงงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ภายในโรงงานและป้องกันการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต
4. มาตรการปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มอบหมายให้การท่องเที่ยว แห่งประเทศไทยดำเนินการให้ผู้ใช้สิทธิ์ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่ได้มีการจองที่พักในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สามารถเลื่อนการเดินทางออกไปได้จนถึงเดือนเมษายน 2564 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณาแนวทางในการขยายระยะเวลาของโครงการที่เหมาะสม และปรับปรุงโครงการให้มีความรัดกุม เพื่อให้โครงการเราเที่ยวด้วยกันสามารถเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2564
5. มาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาเตรียมมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติมเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม
6. มาตรการส่งเสริมการจ้างงานและรักษาระดับการจ้างงาน โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามและเร่งรัดการดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในระยะต่อไป อาทิ พิจารณาขยายกลุ่มเป้าหมายจากเดิมที่จำกัดเฉพาะเด็กจบใหม่ ให้ครอบคลุมกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เพื่อส่งเสริมการรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ มอบหมายให้กระทรวงแรงงานประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการดูแลแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนประกันสังคมภาคสมัครใจให้มากขึ้น รวมทั้งพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในกรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 ใน 15 เดือน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดด้วยเช่นกัน
27. เรื่อง มาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้
สาระสำคัญ
กระทรวงการคลังได้ดำเนินมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) และมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้) โดยมีมาตรการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ)
เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ
1) พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan ธปท.) วงเงินโครงการ 500,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 370,000 ล้านบาท โดย ธปท. สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินให้สินเชื่อใหม่แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ซึ่งรวมถึงบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดสินเชื่อคงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เมษายน 2564
2) ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ ดังนี้
2.1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 7,600 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 100 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
2.2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 4,200 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก และผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและ Supply Chain เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ โฮสเทล เป็นต้น วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
2.3) โครงการสินเชื่อออมสิน SMEs มีที่ มีเงิน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยใช้หลักประกันสินเชื่อเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และไม่ต้องผ่านการตรวจเครดิตบูโร วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
3) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ดำเนิน
โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือสินเชื่อ Extra Cash วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 5,900 ล้านบาท โดย ธพว. ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
4) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ดำเนินโครงการ ค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้
4.1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท (ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 วงเงิน 150,000 ล้านบาท) โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มระดับการจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดอายุโครงการเป็นร้อยละ 35 (จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 30) วงเงิน ค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยรัฐบาลรับ ภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ในระยะเวลา 2 ปีแรก ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564
4.2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท (ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 วงเงิน 25,000 ล้านบาท) โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มระดับการจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดอายุโครงการเป็นร้อยละ 40 (จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 35) วงเงินค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 100,000 บาทต่อราย คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในปีที่ 1-3 อัตราร้อยละ 1 ต่อปี และในปีที่ 4-10 อัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการรายย่อยในระยะเวลา 3 ปีแรก ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564
4.3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงินโครงการ 57,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 54,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก. Soft Loan ธปท. และ Soft Loan ท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน ค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดย บสย. จะเริ่ม ค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายได้รับสินเชื่อตามโครงการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อตามระยะเวลารับคำขอสินเชื่อของแต่ละโครงการ
1.2 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับประชาชน
1) ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้
1.1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 2,600 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
1.2) โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 7,300 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภัยทางเศรษฐกิจ และภัยทางธรรมชาติ วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีปรับเพิ่มวงเงินอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท และขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
2) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้
2.1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีวงเงินคงเหลือประมาณ 11,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรรายย่อย วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 0.10 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
2.2) โครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan : SL) วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรลูกค้าหรือทายาทเกษตรกร หรือบุคคลในครัวเรือนเกษตรกร หรือบุคคลทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ให้สามารถประกอบอาชีพเพื่อยังชีพ สร้างรายได้จุนเจือตนเองและครอบครัววงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปีใน 3 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไปคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้า รายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี) สิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564
2.3) โครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด วงเงินโครงการ 60,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับไปประกอบอาชีพในภูมิลำเนาบ้านเกิดให้ได้มีแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพหรือธุรกิจใหม่ รวมทั้งสร้างงานสร้างอาชีพที่มีลักษณะเป็นการพัฒนาหรือ ต่อยอดไปสู่ธุรกิจชุมชน วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อรายเป็นไปตามความจำเป็นหรือแผนงานโครงการกรณีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปีในเดือนที่ 1-3 ตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR และกรณีเพื่อเป็นค่าลงทุนคิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 ร้อยละ 4 ต่อปี ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR สิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564
2.4) โครงการสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและสามารถกลับมาทำการผลิตได้ตามปกติ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ในเดือนที่ 1-12 ตั้งแต่เดือนที่ 13 เป็นต้นไปคิดอัตราดอกเบี้ยปกติตามชั้นลูกค้า สิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564
2. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้)
สถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้มีการจัดกลุ่มลูกหนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มสีเขียว คือกลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ (2) กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่าย และ (3) กลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือ
ลูกหนี้แต่ละรายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงมีการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 มาตรการบรรเทาภาระหนี้สินสำหรับผู้ประกอบการ
1) ธพว. ได้ดำเนินการพักชำระหนี้เงินต้นครั้งละ 6 เดือน และสามารถขยายได้สูงสุดไม่เกินเดือนธันวาคม 2564 สำหรับกลุ่มลูกค้าปกติ ในส่วนของกลุ่มลูกค้าที่ยังมีการค้างชำระหรือความสามารถชำระหนี้ลดลงจะมีการประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือตามความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการชำระหนี้เป็นการเฉพาะราย เช่น ปรับลดค่างวดผ่อนชำระ ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเหมาะสมของแต่ละกิจการ
2) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) โดย ธสน. มีการสนับสนุนผู้ประกอบการตามความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ (1) ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ยังสามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด โดยให้วงเงินเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง (2) ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการที่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้บางส่วน โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไประยะหนึ่งและให้สินเชื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม (3) ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากออกไปไม่เกิน 2 ปี และ (4) ประคับประคองผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงโดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามสภาพธุรกิจ โดยมีระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
3) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยการชะลอการชำระหนี้สินเชื่อสำหรับบัญชีสินเชื่อที่ได้รับการพักชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก. Soft Loan ธปท. โดยมีแนวทาง ได้แก่
(1) สินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลา พักชำระเงินต้นโดยให้ชำระเฉพาะกำไรเป็นระยะเวลา 6-12 เดือน หรือพักชำระเงินต้นและกำไรเป็นระยะเวลา 6 เดือน
(2) สินเชื่อตั๋วสัญญาใช้ เงิน พักชำระกำไรค้างรับจนถึงวันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินครบกำหนดหรือวันที่ปิดตั๋วสัญญาใช้เงิน
และ (3) วงเงินเบิกถอนเงินสด พักชำระกำไรค้างรับเฉพาะส่วนเกินที่เกินวงเงิน ณ วันที่ปรับปรุงบัญชีสินเชื่อ ทั้งนี้ ธอท. จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เป็นรายกรณีและมีระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือถึงเดือนมิถุนายน 2564
4) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประกอบการ SMEs ประเภทสินเชื่อแฟลตโดยมีแนวทาง ได้แก่
(1) ลดภาระการผ่อนชำระเป็นเวลา 6 เดือน โดยให้ลูกหนี้สามารถพิจารณาเลือกแผนในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้รายได้ลดลงและไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามสัญญาเดิม และ
(2) พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยต่อไปอีกไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 สำหรับลูกหนี้ที่โครงการไม่มีรายได้จากอาคารแฟลตให้เช่าอันเนื่องมาจากกิจการของลูกหนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติหรือธนาคารยังไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดของลูกหนี้ได้ โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564
2.2 มาตรการบรรเทาภาระหนี้สินสำหรับประชาชน
1) ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในพื้นที่จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่ต้องมีมาตรการเข้มงวด รวม 28 จังหวัด ตามคำสั่งของ ศบค. โดยจะพิจารณาให้ลูกหนี้สามารถขอพักชำระเงินต้น โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือขอลดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนได้ แล้วแต่กรณี ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของผลกระทบที่ได้รับ เป็นระยะเวลา 3 - 6 เดือน
2) ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ดังนี้
2.1) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยการพักชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือนเมษายน 2563 ถึงงวดเดือนมีนาคม 2564 ระยะเวลา 1 ปี
2.2) โครงการชำระดีมีคืน สำหรับหนี้เงินกู้จัดชั้นปกติ โดยการโอนคืนดอกเบี้ยเงินกู้เข้าบัญชีเงินฝากให้แก่ (1) ลูกค้าเกษตรกรและบุคคลในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง รายละไม่เกิน 5,000 บาท และ (2) ลูกค้ากลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตร สหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง รายละไม่เกิน 50,000 บาท
2.3) โครงการลดภาระหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPLs) หรือมีดอกเบี้ยค้างชำระเกิน 15 เดือน โดยการนำดอกเบี้ยที่คืนให้มาตัดชำระต้นเงินให้แก่ (1) ลูกค้าเกษตรกรและบุคคลในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และ (2) ลูกค้ากลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตร สหกรณ์ นิติบุคคล กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง
3) ธอส. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชน ดังนี้
3.1) ขยายระยะเวลาการพักชำระเงินต้นเป็นเวลา 3 เดือน และให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายเดือน ที่สิ้นสุดระยะเวลาการได้รับความช่วยเหลือจาก ธอส. ในระยะที่ 1 โดยมีระยะเวลาการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการสิ้นสุดในวันที่ 29 มกราคม 2564 และสิ้นสุดระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือวันที่ 30 เมษายน 2564
3.2) พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่อยู่ระหว่างการใช้โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ เป็นรายกรณี โดยมีระยะเวลาการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการสิ้นสุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 และสิ้นสุดระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือวันที่ 31 กรกฎาคม 2564
3.3) ลดเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบันให้แก่ (1) ลูกหนี้ที่มีสถานะชั้นปกติ (2) ลูกหนี้ NPLs และ (3) ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นครั้งแรก เป็นจำนวนร้อยละ 25 ร้อยละ 50 หรือร้อยละ 75 ของเงินงวดผ่อนชำระในปัจจุบัน โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ผ่านแอพพลิเคชัน GHB ALL ของ ธอส.
4) ธอท. ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยโดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยการปรับลดอัตรากำไรและขยายระยะเวลาการชำระหนี้สำหรับสินเชื่ออเนกประสงค์แบบไม่มีหลักประกันที่มีภาระหนี้คงเหลือไม่เกินส่วนต่างมูลค่าหลักประกันของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ธอท. คิดอัตรากำไรประเภทลูกค้ารายย่อยชั้นดีตามประกาศของธนาคาร และ/หรือ ให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปอีกไม่เกิน 5 ปีจากสัญญาเดิมและไม่เกินระยะเวลาคงเหลือตามสัญญาสินเชื่อที่อยู่อาศัยของลูกหนี้
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประสาน ธปท. เพื่อให้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป
28. เรื่อง การรับรองแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเอเปค พ.ศ. 2563 – 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเอเปค พ.ศ. 2563 – 2567 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความรับรองร่างแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเอเปค พ.ศ. 2563 – 2567 ร่วมกับรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปคตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ
ในการประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 54 (5 – 13 พฤษภาคม 2562) ณ เมืองวินญ่า เดลมาร์ เขตเศรษฐกิจชิลี ที่ประชุมได้ร่วมรับรองร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ. 2563 – 2567 (APEC Tourism Strategic Plan: APEC TSP 2020 – 2024) โดยมีประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่
1) การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล (Digital Transformation) อำนวยความสะดวกในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในห่วงโซ่อุปทานของการท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของนักท่องเที่ยวและเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและกระจายผลประโยชน์ด้านการเดินทางและการท่องเที่ยว
2) การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) สนับสนุนการพัฒนาทักษะและความสามารถของนายจ้างและลูกจ้างเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่มีคุณภาพให้แก่นักท่องเที่ยว และสร้างแนวทางสู่ การประกอบอาชีพในอนาคต พร้อมส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนามาตรฐาน MICE ในระดับสากลสำหรับ ภูมิภาคเอเปค
3) การอำนวยความสะดวกในการเดินทางและความสามารถในการแข่งขัน (Travel Facilitation and Competitiveness) สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการเชื่อมโยงทางอากาศ ทางทะเล ทางบก และทางรถไฟ เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและยกระดับการเข้าถึงระดับภูมิภาค โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความปลอดภัย สะดวก และประสบการณ์เชิงบวกให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออก
4) การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Sustainable Tourism and Economic Growth) สื่อสารถึงความสำคัญของการเดินทางและการท่องเที่ยวในฐานะตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเสริมสร้าง ความเข้าใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่เป็นกลไกสำคัญในการเติบโตของภูมิภาคเอเปค และขยายประโยชน์จากการท่องเที่ยวต่อการจ้างงาน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การปกป้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและชุมชนในพื้นที่ชนบท
ทั้งนี้ เดิมกำหนดให้รับรองแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีฯ ครั้งที่ 11 (25 สิงหาคม 2563) ณ เกาะลังกาวี เขตเศรษฐกิจมาเลเซีย แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงทำให้ยกเลิกการจัดประชุมรัฐมนตรีฯ ครั้งดังกล่าว และได้ขอให้รัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปคให้การรับรอง ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ โดยการแจ้งเวียน (ad-referendum)
29. เรื่อง เอกสารที่จะมีการรับรองในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 1
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ด้านดิจิทัล ครั้งที่ 1 หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขถ้อยคำในร่างเอกสารฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการได้ โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารฯ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ
สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 1
1.
ร่างแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 (ASEAN Digital Masterplan 2025: ADM 2025) ร่างแผนแม่บทฉบับใหม่นี้เป็นการกำหนดทิศทางความร่วมมืออาเซียนด้านดิจิทัล ระยะ 5 ปี ระหว่าง 2564 - 2568 เพื่อมุ่งให้อาเซียนบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นประชาคมชั้นนำด้านดิจิทัลและกลุ่มประเทศทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี บริการดิจิทัล และระบบนิเวศที่มีความปลอดภัยและปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งแผนแม่บท ADM 2025 ได้กำหนดผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ 8 ประการ ดังนี้ (1) การเร่งฟื้นตัวของภูมิภาคอาเซียนจาก โควิด - 19 (2) การยกระดับคุณภาพและความครอบคลุมด้านโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั้ง แบบประจำที่และเคลื่อนที่ (3) การสร้างบริการดิจิทัลที่เชื่อถือได้และการคุ้มครองผู้บริโภค (4) การสร้างตลาดที่มี การแข่งขันอย่างยั่งยืนในการจัดหาบริการดิจิทัล (5) การเพิ่มคุณภาพและการส่งเสริมการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (6) การพัฒนาบริการดิจิทัลที่สนับสนุนการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างธุรกิจและอำนวยความสะดวก ด้านการค้าข้ามพรมแดน (7) การเพิ่มศักยภาพให้กับภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล และ (8) การส่งเสริมการเป็นสังคมดิจิทัลที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน
2.
ร่างแนวทางการดำเนินงานสำหรับกรอบการจัดการข้อมูลอาเซียนและกลไกการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนของอาเซียน (Implementing Guideline for ASEAN Data Management Framework (DMF) and ASEAN Cross Border Data Flows (CBDF) Mechanism) เป็นแนวทางการดำเนินงานตามกรอบการจัดการข้อมูลอาเซียน และกลไกการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนของอาเซียน โดยระบุถึง (1) กรอบการจัดการข้อมูลอาเซียน (ASEAN Data Management Framework: DMF) ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับภาคธุรกิจในอาเซียน โดยเฉพาะ SMEs ในการนำไปประยุกต์ใช้กับระบบบริหารจัดการข้อมูลของแต่ละองค์กร เพื่อให้มีการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล และ (2) กลไกการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนของอาเซียน (ASEAN Cross Border Data Flows (CBDF) Mechanism) ซึ่งอาเซียนได้พัฒนาข้อสัญญาต้นแบบอาเซียน (ASEAN Model Contractual Clauses: MCCs) ที่จัดทำขึ้นบนหลักการของกรอบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอาเซียน เพื่อเป็นเครื่องมือที่อยู่บนหลักการของความสมัครใจในการเลือกใช้งานของประเทศสมาชิกอาเซียน และไม่มีผลผูกพันและไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณี ภายใต้กฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ
3.
ร่างปฏิญญาปุตราจายา (Putrajaya Declaration) ย้ำถึงการดำเนินการตามผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ที่ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล และการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 และแสดงถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการขับเคลื่อนแผนแม่บท ADM 2025 เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทฯ อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการต่อยอดความร่วมมือกับคู่เจรจาองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุน การดำเนินกิจกรรม/โครงการความร่วมมือให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ของแผนแม่บทฯ ตลอดจนการส่งเสริมการประยุกต์ใช้กลไกการไหลเวียนข้อมูลข้ามพรมแดนของอาเซียน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน
4.
ร่างข้อริเริ่มอาเซียนในการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดระบบนิเวศโอทีทีที่ยั่งยืน (ASEAN Initiative for Facilitating Sustainable OTT Ecosystem) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ร่วมมือกันเพื่ออำนวยความสะดวกต่อระบบนิเวศของ OTT อย่างยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านเวทีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน การประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องหรือการประชุมอื่น ๆ ที่สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับบริการ OTT โดยที่ร่างข้อริเริ่มฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) การกำหนดนิยามของ OTT ในอาเซียน และการจัดทำรายการธุรกิจที่ถือว่าเป็น OTT (2) ประเด็นด้านสังคม อาทิ การส่งเสริมการกำกับดูแลตนเองเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และการกำกับดูแล OTT ธุรกิจในประเทศ และ (3) ประเด็นด้านเศรษฐกิจ อาทิ การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเท่าเทียม และการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจ OTT อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ข้อริเริ่มนี้ไม่มีลักษณะผูกพัน และไม่ก่อให้เกิดสิทธิหรือข้อผูกมัดตามกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน
30. เรื่อง ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ภาพรวม ประเด็นสำคัญที่มีการหารือกันอย่างกว้างขวางและทุกประเทศให้ความสำคัญ ได้แก่ การขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน การรับมือการแพร่ระบาดและผลกระทบของโรคติดเชื้อโควิด-19 การฟื้นฟูและสร้างอนาคตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุคหลังโควิด-19 และสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยมีเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรวมทั้งสิ้น 20 ฉบับ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงบทบาทและวิสัยทัศน์การรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาวเพื่อรับมือกับความท้าทายอื่นๆ ในอนาคต รวมทั้งการสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยและภูมิภาคในระยะยาว เพื่อให้ “ล้มแล้วลุกไว” ส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชนผ่านความร่วมมือกับคู่เจรจาในเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ การแก้ปัญหา ข่าวปลอม การบริหารจัดการภัยพิบัติ และ การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ
2. การขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ผู้นำอาเซียนสนับสนุนข้อริเริ่มของเวียดนามภายใต้ หลัก “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” ได้แก่ การทบทวนกึ่งวาระของแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 การเริ่มต้นกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 การทบทวนการดำเนินการตามกฎบัตรอาเซียน การส่งเสริมภาพลักษณ์และความตระหนักรู้ และการส่งเสริมการดำเนินการของกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อาเซียน
3. การรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 ประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจามุ่งมั่นที่จะร่วมกันรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขและ การพัฒนายาและวัคซีนโควิด-19 ให้เป็นสินค้าสาธารณะ โดยอาเซียนและคู่เจรจาได้ดำเนินการต่าง ๆ เช่น 1) การเปิดตัวคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข 2) ไทยประกาศบริจาคอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลยาฟาวิพิราเวียร์ และเครื่องวัดอุณหภูมิ และประเทศสมาชิกอื่น ๆ เช่น เวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐอินเดีย ประกาศบริจาคเงินสมทบกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 และ 3) อาเซียนและญี่ปุ่นได้ประกาศเปิดตัวศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและ โรคอุบัติใหม่ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องหารือถึงการคัดเลือกที่ตั้งของศูนย์ฯ ต่อไป ซึ่งในขณะนี้ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศไทย และเวียดนาม แสดงความพร้อมที่จะเป็นที่ตั้งของศูนย์ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้นำอาเซียนได้รับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยกรอบข้อตกลงระเบียงการเดินทางของอาเซียน และอินโดนีเซียได้เสนอให้อาเซียนพิจารณาจัดทำระเบียงการเดินทางกับจีนและญี่ปุ่น นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะรักษาห่วงโซ่อุปทานของสินค้าจำเป็น ระบบการค้าพหุภาคีและการค้าเสรีที่เปิดกว้าง
4. การฟื้นฟูอย่างครอบคลุมภายหลังโควิด-19 อาเซียนได้ให้การรับรองกรอบการฟื้นฟู ที่ครอบคลุมเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งและสามารถยืนหยัดต่อความท้าทายใหม่ ๆ โดยไทยย้ำถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อให้สามารถรอดพ้นวิกฤติ โควิด-19 ได้ การส่งเสริมบทบาทของสตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการผลักดันความยั่งยืนในทุกมิติและ วาระของประชาชน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงกับอาเซียนตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 ซึ่งรวมถึงโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย และ ส่วนขยายไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และเวียดนาม รวมทั้งความร่วมมือกับเกาหลีในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ชาญฉลาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการสร้างศักยภาพของอาเซียนเพื่อใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่ประชาชน และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ได้ประกาศสนับสนุนเงินจำนวน 10 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์เพื่อส่งเสริม การทำเกษตรให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศในอาเซียน และไทยได้ผลักดันความร่วมมือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว กับคู่เจราจาด้วย ทั้งนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคยังเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงดังกล่าว โดยอาเซียนได้ย้ำและยืนยันถึงโอกาสที่ยังคงเปิดกว้างสำหรับอินเดียในการเข้าร่วมในอนาคต
5. สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ 1) สถานการณ์ในอินโด-แปซิฟิก โดยญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ยืนยันการสนับสนุนมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก เพื่อเสริมสร้างภูมิภาคที่เสรี เปิดกว้าง และรุ่งเรือง โดยอาเซียนและญี่ปุ่นได้รับรองแถลงการณ์ร่วมเรื่องความร่วมมือเกี่ยวกับมุมมองอาเซียนต่อ อินโด-แปซิฟิก และอินเดียพยายามผลักดันความร่วมมือกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะความร่วมมือทางทะเล 2) สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ มีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นในทะเลจีนใต้ โดย ทุกประเทศย้ำถึงเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่าน ความสำคัญของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนยืนยันเจตนารมณ์ในการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ และสนับสนุนการปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติ วิธีโดยเร็ว เป็นต้น
6. การส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2564 ในช่วงพิธีปิดการประชุมสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้ส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้แก่บูรไนดารุซซาลาม (บรูไน) โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ทรงประกาศแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนปี 2564 ของบรูไน ได้แก่ “We Care, We Prepare, We Prosper”
ทั้งนี้ เพื่อให้มีการนำผลประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธนาคารแห่งประเทศไทย นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
31. เรื่อง ผลการประชุมทางไกลระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 10
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมทางไกลระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณะรัฐเกาหลี ครั้งที่ 10 และมอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญ ถ้อยแถลงฯ และแผนปฏิบัติการฯ ไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มประเด็น ดังนี้ (1) ความสำคัญของการเปิดตลาดการค้าและ การลงทุนเพื่อความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานในและนอกภูมิภาค (2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางรถไฟ และท่าเรือในอนาคต (3) การเพิ่มรายละเอียดโครงการภายใต้กองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี รอบที่ 4 (4) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาความร่วมมือ ในภูมิภาค และ (5) การสนับสนุนความร่วมมือเพื่อเข้าถึงวัคซีนและการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
สาระสำคัญของถ้อยแถลงของผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ
1. ประเทศไทยชื่นชมบทบาทของเกาหลีในการขับเคลื่อนความร่วมมือในอนุภูมิภาคและเน้นย้ำประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ (1) ประเด็นโควิด-19 ขอบคุณเกาหลีที่สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายใต้ความร่วมมืออาเซียนและคัดเลือกโครงการแบ่งปันประสบการณ์แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และบทเรียนในการควบคุม การระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้โครงการกองทุนความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี รอบที่ 4 (2) การสนับสนุนแนวคิด 3P ของเกาหลี โดยย้ำว่าสันติภาพ (Peace) เป็นบริบทที่สำคัญต่อการดำเนินความร่วมมือ การปรับตัวและการเติบโตของภาคประชาชน (People) ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญของความร่วมมือ ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความเจริญรุ่งเรือง (Prosperity) เป็นส่วนสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์หลังโควิด-19 ซึ่งประเทศควรสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อช่วยส่งเสริมความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค
2. ทุกประเทศแสดงความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องต่าง ๆ ที่ระบุในเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ โดยเน้นความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการส่งเสริมความร่สมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การ แพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
32. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง
นายสมบัติ คุณากรสวัสดิ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาออร์โธปิดิกส์) โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ ให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม สาขาออร์โธปิดิกส์) โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
33. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอการต่อเวลา การดำรงตำแหน่งของ
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2564
34. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 2 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ดังนี้ 1.
นายวิชัย โภชนกิจ (ด้านการตลาด) 2.
นายเติมศักดิ์ บุญชื่น (ด้านการผลิต) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
35. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวม 21 คน ดังนี้
1.
นายรอยล จิตรดอน ประธานกรรมการ
2.
นายประสาน ประวัติรุ่งเรือง กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรเอกชน
3.
นายมานะผล ภู่สมบุญ กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรเอกชน
4.
นายประดิษฐ์ วัชระดนัย กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรเอกชน
5.
นายณรงค์ จันทะธรรม กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6.
รองศาสตราจารย์เกรียงไร บุญเลิศอุทัย กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรวิชาชีพ
7.
นายวณิชย์ อ่วมศรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านอุตสาหกรรม
8.
นายธีระ ณ วังขนาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านอุตสาหกรรม
9.
นางปัทมาวลัย รัตนพล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านธุรกิจหรือบริการ
10.
นายสมบัติ แสงสว่างสัจกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านธุรกิจหรือบริการ
11.
นายนิยม ไวยรัชพานิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเกษตรและประมง
12.
นายบำเพ็ญ เขียวหวาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเกษตรและประมง
13.
นายณรงค์ศักดิ์ ภูมิศรีสอาด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย
14.
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงินการคลังหรือการลงทุน
15.
สินเธาว์ ชัยสวัสดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการพัฒนากำลังคน
16.
ว่าที่ร้อยตรี จรูญ ชูลาภ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการจัดการอาชีวศึกษาภาครัฐ
17.
รองศาสตราจารย์สมบัติ นพรัก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการจัดการอาชีวศึกษาภาครัฐ
18.
นายอดิศร สินประสงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการจัดการอาชีวศึกษาภาคเอกชน
19.
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการจัดการศึกษาพิเศษ
20.
นางศิริพรรณ ชุมนุม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการประเมินคุณภาพการศึกษา
21.
นายวิบูลย์ สมบูรณ์ศักดิกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการประเมินคุณภาพการศึกษา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
..............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)