วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2568
รองนายกฯ ประเสริฐ หารือเอกอัครราชทูตอิตาลีฯ มุ่งกระชับความร่วมมือด้านดิจิทัล–นวัตกรรม รับมืออาชญากรรมไซเบอร์
วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2568) เวลา 10.00 น. ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หารือกับ นายเปาโล ดีโอนีซี (H.E. Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมเอกอัครราชทูตอิตาลีฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างสองประเทศ พร้อมแสดงความยินดีที่ไทยกับอิตาลีมีความสัมพันธ์ทางการทูตและความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในทุกมิติ และเห็นว่าทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านดิจิทัล พร้อมเชื่อมั่นว่า เอกอัครราชทูตอิตาลีฯ จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับอิตาลี ตลอดจนไทยกับสหภาพยุโรปให้ก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยยืนยันความพร้อมของรัฐบาลไทยที่จะร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่
ด้านเอกอัครราชทูตอิตาลี ได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการสานต่อความร่วมมือกับไทยในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน พร้อมชื่นชมการดำเนินงานของรัฐบาลไทยและกระทรวงดิจิทัลฯ ในการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ โดยทางอิตาลียินดีร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ทั้งในด้านมาตรการรับมือการปลอมแปลงข้อมูล การตรวจจับข่าวปลอม และการพัฒนาบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมไซเบอร์
โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้
ด้านดิจิทัลและนวัตกรรม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเอกอัครราชทูตอิตาลีฯ ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย โดยเฉพาะการยกระดับมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ พร้อมกล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) โดยมีการบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานของไทย นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้เสนอแต่งตั้งผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีฯ ในการขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงปฏิบัติ อาทิ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม การส่งเสริมสตาร์ทอัพ และการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเอกอัครราชทูตอิตาลีฯ เห็นพ้องกับข้อเสนอดังกล่าว และจะร่วมส่งเสริมความร่วมมือด้านนี้อย่างใกล้ชิด
ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เห็นพ้องถึงความสำคัญของ AI ซึ่งแม้จะก่อให้เกิดประโยชน์ในภาคเศรษฐกิจ แต่อาจมีความเสี่ยงหากไม่มีการควบคุมที่เหมาะสม โดยเอกอัครราชทูตอิตาลีฯ ได้กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ AI Hub ของอิตาลี ซึ่งร่วมมือกับ OECD และสหประชาชาติ เพื่อจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่จากประเทศต่าง ๆ ซึ่งอิตาลียินดีที่จะเปิดรับผู้แทนจากไทยเข้าร่วม ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจและพร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการความร่วมมือในอนาคต
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณอิตาลีที่สนับสนุนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของไทย โดยเอกอัครราชทูตอิตาลีฯ ยืนยันว่า อิตาลียินดีพร้อมให้การสนับสนุนไทยในกระบวนการดังกล่าวอย่างเต็มที่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับทวิภาคีในการพัฒนามาตรฐานด้านเศรษฐกิจและธรรมาภิบาลตามแนวทางของ OECD
ในช่วงท้าย รองนายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากอิตาลีในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาบริหารและสมาชิกสภาปฏิบัติการไปรษณีย์ของสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union: UPU) ในวาระ 4 ปี ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเดือนกันยายน 2568 ซึ่งเอกอัครราชทูตอิตาลีฯ รับทราบข้อเสนอของฝ่ายไทย และจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป