วันนี้ (13 ก.พ. 2568) ณ ห้อง 302 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวีระพงษ์ ประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนการค้าไทย และนางสาวธีราภา ไพโรหกุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานร่วมการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จากอาชญากรรมออนไลน์ ร่วมกับผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคมต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์(AOC) สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) องค์การยุติธรรมนานาชาติ (International Justice Mission), Immanuel Foundation, World Vision Thailand, A21, และ The Freedom Story
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฯ และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้เน้นย้ำในที่ประชุมฯ ว่า ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ไม่เพียงแต่เป็นการหลอกลวงประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย รัฐบาลจึงต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างบูรณาการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินการหลายมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้าและการลงทะเบียนต่างๆ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในระยะยาวยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องพิจารณามิติต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการที่ผู้กระทำผิดใช้ในการหลอกลวงผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น การชักชวนให้ทำงานที่ผิดกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงาน โดยเน้นถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างการคัดกรองและการให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อที่อาจตกเป็นเป้าหมาย ทั้งนี้ มูลนิธิอิมมานูเอลได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือเหยื่อในประเทศไทย และเสนอแนะแนวทางปรับปรุงการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านการคัดกรอง เพื่อป้องกันการละเลยเหยื่อที่ถูกหลอกลวงไปทำงานผิดกฎหมายในต่างประเทศ
หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้รายงานถึงมาตรการในการป้องกันการหลอกลวงออนไลน์ โดยเน้นการประสานงานกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น LINE และ Facebook ในการปิดบัญชีที่ใช้ในการหลอกลวงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการหลอกลวงผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบและเฝ้าระวังบัญชีออนไลน์ที่อาจเป็นบัญชีปลอมเพื่อลดการเกิดเหตุการณ์หลอกลวงในอนาคต
ด้านภาคประชาสังคมได้ยกประเด็นเกี่ยวกับการชักชวนคนไทยให้ไปทำงานในต่างประเทศ โดยมีการชักชวนจากบุคคลที่เคยทำงานในพื้นที่นั้นๆ และนำกลับไปชวนเพื่อนหรือครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมาย โดยพบว่ากรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยและเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังเสนอแนะเรื่องการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีคำนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ รวมถึงการไม่ลงโทษเหยื่อที่ถูกบังคับให้กระทำผิด รวมถึงเสนอแนะเรื่องการตั้งหน่วยเฉพาะกิจ เพื่อติดตามและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยให้เจ้าหน้าที่มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
ด้านองค์การระหว่างประเทศที่เข้าร่วมได้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากประเทศไทยเป็นทั้งจุดหมายและทางผ่านของการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งความสำคัญของการทำงานร่วมกับสถานทูตต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจในบริบทของการหลอกลวงออนไลน์และการค้ามนุษย์ รวมถึงการพัฒนามาตรการคัดกรองและให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายที่ได้มาตรฐาน และมีการติดตามผลการทำงานเพื่อลดช่องโหว่ในกระบวนการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ตั้งด่านคัดกรองที่สนามบิน เพื่อป้องกันไม่ให้เหยื่อถูกนำออกนอกประเทศ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับภัยคุกคามเหล่านี้ การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยการบูรณาการทั้งในด้านกฎหมาย การบังคับใช้ และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวขยายตัวและส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว
ในช่วงท้าย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวสรุปการประชุมโดยเน้นถึงความสำคัญของการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการดำเนินงานตามกรอบ 4P ซึ่งประกอบด้วยการป้องกัน (Prevention) การคุ้มครอง (Protection) การปราบปราม (Prosecution) และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ (Partnership) ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
สำหรับข้อเสนอและความคิดเห็นในวันนี้จะถูกสรุปและนำไปพิจารณาเพื่อเสริมสร้างกรอบการดำเนินงานที่มีอยู่ โดยข้อเสนอแนะบางส่วนสามารถดำเนินการได้ทันที ในขณะที่บางส่วนจำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมหรือเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ มาร่วมหารือในอนาคต เช่น บริษัทโซเชียลมีเดีย หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่ทำงานในพื้นที่ต่อไป