วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568
พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุขฯ ตรวจเยี่ยมเรือนจำและศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดนครปฐม
ในวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์ 908 พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุขฯ ประกอบด้วย นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเรือนจำและศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดยมี นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
เรือนจำกลางนครปฐม มีจำนวนผู้ต้องขังทั้งสิ้น จำนวน 4,082 คน แบ่งเป็น ชาย 3,666 คน และหญิง 446 คน มีบุคลากรสถานพยาบาล เป็นพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 6 คน นักจิตวิทยา จำนวน 1 คน คิดเป็นอัตราส่วนพยาบาล (6 คน) : ผู้ต้องขัง (4,113 คน) เท่ากับ 1 : 685 เรือนจำได้เข้ารับเครื่องมือแพทย์พระราชทาน จำนวน 22 รายการ ด้านการป้องกันและควบคุมโรคที่สำคัญ มีการจัดห้องและสถานที่แยกกักโรคและมีการคัดกรองหาเชื้อเอชไอวี เชื้อซิฟิลิส เชื้อวัณโรคในผู้ต้องขังทุกราย รวมถึงมีการคัดกรองมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกในผู้ต้องขังหญิงทุกราย ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การประเมินเรือนจำอาหารปลอดภัย จากศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ระบบสุขาภิบาลอาหารและน้ำได้รับการตรวจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกด้าน ด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขัง มีการจัดทำแผนปฏิบัติงานการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐมและโรงพยาบาลนครปฐมด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร มีอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ รวมจำนวนทั้งสิ้น 166 คน แบ่งเป็นชาย 136 คน หญิง 30 คน คิดเป็นสัดส่วน อสรจ. 1 คนต่อผู้ต้องขัง 24 คน โดยการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม และโรงพยาบาลนครปฐม ด้านมุมสุขภาพราชทัณฑ์ปันสุข มีการจัดมุมสุขภาพราชทัณฑ์ปันสุขในทุกแดน โดยได้รับการสนับสนุนหนังสือจากห้องสมุดจังหวัดนครปฐมและภาคเอกชน ด้านการจัดการบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในผู้ต้องขัง ปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช จำนวน 156 คน โดยได้รับการดูแลรักษาครบทุกคน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มกราคม 2568) มีการประเมินและคัดกรองผู้ต้องขัง ด้วยแบบคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่ใช้ยาและสารเสพติด เพื่อรับการบำบัดรักษา จำนวน 1,030 คน และนำเข้าข้อมูล ร้อยละ 100 มีการอบรมโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติดในรูปแบบชุมชนบำบัด ด้านนวัตกรรมราชทัณฑ์ปันสุข มีนวัตกรรม “นาฬิกาจับเวลาช่วยฟื้นคืนชีพ” เพื่อช่วยบุคลากรในหน่วยงานช่วยฟื้นคืนชีพทราบถึงหน้าที่ของตนเองไม่สับสนสามารถให้ยาได้แม่นยำมากขึ้นจากเสียงนาฬิกา อีกทั้งสามารถนำใบบันทึกอาการใช้เป็นใบส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลต่อไป
จากนั้น พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี และรองประธานคณะกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุขฯ เป็นประธานในพิธีเปิด “กิจกรรมราชทัณฑ์ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD ด้วยหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต LM (lifestyle Medicine)” เป็นการนำหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิตมาประยุกต์ใช้ในเรือนจำ ส่งเสริมให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD และตรวจเยี่ยมภายในเรือนจำกลางนครปฐม เยี่ยมชมสถานพยาบาล การพัฒนาพฤตินิสัยโดยใช้อาชีวบำบัดและศิลปะบำบัด ชมกิจกรรมบำบัดผู้สูงอายุ ห้องกักโรค แดนสูทกรรม และแดนหญิง ตรวจเยี่ยมห้องแม่และเด็ก
จากนั้นเดินทางไปยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านอุเบกขา เป็นศูนย์ฝึกเฉพาะด้านการบำบัดพิเศษ รับเด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างฝึกอบรม ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนอื่นที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ โดยมีสาเหตุจากปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงยากแก่การดูแล และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยกระบวนการแก้ไขบำบัด ฟื้นฟู ฝึกวิชาชีพกึ่งบำบัด และการพัฒนาพฤตินิสัย
ต่อจากนั้นเดินทางไปยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนสิรินธร เป็นศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เฉพาะทางด้านวิชาชีพ โดยรับเยาวชนที่มีความประพฤติดีและมีความสนใจที่จะเข้ารับฝึกวิชาชีพจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ และยาวชนที่ศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วประเทศมีบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 3 คน แบ่งเป็น พยาบาล จำนวน 21 คน นักจิตวิทยา จำนวน 32 คน อัตราส่วนพยาบาลต่อเด็กและเยาวชน เท่ากับ 1 : 60 ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนอยู่ในความดูแล จํานวน 62 คน มีโรงพยาบาลพุทธมณฑลเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ต่อมาได้เดินทางไปยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านมุทิตา เป็นศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายเฉพาะด้านการพัฒนาเด็ก โดยรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร หรือเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา และเมื่อเข้ารับการฝึกอบรมจนมีอายุถึง 18 ปีบริบูรณ์จะดําเนินการส่งตัวไปฝึกอบรมต่อที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา มีบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 3 คน แบ่งเป็น พยาบาล จํานวน 1 คน นักจิตวิทยา จํานวน 2 คน อัตราส่วนพยาบาล : เด็กและเยาวชน เท่ากับ 1 : 52 คน ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนอยู่ในความดูแล จํานวน 52 คน
จากนั้น เดินทางไปโรงพยาบาลพุทธมณฑล และโรงพยาบาลนครปฐม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของศูนย์ฝึกและอบรมฯ ทั้ง 3 แห่ง และเรือนจำกลางนครปฐม เพื่อตรวจเยี่ยมและขอบคุณคณะแพทย์และพยาบาลที่ให้ความดูแลศูนย์ฝึกและอบรมฯ ทั้ง 3 แห่ง และเรือนจำในพื้นที่จังหวัดนครปฐม
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
ข่าวกระทรวง
วาระงาน