วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568
นายวีระพงษ์ ประภา ผู้แทนการค้าไทย หารือร่วมกับส.อ.ท. และ กยท. เดินหน้ายกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวเข้ากับกฎระเบียบ EUDR ของสหภาพยุโรป
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุม 302 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายวีระพงษ์ ประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะผู้แทนการค้าไทย พร้อมด้วย นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร คณะผู้บริหาร ส.อ.ท. และนายณรงค์ศักดิ์ ใจสมุทร รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมหารือแนวทางเตรียมความพร้อมของภาครัฐและภาคเอกชนไทยในการปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ EUDR โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
ผู้แทนการค้าไทย รับทราบถึงข้อกังวลของภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและกลุ่มอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับความเสี่ยงและผลกระทบจากกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Deforestation Regulation - EUDR) ซึ่งกำหนดให้สินค้าหลายประเภท อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลิตภัณฑ์จากไม้ ถั่วเหลือง โกโก้ กาแฟ และเนื้อวัว ที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปต้องมีหลักฐานแสดงที่มาว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างโปร่งใส
ในโอกาสนี้ นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานส.อ.ท. ได้สะท้อนความคิดเห็นจากภาคอุตสาหกรรมถึงความเสี่ยงและความท้าทายของกฎระเบียบดังกล่าว พร้อมทั้งร่วมหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อม อาทิ การบูรณาการฐานข้อมูลแผนที่ป่าไม้ และการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Traceability System) นอกจากนี้ นายณรงค์ศักดิ์ ใจสมุทร รองผู้ว่าการ กยท. ได้รายงานถึงพัฒนาการในการเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมยางพาราของไทย เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของ EUDR และรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดยุโรป
นายวีระพงษ์ ประภา กล่าวว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพื่อให้สามารถปรับตัวและปฏิบัติตามข้อกำหนดของ EUDR ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ นายวีระพงษ์ ยังได้กล่าวถึงพัฒนาการที่ดีของ กยท. ในการยกระดับห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยางให้มีความพร้อมในการจัดการระบบข้อมูลเกษตรกรชาวสวนยาง กลุ่มสหกรณ์ ตลอดจนผู้ประกอบการที่ซื้อขายยางพาราผ่านตลาดกลางฯ ของ กยท. และการพัฒนาระบบการแสดงข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับ ตามมาตรการ EUDR ทำให้ยางพาราจากประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากอุตสาหกรรมยางทั้งระบบ ซึ่งไทยสามารถนำโมเดลของ กยท. มาเป็นแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้
ผู้แทนการค้าไทยจะดำเนินการหารือร่วมกับสหภาพยุโรป เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการยกระดับมาตรฐานห่วงโซ่อุปทานให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรายงานพัฒนาการและแนวทางการเตรียมความพร้อมของไทยในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ EUDR โดยผู้แทนการค้าไทยมีแผนที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับสหภาพยุโรปและหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) จากต่างประเทศ เพื่อให้คำแนะนำและแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพ (Capacity Building) สำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และอาจมีข้อจำกัดด้านงบประมาณในการปรับตัวเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transition)
นายวีระพงษ์ ประภา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานสากล ซึ่งไม่ได้มีเพียงแต่ EUDR เท่านั้น แต่ยังรวมถึงข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในเวทีการค้าโลก โดยหากภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลก และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของไทย
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
ข่าวกระทรวง
วาระงาน