วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2567
‘ปลัดบุญสงค์’ มอบ รักษาการฯ รองปลัดแรงงาน ประธานพิธีฌาปนกิจร่างหนุ่มแรงงานชาวอุดรเสียชีวิตจากความไม่สงบในอิสราเอล เผย ก.แรงงาน ดูแลสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.00 น. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีฌาปนกิจศพ นายอรรคพล วรรณไสย แรงงานไทยชาวจังหวัดอุดรธานี ที่เสียชีวิตจากเหตุจรวดโจมตีจากเลบานอนไปยังเมืองเมตูลาทางตอนเหนือของรัฐอิสราเอล เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นายพิสิษฐ์ชัย อภัยปิยะกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายอำเภอกุดจับ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดอุดรธานี ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ร่วมวางดอกไม้จันทน์ เพื่อแสดงความอาลัยและประกอบพิธีฌาปนกิจศพเป็นครั้งสุดท้าย ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของญาติพี่น้องและครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิต ณ วัดบรมสมภรณ์ หมู่ที่ 10 ตำบลกุดจับ อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี
โดยนายสมาสภ์ ได้เปิดเผยถึงสิทธิประโยชน์ที่ทายาทนายอรรคพล แรงงานไทยที่เสียชีวิตจะได้รับว่า ส่วนแรกทายาทจะได้รับเงินค่าทำศพจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 40,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมการจัดหางาน โดยจะเร่งรีบให้เร็วที่สุด ในส่วนที่ 2 เป็นเงินจากประกันสังคมของอิสราเอล ซึ่งจ่ายให้ผู้ที่ประสบเหตุจากภัยสงครามในอิสราเอล ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานเพื่อยื่นเอกสารให้อิสราเอลพิจารณา ส่วนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในอิสราเอลนั้น ขณะนี้กระทรวงแรงงานจัดส่งไปในพื้นที่ปลอดภัยซึ่งเป็นเขตสีเขียวเท่านั้น โดยปัจจุบันยังมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลประมาณ 20,000 กว่าคน
นายสมาสภ์ กล่าวต่อว่า ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และท่านบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิต และไม่อยากให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก แม้กระทั่ง 1-2 ชั่วโมงเหมือนเช่นกรณีของนายอรรคพลที่ได้เข้าไปทำงานในเขต ก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่มีใครทราบ ทั้งนี้ หากแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในอิสราเอล แล้วรู้สึกว่าจะไม่ปลอดภัย และต้องการเดินทางกลับประเทศไทยก็สามารถทำได้ โดยย้ายมาทำงานในตอนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงแรงงานยังไม่ได้รับรายงานว่ามีแรงงานไทยมีความประสงค์ที่จะเดินทางกลับมา
“กระทรวงแรงงานเราจะดูแลสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยอย่างเต็มที่ในทุกๆ เรื่อง รวมทั้งหากว่าแรงงานไทยท่านใดที่รู้สึกไม่สบายใจและเห็นว่าเขตพื้นที่ที่ท่านทำงานอยู่นั้นไม่ปลอดภัย ขอให้แจ้งมายังสถานทูต เพื่อจะได้ประสานความช่วยเหลือย้ายมายังพื้นที่ที่ปลอดภัย เพราะบางทีเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งไม่มีใครบังคับให้เราไปทำงานในที่ที่ไม่ปลอดภัยได้” นายสมาสภ์ กล่าว
+++++++++++++++++++
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
ข่าวกระทรวง
วาระงาน