วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2567
"รองนายกฯ ประเสริฐ" ลงพื้นที่พิษณุโลก-พิจิตร ให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย สั่งเร่งระบายน้ำและฟื้นฟูเยียวยาให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว กำชับบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม พร้อมเตรียมวางแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน
วันที่ 13 ตุลาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมว่า ตนพร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่าน พร้อมพบปะและให้กำลังใจประชาชน โดยได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัย และแผนการแก้ไขปัญหา พร้อมมอบนโยบายให้กับหัวหน้าส่วนราชการ จากนั้นลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ณ วัดพรหมเกษร อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดพิจิตร พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย และลงเรือมอบถุงยังชีพให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่บ้านเกาะสาริกา อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร
นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ และได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเร็วที่สุด การลงพื้นที่ในวันนี้ ได้รับทราบสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่าน และได้เห็นสภาพปัญหาความเดือดร้อนจาก อุทกภัยที่เกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้วางแผนการเร่งระบายน้ำท่วมขังโดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูแล้ง จึงต้อง รอบคอบรัดกุมในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเร่งสำรวจและเตรียมแหล่งกักเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ให้เร่งดำเนินการซ่อมแซมคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ และตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนให้มีความมั่นคงแข็งแรง
นายประเสริฐ กล่าวว่า ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว จะต้องเร่งทบทวนเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้สอดคล้อง กับสถานการณ์และบริบทเชิงพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมทั้งพิจารณาวางแผนการพัฒนาโครงการที่สามารถรองรับ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่ต้องครอบคลุมพื้นที่แบบรายลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำรวมทั้งต้องสอดรับกับการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน สำหรับโครงการบางระกำโมเดลถือว่าเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำ เป็นแก้มลิงธรรมชาติที่สามารถรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
“จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่านและรับฟังสภาพปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากปัญหาอุทกภัยในครั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการบริหาร จัดการน้ำในพื้นที่เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และปริมาณน้ำที่ยังท่วมขังลดลงโดยเร็วที่สุด จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1. เร่งระบายน้ำท่วมในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย
ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว 2. เร่งดำเนินการซ่อมแซมคันกั้นน้ำ พนังกั้นน้ำ ให้แข็งแรง รวมทั้งตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยเขื่อนให้มีความมั่นคงแข็งแรง 3. ทบทวนเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำให้มีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 4 กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาว พร้อมวางแผนการพัฒนาโครงการที่สามารถรองรับการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 5. สำรวจและพิจารณาแหล่งเก็บกักน้ำสำรองไว้เพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2567/68” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าวย้ำ
ชณะที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ สุโขทัย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม ซึ่ง สทนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินติดตามคาดการณ์การเกิดพายุที่จะ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดพายุได้อีก 1 ลูก อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันนี้ – 20 ต.ค. 67 ยังไม่พบความเสี่ยงในการก่อตัวของพายุที่จะเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทย ส่วนสถานการณ์น้ำของแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จำนวน 3,857 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 452 ล้าน ลบ.ม. หรือ 87% โดยมีอ่างฯขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียว คือ อ่างฯแม่มอก มีปริมาตรน้ำ 105 ล้าน ลบ.ม. หรือ 96% ส่วนแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จำนวน 4,334 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวม 10,051 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94% โดยมีอ่างฯขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ อ่างฯสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 8,965 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94% และ อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำ 746 ล้าน ลบ.ม. หรือ 79%
สำหรับแผนงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดพิษณุโลก ได้รับอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อ กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 จำนวน 30 รายการ ประกอบด้วยกิจกรรม ก่อสร้างใหม่ (ระบบกระจายน้ำและระบบประปา) / ซ่อมแซมและบำรุงรักษา และปรับปรุง (คุณภาพน้ำ ระบบกระจายน้ำ ระบบประปา ระบบระบายน้ำ และสระเก็บน้ำเพื่อ การเกษตรและอุตสาหกรรม) สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้0.37 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 449 ครัวเรือน พื้นที่รับ ประโยชน์ 10,843 ไร่ เช่น การปรับปรุงดาดคอนกรีตคลองส่งน้ำ P.R.-64.0R.(C-32) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล ตำบลบ้านไร่ อำเภอบางกระทุ่ม, การก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สนับสนุนพื้นที่โครงการจัดทำที่ดินทำกินให้ ชุมชนตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย, การปรับปรุงพนังกั้นน้ำฝั่งขวาแม่น้ำ แคววังทอง ตำบลวังพิกุล อำเภอวังทอง เป็นต้น
ในส่วน จังหวัดพิจิตร ได้รับอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2567 จำนวน 18 รายการ ประกอบด้วยกิจกรรม ก่อสร้างใหม่ (น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค ระบบกระจายน้ำ และระบบประปา) และขุดลอก (ระบบ กระจายน้ำ) มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 0.35 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 780 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 661 ไร่ เช่น อาคารบังคับน้ำบ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านทุ่งใหญ่ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำประปาชุมชน รูปแบบที่1 หมู่ที่ 2 บ้านบึงบัวใน อบต.บึงบัว อำเภอวชิรบารมี, เพิ่มประสิทธิภาพระบบผลิตน้ำประปาขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 10 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง บ้านหนองปรือ หมู่ที่ 4 อบต.ดงเสือเหลือง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง เป็นต้น
////////////
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
ข่าวกระทรวง
วาระงาน