วันนี้ (18 กันยายน 2567) เวลา 13.40 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบายในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตํารวจเเห่งชาติ ตัวแทนผู้บัญชาการเหล่าทัพ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า รู้สึกดีใจที่ได้ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพราะปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศ และเป็นพื้นฐานที่จะไปพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปได้ ซึ่งเรื่องยาเสพติดจำเป็นที่ต้องดูแลอย่างดี หลังจากการลงพื้นที่หลายจังหวัดได้รับเสียงสะท้อนในเรื่องปัญหายาเสพติดมาโดยตลอด ทั้งจาก ส.ส. ประชาชน ถือว่าเป็นปัญหาที่หนักหน่วง ทำลายเรื่องของสุขภาพจิตและสร้างปัญหาครอบครัว ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที โดยจะขยายผลการดำเนินการของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้การป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระเเห่งชาติ
นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามผลการดำเนินตั้งแต่มิถุนายน - 31 สิงหาคม 2567 ในพื้นที่ 25 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ภาคกลาง ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี และกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ อุดรธานี นครพนม มหาสารคาม ร้อยเอ็ด หนองคาย มุกดาหาร สกลนคร หนองบัวลำภู เลย บึงกาฬ และ ขอนแก่น ภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล ซึ่งจากการวัดผลพบว่าทุกคนร่วมมืออย่างทุ่มเท จริงจัง ต้องขอบคุณทุกภาคส่วน ภาครัฐ หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานปกครอง รวมทั้ง ป.ป.ส. ที่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ อีกทั้งจากผลการสำรวจความพอใจจากประชาชนใน 25 จังหวัดดังกล่าวยังพบว่ามีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งได้ทราบว่าสามารถจับผู้ผลิตรายใหญ่ได้หลายราย ทำให้รายเล็กโดนจับด้วย ส่งผลให้ประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้นและพึงพอใจมากขึ้น
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำอยากจะให้จัดเฟสรีบขยายจำนวนจังหวัดให้เร็วขึ้นจะได้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะยังมีอีกหลายจังหวัดขอความช่วยเหลือเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องดำเนินการต่ออย่างเข้มแข็ง และดูตัวอย่างพื้นที่ที่ทำไปแล้ว เช่น ธวัชบุรีโมเดล จ.ร้อยเอ็ด และท่าวังผาโมเดล จ.น่าน เมื่อดำเนินการแล้วถือเป็นสิ่งที่ทำแล้วได้ผลมาก รวมถึงประเด็นปัญหาชายเเดน ที่จะต้องป้องกันอย่างเข้มงวด เพื่อทำให้ยาเสพติดจากประเทศอื่นไม่เข้ามาในประเทศ อีกทั้งยังมีการมอบยุทโธปกรณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ เช่น กล้องไนท์วิชั่น รถ 4WD เพื่อให้การจับกุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเกิดความปลอดภัยมากขึ้น โดยจะดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวต่อไป และจะนำบทเรียนที่ประสบความสำเร็จใน 25 จังหวัดที่ผ่านมามาดำเนินการต่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “อะไรที่ทำแล้ว เกิดประโยชน์ก็ทำต่อไป” หรือทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ สั้นลงเพื่อให้มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ มุ่งเน้นการปราบปราม และบำบัดเยียวยา ตลอดจนทำให้ผู้เสพสามารถกลับคืนเข้าสู่สังคมได้ และพร้อมประกอบอาชีพหลังจากบำบัดยาเสพติดจนหายแล้ว
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำให้มีความชัดเจนในส่วนของการ Re-X-ray คนนอกระบบประมาณ 200,000 คน ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ และการศึกษาในเรือนจำ ที่พบว่าคนที่มีเปอเซ็นต์ติดยาเสพติดคือคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา จึงอยากให้มีการทำแผนตั้งโมเดลขึ้นมาพิจารณาช่วยกัน เพื่อขยายผลเรื่องนี้ซึ่งสามารถต่อยอดนโยบายการศึกษา Zero Dropout ได้ พร้อมทั้งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้สังคมและประชาชนในกระบวนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งการสื่อสารไม่ใช่แค่การแสดงผลงาน แต่เป็นการสร้างความระมัดระวังให้สังคมเห็นว่ารัฐบาลทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงการป้องกันปราบปรามยาเสพติดไปแล้วจริง ๆ เท่าไหร่
“อยากได้ภาพรวมสรุปทั้งกระบวนการ จับแล้วกี่ราย ยาเสพติดที่จับแล้วไปไหน เพื่อตอบสังคมให้ได้ว่ามีการทำลายยาเสพติดอย่างไร มีการบันทึกอะไรบ้างที่ตอบข้อสงสัยของประชาชน อีกทั้งในเรื่องของการยึดทรัพย์ ขอให้ทำเป็นระเบียบให้ชัดเจน ทำอย่างจริงจัง แต่จะยึดเเค่ไหน ตัวกำหนดเป็นอย่างไรจะมีการคุยกันอีกที” นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำ
สำหรับที่ประชุมได้มีการหารือและพิจารณาประเด็นสำคัญ ดังนี้ (1) เห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระดับจังหวัดปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดย 25 จังหวัดเร่งด่วน ขยายการปฏิบัติ 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร 8 เป้าหมาย ดำเนินการ 5 จุดเน้นการปฏิบัติ 15 แนวทาง 4 ตัวชี้วัด ภาพรวม Re-xray (2) เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการดำเนินงานป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นคำสั่งเดิมที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการ (3) เห็นชอบการกำหนดพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนพื้นที่เพิ่มเติม โดยขออนุมัติประกาศพื้นที่ปฏิบัติการเพิ่มเติม ในปี 2568 พื้นที่ในจังหวัดตาก 3 อำเภอชายแดน ได้แก่ อ.อุ้มผาง อ.แม่ระมาด และอ.ท่าสองยาง เพิ่มเติมจากพื้นที่เดิม 2 อำเภอ คือ อ.พบพระ และ อ.แม่สอด รวมทั้งจัดตั้ง “หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) และชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24)
ทั้งนี้ให้ฝ่ายเลขานุการ (สำนักงาน ป.ป.ส) จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรื่องกำหนดพื้นที่ความจำเป็นเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เสนอประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดลงนามต่อไป