วันพุธที่ 18 กันยายน 2567
"วราวุธ" เป็นสักขีพยาน MOU พม.-21 สมาคมกีฬา นำร่องร่วม ป้องกัน-แก้ไขปัญหา การล่วงละเมิด-คุกคามทางเพศ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักกีฬา
"วราวุธ" เป็นสักขีพยาน MOU พม.-21 สมาคมกีฬา นำร่องร่วม ป้องกัน-แก้ไขปัญหา การล่วงละเมิด-คุกคามทางเพศ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักกีฬา
วันที่ 18 กันยายน 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา” ระหว่าง กระทรวง พม. และสมาคมกีฬานำร่อง 21 สมาคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในวงการกีฬา โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศที่มีต่อนักกีฬาสตรี เด็ก เยาวชน คนพิการ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน และ ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้แทนสมาคมกีฬานำร่อง 21 สมาคม ประกาศเจตนารมณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการกีฬา อีกทั้งมีการเสวนา หัวข้อ “Breaking the Silence : ยุติการล่วงละเมิดทางเพศในการกีฬา”
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องขอขอบคุณหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬา 21 สมาคม รวมไปถึงภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ ที่มาร่วมกันลงนามในประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการกีฬาไทย รวมถึงการผลักดัน สิทธิ ความเท่าเทียม และปกป้องสิทธิสตรี และคนทุกๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการกีฬา คำว่า Safe sport ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าการเล่นกีฬาอย่างปลอดภัย แต่การที่จะให้กีฬาเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกๆ คน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะการแข่งขันกีฬา ตนเชื่อว่านอกจากร่างกายที่เข้มแข็งแล้วยังจะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งด้วย ซึ่งการที่เกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ การล่วงละเมิดทางร่างกาย การล่วงละเมิดทางจิตใจ หรือแม้แต่การบูลลี่ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่จะบั่นทอนจิตใจของนักกีฬาในการแข่งขัน การมีปฏิสัมพันธ์กัน การฝึกซ้อมระหว่างผู้ฝึกสอนและนักกีฬา หรือความสัมพันธ์ระหว่างนักกีฬากับนักกีฬาด้วยกันเอง นั้น ล้วนแล้วแต่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นกำลังให้นักกีฬานั้นประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาแต่ละประเภทไม่ว่าจะในระดับใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ผ่านมา
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า เราจะเห็นว่าทัพนักกีฬาไทยทั้งในโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2024 ทำผลงานได้ดีกว่าทุกๆ ปี ที่เราได้มีโอกาสไปร่วมการแข่งขัน ตนเชื่อมั่นว่าการที่เราลงนามข้อตกลงในวันนี้กับ 21 สมาคมกีฬานำร่อง และภาคีเครือข่าย จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่ทำให้นักกีฬาของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาโอลิมปิก พาราลิมปิก และในระดับเอเชีย หรือแม้แต่ในอาเซียน จากนี้ไปจะทำให้พวกเขานั้นมีความอุ่นใจ มีความมั่นใจว่าการแข่งขันกีฬา การฝึกซ้อมกีฬา จะได้รับการคุ้มครองทั้งในสนามและนอกสนาม คือสิ่งที่กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้ความสำคัญเรื่องความเสมอภาคทางเพศ การลดความรุนแรง การยุตติความรุนแรงในเด็กและสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กหญิง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทรวง พม. ของเราให้ความสำคัญ และวันนี้เราได้มาทำงานอีกมิติหนึ่ง เป็นมิติใหม่ของกระทรวง พม. และตนเชื่อว่าเป็นมิติใหม่ของวงการกีฬาด้วยเช่นกัน ดังนั้นการลงนามใน MOU ครั้งนี้ จะเป็นการลงนามที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่กระทรวง พม. และจะเป็นการลงนาม MOU ที่ใหญ่ที่สุดของการกีฬาแห่งประเทศไทยเช่นกัน
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอบคุณทุกสมาคมกีฬาที่ให้ความสำคัญ และมั่นใจว่าจากนี้ไปสมาคมกีฬาที่เหลืออีกหลาย 10 สมาคม จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกัน และอีกหลายๆมูลนิธิ รวมถึงภาคีเครือข่าย ที่จะช่วยกันปกป้องดูแลนักกีฬา ทั้งนักกีฬาคนพิการและนักกีฬาทั่วไป เพื่อทำให้ประเทศไทยของเราสามารถแสดงให้สาธารณชนทั่วโลกเห็นว่า เราไม่เคยแพ้ประเทศไหน และวันนี้เป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศแรกของโลกที่ได้มี MOU ในด้านการ Safe sport และที่สำคัญวันนี้เราเริ่มกันที่ส่วนกลาง แต่จะต้องมีการกระจายไปตามภูมิภาคในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล รวมไปถึงการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บริหารในท้องถิ่น ซึ่งเป็นภูมิลำเนาส่วนใหญ่ของนักกีฬาแต่ละคน
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธรับฟังทำจริง#พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม
#พมหนึ่งเดียว #HERAWARDSTHAILAND2024 #2024 #UNFPA