วันพุธที่ 18 กันยายน 2567
คณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก พลิกฟื้น “กลุ่มทอผ้าบ้านนาม่วง” อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังทิ้งร้างนานกว่า 5 ปี เดินหน้าสร้างกลุ่มวิสาหกิจด้านทอผ้าของชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน
วันนี้ (18 ก.ย. 2567) นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ตามที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาเป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ พระอัจฉริยภาพทางด้านการยกระดับและพัฒนามรดกภูมิปัญญาผ้าและงานหัตถกรรมไทย ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา และได้มีข้อแนะนำถึงการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพ กลุ่มทอผ้าของแต่ละอำเภอ และชุมชนให้กลับมามีความครึกครื้น เพื่อส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างถ้วนหน้า ทางจังหวัดสงขลา จึงได้มอบหมาย นายสงัด พืชพันธุ์ พัฒนาการจังหวัดสงขลา และ นายมงคล สินยัง นายอำเภอสะบ้าย้อย บูรณาการ 7 ภาคีเครือข่าย ดำเนินการฟื้นฟูกลุ่มทอผ้าบ้านนาม่วง หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
“กลุ่มทอผ้าบ้านนาม่วง เป็นกลุ่มทอผ้าที่ก่อตั้งขึ้นและได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานหนึ่งเมื่อ ปี พ.ศ.2551 มีสมาชิกกลุ่ม 72 คน แต่ในช่วงของการดำเนินการต้องประสบปัญหาขาดทุน จนไม่สามารถจำหน่ายผ้าที่ผลิตได้ ทำให้กลุ่มต้องเลิกกิจการไปเมื่อปี 2561 เหลือกี่เหล็ก 60 ตัว เส้นด้าย และผ้าทอจำนวน 250 หลา ที่ถูกทิ้งร้างเก็บเอาไว้นานกว่า 5 ปี ซึ่งนับว่าเป็นความโชคดีของชาวบ้านอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ที่ได้รับการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือจากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มองเห็นความสำคัญของกลุ่มทอผ้า และได้ช่วยประสานคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุก โดยมีวิทยากร คือ นายอภิชาต พลบัวไข หรือ “ผู้ใหญ่ต้น” เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 18 บ้านโนนกอก ต.หนองนาคำ อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ปราชญ์ด้านการทอผ้าที่มีชื่อเสียง นำคณะมาถ่ายทอดองค์ความรู้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ผ่านการ Coaching และสนับสนุนในการช่วยนำผ้าทอจำนวน 250 หลา ที่เหลือไปจำหน่ายให้กับส่วนราชการ ได้เงิน 10,000 บาท ให้กลุ่มนำไปเปิดบัญชีฝากธนาคารไว้เป็นทุนของกลุ่ม และได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโหนด ดำเนินการฝึกอบรมเรียนรู้พื้นฐานวิธีการทอผ้าทอมือเบื้องต้น การใช้อุปกรณ์ ส่วนต่าง ๆ ของกี่ทอมือ วิธีการออกแบบผ้าทอมือด้วยเทคนิคต่าง ๆ การเลือกเส้นด้ายแบบต่าง ๆ ที่ใช้ในการทอผ้า เทคนิคการทอผ้ามือเบื้องต้น และการย้อมผ้าทอจากสีธรรมชาติ เช่น สีจากดอกดาวเรือง สีจากใบ เป็นต้น” นายสมนึก กล่าวเพิ่มเติม
นายสมนึก กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ทางจังหวัดสงขลา จะได้มีการดำเนินการฟื้นฟูและพัฒนากลุ่มเพิ่มเติม ใน 3 เรื่อง ตามข้อสั่งการเพิ่มเติมของท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งประกอบด้วย 1) การส่งเสริมให้ระบบการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง ทั้งในเรื่องของสมาชิก กรรมการ การจัดทำกฎระเบียบ และการจัดหาเงินกองทุน 2) นำกลุ่มไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และ 3) จัดทำโครงการประสานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนากลุ่มตามสภาพปัญหาและความต้องการ เช่น การจัดหากี่ทอผ้าสมัยใหม่ การพัฒนาองค์ความรู้ลวดลายใหม่ ๆ และ การทำการตลาด เป็นต้น
นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวในช่วงท้ายว่า สำหรับการฟื้นฟูกลุ่มทอผ้าบ้านนาม่วง ในครั้งนี้ เป็นแหล่งในการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย และจังหวัดสงขลา ที่ได้น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” รวมถึงแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาประยุกต์สู่การพัฒนาเพื่อสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงทางชีวิตให้แก่พี่น้องประชาชนชาวสะบ้าย้อย ที่ถึงแม้ว่าจะเคยดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี 2551 - 2561 แต่ก็ได้ทิ้งห่างไปนานกว่า 5 ปี ในวันนี้เราจึงได้มาร่วมกันแก้ไขในสิ่งผิด จากการกลับมาฟื้นฟูกลุ่มทอผ้าแห่งนี้ได้กลับมีชีวิตชีวา ซึ่งจะช่วยให้เกิดพื้นที่กลางในการแชร์ความรู้ ประสบการณ์ด้านการทอผ้าให้แก่ผู้ที่มีความสนใจ รวมไปถึงเด็กและเยาวชนในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การสร้างคนรุ่นใหม่ คนกลุ่มใหม่ ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนผ้าไทย และต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
ข่าวกระทรวง
วาระงาน