วันนี้ (13 กันยายน 2567) นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นิตยสารด้านเศรษฐกิจโลก The Economist ลงบทความเกี่ยวกับประเทศไทยหัวข้อ Why is Thai health care so good? (https://www.economist.com/asia/2024/07/04/why-is-thai-health-care-so-good) ชื่นชมระบบสาธารณสุขของไทย ระบุว่าระบบดูแลสุขภาพของไทยมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท ที่ริเริ่มครั้งใหญ่ นำมาใช้เมื่อปี 2545 ทั้งนี้ หลายประเทศต้องการนำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยไปใช้
โดยบทความระบุว่า ระบบสุขภาพไทยสามารถทำให้โดยเฉลี่ยคนไทยคาดหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ถึง 80 ปี ซึ่งนานกว่าคนในภูมิภาค (ตัวเลขในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ 73 ปี) ซึ่งมากกว่าคนอเมริกันและยุโรปโดยเฉลี่ยเล็กน้อย (ประมาณ 79 ปี)
ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ ปีที่แล้ว (2566) ประชากร 99.5% ของประชากร 72 ล้านคนได้รับการคุ้มครองโดยประกันสุขภาพ โดยประเทศไทยประสบความสําเร็จในฐานะประเทศกําลังพัฒนาแม้มีรายได้ต่อคนอยู่ที่ประมาณ 7,000 ดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่ารายได้ของคนอเมริกา 11 เท่า
The Economist อธิบายถึงประสิทธิภาพของนโยบายสาธารณสุขของไทยว่า รัฐบาลไทยในปี 2545 ริเริ่มครั้งใหญ่ ผลักดันให้ระบบประกันสุขภาพมุ่งเป้าไปที่คนยากจน โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเพื่อดูแลผู้ที่ทํางานนอกระบบ และทำงานเอกชน ซึ่งให้การดูแลสุขภาพแก่คนยากจน และจ่ายค่าธรรมเนียมเพียง 30 บาท (1 ดอลลาร์) ซึ่งมีการศึกษาอ้างอิงพบว่า ระหว่างปี 2543 – 2545 อัตราการเสียชีวิตของทารกลดลงอย่างมีนัยสําคัญ ซึ่งโครงการฯ ครอบคลุมการรักษาโรคที่หลากหลาย เน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน รวมทั้งในปัจจุบันโครงการฯ ได้ขยายความครอบคลุมไปยังการรักษาโรคต่าง ๆ ด้วย ตั้งแต่โรคเอดส์ (HIV/AIDS) ไปจนถึงโรคไต
ซึ่งทำให้โครงการนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ช่วยเพิ่มความนิยมให้กับนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยเป็นนโยบายที่ไม่มีรัฐบาลใดกล้าที่จะแก้ไข แต่ขยายความครอบคลุมการรักษาโรคออกไป อีกประเด็นที่พิเศษคือ โครงการนี้ได้รับเงินทุนจากรายได้ภาษี แต่มีการควบคุมค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ หลายประเทศพยายามที่จะนำนโยบายหลักประกันสุขภาพของไทยไปใช้ โดยเมื่อต้นปีนี้ (2567) ซาอุดีอาระเบียได้ลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาลไทยเพื่อร่วมมือในเรื่องสาธารณสุข รวมทั้ง คณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปทั่วเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลางเช่นกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีความท้าทายที่คนไทยมากกว่า 1 ใน 5 มีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับระบบสาธารณสุขและการเงินของรัฐบาล โดยรัฐบาลพยายามเพิ่มจำนวนแพทย์ในภาครัฐ ในขณะเดียวกันมีการเปิดตัวนโยบายอื่นๆ เฉพาะสําหรับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี การดูแลสุขภาพของไทยอาจยังคงเป็นแบบอย่างของโลก