วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2567
ปลัดฯณัฐพล ลงตรวจเข้ม สถานประกอบการที่เข้าชิงรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ.2567 เฟ้นหาต้นแบบสถานประกอบการของไทยยุคใหม่ ที่อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อตรวจประเมินสถานประกอบการที่เข้ารอบคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ.2567 โดยมีนายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายสมชาย เถื่อนสุวรรณ์ อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา และคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ.2567 ร่วมด้วย ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงพื้นที่เพื่อตรวจประเมินสถานประกอบการในวันนี้ เพื่อให้คณะทำงานสามารถพิจารณาคัดเลือกอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ.2567 ได้อย่างรอบด้านและครบถ้วน เพื่อเฟ้นหาผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดีในการประกอบการที่สามารถอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยมีเกณฑ์การพิจารณา 6 ด้าน ได้แก่ การกำหนดกลยุทธ์และนโยบาย ความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวกลับ ความสามารถในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ความสามารถในการสร้างคุณประโยชน์และผลลัพธ์ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุดได้รับคัดเลือกเป็นอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ.2567 และจะได้รับอีกหนึ่งรางวัลคือ ทูตอุตสาหกรรมภาคเอกชน หรือ MIND Ambassador โดยจะได้ร่วมดำเนินงานในการยกระดับภาคอุตสาหกรรม ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยหลังจากนี้คณะทำงานฯ จะลงพื้นที่เพื่อตรวจประเมินสถานประกอบที่เหลืออีกภายในสัปดาห์หน้าเพื่อให้การพิจารณามีความครบถ้วน
โดยสถานประกอบการแรกที่เข้าตรวจประเมิน คือบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานเกตเวย์) จำกัด เป็นหนึ่งในผู้นำด้านยานยนต์ของไทย ดำเนินกิจการในไทยมาแล้วกว่า 60 ปี ในส่วนของโรงงานเกตเวย์ มี 2 โรงงานในพื้นที่เดียวกัน โดยเป็นโรงงานที่มีการใช้ชิ้นส่วนในการผลิตจากผู้ค้าภายในประเทศ ทำให้การกระจายรายได้ไปยังหลายภูมิภาคที่ผู้ค้าตั้งอยู่ สร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้คนในท้องถิ่น และยังมีการพัฒนาให้ความรู้แก่บุคลากรภายนอก มีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางขององค์กรแก่พนักงาน และพร้อมรับฟังข้อเสนอ แนวคิดจากพนักงานในทุกระดับ ผ่านกระบวนการระดมความคิด เพื่อให้ผู้บริหารสามารถปรับทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร
และสถานประกอบการแห่งที่สองคือ บริษัท ไมโครชิพ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้นำในการผลิต ทดสอบ และให้บริการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทไมโครคอนโทรลเลอร์ (Microcontroller) และอุปกรณ์สนับสนุนที่ครบวงจร เช่น หน่วยความจำ อุปกรณ์ควบคุมการเชื่อมต่อ เป็นต้น ซึ่งใช้ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น ยานยนต์ เครื่องมือแพทย์ โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมีห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือทันสมัย มีบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญ และมีการพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศทางนวัตกรรม มีการดูแลชุมชนและสังคมรอบข้าง สร้างอาชีพให้ชุมชน และการดูแลสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมศูนย์การเรียนการเกษตร Smart Farm เพื่อช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้กับโรงเรียนและเด็กนักเรียน รวมทั้งการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ให้กับทางโรงเรียนเพื่อช่วยลดภาระด้านค่าไฟให้ทางโรงเรียนอีกด้วย
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
ข่าวกระทรวง
วาระงาน