วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2566
รองปลัดฯ ณัฏฐิญา ปลื้มผลการดำเนินโครงการ สถาบันในสังกัด อก. ช่วยเหลือผู้ประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค
วันที่ 20 กันยายน 2566 นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานรับฟังสรุปรายงานผลการดำเนินงานโครงการของหน่วยงานสถาบันในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ โดยมี นางสาวชลาริน นิลพิฤกษ์ ผู้อำนวยการกองกลาง นายจักรพันธ์ เด่นดวงบริพันธ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน และนายเตมีย์ พันธุวงค์ราช ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ และผู้บริหารสถาบัน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
โดยสถาบันอาหาร ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการ : ขับเคลื่อนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนตามแนวคิด BCG MODEL : การลด Food loss และ Food waste ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เป็นการคัดเลือกผู้ประกอบการแปรรูปอาหาร เพื่อเข้าร่วมออกแบบแนวคิดการดำเนินการพัฒนาสูตรกระบวนการผลิต การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะกับพื้นที่ และส่งตรวจวิเคราะห์ด้านคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย พร้อมทั้งออกแบบบรรจุภัณฑ์ และฉลากสินค้า โดยมีเป้าหมาย จำนวน 8 ผลิตภัณฑ์ จากการดำเนินกิจกรรมฯ ได้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการทั้ง 8 ราย รวม 40 MD (วัน) สามารถเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้ร้อยละ 58.96 หรือคิดเป็นมูลค่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น 11.31 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1.13 ล้านบาท/ราย/ปี ซึ่งทางสถาบันฯ ได้เข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกและได้มีการลงพื้นที่เพื่อให้คำปรึกษาสถานประกอบการ ทั้ง 8 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งใน 8 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย Mulberry Toppings/ไอศกรีมมัลเบอร์รี่/มัลเบอร์รี่อบแห้งปรุงรส/เครื่องดื่มสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง/เครื่องดื่มรังนกผสมมัลเบอร์รี่/ผงมัลเบอร์รี่/ Mulberry Protein Cube/ Mulberry Halthy Dressing เป็นต้น และจากการดำเนินกิจกรรมศึกษาข้อมูลคุณประโยชน์และการนำมาใช้แปรรูปของหม่อนผลสด และศึกษากระบวนการพัฒนาสูตร กระบวนการผลิต การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่
ในส่วนของ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการ : การพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Silk) ได้แก่ กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยร่วมสมัยในระดับสากล โดยได้ดำเนินการจัดงานสรุปเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการ และจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่พัฒนา ณ หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) บริเวณโถงชั้น 1 และโถงชั้น L เมื่อวันที่ 5-17 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยพิธีเปิดจัดขึ้นในวันที่ 5 กันยายน 2566 เวลา 14.00- 16.00 น. มีผู้เข้าร่วมงาน 52 คน
และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้รายงานผลการดำเนินงาน การเดินทางเพื่อศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกเอพีโอ โดยผลการดำเนินงาน : มีการจัดกิจกรรม จำนวน 1 ครั้ง ณ ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีกิจกรรม คือ การศึกษาดูงานภายใต้หัวข้อ นโยบายและแนวปฏิบัติภาคอุตสาหกรรม: การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล( IOSM to ROK on Industrial Policies and Practices: Advancing Industrial Economy in the Digital Age) ระหว่างวันที่ 12-16 ก.ค. 66 ณ ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1)เพื่อเรียนรู้แนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านนโยบายที่ดำเนินการได้และแนวทางปฏิบัติจากการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อเปลี่ยนเกาหลีให้เป็นประเทศที่เป็นผู้นำด้านดิจิทัล
2) เพื่อเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศของโรงงานต้นแบบในการใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมจากดิจิทัลเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจ ศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 3) เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ท้าทายและประสบความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมของเกาหลีในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล