วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2566
ตร. ยืนยันไม่ได้ประวิงเวลาหรือเพิกเฉยต่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษานี้ และกำลังเร่งขอจัดสรรงบประมาณต่อไป
จากกรณีผู้เสียหายคดีขโมยพลอยซึ่งเคยเป็นข่าวใหญ่ในปี 2538 ร้องผ่านสื่อมวลชน หลังศาลฎีกาพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จำเลยที่6ในคดี) ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 157 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2564 ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีทีท่าจะจ่าย โดยหนึ่งในผู้เสียหายเปิดเผยผ่านสื่อมวลชนว่า หลังศาลมีคำตัดสิน ได้เคยมีผู้ติดต่อเข้ามาเพื่อช่วยดำเนินการโดยเรียกรับค่าดำเนินการ 20% แต่ตนไม่ยอมจ่าย ทำให้เรื่องนี้เงียบไปหรือไม่ ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2537 ผู้เสียหายสู้คดีมาเกือบ 30 ปี เมื่อศาลฎีกามีคำตัดสินถึงที่สุดจึงออกมาเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว ซึ่งจนถึงขณะนี้ผ่านมาเกือบ 2 ปี ยังไม่มีความชัดเจนที่จะได้รับการชดใช้ตามคำพิพากษาของศาลนั้น
วันที่ 17 มีนาคม 2566 พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่ากรณีผู้เสียหายคดีขโมยพลอยซึ่งเคยเป็นข่าวใหญ่ในปี 2538 ร้องผ่านสื่อมวลชน หลังศาลฎีกาพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 157 ล้านบาท ดังนี้
1. ศาลฎีกา มีคำพิพากษาที่ 8819/2563 ได้พิพากษาให้นายวิสูตรฯ ที่ 1 (เสียชีวิตแล้ว), พล.ต.ต. นิยม ฯ ที่ 3 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 6 ร่วมกันคืนทับทิมหรือพลอยแดงพิพาทแก่โจทก์ทั้งสาม หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนในส่วนที่โจทก์ทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 52,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พ.ย.37 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลแทนโจทก์ทั้งสาม 200,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 5 ฯ โดยศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาต่อหน้าคู่ความเมื่อประมาณเดือน ส.ค.64
2. เมื่อวันที่ 19 ต.ค.64 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อนำไปเบิกจ่ายชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ทั้งสามตามคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วม หากเบิกจ่ายเฉพาะในส่วนของเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองแล้ว โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของลูกหนี้ร่วมก็ยังคงใช้สิทธิเรียกให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติลูกหนี้ร่วมชดใช้หนี้ในส่วนที่เหลือได้อีกจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จนครบถ้วน และมอบหมายให้ผู้แทนฯ เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยกับโจทก์ทั้งสาม เพื่อให้การชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นไปโดยถูกต้องและเป็นประโยชน์แก่ทางราชการ
3. เมื่อวันที่ 3 พ.ย.64 ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและโจทก์ทั้งสาม ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งแรก โดยผลการเจรจาไกล่เกลี่ยสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสามยินยอมตกลงให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ทั้งสามบางส่วนก่อนและยินยอมให้หยุดอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสามไว้ ณ วันที่ 18 พ.ย.64 โดยมีเงื่อนไขว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องชำระหนี้ส่วนที่เหลือภายในวันที่กำหนด (30 พ.ย.65)
4. เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.64 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการประชุมแนวทางการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8819/2563 เพื่อหารือกำหนดวิธีการในการชำระหนี้ตามคำพิพากษา รวมทั้งข้อดีข้อเสียของ แต่ละแนวทางว่ามีข้อดีข้อเสีย พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อวันที่ 1 มี.ค.65 ผบ.ตร.เห็นชอบสั่งการให้ดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณ พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณหรือขอรับการจัดสรรงบกลางเพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่โจทก์ และหากมีการชำระหนี้แล้วเสร็จ ให้ดำเนิน การไล่เบี้ย ฟ้องคดีแพ่ง และบังคับคดีต่อไปการตามกฎหมายต่อไป
5. ทนายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีหนังสือฉบับลง 21 มี.ค.65 ถึง ผบ.ตร. แจ้งให้พิจารณาปฏิบัติตามคำบังคับ และคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับทราบ พร้อมกับมีหนังสือแจ้งข้อมูลการดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณ พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปีงบประมาณ หรือขอรับการจัดสรรงบกลาง เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ทนายโจทก์ทราบ
6. เมื่อ เม.ย.65 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับแจ้งผลการขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กรณีดังกล่าว “ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ” จึงได้เร่งดำเนินการขอรับสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นไปยังรัฐบาล เมื่อ พ.ค.65 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงบประมาณ
7. นายกรัฐมนตรีมีบัญชาลง 10 ธ.ค.65 ให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการต่อรองประนอมหนี้ให้ถึงที่สุดอีกครั้ง และรายงานให้ทราบ ก่อนดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป จาการหารือระหว่างกันโจทก์ทั้งสามได้ประชุมหารือกันแล้ว ยินดีที่จะลดยอดเงินในส่วนของดอกเบี้ยที่ ตร. ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ถึงวันที่ 18 พ.ย.64 (157 ล้านบาท)
8. กรณีผู้กระทำผิดนี้ ศาลฎีกาได้มีคําพิพากษาในคดีอาญาที่ 5692/2554 ลงวันที่ 4 ก.ค.54 ลงโทษจําคุกจําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 คนละ 12 ปี ตามมาตรา 340 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายอาญา, จําคุกจําเลยที่ 4 เป็นระยะเวลา 18 ปี ตามมาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี แห่งประมวลกฎหมายอาญา และยกฟ้องจําเลยที่ 5 (จําเลยที่ 2 จําเลยที่ 3 และจําเลยที่ 5 หลบหนี ไม่มาฟังคําพิพากษาศาลฎีกา) (จำเลยที่ 3 พล.ต.ต.นิยม ไกรลาศ โดนพิพากษาลงโทษตามมาตรา 157 ด้วย) และได้พยายามติดตามจับกุมตัวนายเอก ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และพันตํารวจเอก นิยม ไกรลาศ ตามที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหมายจับไว้โดยตลอด ปัจจุบันยังไม่สามารถติดตามจับกุมตัวมารับโทษได้ จึงยังไม่สามารถติดตามหรือทราบได้ว่าปัจจุบันทับทิมสยามหรือพลอยแดงอยู่กับบุคคลใด ส่วนนายวิสูตร เจริญภักดิ์ ได้เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ วันที่ 25 มิ.ย.61
9. คดีนี้ศาลฎีกามีคําพิพากษาให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม และโจทก์ทั้งสามในฐานะเจ้าหนี้ได้เลือกที่จะใช้สิทธิติดตามทวงถามให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติชําระหนี้ตามคําพิพากษาศาลฎีกาให้กับตนโดยไม่ไปดําเนินการบังคับเอากับจําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 สํานักงานตํารวจแห่งชาติเห็นว่าควรชําระหนี้ ให้แก่โจทก์ตามคําพิพากษาศาลฎีกาให้ครบถ้วน เนื่องจากจะทําให้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดฯ และเมื่อชําระหนี้แล้วก็จะอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่สามารถเข้ารับช่วงสิทธิจากโจทก์ฟ้องไล่เบี้ยในจํานวนเงินที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติชดใช้แทน ลูกหนี้ร่วมได้ตามนัยมาตรา 229 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยหนี้ในส่วนของสํานักงานตํารวจแห่งชาติที่ต้องรับผิดต่อโจทก์จะถือเป็นความเสียหายที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติต้องไปดําเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อีกส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด มิได้ประวิงหรือเพิกเฉย ต่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษานี้ แต่อย่างใด แต่เนื่องจากจำเป็นต้องขอใช้งบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก จึงได้พยายามดำเนินการขอสนับสนุนงบประมาณต่างๆ เพื่อมาชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาโดยตลอด และขณะเดียวกันได้เจรจาไกล่เกลี่ยโจทก์เจ้าหน้าที่ตามคำพิพากษา เพื่อขอลดยอดหรือประนอมหนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์แก่ทางราชการสูงสุด ติดตามตัวผู้ต้องหาเพื่อดำเนินคดีและไล่เบี้ยในกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ชำระแทนในฐานะลูกหนี้ร่วม
หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับจัดสรรงบประมาณเรียบร้อยแล้ว จะได้ดำเนินการตามขั้นตอน หารือร่วมกัน และดำเนินการนำเงินไปชำระตามคำพิพากษาโดยเร็วที่สุด ติดตามจับกุมและดำเนินการไล่เบี้ยนายวิสูตรฯ และ พล.ต.ต.นิยมฯ ลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาให้ชดใช้ตามส่วนต่อไป
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน