ปาฐกถาพิเศษ
โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ในกิจกรรม Trade Winds
วันที่ 13 มีนาคม 2566 เวลา 16.30 น.
ณ โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร
ท่านทูต Robert Godec เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย
ท่านปลัด Marisa Lago ปลัดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ด้านการค้าระหว่างประเทศ และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบกับทุกท่านในวันนี้ และขอขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ในฐานะผู้จัดกิจกรรม Trade Winds เพื่อให้ภาครัฐได้พบปะกับภาคเอกชน เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของประเทศไทย ในการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และมุมมองกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ถือเป็นมิตรและหุ้นส่วนของไทย อีกทั้งมีบทบาทสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยมายาวนาน
รัฐบาลไทยยินดีที่สหรัฐฯ เลือกจัดกิจกรรม Trade Winds ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรม ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลและภาคเอกชนสหรัฐฯ ในการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทเอกชนสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องต่อไป
การจัดกิจกรรม Trade Winds ในครั้งนี้ ยังตรงกับโอกาสสำคัญของการครบรอบ 190 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างเรา ที่ได้ดำเนินมาอย่างยาวนาน และใกล้ชิด รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายมายาวนาน
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สหรัฐฯ อันใกล้ชิดเพิ่มพูนพลวัตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่มการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง โดยผมได้เดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่งท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศแผนการจัดกิจกรรม Trade Winds ครั้งนี้เป็นหนึ่งในข้อริเริ่ม ที่สำคัญในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ดังกล่าวด้วย และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ได้เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 นอกจากนี้ ไทยกับสหรัฐฯ ยังได้จัดทำแถลงการณ์ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งได้วางเป้าหมายและแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน อีกทั้งมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเร่งเสริมสร้างความร่วมมือในมิติดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ในห้วงที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างกันมีมูลค่ากว่า65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่สองของไทยอีกครั้งในรอบ 15 ปี แสดงถึงความร่วมมือและห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งระหว่างกัน และศักยภาพและความพร้อมของไทยในด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยงและโลจิสติกส์
ไทยและสหรัฐฯ มีเป้าหมายและนโยบายที่สอดคล้องกันในการส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เข้มแข็ง และมีความสมดุล โดยไทยให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ – หมุนเวียน – สีเขียว หรือ BCG Economy ซึ่งในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีที่ผ่านมา ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ร่วมกันรับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG เพื่อสร้างภูมิภาคที่เปิดกว้างต่อโอกาสทางการค้า การส่งเสริมความเชื่อมโยงไร้รอยต่อ และความสมดุลในทุกมิติ และสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพเอเปคในปีนี้จะสานต่อการดำเนินการในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ ไทยได้ร่วมมือกับสหรัฐฯ และประเทศหุ้นส่วนในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นธรรม ซึ่งภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้เป็นจริง
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ในการมองไปสู่อนาคตของความเป็นหุ้นส่วนไทย-สหรัฐฯ ผมเห็นถึงโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในหลากหลายมิติ โดยในโอกาสนี้ ขอฝากไว้ 3 ประการสั้น ๆ เพื่อสะท้อนมุมมองและประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ
ประการแรก คือความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนและการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค และเป็นจุดเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานด้วยที่ตั้งด้านภูมิศาสตร์ และมาตรการสิทธิประโยชน์ที่หลากหลายสำหรับภาคเอกชน อาทิ การอำนวยความสะดวกการพำนักระยะยาวด้วยวีซ่า LTR สำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง การปรับปรุงกฎระเบียบและลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคต่อ การดำเนินธุรกิจ และการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และศูนย์กลางการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยไทยสนใจร่วมมือและส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนสหรัฐฯ ในสาขาใหม่ ๆ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สินค้าและบริการทางการแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมชีวภาพ ยานยนต์ยุคใหม่ ตลอดจนผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG
ประการที่สอง ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวและพลังงานสะอาด เพื่อเร่งสร้างเศรษฐกิจสีเขียวและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยได้แสดงเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามเป้าหมาย NDC ฉบับใหม่ ซึ่งผมขอเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมลงทุนและสนับสนุนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยี เพื่อให้ไทยสามารถเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว อย่างเต็มรูปแบบ
ประการสุดท้าย การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลคืออนาคตของเรา ไทยจึงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และเร่งดำเนินโครงการ upskill และ reskill ทักษะดิจิทัลเพื่อพัฒนาบุคลากรในการรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งผมขอเชิญชวนทุกท่านสนับสนุนการขยายความร่วมมือส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศด้านนวัตกรรม การพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ Quantum และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ท้ายที่สุด ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรม Trade Winds ในปีนี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้ทุกท่านร่วมมือกันยกระดับการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ไปสู่ยุคใหม่ พร้อมรับมือกับความท้าทายแห่งอนาคต และขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่า ไทยพร้อมสนับสนุน การดำเนินธุรกิจของท่านเพื่อเป้าหมายร่วมกันในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสมดุล เข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป