ในวันเสาร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ติดตามผลการช่วยเหลือความเดือดร้อนชุมชนราไวย์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ต โดยมี นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร.ต.อ ปิยะ รักสกุลรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมกันนี้ นายไพโรจน์ ศรีละมุล นายอำเภอเมืองภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับ
ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า จากการรับฟังประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวเลราไวย์นั้น กระทรวงยุติธรรมได้ค้นหาความจริงเพื่อส่งมอบความยุติธรรมด้วยเครื่องมือและกลไกการทำงานของหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยขณะนี้พบว่าปัญหาความเดือดร้อนของชาวเลราไวย์ยังคงมีอยู่ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับหนึ่งครอบครัว จึงขอเรียนว่าหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงยุติธรรมในจังหวัดภูเก็ตพร้อมให้ความช่วยเหลือ ทั้งยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต และศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ ๘ ซึ่งจากนี้ต้องไปตรวจสอบว่าเครื่องมือและขั้นตอนที่มีอยู่มีอะไรที่เป็นปัญหาอุปสรรคจะต้องปรับแก้ไขเพื่อลดปัญหา และในส่วนความเดือดร้อนได้มอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตดูแลรับเรื่องร้องเรียนและให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหา รวมถึงประสานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ชาวเลราไวย์ต่อไป
ชาวเลราไวย์ กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงยุติธรรม ที่รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน “จากคนบุกเบิกกลายเป็นคนบุกรุก” หลังจากเกิดเหตุการณ์สินามิก็มีการฟ้องร้องขับไล่ ซึ่งทางชุมชนแพ้คดีตลอด เนื่องจากไม่มีหลักฐานไปสู้ โดยต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศิลปากร สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้เข้ามาช่วยเหลือและรวบรวมหลักฐาน โดยการ ตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ผลปรากฎว่าดีเอ็นเอตรงกับดีเอ็นของคนในชุมชนที่ยังคงดำรงอาศัยอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน โดยหลักฐานที่สำคัญ คือ ทะเบียนนักเรียน ซึ่งมีชาวเลราไวย์ในขณะนั้นเข้าเรียนประมาณ 30 คน อีกทั้งหลักฐานที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือภาพถ่ายการเฝ้ารับเสด็จในหลวง ร.9 และสมเด็จพระราชินี ที่เสด็จมาเยี่ยมชาวเลราไวย์ในขณะนั้น
ชาวเลราไวย์ กล่าวต่ออีกว่า อยากให้ช่วยคลี่คลายคดีให้สำเร็จโดยเร็ว กระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอนที่ซับซ้อน และปัจจุบันมีคดีของชุมชนชาวเลราไวย์ ที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาลอีกหลายร้อยคดี จึงขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับไว้เป็นคดีพิเศษ พร้อมทั้งอยากให้ กองทุนยุติธรรมเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการเยียวยา
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม พร้อมให้ความช่วยเหลือความเดือดร้อนของชุมชน ตามนโยบาย ยุติธรรมสร้างสุข ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน ที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอด ๒๔ ชม. อีกทั้งจะบูรณาการใช้เครื่องมือที่มีในกระทรวงยุติธรรม และกลไกทางกฎหมาย ช่วยเหลือและดูแลความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับชาวชุมชนชาวเลราไวย์ให้ได้รับการอำนวยความยุติธรรม และเกิดความเชื่อมั่นต่อไป