วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2566
กระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันเร่งแก้ปัญหาหลอกลวงออนไลน์ต่อเนื่อง
จากกรณีปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน : ประเด็นมิจฉาชีพใช้สารพัดกลยุทธ์ทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชนเกิดขึ้นในหลายกรณี ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกรายงานมากขึ้นในหน้าสื่อโทรทัศน์และโซเชียลฯ โดยมีข้อวิจารณ์ว่ารัฐบาลเพิกเฉยไม่เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่มีคำอธิบายใดๆ จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กระทั่งมีการมีการถ่ายทอดความรู้สึกจาก ปชช.ว่ารัฐบาลไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงได้อีกนั้น
วันที่ 19 มกราคม 2566 นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวชี้แจง ดังนี้
1. การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ดำเนินการต่อเนื่อง ที่ผ่านมารัฐบาล มีนโยบายเร่งรัดแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ และสั่งการกระทรวงดิจิทัลฯ (ดศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือ เร่งดำเนินการ โดย ดศ. มีกลไกความร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ สรุปผลของการปฏิบัติติงานและสถิติการดำเนินคดีทางอาชญากรรมออนไลน์ที่สำคัญ ในปี 2565 (เดือนมกราคม ถึงธันวาคม 2565) ประกอบด้วย
- ดำเนินคดีแก๊ง Call Center ในต่างประเทศ 8 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหา 166 คน
- ปิดกั้นการโทรหลอกลวง/ข้อความ SMS หลอกลวง จำนวน 118,530 หมายเลข
- การอายัดบัญชีม้า จำนวน 58,463 บัญชี และปิดกลุ่มโซเชียลมีเดียซื้อขายบัญชีม้า จำนวน 8 กลุ่ม
- การดำเนินคดีหลอกลวงลงทุน ระดมทุน ออนไลน์และหลอกลวงทางการเงิน ดำเนินคดี จำนวน 657 คดี จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 673 ราย
- การปราบพนันออนไลน์ โดยดำเนินคดี 318 คดี มีผู้ต้องหาจำนวน 461 ราย และปิดกั้นเว็บพนันจำนวน 1,830 เว็บ
- การดำเนินคดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ จำนวน 263 คดี และจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 270 ราย
2. การแก้ปัญหา บัญชีม้า และ sim ผี ดศ. ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการปราบบัญชีม้า และ SIM ผิดกฎหมาย (SIM ผี) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มิจฉาชีพใช้ประกอบการฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน
สำหรับการแก้ปัญหาบัญชีม้าและบัญชีต้องสงสัยนำไปใช้กระทำผิดกฎหมาย สำนักงาน ปปง. ได้จัดทำประกาศ หลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศฉบับนี้ ได้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 12 ม.ค. 66 นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ได้แจ้งรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย ประมาณ 1,000 รายชื่อ ให้สถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับการแก้ปัญหา SIM ผิดกฎหมาย สำนักงาน กสทช. ได้มีแผนงาน กรณีผู้มี 100 ซิมขึ้นไป ประมาณ 8,000 ราย ยืนยันตัวตนให้ถูกต้องภายใน ม.ค. 66 ทั้งนี้ เพื่อตัดวงจรการที่มิจฉาชีพใช้ SIM เติมเงินโทรไปหลอกลวงประชาชน (Call Center) และทำธุรกรรมการเงินออนไลน์
3. แก้ปัญหา Remote app ดศ. ได้ประสานธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำระบบป้องกันมิจฉาชีพใช้ Remote Application ควบคุมการทำ Mobile Banking และสวมรอยโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย โดยในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ได้จัดทำระบบป้องกันเรียบร้อยแล้ว
4. การเตือนภัย อาชาญากรรมออนไลน์ในประเทศไทยเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งพบว่ามีประชาชนถูกหลอกลวงได้รับความเดือดร้อนและสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วยกลยุทธ์ 3 ด้าน ได้แก่ 1) กลยุทธ์ด้านการป้องกัน (Prevention) 2) กลยุทธ์ด้านการยับยั้ง (Interception) และ 3) กลยุทธ์ด้านการปราบปราม (Suppression)
ทั้งนี้ ด้านการป้องกัน ดศ. ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง เป็นช่องทางใหม่แจ้งเตือนภัยออนไลน์เนื่องจากประชาชนมีการใช้งานกว่า 40 ล้านคน โดยได้แจ้งเตือนข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังแล้ว ซึ่งการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เป็นการดำเนินการเพิ่มเติม จากการเตือนภัยออนไลน์ ของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทน กระทรวงดิจทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สื่อมวลชน ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
กระทรวงดีอีเอส มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน และขอแสดงความห่วงใย หากท่านใดได้รับความเดือดร้อนจากแก๊งมิจฉาชีพ หรือถูกหลอกลวงออนไลน์ต่าง ๆ หรือพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ทางสายด่วนโทร 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง
พลตำรวจตรี อาชยน ไกรทอง รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวชี้แจง ดังนี้
จากการตรวจสอบการดำเนินการ 2 เรื่อง คือ กรณีผู้เสียหายฆ่าตัวตายกับกรณีมีผู้เสียหาย 20 รายมาร้องเรียนที่ บช.สอท. ตามที่ปรากฏในข่าวนั้น ได้ตรวจสอบแล้วข้อเท็จจริงมีดังนี้
1. กรณีเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 สำนักข่าวหลายแห่งลงข่าวว่า นายอัฐวุฒิ ผมเพ็ชร ชาว อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ผูกคอเสียชีวิต ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เหตุเกิดเมื่อกลางดึกวันที่ 14 ม.ค.65 ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบไม่มีร่องรอยของการทำร้ายร่างกายและไม่มีร่องรอยการต่อสู้ แต่เมื่อเปิดดูข้อความในโทรศัพท์มือถือของผู้ตายพบข้อความแชทในการขอกู้ยืมเงินจากแอปเงินกู้ ในช่วงเวลา 13.00น. ของวันที่ 13 ม.ค.65 โดยใช้ชื่อ "online loan Thailand" ซึ่งผู้ตายได้ติดต่อขอกู้เงินจำนวน 50,000 บาท ส่งงวดรวม 48 งวด แต่กลับถูกหลอกเอาเงินไป 6,728 บาท และ 7,000 บาท(ไปยืมเพื่อนมา) แล้วปรากฏว่ากู้ไม่ได้จริง จึงได้ฆ่าตัวตายดังกล่าว ตรวจสอบแล้ว เหตุเกิดพื้นที่ สภ.แปลงยาว ภ.จว.ฉะเชิงเทรา โดยได้ดำเนินการแล้วดังนี้
- ได้ตามภรรยาผู้ตาย มาสอบปากคำ และขอตรวจสอบโทรศัพท์ แต่ปัจจุบันภรรยาอยู่ขอนแก่น อยู่ระหว่างจัดงานศพ
- ผบก.สส.ภ 2 ได้ลงตรวจสอบพื้นที่ และติดตามข้อมูลการสืบสวน โดยสืบภาค 2 จะทำหน้าที่ตามเส้นทางการเงิน และให้ ฝ่ายสืบสวน สภ./กก.สส. ติดตามกลุ่มบัญชีม้าที่ผู้ตายโอนไป
- ชุดรับแจ้งความออนไลน์ได้มอบหมายคดีให้ สอท.2 บช.สอท. ทำการสอบสวน
แนวทางป้องกัน
1) ดำเนินการออกสื่อในช่องทางต่างๆ เพื่อเตือนภัยให้กับประชาชน ไม่ให้ลงเชื่อการกู้ยืมเงินจากแหล่งที่ไม่รู้จัก
2) แนะนำประชาชนว่า การจะกู้เงินจากออนไลน์ ต้องยื่นกู้กับบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยตรวจสอบได้จากเว็บ https://www.bot.or.th/App/BOTLicenseCheck หากไม่ได้รับอนุญาต อย่ายื่นกู้
3) เตือนประชาชนให้ทราบว่าบริษัททั่วไปที่ให้กู้ จะไม่มีการให้วางเงินค้ำประกัน หากมีเหตุการณ์เช่นนั้น หลอกลวงแน่นอน
4) เร่งดำเนินการมาตรการระงับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบัญชีม้าโดยเร็ว
2.กรณีที่เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ได้มีผู้ทำเพจ “สายไหมต้องรอด” นำประชาชนประมาณ 20 มาร้องเรียนต่อ ผบช.สอท.นั้น ได้มี ผบก.ตอท.เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว พบว่าผู้ที่มาร้องเรียนนั้นเป็นผู้เสียหาย จำนวน 3 ราย ได้แจ้งว่า ถูกดูดเงินจาก e- banking ที่อยู่ในแอปธนาคารซึ่งอยู่ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย โอนย้ายไปบัญชีกลุ่มพวกมิจฉาชีพโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ และได้ยืนยันว่าไม่มีใครได้กดลิ้งค์อะไร หรือโหลดแอปใดๆ เข้าโทรศัพท์
บก.ตอท. จึงได้ขอเครื่องจากผู้เสียหายทั้ง 3 รายมาตรวจพิสูจน์ พบว่า 1 เครื่อง ได้ format factory ทำให้ตรวจไม่ได้ว่ามีข้อมูลแปลกปลอมเข้ามาในเครื่องหรือไม่ แต่อีก 2 เครื่อง ตรวจพบมีการดาวน์โหลด “signed10209s-1.apk” เมื่อวันที่ 7 ม.ค.66 เวลา 14:44 น. ในเครื่องที่ 1 และ “signed10253s.apk” ในเครื่องที่ 2 ซึ่งเป็นแอบที่อันตราย โหลดโดยไม่ผ่าน play store และมีการอนุญาตให้ถึงข้อมูล
แนวทางป้องกัน
1.ได้มีการแจ้งฝ่ายข่าวสำนักต่างๆ เพื่อเตือนภัยประชาชนว่าจะการโหลด web หรือแอบ จากคนที่เราไม่รู้จักมาก่อน ห้ามกด “อนุญาต” หรือ “ตกลง” ให้เข้าดูข้อมูล หรือให้ควบคุมเครื่องโทรศัพท์จากทางไกล
2.ทำสื่อ info เตือนภัยประชาชน ไม่ให้โหลดแอบ หรือลิ้งใดๆ จากคนที่เราไม่รู้จักมาก่อนหรือจากผู้ที่รู้จักทางออนไลน์ โดยเฉพาะแอพตระกูล .apk นี้ บางไฟล์สามารถควบคุมเครื่องทางไกลได้ และสั่งให้เครื่องถอนเงินจากบัญชีที่ผูกไว้กับแอบธนาคารที่อยู่ในเครื่องโทรศัพท์ หรือสามารถติดตามการทำงานของเราได้ว่า กดรหัสผ่านเข้าบัญชีด้วยรหัสใด
3.สร้างชุดข้อมูลข่าวสารให้ครูแม่ไก่ไปสอนตำรวจ ครูในท้องถิ่นหรือประชาชน เพื่อให้มีการกระจายข่าวออกไป
4.เตือนประชาชนว่า อย่าผูกบัญชีที่มีเงินฝากจำนวนเงินมากๆ ไว้กับแอบธนาคารในโทรศัพท์ เมื่อจำเป็นต้องใช้จึงนำมาผูกเพื่อดำเนินการถอน-โอน จากนั้นให้ยกเลิกเมื่อใช้เสร็จ
5.ประสานธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดมาตรการให้ธนาคารต่างๆ ป้องกันการเข้าถึงบัญชีเงินฝากผู้เสียหายโดยใช้โปรแกรมควบคุมทางไกล(Remote app)
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน