วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม 2565
กสร. ชี้แจงกรณีโรงงานจังหวัดตากใช้แรงงานไม่เป็นธรรม
วันที่ 23 ธันวาคม 2565 นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ชี้แจงประเด็น โรงงานในพื้นที่จังหวัดตากใช้แรงงานไม่เป็นธรรม ดังนี้
1. สาระสำคัญ
เดอะ การ์เดียน รายงานข่าว การบังคับใช้แรงงานเมียนมาของโรงงานแห่งหนึ่งใน อ. แม่สอด จ. ตาก โดยอดีตแรงงานของโรงงานดังกล่าว เปิดเผยว่าที่โรงงานแห่งนี้ บังคับใช้แรงงานวันละ 15 ชั่วโมง ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 5 ทุ่ม และมีวันหยุดเพียงเดือนละ 1 วัน แรงงานต้องทำงานกว่า 99 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่จ่ายค่าแรงเพียงแค่ 130 - 170 บาทต่อวัน ซึ่งต่ำกว่ากฎหมายกำหนด
ที่ผ่านมา แรงงานได้ยื่นฟ้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานของไทย เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ได้รับค่าจ้างค้างชำระ ซึ่งประกอบด้วยค่าจ้าง 2 ปี ค่าจ้างทำงานในวันหยุดตามประเพณี ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าวันหยุดประจำสัปดาห์ แต่กรมฯ สั่งจ่ายเฉพาะค่าชดเชยเลิกจ้างและค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่านั้น โดยทนายความของแรงงาน ระบุว่า เจ้าหน้าที่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เลือกที่จะเมินเฉยต่อกรณีดังกล่าว
2. ข้อเท็จจริง
บริษัท วี เค การ์เม้นท์ จำกัด สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 48, 50, 52 , 54 , 56, 128 และ 130 ซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 13 ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร สำนักงานสาขาตั้งอยู่เลขที่ 608 หมู่ 7 ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประกอบกิจการ รับจ้างเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 นายทูนทูน (Tun Tun) กับพวกรวม 136 คน ลูกจ้างสัญชาติเมียนมา ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก ว่าบริษัท วี เค การ์เม้นท์ จำกัด นายจ้าง เลิกจ้างโดยค้างจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันที่ผิดนัด
3. การดำเนินการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยพนักงานตรวจแรงงาน สำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก ได้รับคำร้องจากลูกจ้าง จำนวน 136 คน และได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานเอกสารจากฝ่ายลูกจ้างนายจ้างแล้ว มีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง 134 คน รวมเป็นเงิน 5,204,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับจากวันผิดนัด สำหรับลูกจ้างอีก 2 คน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายจ้างยังไม่มีการเลิกจ้าง จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
สำหรับประเด็นค่าจ้างที่ลูกจ้างร้องว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และไม่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีนั้น จากการสอบข้อเท็จจริงและตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง พบว่าลูกจ้างได้รับค่าจ้างดังกล่าวจากนายจ้างครบถ้วนตามสิทธิแล้ว พนักงานตรวจแรงงานจึงไม่มีคำสั่ง
ในประเด็นดังกล่าว
ภายหลังจากการออกคำสั่ง ทั้งสองฝ่ายได้ยื่นอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ต่อศาลแรงงานภาค 6 (นครสวรรค์) ซึ่งเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ศาลแรงงานภาค 6 ได้พิพากษาคดีดังกล่าว โดยมีคำพิพากษาว่า คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วยกฎหมายแล้ว และแก้ไข ในส่วนของอายุงาน ค่าชดเชยของลูกจ้างผู้ร้อง โดยให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเพิ่มเติมอีก จำนวน 1,615,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ทั้งสองฝ่ายได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 ซึ่งขณะนี้ประเด็นดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
ทั้งนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกำกับดูแลให้นายจ้าง
สถานประกอบกิจการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด รวมทั้งส่งเสริมแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice : GLP) ไปใช้ในการบริหารจัดการแรงงานในสถานประกอบกิจการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานอีกทางหนึ่งด้วย
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน