วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2565
กระทรวงเกษตร – สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน (USABC)
กระทรวงเกษตร – สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน (USABC) หารือความร่วมมือทางด้านการเกษตรและนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล
นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายไมเคิล มิคาลัค รองประธานกรรมการอาวุโสและกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาค สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน (US-ASEAN Business Conncil : USABC) พร้อมด้วย นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร. วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า USABC และภาคเอกชนสหรัฐได้เข้ารับทราบข้อมูลนโยบายเกษตรของไทยและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้นำหลัก 5 ยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาล ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2.ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 3. ยุทธศาสตร์ 3S คือ Safety-Security-Sustainability 4. ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน และ 5.ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวศาสตร์พระราชา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเกษตร รวมถึงความร่วมมือเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรสู่ระบบอาหารและเกษตรที่ยั่งยืน
สำหรับการหารือในวันนี้ กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินงานการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงเทคโนโลยีจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูล Big Data
ด้านการเกษตรมาใช้ การส่งเสริมตลาด E-Commerce และการสนับสนุนและผลักดันสินค้าสู่ธุรกิจเกษตร (Agribusiness) รวมถึงการสร้าง Young Smart Farmer เพื่อมุ่งพัฒนาสินค้าทางการเกษตรให้เป็น Smart Production ให้มีคุณภาพสูงและปลอดภัย เพื่อรองรับเกษตร 4.0 ซึ่งภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรและหากมีความร่วมมือระหว่างกัน ก็จะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน
นายนราพัฒน์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสมผสานภูมิปัญญา ยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง BCG Model เป็นหัวใจหลักในการประชุมระดับผู้นำเอเปคที่เพิ่งผ่านพ้นไป ทั้งนี้ หวังว่าภาคเอกชนสหรัฐฯ จะร่วมสนับสนุน BCG model ตามเป้าหมายร่วมกันของเอเปค 2022 และสานต่อในวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของสหรัฐฯ ในปี 2023
ทั้งนี้ ภาคเอกชนสหรัฐฯ แสดงความชื่นชมการดำเนินการของไทย และพร้อมที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีนวัตกรรมและการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องในด้านการเกษตรสาขาต่าง ๆ ให้การดำเนินงานตามนโยบายด้านเกษตรบรรลุผล