วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2565
สิ้นสุดการประชุม APEC2022 “ดอนกอยโมเดล” ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานนานาชาติ ยอดจำหน่ายกว่า 2 แสนบาท ด้าน มท. เดินหน้าน้อมนำพระดำริ “พระองค์หญิง” พัฒนาต่อยอดตามหลักวิชาการแฟชั่น สร้างอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ให้กับชุมชน/ครอบครัว พร้อมรักษาสิ่งแวดล้อม
สิ้นสุดการประชุม APEC2022 “ดอนกอยโมเดล” ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานนานาชาติ ยอดจำหน่ายกว่า 2 แสนบาท ด้าน มท. เดินหน้าน้อมนำพระดำริ “พระองค์หญิง” พัฒนาต่อยอดตามหลักวิชาการแฟชั่น สร้างอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้ให้กับชุมชนและครอบครัว พร้อมรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อพี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 65 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC2022) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา ซึ่งในการประชุมในครั้งนี้ “ดอนกอยโมเดล” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการผ้าย้อมคราม ในอำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ที่ได้รับพระราชทานพระดำริจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการต่อยอดด้วยหลักวิชาการด้านแฟชั่น การออกแบบ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนทำให้มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ให้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานผ่านการสาธิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุม APEC2022 โดยได้นำสินค้าภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามประเภทต่าง ๆ ทั้งผ้าหมี่ กระเป๋าผ้า ผ้าพันคอ เสื้อยืด ผ้าคุมไหล่ กระเป๋าเป้ กระเป๋าใส่เงิน กระเป๋าถือ กระเป๋าดินสอ ชุดแซ็ก และกระเป๋าสะพาย มาอวดโฉมให้บรรดาผู้นำจากประเทศสมาชิก APEC รวมถึงเจ้าหน้าที่อาวุโส ผู้นำเยาวชน และสื่อมวลชนจากประเทศสมาชิก ได้สัมผัสและเลือกซื้อเลือกหา รวมทั้งได้นำวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำผ้าย้อมคราม มาสาธิตภายในบริเวณงาน เพื่อโชว์ฝีไม้ลายมือให้กับเหล่าผู้นำจากต่างชาติได้ร่วมชมและร่วมในกิจกรรม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 6 วันของการสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “ดอนกอยโมเดล” สิ่งสำคัญที่สุดที่เหล่าบรรดาพี่น้องชาวบ้านดอนกอย ทั้งที่เป็นตัวแทนมาจัดนิทรรศการ สาธิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และพี่น้องสมาชิกกลุ่มผ้าย้อมครามที่ไม่ได้เดินทางมา ต่างมีความรู้สึกเดียวกันว่า “มีวันนี้ได้ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” หรือที่ชาวบ้านดอนกอยจะขานนามพระองค์ท่านว่า “พระองค์หญิง” หรือ “เจ้าหญิง” ด้วยเพราะพระองค์ทรงดำรงพระองค์และทรงลงมือปฏิบัติในฐานะ “ผู้นำต้องทำก่อน” โดยทรงพระราชทานแนวพระดำริ และคำแนะนำในการพัฒนาการย้อมผ้า และการนำผ้าย้อมครามมาประยุกต์ผลิตเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ พร้อมทั้งพระราชทานหนังสือเทรนด์บุ๊คเป็นคู่มือในการศึกษาวิธีการเลือกเฉดสีผ้า และการย้อมผ้าให้เป็นเฉดสีที่แตกต่างกัน ไม่ได้เป็นเฉดสีครามเข้มเฉกเช่นที่ชาวบ้านได้ทำกันจนเคยชิน ซึ่งสิ่งที่พระองค์พระราชทานนี้ จะทรงเน้นย้ำเสมอว่า ห้ามลืมของเก่า อันหมายถึง ต้องไม่ลืมในสิ่งที่บรรพบุรุษได้มอบให้จนกลายเป็นชีวิตของชาวบ้านดอนกอยในทุกวันนี้ แต่ต้องนำวิชาความรู้แฟชั่นสมัยใหม่ และหมั่นสังเกตสังกา ค้นคว้า ว่าเทรนด์ของโลก หรือความต้องการของคนในปัจจุบันชอบสีอะไร มีกี่เฉดสี มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไหนบ้างที่เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อที่จะทำให้กลุ่มได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดวิชาความรู้ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม รวมถึงเผยแผ่ความรู้ไปยังลูก ๆ หลาน ๆ ให้ได้ฝึกฝนบ่มเพาะ เพื่อจะได้สานต่อ สืบสาน รักษา และต่อยอด ภูมิปัญญาบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อ ๆ ไปได้
“การประชุม APEC2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในตลอด 6 วันนี้ พี่น้องชาวบ้านดอนกอยต่างมีความภาคภูมิใจและปลื้มใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการน้อมนำผลผลิตจากพระดำริฯ มาจัดแสดง และจำหน่ายให้กับผู้นำและสื่อมวลชนจากประเทศต่าง ๆ ได้ซื้อหานำกลับไปยังประเทศของพวกเขา ด้วยเหตุที่ว่า การจับจ่ายใช้สอย หรือการเลือกซื้อหาผลิตภัณฑ์ในแต่ละชิ้น แล้วถูกนำกลับไปยังประเทศต่าง ๆ เป็นการเผยแพร่ผลงานว่าคนไทยก็มีฝีไม้ลายมือที่ไม่เป็นรองใครในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ และที่สำคัญยิ่ง คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงแห่งความมุ่งมั่นตั้งใจในการประดิษฐ์ด้วยระยะเวลาและความประณีตบรรจงผสมกับแนวความคิดด้านศิลปะที่ควบคู่กับการย้อมผ้าด้วยวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้สีธรรมชาติ ซึ่งได้รับทราบว่า ผลงานเหล่านั้นสามารถจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวบ้านดอนกอยรวมเป็นเงินถึง 201,600 บาท” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า จำนวนเงินรายได้ที่พี่น้องชาวบ้านดอนกอยได้รับในการจำหน่ายสินค้าภายในการประชุม APEC2022 นี้ ถือเป็นเงินขวัญถุงจาก APEC2022 ที่สะท้อนนัยยะสำคัญว่า “ดอนกอยโมเดล” ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ความเป็นสินค้าในตลาดสากล ที่เป็นที่สนใจและเลือกซื้อเลือกหากลับไปใช้ในประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเชียและทวีปอื่น ๆ อันแสดงให้เห็นว่า ผลงานหัตถศิลป์หัตถกรรมคนไทย ได้ถูกเลือกซื้อไปใช้ในต่างประเทศ เป็นเหมือนทูตทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม แนวความคิดของพี่น้องชาวบ้านดอนกอย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ จนเป็นที่ต้องตา ต้องใจ และถูกหยิบจำหน่ายกลายเป็นเงินมาสร้างขวัญกำลังใจในการมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสร้างรายได้มาพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวและสมาชิกในหมู่บ้าน
“กระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย จะได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานเพื่อพัฒนาพี่น้องกลุ่มผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อันเป็นการ “พัฒนาคน” เพื่อให้คนไป “พัฒนาคุณภาพชีวิต” และจะได้ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาทักษะและฝีไม้ลายมือของสมาชิกกลุ่มผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย เพื่อขยายผลไปยังกลุ่มอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และจังหวัดใกล้เคียง อันจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อย่างแพร่หลายในทุกกลุ่ม ซึ่งจะทำให้ปลายน้ำ คือ “พี่น้องประชาชนและครอบครัว” อันเป็นหน้าที่ที่สำคัญและเป็นปณิธานของชาวมหาดไทยที่ต้องการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อให้ประชาชนมีความสุขเพิ่มพูนมากขึ้น และความทุกข์มลายหายไป ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การ “พึ่งพาตนเอง” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และการน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นผ่านงานฝีมือ และต้องเป็นงานฝีมือที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโลก ควบคู่กับการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ที่สอดคล้องกับร่างเอกสารผลลัพธ์ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้ร่วมกันรับรอง คือ เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model อันประกอบด้วย 4 เป้าหมาย คือ 1. การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ/การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ 2. การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน 3. การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืนและอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และ 4. การลดและบริหารจัดการของเสีย เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งชาวบ้านดอนกอย ช่างทอผ้า และผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพ ทุกช่วงวัย สามารถเดินหน้าพัฒนางาน พัฒนาตนเอง พัฒนาครอบครัว ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน