(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
ฯพณฯ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 17 – 19 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพฯ ตามคำเชิญ
ของ ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้หารือข้อราชการระดับทวิภาคีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล
ผู้นำทั้งสองรับทราบด้วยความยินดีต่อพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการเสริมสร้างด้วยการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง โดยเฉพาะการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ฯพณฯ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 1 – 2 พฤษภาคม 2565 และการเยือนญี่ปุ่นของ ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าร่วมการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 25 – 27 พฤษภาคม 2565 ที่กรุงโตเกียว รวมถึงความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาค ภูมิภาค และพหุภาคี ซึ่งรวมถึงกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) ซึ่งญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา อาเซียน - ญี่ปุ่น และสหประชาชาติ
นับตั้งแต่ประเทศไทยและญี่ปุ่นสถาปนาความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เมื่อปี 2555 ทั้งสองประเทศได้พัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในเชิงลึกและอย่างกว้างขวางในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ผู้นำของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันและและขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคีในหลายสาขา อาทิ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และความท้าทายในระดับโลก ผู้นำทั้งสองยังยินดีต่อการลงนาม “แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี” ระหว่าง ฯพณฯ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับ ฯพณฯ นายฮายาชิ โยชิมาสะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดทำขึ้นบนพื้นฐานของความเห็นพ้องร่วมกันที่จะทำให้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น สัมพันธ์กับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปและร่วมรังสรรค์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันด้วยการกำหนดแนวทางใหม่เพื่อความร่วมมือสู่อนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนยิ่งขึ้น แผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับนี้จะเป็นแนวทางระยะกลางในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในห้วงปี 2565 - 2569 ใน 3 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ (1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปฏิรูปกฎระเบียบ นวัตกรรม (2) เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) และ (3) โครงสร้างพื้นฐาน
เมื่อคำนึงถึงข้างต้นและด้วยความตระหนักถึงความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศที่ใกล้ชิดและครอบคลุมหลากหลายมิติ รวมทั้งการส่งเสริมความเป็น“หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างกันให้ลึกซึ้งและกว้างขวางอย่างต่อเนื่อง ผู้นำทั้งสองจึงเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์จาก “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นที่มีร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือให้ก้าวหน้าในทุกด้านท่ามกลางความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ของภูมิภาคและของโลก
ในการนี้ ผู้นำทั้งสองได้ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาความเป็น“หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ให้เปี่ยมด้วยความหมาย และเพื่อให้มั่นใจในการนำ “แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี” สู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลประโยชน์ ความก้าวหน้าและความมั่งคั่งร่วมกันของทั้งสองประเทศ ประชาชนไทยและญี่ปุ่นและในวงกว้างสืบไป
* * * * * * *