นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาองค์ความรู้และสร้างอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี รองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ณ นงนุช เทรดดิชั่น รีสอร์ต ชลบุรี (สวนนงนุช) ว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ซึ่งเป็นจังหวัดเป้าหมายของการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐานรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ การผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ การผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เกษตรกรต้องมีการจดบันทึกกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ ที่สำคัญคือ การบันทึกบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ เพื่อการขอรับรองมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรทราบถึงต้นทุนการผลิตที่แท้จริงของตนเอง สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์รายได้ รายจ่าย ผลกำไรของตนเองได้ โดยมีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการนำบัญชีไปวางรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อเพิ่มรายได้ อีกทั้งดำเนินงานเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี หรือ ครูบัญชีอาสา ทั้งในด้านทักษะและองค์ความรู้ เพื่อเป็นเครือข่ายไปถึงพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทุกพื้นที่ สามารถนำองค์ความรู้ด้านบัญชีมาใช้วางแผนการประกอบอาชีพ วางแผนกิจกรรมทางการเกษตร รู้รายรับ รายจ่าย รู้เวลาที่เหมาะสม มองเห็นช่องทางในการลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและผลิตได้อย่างสมดุลตามกำลังของตนเองและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็งแก่ตนเองและครอบครัว ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ห่างหายจากการทำบัญชี จึงทำให้เกิดหนี้สิน จึงอยากรื้อฟื้นให้ทุกคนหันกลับมาให้ความสำคัญกับการทำบัญชีให้มากขึ้น เพราะการทำบัญชีคือการห่างไกลเงินกู้ จึงได้มอบหมายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เร่งสร้างแกนนำเกษตรกรเป็นครูบัญชีอาสา โดยเชิญชวนผู้ที่สนใจและมีความรู้ความสามารถ เพื่อเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดทำบัญชีและการนำบัญชีมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิต พร้อมขยายเครือข่ายถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในชุมชนของตนเองและพื้นที่ต่าง ๆ ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในการสร้างความเข้มแข็งด้านการเงิน การบัญชี และช่วยขับเคลื่อนงานนโยบายต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรต่อไป” รมช.มนัญญา กล่าว
นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 27 กันยายน 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชี) จำนวน 230 คน ได้เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องนโยบายของรัฐบาลและแผนงาน/โครงการสำคัญที่เร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้ นโยบายเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ และการเตรียมความพร้อมรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในพื้นที่จังหวัดเป้าหมาย คือ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนครูบัญชีจำนวนจำกัด จึงต้องมีการสร้างครูบัญชีเพิ่มเติม เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านบัญชีให้แก่เกษตรกร ให้ได้รับความรู้ในการบันทึกบัญชีรายรับ รายจ่าย วางแผนการใช้จ่ายเงิน วางแผนประกอบอาชีพ สามารถบริหารจัดการทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารการตลาดจนประสบผลสำเร็จ
ปัจจุบัน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีครูบัญชีอาสาทั่วประเทศ จำนวน 7,636 คน โดยกรมฯ ได้สร้างนวัตกรรมสื่อการสอนทางบัญชี เพื่อให้ครูบัญชีสามารถนำไปถ่ายทอดต่อในระดับพื้นที่ เป็นต้นแบบความสำเร็จให้แก่เกษตรกรและคนในชุมชนได้ ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายชมรมครูบัญชี ทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ ให้มีความเข้มแข็งและกว้างขวางยิ่งขึ้น ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในโครงการชุมชนคนทำบัญชีเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2565 กลุ่มเป้าหมายคือประชาชนในชุมชนพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกอำเภอทั่วประเทศ 76 จังหวัด ขับเคลื่อนผ่านครูบัญชีอาสาของกรมฯ ถ่ายทอดความรู้การจัดทำบัญชีให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นชุมชนระดับย่อยครอบคลุมทั่วประเทศ กำหนดผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 10 - 30 คน ต่อรุ่น/ชุมชน เป้าหมายทั้งสิ้น 70,000 คน และบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในโครงการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง บัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และสหกรณ์นักเรียน ให้แก่เด็กและเยาวชน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ปี 2565 – 2569 มีโรงเรียน 26,754 แห่ง เข้าร่วม รวมจำนวนนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 988,256 คน