วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2565
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุผลดำเนินคดีชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ถูกศาลฎีกาพิพากษาสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน ไม่เกี่ยวข้อง One Map
จากกรณีนางวันเสาร์ ภุงาม ชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา จ.เพชรบุรี ถูกศาลฎีกาพิพากษาสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 310,000 บาท ไม่รอลงอาญา รวมถึงให้รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้าง กรณีบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือโครงการ One Map จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย One Map ขณะเดียวกัน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เปิดเผยข้อมูลจากคณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐตั้งแต่ปี 2557-2565 มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ อย่างน้อย 34,692 คดี นั้น
วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงว่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สรุปผลคดีของนางวันเสาร์ ภุงาม ชาวบ้านกะเหรี่ยง บ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 เวลา 11.00 น.จนท.ประกอบด้วย 1) จนท.หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์ป่าแห่งชาติและสัตว์ป่า(พญาเสือ) 2)จนท.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 3) จนท.กอ.รมน.จังหวัดเพชรบุรี 4) จนท.ฝ่ายปกครองอำเภอแก่งกระจาน 5).จนท.ทหาร ร้อย รส.จว.พบ. (มทบ 15) 6)จนท.ชุดปฏิบัติการข่าว ตชด.144 7)จนท.ตร.ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,ตร.จว.เพชรบุรีและ ภาค 7 (ศปทส.ภ.พบ/ภ.7) 8) จนท.ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ได้ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ บุกรุกยึดถือครอบครอง บริเวณพิกัด 47P 0565913E 1451584N ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พ.ศ.2524 ซึ่งขณะตรวจยึดไม่พบบุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ภายในบริเวณนั้น พบมีการปลูกยูคาลิปตัส อายุประมาณ 2-3 ปี กระจายเต็มพื้นที่ มีการตัดเส้นทางเข้าเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่และมีการปลูกสร้างสิ่งก่อสร้าง จำนวน 3 หลัง ประกอบด้วย บ้านพักคอนกรีตชั้นเดียว จำนวน 1 หลัง ห้องเก็บของ จำนวน 1 หลัง โรงรถ จำนวน 1 หลัง จับค่าพิกัดด้วยเครื่องวัดพิกัดจากดาวเทียม (GPS) ระบบ WGS 84 รอบแปลงพื้นที่บุกรุก จำนวน 17 จุด ได้รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 31-1-15 ไร่ แจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรหนองหญ้าปล้อง ตาม ปจว.ข้อ 2 เวลา 21.00 น. ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2561 คดีอาญาที่ 123/61 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 เวลา 11.00 น. บริเวณป่าบ้านท่าเสลา หมู่ที่ 4 ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาทราบชื่อภายหลังว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของ นางวันเสาร์ ภูงาม ชาวบ้านกะเหรี่ยง บ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี จนถูกดำเนินคดีถึงที่สุดตามที่เป็นข่าว
2. สำหรับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีลำดับการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ และการกำหนดการใช้เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ดังนี้
2.1 พระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ ในท้องที่ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย และตำบลสองพี่น้อง ตำบลแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2524 ให้ไว้ ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2524
2.2 พระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ ท้องที่ตำบลแก่งกระจาน ตำบลสองพี่น้อง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ.2527 ให้ไว้ ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2527
2.3 พระราชกฤษฎีกา เพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ บางส่วน ในท้องที่ตำบลห้วยแม่เพรียง และตำบลป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี พ.ศ.2541
2.4 กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีหนังสือ ที่ ทส 0906.7/3104 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ส่งสำเนาคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 222/2554 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการถ่ายทอดเส้นแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาและแผนที่ท้ายประกาศกระทรวง ลงบนแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1:50,000 ของกรมแผนที่ทหาร ในระบบเชิงเลข (Digital Map) และให้ใช้แนวเขตตามที่คณะกรรมกรรมการถ่ายทอดเส้นแนวเขต กำหนด
2.5 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งที่ 97/2558 ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบและตกลงเส้นแนวเขตทรัพยากรป่าไม้โครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ซึ่งต่อมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ ได้มีหนังสือที่ ทส 0906.704/5284 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2559 ส่งเส้นแนวเขตป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ 127 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 58 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 67 แห่ง มาเพื่อให้หน่วยงานยึดถือแนวเขตแผนที่ที่ได้ปรับปรุงให้เป็นไปตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา และแผนที่แนบท้ายประกาศกระทรวงฯ
2.6 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งที่ 879/2561 ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งต่อมามีหนังสือฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาแนวเขตป่าอนุรักษ์ ที่ ทส 0906.702/16 ลงวันที่ 13 มกราคม 2563 ได้ดำเนินการจัดทำรายงานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาแนวเขตป่าอนุรักษ์ ครั้งที่ 1/2563 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลการประชุมตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาแนวเขตป่าอนุรักษ์ ครั้งที่ 1/2563 ในวันจันทร์ ที่ 6 มกราคม 2563 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมส่วนรังวัดแนวเขตที่ดินป่าไม้ ชั้น 2 สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ คณะกรรมการได้พิจารณาเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตามที่จังหวัดเพชรบุรีส่งให้ตรวจสอบปรากฏว่า เส้นแนวเขตดังกล่าวไม่เป็นไปตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา โดยมีระยะห่างจากเส้นแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2524 เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ประชุมคณะกรรมการได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบครอบแล้ว จึงสรุปว่า เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตามที่คณะทำงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามคำสั่ง ที่ 97/2558 ได้ถ่ายทอดเป็นเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ถูกต้อง เป็นไปตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2524 และมติที่ประชุมเห็นชอบ ดังนั้น อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จึงถือปฏิบัติตามเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติตามที่คณะทำงาน ตามคำสั่งที่ 97/2558 เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน
สำหรับโครงการ One Map เป็นโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 โดยหน่วยงานของรัฐจะนำแนวเขตที่ดิน ตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐนั้นฯมาลงในแผนที่เดียวกันในมาตราส่วน 1:4000 แล้วทำการปรับแนวเขตที่มีการทับซ้อนกัน ให้เหลือ1 พื้นที่ 1 หน่วยงาน 1 กฎหมาย โดยการดำเนินการต้องดำเนินการปรับแนวเขต ตามหลักเกณฑ์ที่ได้ตกลงร่วมกัน และเสนอให้ คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว และเมื่อหน่วยงานได้ร่วมกันปรับแนวเขตจนเป็นที่ยุติแล้ว จะนำแนวเขตดังกล่าวเสนอ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และ นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไปหลังจากนั้นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานใดที่มีการเปลี่ยนแปลงแนวเขตที่มีผลมาจากการปรับปรุงแนวเขตร่วมกันแล้วจะได้นำแนวเขตดังกล่าวไปประกาศให้เป็นแนวเขตที่ถูกต้องตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงานต่อไป
การดำเนินการตามโครงการ One Map นั้นได้มีการแบ่งการดำเนินการ ออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด และมีผลการดำเนินการ ดังนี้
กลุ่มจังหวัดที่ 1 ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงครามพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย และ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565
กลุ่มจังหวัดที่ 2 ได้แก่จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่าง นำเสนอ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ สำหรับกลุ่มจังหวัด ที่ 3-7 อีก55จังหวัดที่เหลือ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
กรณี แนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีนั้นจะอยู่ในกลุ่ม จังหวัดที่7 กลุ่มจังหวัดสุดท้าย
ซึ่งขณะนี้ แนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่จะบูรณาการแนวเขตร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ตามโครงการ One Map ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ การที่กล่าวว่า การดำเนินคดีกรณีบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีผลมาจากการปรับปรุงแนวที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือโครงการ One Map จึงไม่เป็นความจริง
สำหรับเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ใช้ดำเนินคดีกับนางวันเสาร์ นั้นเป็นเส้นแนวเขต ตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พ.ศ. 2524 และถ่ายทอดเส้นแนวเขตเป็นระบบเชิงเลข (shape file) โดยคณะทำงานตามคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ 97/2558 ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน