วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2565
ปลัดมหาดไทยนำประชุมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงมหาดไทย ปลุกพลังความคิดทุกกลไกมหาดไทย Change for Good สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ เพื่อให้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
วันนี้ (1 ก.ค. 65) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงมหาดไทย โดยมี คณะที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ คือ ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนส่วนราชการระดับกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา ผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้มีความเห็นพ้องต้องกันในการเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนและโลกใบนี้ให้เกิดความยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งได้มีการลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดร่วมกับคุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ไปเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อของ UN โดยความร่วมมือกับทีมงานของ UN หน่วยงาน รวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอจังหวัด จึงเป็นที่มาของการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงมหาดไทย ในวันนี้ เพื่อกำหนดและวางแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย (Goal) ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงคนมหาดไทย และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทุกคนมีความเชื่อมั่นในการ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้น
"เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (Sustainable Development Goal : SDGs) ของสหประชาชาติ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งสิ้น เพราะกระทรวงมหาดไทย คือ ผู้นำการขับเคลื่อนบริหารราชการในระดับพื้นที่ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีของจังหวัด มีนายอำเภอเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีของอำเภอ และมีหัวหน้าส่วนราชการของทุกกระทรวง กรม เป็นเหมือนรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ของพื้นที่ ซึ่งทุกหน่วยงานต่างมีแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับ SDGs ของสหประชาชาติ ได้แก่ เป้าหมายที่ 1) ขจัดความยากจน 2) ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการสำหรับทุกคนในทุกวัย 3)สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย 4) สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต 5) บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง 6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน 7) สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา 8) ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน 9) สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม 10) ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ 11) ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน 12) สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13) เร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น 14) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 15) ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟิ้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ 16) ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ และเป้าหมายที่ 17) เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีตัวชี้วัด (KPIs) จำนวน 204 ตัวชี้วัด เป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายฯ ดังกล่าว" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการนำไปสู่การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ ต้องทำงานในหน้าที่ประจำ (Routine Job) ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ด้วยความกระฉับกระเฉง ด้วยความคึกคัก และช่วยกันระดมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ภารกิจพิเศษ (Extra Job) ให้เกิดขึ้น พร้อมทั้งสื่อสารสังคมให้รับรู้สิ่งที่กำลังขับเคลื่อน (Report) รวมทั้ง "ทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี คือ ทำให้ผู้บังคับบัญชาทำสิ่งที่ดี ที่เป็นประโยชน์ตามที่เราอยากให้ทำ" เป็นผู้นำพัฒนาการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบ ระดมสมอง ในการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Framework, Action Plan) โดยนำแผนงาน/โครงการประจำของทุกหน่วยงาน รวมถึงโครงการจากการระดมความคิด มากำหนดกรอบที่สอดคล้องกับ SDGs ทั้ง 17 ข้อ โดยมีส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าภาพหลักและเป็นหน่วยสนับสนุน เพื่อให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ ได้รับการอำนวยความสะดวกในการอำนวยการเพื่อมีแนวทางให้จังหวัดในทุกอำเภอ และกรุงเทพมหานครในแต่ละเขต รวมถึงเมืองพัทยา สามารถขยายผลการขับเคลื่อนปลุกพลังดึงความร่วมมือของ 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ในพื้นที่ ทั้งมิติยาฝรั่ง คือ ทำให้เกิดขึ้นแต่ไม่ยั่งยืน และมิติยาไทย คือ ทำให้เกิดเป็นความเคยชิน เป็นนิสัยอย่างยั่งยืน เช่น ทำให้คนตื่นตัวที่จะไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะจนบ้านเมืองสกปรก ไม่เทหรือลักลอบปล่อยน้ำเสีย ไม่วางเฉยเมื่อเห็นขยะลอยมาในคลอง ช่วยกันตักมาใส่ถังขยะ ไม่รังเกียจรังงอนที่จะดูแลต้นไม้สวย ๆ หน้าบ้าน บนฟุตบาทสาธารณะโดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่มาดูแลหรือให้ใครสั่ง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้บังเกิดผลทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข ทำให้ประเทศไทย และโลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคนมีสภาพแวดล้อมที่ดี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้คณะกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงมหาดไทยทุกคน ได้มุ่งมั่นตั้งใจด้วยแรงปรารถนา (Passion) ที่อยากทำให้เกิดการ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน เพื่อยังผลทำให้ "พี่น้องประชาชน" ผู้ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดที่เราตั้งใจมาทำงานรับราชการ รัฐวิสาหกิจ ได้รับแต่สิ่งที่ดี และสิ่งที่ดีเหล่านั้นนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติ อันจะเป็นเครื่องยืนยันและเป็นตัวอย่างที่ประจักษ์ชัดให้กับคนรุ่นต่อไป ให้กับลูกหลานในอนาคตที่พวกเขาก็จะชื่นชมในสิ่งที่เราทำให้เกิดประโยชน์ให้ประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ อันหมายถึง คน สังคม และสิ่งแวดล้อม อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน