วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2565
พม. ชี้แจงข้อเรียกร้องให้จ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า
กรมกิจการเด็กและเยาวชน ยืนยันพร้อมขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ในอัตรา 600 บาท ต่อคนต่อเดือน
จากกรณีนางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้ครอบครัวจำนวนมากสูญเสียรายได้หรือตกงาน สร้างความเปราะบางต่อประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ยูนิเซฟจึงเรียกร้องให้ ครม.อนุมัติสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้าตามมติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) เมื่อ ก.ย.63 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น
วันที่ 10 มิถุนายน 2565 นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า ตามที่ คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) เป็นประธานกรรมการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือและจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนฯ ให้ครอบคลุมเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนมาอย่างต่อเนื่อง ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 เห็นชอบหลักการในการให้เงินอุดหนุนเด็กอายุ 0 - 6 ปี แบบถ้วนหน้า และมติการประชุม กดยช. ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 เห็นชอบแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า ในอัตรา 600 บาท ต่อคน ต่อเดือน เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำเสนอแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า ต่อคณะรัฐมนตรี
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก และรัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จึงอาจจะยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่รัฐบาลจะผลักดันนโยบายการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า แต่ยืนยันว่าไม่ละทิ้งแนวคิดขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้า ทั้งนี้ อาจจะใช้ระยะเวลา 2 – 3 ปี เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับนโยบายการจ่ายเงินอุดหนุนฯ แบบถ้วนหน้า และให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต