วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2565
คำกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีสำหรับการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27
ท่านประธานและผู้บริหารระดับสูงของนิคเค
แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
โคนิจิวะ!
ขอบคุณคุณทาคาฮาชิ สำหรับการกล่าวแนะนำครับ
ผมยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ Future of Asia (ฟิวเจอร์ ออฟ เอเชีย) อีกครั้งหนึ่งในปีนี้ ตามคำเชิญของหนังสือพิมพ์นิคเค ขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นให้แก่ผมและคณะ
ก่อนที่ผมจะเริ่มให้มุมมองของไทย ผมอยากจะเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม
นิคเคที่กรุงโตเกียวด้วยตนเอง
ประการแรก อย่างที่ทุกท่านทราบ ไทยเชื่อว่าญี่ปุ่นเป็นมิตรแท้ของไทยเสมอมา ผมเพิ่งต้อนรับ
ท่านนายกรัฐมนตรีคิชิดะที่ได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา การเยือนไทยและประเทศ
ในอาเซียนของท่านนายกรัฐมนตรีคิชิดะส่งสัญญาณเชิงบวกต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และมีความสำคัญเป็นพิเศษยิ่งสำหรับไทย ในโอกาสที่เราเฉลิมฉลองความสัมพันธ์และมิตรภาพอันยาวนาน
กว่า 135 ปี ระหว่างกัน
ประการที่สอง ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง โดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้า
ที่มีความสำคัญเป็นอันดับ ๒ ของไทย และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเราก็เหนียวแน่นมากยิ่งขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ที่ได้จัดทำความตก JTEPA เมื่อปี 2550 และความตกลง AJCEP ในปีถัดมา โดยในปี 2564 การค้าระหว่างประเทศของเรามีมูลค่าสูงกว่าหกหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่สำคัญ ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน คิดเป็นเกือบร้อยละ 30 ของมูลค่า FDI ทั้งหมดของไทยเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ จากการที่ความตกลง RCEP ซึ่งเป็นความตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผลใช้บังคับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เรากำลังมองเห็นการเจริญเติบโตทางการค้าขนาดมหาศาลระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน ญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไทยขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่น ตลอดจนนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นที่ยังคงความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทยอย่างไม่เสื่อมคลาย เรายินดีต้อนรับการลงทุนจากญี่ปุ่นเพิ่มเติมเสมอ โดยเฉพาะใน EEC ขณะเดียวกัน เรายังได้เห็นการเจริญเติบโตของ FDI จากไทยไปยังญี่ปุ่นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้เป็นอันดับสองหรือสามในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และหวังว่าจะได้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนในสาขาพลังงานทดแทน ประการสำคัญ ผมเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนในสิ่งที่นักลงทุนของเราต้องการ ซึ่งรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนด้วย
ประการที่สาม ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นสมาชิกที่แข็งขัน โดยเอเปคกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญระหว่างการดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 ตามแผนปฏิบัติการอาโอทีอาโรอา เพื่อปูทางไปสู่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งภูมิภาคอย่างยั่งยืน
โอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้ตรงกับที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน และอินโดนีเซีย เป็นประธานจี 20 พอดี นับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยที่จะเห็นประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศนำกระบวนการในเวทีอันทรงเกียรติ 3 แห่งพร้อมกัน ด้วยโอกาสอันพิเศษนี้ เราทั้งสามประเทศมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณของความร่วมมือ ในขณะที่พวกเรา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสริมสร้างความเข้มแข็งของความเป็นแกนกลางของอาเซียน ความน่าเชื่อถือ และบทบาทของอาเซียน ในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคและของโลกต่อไป
ในการนี้ ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ไทยพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียนในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะในโอกาสที่เราจะเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 50 ปีระหว่าง อาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้า
และประการสุดท้าย ขณะที่เรากำลังเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง การมาเข้าร่วมประชุมในเวทีแห่งนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ผมมีโอกาสที่จะแบ่งปันมุมมองของไทยกับบรรดาผู้นำ แต่ยังทำให้ผมได้มีโอกาสรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน
ท่านผู้มีเกียรติครับ
สองปีก่อน โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเราทุกคนอย่างรุนแรงในทุกมิติ ในระดับที่ไม่มีใครเคยพบเจอมาก่อนในยุคสมัยของเรา ทั้งในแง่การสูญเสียชีวิตและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา ประชาชนหลายล้านคนต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมาก ในครั้งนั้น การเดินทางทั่วโลกถูกตัดขาด ห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน ชายแดนถูกปิดลง เพื่อหนีจากศัตรูร่วมกันที่มองไม่เห็น ผลคือชีวิตของเราต้องเผชิญกับความไม่รู้อนาคต
เมื่อโลกกำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากวิกฤติโควิด-19 เราก็เจอกับความท้าทายใหม่ ๆ อีกเกิดการชะงักงัน (disruptions) ระลอกแล้วระลอกเล่า ทั้งความแตกแยก ความขัดแย้ง ความตึงเครียด
ทางภูมิรัฐศาสตร์ ความยากจนและความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าครองชีพสูง สภาวะเงินเฟ้อ ความผันผวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอื่น ๆ อีกมากมาย บางอย่างเกิดก่อนโควิด-19 นานแล้วแต่ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้
ถึงกระนั้นก็ตาม ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ ในด้านเศรษฐกิจ เอเชียยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในเชิงความสำคัญทั้งทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ โลกกำลังจับตามองว่าเอเชียจะเดินไปในทิศทางใด เพื่อต่อสู้กับความท้าทายเหล่านี้ ผมกับผู้นำหลายประเทศได้เข้าร่วมในการเปิดตัวข้อริเริ่มกรอบ IPEF ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ที่หนักแน่นอีกประการหนึ่งว่าเอเชียยังคงมีความสำคัญในทุกวันนี้
ประการสำคัญ ในช่วงเริ่มต้นของยุคดิจิทัลนี้ เอเชียกำลังพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างก้าวกระโดดอย่างเช่นบล็อกเชน มีบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกจำนวนมากที่เกิดและกำลังจะเกิดจากในเอเชีย และในขณะที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ และแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาของอดีต การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญที่กำหนดทิศทางและรูปแบบของสังคมสมัยใหม่และเศรษฐกิจดิจิทัลที่ผันผวนสูงมากและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน เราต้องพึงตระหนักด้วยว่าการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลจะนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันที่มากขึ้นทั้งในและระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากบริบทต่าง ๆ เหล่านี้ที่ผมได้กล่าวมา หัวข้อหลักของการประชุมจึงเป็นคำถามที่เหมาะสมกับช่วงเวลาเป็นอย่างยิ่ง เอเชียจะมีบทบาทอย่างไรได้บ้างเมื่อช่องว่างขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกมิติ เอเชียจะมีส่วนในการสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งในทุกด้านได้อย่างไร คำตอบง่ายมาก เอเชียจะต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว เอเชียจะต้องสนับสนุนความยั่งยืนอย่างแน่วแน่ เอเชียจะต้องสร้างสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้นสองปีที่ผ่านมาได้สอนให้เราเรียนรู้ว่า “ความยืดหยุ่นเพื่อปรับตัวต่อความชะงักงันใด ๆ – และผม ขอย้ำว่าความชะงักงันใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น – เป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการประคับประคองตนเอง” การเจริญเติบโต เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะไม่มีความหมายหากเราไม่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทปัจจุบันที่การเติบโตเปราะบางมาก ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ผมเชื่อว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งและก้าวไปสู่ความยั่งยืน ดังนั้น ผมขอใช้โอกาสนี้แบ่งปันมุมมองของไทยต่อคำถามที่ว่าเราจะเดินไปสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างไร ท่ามกลางความท้าทายนานัปการที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เพื่อสร้างอนาคตที่สดใสยิ่งกว่าเดิมของเอเชียของเราและของโลก
ท่านผู้มีเกียรติครับ
สันติภาพและความรุ่งเรืองที่เรามุ่งหวัง เคยเป็นไปได้ในอดีตและยังคงเป็นไปได้ในวันนี้ โลกของเรายังคงต้องเดินหน้าต่อ เราต้องไม่ย่อท้อต่อความท้าทายต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ บางครั้งวิกฤติก็ทำให้เกิดแรงผลักดันอย่างมหาศาลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและทำให้ความท้าทายกลายเป็นโอกาส ปีที่แล้วในเวทีแห่งนี้ผมพูดว่า เอเชียฟื้นตัวกลับมาได้เสมอ ผมยังคงเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมเช่นนั้น
ผมขอแบ่งปัน 3 สิ่งที่ไทยเชื่อว่าเอเชียจะร่วมกันทำได้เพื่อก้าวข้ามสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยมุ่งให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
ประการแรก เราจะต้องกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเราจะต้องทำให้ตลาดเปิดกว้างและครอบคลุมต่อไป การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีภูมิต้านทานมากพอที่จะสามารถปรับตัวและรับมือกับความชะงักงันและความไม่แน่นอนใด ๆ ได้อย่างทันท่วงที พร้อมกับมีห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลกที่มีความเข้มแข็ง ยืดหยุ่นและไม่ถูกตัดขาด ในเรื่องนี้ เราต้องสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐานต่อไป โดยมี WTO (ดับบลิว ที โอ) เป็นแกนกลาง และต้องสร้างสภาพแวดล้อมการค้า และการลงทุนที่เสรี เป็นธรรม เปิดกว้าง ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส ครอบคลุม และคาดการณ์ได้
ในส่วนของไทย ไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้นกว่าเดิม เราจะสร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคง คาดการณ์ได้ มีนวัตกรรม และเอื้ออำนวยให้แก่นักธุรกิจและนักลงทุน
ในการนี้ ไทยมองเห็นความจำเป็นของการเตรียมพร้อมกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับภูมิทัศน์ทางการเงินและเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เปรียบเสมือนบ้านที่มีรากฐานที่แข็งแรงพอที่จะต้านทานแรงพายุได้ เรากำลังยกระดับและขยายระบบขนส่งทางรางและท่าอากาศยานทั่วประเทศ และกำลังดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการบริหารจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ การส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนการสร้างบุคลากรดิจิทัลที่มีทักษะสูง โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิศวกรระบบคลาวด์ เพื่อรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัวและเมตาเวิร์สที่แผ่ขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ผลคือบริษัทจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์จำนวนมากเลือกมาลงทุนในไทยเพื่อพัฒนาศูนย์บริหารจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางบริการด้านการจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ที่น่าดึงดูดมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ต้องขอขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดและความช่วยเหลือที่ผ่านมา
ซึ่งมีส่วนทำให้ไทยมายืนอยู่ตรงจุดนี้
เราภูมิใจที่ระบบการธนาคารของเราเป็นหนึ่งในระบบธนาคารที่ก้าวหน้ามากที่สุด เราเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่ใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้สำเร็จ เรียกว่าระบบพร้อมเพย์ ทำให้บุคคลและธุรกิจต่าง ๆ สามารถโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การจ่ายบิล การแลกเปลี่ยนเงินตรา และการลงทุนส่วนบุคคลก็สามารถทำในช่องทางออนไลน์ได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น การเชื่อมระบบพร้อมเพย์กับเพย์นาวระหว่างไทยกับสิงคโปร์ในปีที่ผ่านมา เป็นการเชื่อมระบบการชำระเงินดิจิทัลครั้งแรกของโลก เราได้เชื่อมระบบในลักษณะเดียวกันกับญี่ปุ่น กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซียแล้วเช่นกัน เราหวังว่าจะสามารถเชื่อมต่อระบบกับประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในเอเปค ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของเราที่จะสร้างความเชื่อมโยงทางดิจิทัล และเป็นเป้าหมายของเราว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของ GDP ทั้งหมด
ประการที่สอง เราต้องสนับสนุนระบบพหุภาคีต่อไปเพราะไม่มีประเทศใดจะสามารถรับมือและจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้เพียงลำพัง ไทยสนับสนุนระบบพหุภาคีอย่างแน่วแน่เสมอมาและจะยังคงสนับสนุนต่อไป เพราะไทยเชื่อมั่นอย่างที่สุดว่าสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญหากเราต้องการสร้างประชาคมระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาที่ยั่งยืน และสันติภาพ เพราะในเวทีระหว่างประเทศ ทุกประเทศอยู่บนพื้นฐานที่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่หรือเล็ก ไทยพร้อมที่จะทำหน้าที่ของเราเพื่อสนับสนุนแนวคิดพหุภาคีและขับเคลื่อนความร่วมมือระดับพหุภาคีต่อไปให้มากที่สุด
เอเปคเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ไทยจะสามารถแสดงการสนับสนุนระบบพหุภาคีได้ ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี ค.ศ. ๒๐๒๒ ไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ขับเคลื่อนงานของเอเปคในปีนี้ หากจะกล่าวตามตรง การทำงานของไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคปีนี้ไม่ง่ายเลยด้วยสถานการณ์โลกปัจจุบันและผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลที่ตามมา หลังจากที่ผ่านมาแล้วเกือบครึ่งทาง แต่ไทยไม่ย่อท้อและขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งถึงความมุ่งมั่นที่ไม่เปลี่ยนแปลงของไทยที่จะทำให้เอเปคยังคงเดินหน้าต่อ เพื่อให้เอเปคมีผลลัพธ์ที่มีความหมายและเป็นรูปธรรมในปีนี้ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในเอเชีย-แปซิฟิกทุกคน
ตั้งแต่ก่อตั้งเอเปค เอเปคได้บ่มเพาะความคิดดี ๆ หลายเรื่องและเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์และใช้ได้จริง เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนหลายประการ โอกาสของเอเปคมาถึงอีกครั้งที่จะรวมพลังกัน แสดงความเป็นผู้นำและส่งเสียงเป็นเสียงเดียวกันเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก เราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่จะยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้หรือไม่ เรามีเวทีที่จะทำมันแล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเรา
ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ไทยมุ่งจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างสู่โอกาส เชื่อมโยงภูมิภาคอีกครั้งในทุกมิติ และนำพาเอเปคไปสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน ภายหลังโควิด-๑๙ เพื่อดำเนินการตามเป้าหมายในวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 และแผนปฏิบัติการอาโอทีอาโรอา โดยมี BCG เป็นแนวคิดพื้นฐาน
ภายใต้หัวข้อหลักที่ 1 “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” ไปสู่โอกาส ไทยผลักดันให้มีการริเริ่มการทบทวนการหารือเรื่อง FTAAP (เอฟแทป) ผ่านมุมมองของโลกหลังโควิด-๑๙ โดยคำนึงถึงประเด็นการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ไทยหวังว่าจะมีการต่อยอดงานดังกล่าวในปีต่อ ๆ ไป ที่สำคัญที่สุด การเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน การลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน และการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของเอเปคที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกลายเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีสันติภาพตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040
ภายใต้หัวข้อหลักที่ 2 “เชื่อมโยงกัน” ในทุกมิติ ไทยมุ่งจะเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกันอีกครั้ง ในการนี้ ไทยได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นโดยเฉพาะเพื่อหาแนวทางที่จะรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดน ในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ ข้อริเริ่มต่าง ๆ ล้วนมีขึ้นเพื่อหารือประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกันได้ในเอเปค และการขยายขอบเขตการใช้บัตรเดินทางของนักธุรกิจในเอเปคเป็นต้น
ภายใต้หัวข้อหลักที่ 3 “สู่สมดุล” ในทุกทาง ไทยผลักดันการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยจุดมุ่งหมายประการหนึ่งที่สำคัญสำหรับไทย คือการทำให้ SMEs ธุรกิจที่นำโดยสตรี และธุรกิจเล็ก ๆ ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจของเรา สามารถเข้าถึงตลาดและเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อให้พวกเขามีความสามารถในการแข่งขันและมีโอกาสที่จะเติบโต นอกจากนี้ ไทยเสนอให้มีการรับรองเอกสารระดับผู้นำ ชื่อว่า “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี” ซึ่งเป็นเอกสารที่จะวางรากฐานการดำเนินงานของเอเปคในระยะยาวด้าน ความยั่งยืนที่ครบถ้วนที่สุด ทั้งในด้านการปรับตัวและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้สอดคล้อง อย่างมากกับนโยบายการเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น และผมขอขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนวาระ BCG ของไทย อย่างเต็มที่
ประการสุดท้ายและสำคัญที่สุด อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ภายใต้แนวคิดบีซีจี ไทยเชื่อว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดควบคู่ไปกับความยั่งยืน ไทยมุ่งมั่นที่จะทำให้มากขึ้นและดีขึ้นเรื่อย ๆ ผมจึงขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เพราะทุกท่านคือผู้ขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
สำหรับประเทศไทย บนหนทางไปสู่ความยั่งยืน เรากำลังเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยเราได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV แล้ว และกำลังเร่งสร้างระบบนิเวศน์เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว และในขณะที่ผมกำลังพูดอยู่นี้ มีเรือ EV อัจฉริยะล่องอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อขนส่งผู้โดยสารทางน้ำเพื่อลดปริมาณคาร์บอนในระบบขนส่งมวลชนทางน้ำของเรา ไทยหวังว่าไทยจะเป็นหนึ่งในฐานการผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้ การให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการเงินและด้านวิชาการ ตลอดจนการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี และการพัฒนาขีดความสามารถยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาในด้านนี้ของเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาเช่นไทยซึ่งต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูง เราหวังว่าจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้านนี้และด้านอื่น ๆ ต่อไป
ผู้มีเกียรติทุกท่านครับ
เอเชียเป็นภูมิภาคที่ไม่เพียงแต่กว้างใหญ่และไม่หยุดนิ่ง แต่ยังยืดหยุ่นและเต็มไปด้วยทรัพยากรมากมายยังมีศักยภาพอีกมากที่ยังไม่ได้ใช้ ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราทุกคนจะไม่ย่อท้อและยึดมั่นในปณิธานที่ได้ตั้งไว้ เพราะความเข้มแข็งของเอเชียคือความเป็นเอกภาพและการเติบโตไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เอเชีย เป็นแผ่นดินแห่งความหวัง เอเชียเป็นสถานที่แห่งโอกาส ไทยกำลังทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ในทุกระดับ เรามาจับมือกันเพื่อทำให้ความมุ่งหวังอันท้าทายของเรากลายเป็นจริงขึ้นมาร่วมกัน ณ บัดนี้ เรามีหน้าที่ต่อเด็กรุ่นใหม่ที่จะต้องสร้างโลกที่พวกเขาจะสามารถเติบโตและพัฒนาศักยภาพสูงสุดของตนเองได้ เพื่อสร้างอนาคตของเขาเอง และนี่ “เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนร่วมกันครับ”
อะริกาโตโกะไซมัส ขอบคุณครับ
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน