สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้รายงานสรุปผลการดำเนินงานที่สำคัญของสำนัก งานฯ ปีงบประมาณ 2565 (ประจำไตรมาสเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2565) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่หลักในการ บูรณาการและผลักดันการส่งเสริม MSME ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ MSME สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล ดังนี้
1. บูรณาการความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามบทบาทการดำเนินกิจกรรมตามกรอบความร่วมมือ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership)” ซึ่งเป็นความตกลงที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SME ได้รับประโยชน์จากการลดกำแพงภาษีและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าและบริการของไทย
สำนักงานฯ ได้พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสู่ความเป็น Born Global ภายใต้แนวคิด “Plug in with Global Niche Market” ให้สามารถขยายตลาดต่างประเทศด้วยการสร้างตลาดเฉพาะ (Niche Market) และขยายสู่ความเป็นตลาดเฉพาะที่กว้างขึ้น (Global Niche Market) โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเข้มข้นผ่านการ Coaching เตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาสินค้า/บริการและนำเสนอแผนธุรกิจให้กับผู้เชี่ยวชาญและผู้ค้า (Trader) ในการ Pitching นำเสนอสินค้า/บริการเพื่อทดสอบตลาดประเทศเป้าหมาย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศมาเลเซีย และประเทศออสเตรเลีย จำนวน 206 กิจการ ตลอดจนผู้ประกอบการได้รับองค์ความรู้จากนักธุรกิจจากประเทศเป้าหมายทั้งผู้นำเข้า-ส่งออก ผู้ค้าปลีก-ค้าส่ง หรือผู้ค้าออนไลน์ มาให้มุมมองเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค แนวโน้มความต้องการสินค้า/บริการที่เปลี่ยนไปตามวิถี Next Normal ซึ่งครอบคลุมการเข้าสู่ตลาด RCEP ทั้งในส่วนของสินค้า/บริการ และประเทศที่น่าสนใจที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ MSME ไทย กว่า 212 ราย
2. ส่งเสริมและมุ่งเป้าผู้ประกอบการ (Focused Target) ให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่ผู้ประกอบการ MSME สามารถเลือกรับบริการหรือรับการพัฒนากับผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service Provider : BDSP) ในด้านที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจตนเอง ทั้งนี้ สำนักงานฯ จะให้ความช่วยเหลือ อุดหนุนจากเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านผู้ให้บริการทางธุรกิจโดยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาให้แก่ผู้ประกอบการ MSME แบบร่วมจ่าย (co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50 – 80 ตามประเภทของค่าใช้จ่ายและขนาดของธุรกิจที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับบริการและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ http://bds.sme.go.th โดยเปิดให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 แบ่งเป็น 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่
ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2565 จนถึงวันที่ 14 เมษายน 2565
ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565
โดยในเดือนมีนาคม 2565 มีหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการทางธุรกิจแล้ว 56 หน่วยงาน มีบริการที่ขึ้นทะเบียน 88 บริการ พร้อมกับเปิดให้ผู้ประกอบการ MSME ลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุน โดยระยะที่ 1 มีผู้ประกอบการยื่นขอรับสิทธิกว่า 300 ราย ซึ่งผลจากการเปิดให้ลงทะเบียนที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการไม่ทราบข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การสนับสนุนการให้บริการ รวมถึงยื่นเอกสารไม่ครบถ้วน/ไม่ถูกต้อง ดังนั้น สำนักงานฯ จึงได้เร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์และการเตรียมพร้อมด้านเอกสาร โดยเพิ่มการลงพื้นที่ชี้แจงผู้ประกอบการในจังหวัด ต่าง ๆ ในทุกภูมิภาค ตลอดจนขยายการบริการให้ครอบคลุมสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจและสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเพิ่มเติมบริการด้านการพัฒนาช่องทางจำหน่ายและการตลาด และการพัฒนาตลาดต่างประเทศ พร้อมกับขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าถึงบริการมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลพบว่า ผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคล สูงถึงร้อยละ 70 และวิสาหกิจชุมชน เพียงร้อยละ 30 ซึ่งมีบางส่วนไม่สามารถลงทะเบียนได้ สำนักงานฯ จึงดำเนินการยกเว้นคุณสมบัติของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เฉพาะที่เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคล และมีรายได้ไม่เกินหนึ่งล้านแปดแสนบาท ให้มีสิทธิยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับความช่วยเหลือ อุดหนุนโดยไม่ต้องแนบสำเนาแบบแสดงรายการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90) และจะได้รับสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือ อุดหนุนจากสำนักงานฯ ไม่เกินร้อยละ 80 และวงเงินไม่เกินรายละ 50,000 บาท
3. สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ MSME มุ่งเสริมสร้าง “Reskills & Upskills” ซึ่ง สำนักงานฯ ร่วมมือกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผลักดัน “ศูนย์ 7 สนับสนุน SME” หรือ “7 SME Support Center” โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการบูรณาการองค์ความรู้ และถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการในการสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจผ่านกิจกรรม “SME 3ก แกร่ง เก่ง กล้า” นำเสนอภาพรวมแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจ มาตรการและการสนับสนุนภาครัฐ การหาแหล่งเงินทุน การเตรียมความพร้อมสู่การขายสินค้าในช่องทางโมเดิร์นเทรด การปรับตัวของเอสเอ็มอีต่อการแข่งขันในแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ประกอบการ MSME ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ MSME สามารถติดตามข่าวสาร ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/7smesupport หรือติดต่อขอรับคำปรึกษาโดยตรงได้ที่ 0 2826 7750