วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565
วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 14.00 – 16.00 น. ณ โรงแรม Willard InterContinental Washington, D.C.
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ
ท่านผู้แทนการค้าสหรัฐฯ
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ฯพณฯ ทั้งหลาย
และ ท่านผู้นำภาคเอกชนสหรัฐฯ ทุกท่าน
ผมรู้สึกยินดีที่ได้มาพบหารือกับทุกท่านในวันนี้ โดยที่ผ่านมาก็ได้มีโอกาสพบปะกับ USABC หลายครั้งแล้ว และขอชื่นชมภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่สนับสนุนและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ยังได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกภาคส่วน ทำให้เราต้องหันกลับมาทบทวนว่า จะทำอย่างไรต่อไปเพื่อที่จะสามารถลุกขึ้นและก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
ผมเห็นว่า เราจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้าง “พลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพื่ออนาคต” เพื่อให้ภูมิภาคมีการเติบโตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุค Next Normal ต่อไป โดยประเด็นหลักที่อาเซียนกับสหรัฐฯ สามารถร่วมกันผลักดันมี 3 เรื่อง หรือ “3R” คือ
R แรก “Reconnect” โดยการส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงนี้ โดยการลงทุนขยายฐานการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่อาเซียนมีศักยภาพและมีทรัพยากรรองรับ ซึ่งไทยมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ มาร่วมลงทุนเพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ รวมถึงจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการเชื่อมโยงธุรกิจกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยสาขาอุตสาหกรรมที่ผมคิดว่าเราสามารถร่วมมือกันได้ คือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์ โลจิสติกส์อัจฉริยะ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
ในสาขาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำที่แข็งแกร่ง และมีบริษัทเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนแล้วหลายราย ผมจึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ พิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน อาทิ ต้นน้ำของเซมิคอนดัคเตอร์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีนโยบายมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิต EV ระดับโลก โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิต EV และผู้พัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง อาทิ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านและสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ได้ด้วย
R ที่สอง “Rebuild” ในยุค 4IR เราควรมุ่งพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2030
ในการนี้ ผมขอเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ มาร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในอาเซียน เช่น โครงข่ายอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีคลาวด์ในอุตสาหกรรมการผลิต ดาต้าเซ็นเตอร์ และการให้บริการคอนเทนท์ ตลอดจน
การสนับสนุนการพัฒนาและบ่มเพาะธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ ไทยมีไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเลย์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EECi ที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจดิจิทัล และขยายไปสู่ภูมิภาคได้
R สุดท้าย “Rebalance” ทุกท่านคงเห็นเช่นเดียวกับผมว่า เป้าหมายของทุกภาคส่วนในเวลานี้คือ การเร่งฟื้นฟูวิถีชีวิตของผู้คนและสังคม ซึ่งผมเน้นย้ำมาโดยตลอดว่า หัวใจสำคัญ คือ การรักษา “สมดุล” ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยผมเห็นว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ มีศักยภาพในการเข้ามาขยายการลงทุนและถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสาขาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ และพลังงานสะอาด ในอาเซียนได้
มองไปข้างหน้า ไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้จะมุ่งเน้นการสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในบริบทโลกหลังโควิด-19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุลแบบองค์รวมระหว่างทุกสรรพสิ่ง โดยมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดพื้นฐาน ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN. CONNECT. BALANCE.” ซึ่งไทยมุ่งผลักดันประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในเอเปค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อภาคเอกชน และไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า เพื่อขับเคลื่อนวาระนี้อย่างต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ผมหวังว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ จะร่วมกันผลักดันประเด็นต่าง ๆ ข้างต้น โดยไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนพร้อมที่จะสนับสนุนการขยายโอกาสทางธุรกิจ และขจัดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเพื่อให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ได้รับความสะดวกและประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเศรษฐกิจของอาเซียนและสหรัฐฯ จะได้ก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ขอบคุณครับ
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน