วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565
วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 12.00-13.00 น. ณ ห้อง Rayburn รัฐสภาสหรัฐฯ
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ฯพณฯ ทั้งหลาย
และท่านสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ทุกท่าน
ผมขอขอบคุณสำหรับงานเลี้ยงอาหารกลางวันในวันนี้ และยินดีที่ได้พบกับสมาชิกผู้ทรงเกียรติของรัฐสภาสหรัฐฯ ทุกท่าน ซึ่งเป็นผู้แทนของชาวอเมริกัน และเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและอนาคตความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ซึ่งจะมีอายุครบ 45 ปี ในปีนี้
ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความท้าทายหลากหลายมิติในปัจจุบัน ผมเชื่อและขอย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการพลิกฟื้นให้โลกของเรากลับมาเข้มแข็ง มีสันติสุข และประชาชนมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตในยุค Next Normal
จุดแข็งหลักของเรา คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนกว่าหนึ่งพันล้านคนของเรา สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน โดยเป็นคู่ค้าอันดับ 2 และนักลงทุนอันดับ 1 ของภูมิภาค ความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงการผลักดันการค้าเสรี และการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของห่วงโซ่อุปทาน เป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศต้องดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของโลกกำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยเฉพาะการปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกครั้งที่ 4 ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ จึงให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ เป็นลำดับต้น
ปัจจุบัน อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของโลก และคาดว่า จะเติบโตเป็นอันดับ 4 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับภาคธุรกิจ ตลอดจนสามารถสร้างงานให้กับชาวอเมริกันได้อีกมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสาขาใหม่ ๆ อาทิ พลังงานสะอาด อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล และนวัตกรรมการแพทย์ เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทย ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐฯ เป็นความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งดำรงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1833 โดยเริ่มจากความตกลงด้านมิตรภาพและพาณิชย์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรและการมีผลประโยชน์ร่วมกันในทุกด้าน ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีการลงทุนในประเทศไทย 17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ภาคเอกชนไทยมาลงทุนใน 26 รัฐของสหรัฐฯ คิดเป็นจำนวนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ผมเชื่อว่า การมีอนาคตที่มั่นคงของเรา ขึ้นอยู่กับการมีบรรยากาศแห่งความสงบ สันติสุข ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการฟื้นฟูและพัฒนา ดังนั้น ผมหวังที่จะเห็นบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ผ่านความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายใน 4 สาขาภายใต้กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของ สหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก บนพื้นฐานของหลักความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสนับสนุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ ด้วย
สุดท้ายนี้ ผมใคร่ย้ำว่าความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ มีความสำคัญต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของสองฝ่าย และของภูมิภาค และ ผมหวังว่า รัฐสภาสหรัฐฯ จะให้การสนับสนุน และผลักดันความร่วมมือต่าง ๆ ในทางบวกให้ก้าวหน้าต่อไป เพื่อประโยชน์อันยั่งยืนและสมดุลของประชาชนของเรา
ขอบคุณครับ
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน