วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2565
วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม 2565 ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล
ท่านนายกรัฐมนตรีคิชิดะ แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนทุกท่าน
ในนามของรัฐบาลไทย ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรีฯ ในโอกาสการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
การเยือนของท่านในครั้งนี้ มีความหมายอย่างยิ่งเนื่องจากตรงกับโอกาสครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตฯ ในปีที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – ญี่ปุ่น และการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทย
เมื่อสักครู่นี้ ท่านนายกรัฐมนตรีฯ และผมได้หารือข้อราชการกันเพื่อหาแนวทางการเพิ่มพูนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติ รวมถึงประเด็นความท้าทายจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ในระยะต่อไป
ประเด็นหารือร่วมระหว่างผมกับท่านนายกรัฐมนตรีฯ ประกอบด้วย 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่
หนึ่ง การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
ในโอกาสครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตฯ ในปีนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นประโยชน์ที่จะหารือกันเพื่อยกระดับความสัมพันธ์จาก “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” เพื่อสะท้อนความแน่นแฟ้นและความเจริญก้าวหน้าของความสัมพันธ์
สอง การเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสู่อนาคต
ประเทศไทยและญี่ปุ่นกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี โดยมีแผนที่จะประกาศใช้ในห้วงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 6 ซึ่งญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ประเด็นที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นให้ความสำคัญยิ่งเรื่องหนึ่งคือการเพิ่มความเชื่อมโยงด้าน supply chain ให้ครอบคลุมสาขาต่างๆ มากขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เช่นเศรษฐกิจ BCG เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีการโทรคมนาคมสื่อสาร 5G ความร่วมมือในด้านปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ การพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดและชิ้นส่วนอุปกรณ์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือด้านวิจัยและค้นคว้าและการตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนไทย
สาม การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19
ผมได้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ได้มอบความช่วยเหลือต่าง ๆ แก่ไทย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น การมอบวัคซีน AstraZeneca เครื่องผลิตออกซิเจนและอุปกรณ์สำหรับการจัดเก็บวัคซีนฯ รวมทั้งการประกาศเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งได้มีการลงนามหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเมื่อสักครู่นี้
นอกจากนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีฯ และผมได้เห็นพ้องกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านสาธารณสุขระหว่างกันให้มากขึ้น เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ตลอดจนการให้มีการผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศเป็นลำดับตามสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายเริ่มกลับมาเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้มากขึ้น
สี่ การเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหม ความมั่นคง และการยุติธรรม
ท่านนายกรัฐมนตรีฯ และผมยินดีกับความร่วมมือที่ใกล้ชิดในด้านกลาโหมและความมั่นคงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการลงนามความตกลงเรื่องการมอบโอนยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างกระทรวงกลาโหมของไทยกับญี่ปุ่นไปแล้ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของไทย
ห้า การเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาอนุภูมิภาคและภูมิภาค
ท่านนายกรัฐมนตรีฯ และผมยินดีต่อการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างกัน และการส่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในประเทศที่สาม อาทิ ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกัน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ญี่ปุ่น และกรอบ ACMECS ซึ่งผมขอขอบคุณญี่ปุ่นที่สมทบทุนในกองทุนเพื่อการพัฒนาของ ACMECS มูลค่ากว่า 1.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ได้ยืนยันความพร้อมที่จะประสานความร่วมมืออย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้า ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาที่สำคัญภายใต้การเชื่อมโยงระหว่าง AOIP (เอโอไอพี) กับ FOIP (เอฟโอไอพี) ของญี่ปุ่น และความพร้อมของไทยในการเป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ หรือ ACPHEED
ผมขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีฯ สำหรับการสนับสนุนวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อ “Open. Connect. Balance.” โดยผมพร้อมที่จะต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรีฯ อีกครั้ง ในห้วงการประชุมผู้นำเอเปค เดือนพฤศจิกายนนี้
หก การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ
ท่านนายกรัฐมนตรีฯ และผมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยในส่วนของสถานการณ์ยูเครน ไทยและญี่ปุ่นเน้นย้ำถึงหลักการของการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ และมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับการทวีความตึงเครียดของสถานการณ์ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้ความรุนแรงและใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างถึงที่สุด และ ไทยและญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวยูเครนอย่างต่อเนื่อง ในการนี้ผมได้เสนอแนวทางขบวนการสันติภาพที่เน้นการเปลี่ยน narrative ที่มุ่งเน้นเรื่องความขัดแย้งมาเป็นความคำนึงด้านมนุษยธรรมว่าจะเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนในทุกแห่งของโลกสืบเนื่องมาจากสงครามในยูเครน เพื่อเป็นแนวทางใหม่ที่อาจนํไปสู่การยุติความขัดแย้งและไทยได้เสนอแนวทางคล้ายคลึงกันในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาด้วย โดยให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาด้วย
ผลการหารือระหว่างท่านนายกรัฐมนตรีคิชิดะกับผมในครั้งนี้สะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอย่างรอบด้านและครอบคลุม โดยผมได้ให้คำมั่นกับท่านนายกรัฐมนตรีฯ ว่า ผมและรัฐบาลไทยพร้อมทำงานร่วมกับท่านนายกรัฐมนตรีฯ และรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด และจะสานต่อผลลัพธ์ของการเยือนครั้งนี้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนไทย-ญี่ปุ่น รวมถึงภูมิภาคโดยรวมต่อไป
ขอบคุณครับ อะริกาโต โกะไซมัส
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน