สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ แห่งประเทศญี่ปุ่น
ท่านนายกรัฐมนตรีคิชิดะ
ท่านผู้นำ และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนร่วมในการประชุม APWS ครั้งที่ 4 และขอชื่นชมบทบาทที่สร้างสรรค์ของญี่ปุ่นในด้านน้ำอย่างต่อเนื่อง ผมรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ไปเยี่ยมชมเมืองคุมาโมโตะ ด้วยตนเองหลังจากที่ได้รับการฟื้นฟูภายหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2559 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีภูมิคุ้มกันของประชาชนชาวคุมาโมโตะ อย่างแท้จริง และเสียดายที่ไม่ได้ไปชิมน้ำประปาของเมืองคุมาโมโตะ ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องการมีคุณภาพเทียบเท่าน้ำแร่ชั้นดี
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและบูรณาการในทุกมิติ โดยคำนึงถึงความยั่งยืน การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงการพัฒนาอย่างเท่าเทียมที่ไม่สร้างภาระให้กับชนรุ่นหลัง โดยไทยมีพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เป็นกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศที่ครอบคลุมการบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติตามกรอบการดำเนินงานเซนได อีกทั้งยังสนับสนุนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำภายในปี ค.ศ. 2030 โดยให้ความสำคัญต่อการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ ทั้งด้านนโยบาย การบริหารจัดการ และกฎหมาย
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประสบกับความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งจากกลุ่มผู้อาศัยในเขตเมือง ภาคการผลิตและการเกษตร ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งกระจายน้ำให้ทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญกับการใช้น้ำอย่างสมดุลทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน เพื่อสร้างหลักประกันการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลอย่างครอบคลุม ขณะเดียวกัน มีการดำเนินมาตรการบรรเทาและปรับตัวด้านน้ำ รวมถึงบูรณาการโครงสร้างสีเขียวในโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการน้ำ เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปรับตัว เพิ่มภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ
ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รัฐบาลรณรงค์ให้ประหยัดการใช้น้ำด้วยเทคโนโลยี 3R คือ Reduce มุ่งลดการใช้น้ำ Reuse นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ และ Recycle นำน้ำมาใช้หมุนเวียน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรนํ้าระดับพื้นที่ รวมถึงการนำระบบเตือนภัยล่วงหน้าเข้ามาใช้งานอย่างจริงจังเพื่อลดความเสียหายจากภัยพิบัติทางน้ำที่อาจเกิดขึ้น
หุ้นส่วนความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการบริหารทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ โดยไทยมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” เป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงระหว่างนโยบาย แผนงาน และการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยมีตัวแทนประชาชนจากภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม เข้าร่วมแสดงความเห็นและให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เพื่อการบริหารจัดการที่มั่นคงและยั่งยืน
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และท่านผู้มีเกียรติครับ
ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ ไทยส่งเสริมนโยบายโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เป็นแนวทางสำหรับการฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยน้ำเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความสมดุล ยั่งยืน และตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายนี้ ผมขอชื่นชมต่อข้อริเริ่มและความมุ่งมั่นด้านน้ำของญี่ปุ่นในการสร้างสังคมคุณภาพที่มีภูมิคุ้มกัน ยั่งยืน ครอบคลุม และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผลลัพธ์จากการประชุมในครั้งนี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการทบทวนการดําเนินการในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษระหว่างประเทศด้านน้ำ ค.ศ. 2018 - 2028 รวมไปถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างอนาคตที่ดีและมั่นคงให้กับลูกหลานของเราต่อไป
ขอบคุณครับ
-------------------------------