วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2565
การรถไฟฯ ชี้แจงกรณีพิพาทการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี โดยยืนยันยึดหลัก ความถูกต้องตามกฎหมาย ควบคู่กับคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาจากศาลฎีกา
จากกรณี น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระบุว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวชุมชนแดงบุหงา เขตราชเทวี และชุมชนวัดใหม่ยายมอญ เขตบางกอกน้อย กทม. กรณีถูกไล่ที่ และบางส่วนถูกฟ้องดำเนินคดี พร้อมดอกเบี้ย เนื่องจาก รฟท. ต้องการพื้นที่คืน เพื่อให้เอกชนเช่า ทั้งที่ชาวบ้านอยู่มานานกว่า 50 ปี มีทั้งลูกเด็กเล็กแดง ผู้ป่วยติดเตียง คนชรา รวมกว่า 400 ชีวิต ทั้งนี้ แม้ ร.ฟ.ท.ทำตามหน้าที่ แต่กรณีจะนำที่ดินไปให้เอกชนรายใหญ่เช่า เหตุใดไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยก่อนได้เช่า หรือมีผลประโยชน์จากเอกชนรายใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ และหากจะให้เหตุผลว่าประชาชนกลุ่มนี้บุกรุกที่ของ รฟท. ก็เป็นการบุกรุกมากว่า 40-50 ปีแล้ว การปล่อยปละละเลยให้เกิดปัญหาบุกรุกมายาวนานถือว่าทำให้เกิดความเสียหายและอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่นั้น
วันที่ 7 เมษายน 2565 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจง ดังนี้
การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงกรณีพิพาทการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร บริเวณ กม.ที่ 1+200 ถึง กม.1+326 จำนวนพื้นที่ 3,265 ตารางเมตร ซึ่งมีนายโสภณ เสียงล้ำเลิศ เป็นผู้ได้สิทธิการเช่าในพื้นที่ กับกลุ่มประชาชนผู้บุกรุก โดยขอชี้แจงรายละเอียดดังนี้
ที่ผ่านมาในการดำเนินแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการแก้ปัญหาผู้บุกรุกบนพื้นที่ของการรถไฟฯ การรถไฟฯได้ดำเนินการโดยยึดหลักความถูกต้อง ตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย ควบคู่กับคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด ซึ่งในกรณีที่ดินบริเวณสถานีรถไฟธนบุรี แขวงศิริราช ของการรถไฟฯ นั้น ได้มีการเปิดให้เสนอราคาเช่าเพื่อเข้ามาพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟฯ ตั้งแต่ปี 2560 โดยมีนายโสภณ เสียงล้ำเลิศ เป็นผู้ให้ราคาสูงสุด จึงได้สิทธิในการเช่า เริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม แม้นายโสภณจะได้สิทธิการเช่า และมีการชำระค่าเช่ามาตลอด แต่กลับพบว่า ไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ เพราะมีการบุกรุกจากบุคคลภายนอกเต็มพื้นที่ และจัดตั้งเป็นชุมชนใหม่ตั้งอยู่หน้าทางเข้า-ออกวัดใหม่ยายมอญ อย่างไรก็ตาม ผู้เช่าและการรถไฟฯ ได้คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม โดยได้ทำการเจรจาและเสนอช่วยเหลือค่ารื้อย้ายกับผู้บุกรุกให้ออกจากที่ดินของการรถไฟฯ แต่กลับไม่เป็นผล ส่งผลให้ผู้ได้สิทธิเช่า จึงต้องอาศัยอำนาจทางกฎหมาย โดยมีการยื่นฟ้องผู้บุกรุก 26 ราย เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งตลิ่งชัน ในฐานความผิดขับไล่ เรียกค่าเสียหาย เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.197/2561 เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2561 และต่อมาศาลมีคำสั่งให้การรถไฟฯ เข้าเป็นโจทก์ร่วม เพื่อรับรองสิทธิการเช่าจากการถูกรอนสิทธิจากผู้บุกรุกดังกล่าว
จนกระทั่งวันที่ 9 ก.ย.62 ศาลแพ่งตลิ่งชัน มีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 จำเลย ที่ 9 ถึงที่ 26 ออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยแต่ละรายชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 12,625.66 บาท
ไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทจนแล้วเสร็จ ในส่วนจำเลยที่ 8 ระหว่างพิจารณาได้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง จึงจะได้ถอนฟ้องไป อย่างไรก็ดี ในวันที่ 6 ม.ค.63 จำเลยทั้ง 26 คน ได้มีการยื่นอุทธรณ์ พร้อมกับยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวอยู่ และไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1468/2563 และเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2074/2564 โดยมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ขับไล่จำเลยทั้ง 26 คน ซึ่งจำเลยทั้ง 26 คนมาฟังคำพิพากษาครบถ้วน แต่ปรากฏว่าก็ยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ อีก ต่อมาผู้บุกรุกทั้ง 26 คน ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นฎีกา ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับคดีและงดการบังคับคดี แต่ศาลแพ่งตลิ่งชัน ได้มีคำสั่งให้รวมส่งคำร้องดังกล่าวเสนอศาลฎีกาเพื่อมีคำสั่งแก่จำเลยตามคำร้องดังกล่าว แต่ปัจจุบันศาลฎีกายังคงไม่มีคำสั่ง โจทก์หรือผู้เช่าจึงมีสิทธิดำเนินการบังคับคดีได้ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 145 อีกทั้งเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2564 ศาลแพ่งตลิ่งชันได้มีหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้โจทก์ดำเนินการบังคับตามสิทธิเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยให้ขับไล่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้ง 26 คน และให้จำเลยแต่ละรายชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 12,625.66 บาท จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ม.ค.65 โจทก์หรือผู้เช่า จึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้าปิดประกาศขับไล่รื้อถอนในที่ดินพิพาทกับสิ่งปลูกสร้างของจำเลยแต่ละราย และกำหนดนัดทำการรื้อถอนในวันที่ 4 เม.ย.2565 ไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ แต่จำเลยทั้งหมดกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการรื้อถอนแต่อย่างใด และในช่วงบ่ายของวันที่ 4 เม.ย. 2565 จำเลยทั้งหมดต่างตกลงรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างด้วยตนเองแทนการบังคับคดี โดยขอระยะเวลารื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ครบกำหนดวันที่ 4 พ.ค.65 แต่มีเงื่อนไขหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองโดยงดการบังคับคดีชั่วคราวก็ขอชะลอการรื้อถอน เพื่อรอฟังผลว่าศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตรับฎีกาจำเลยหรือไม่ โจทก์และจำเลยทั้งหมดจึงได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี
ภายหลังจากโจทก์กับจำเลยได้มีข้อตกลงร่วมกันแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2565 ทางศาลแพ่งตลิ่งชันได้มีคำสั่งงดการบังคับคดีชั่วคราว โดยศาลอาศัยเหตุว่าหากมีการบังคับคดีต่อไป อาจจะเกิดข้อพิพาทกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ขัดขวาง จนเป็นเหตุให้เกิดคดีอื่นๆ ตามมา จึงสั่งให้งดการบังคับคดี เพื่อรอฟังคำสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีจากศาลฎีกาก่อน ซึ่งการรถไฟฯ และโจทก์หรือผู้มีสิทธิเช่า ก็พร้อมดำเนินการตามคำสั่งศาล เพื่อรอจนกว่าจะมีการพิจารณาจากศาลฎีกาต่อไป
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน