ท่านรองนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรี
ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน
และผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน
· ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการ HACK-a-THAILAND “โลกใบใหม่ กับความเป็นไปได้ทางดิจิทัล” ในวันนี้ ซึ่งผมได้ติดตามสถานการณ์ความก้าวหน้าเทคโนโลยีดิจิทัลตลอดเวลา เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลนำมาใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
· ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัล Prime Minister’s Digital Awards ทั้ง 6 ท่านในปีนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล อันเป็นประโยชน์ในการมาช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ
· รัฐบาลได้เน้นย้ำในการกำหนดเป้าหมายนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เข้าสู่ประเทศพัฒนาในปี 2570 แต่เมื่อมีเหตุการณ์โรคอุบัติใหม่ อย่างโรคโควิด-19 รัฐบาลค่อย ๆ แก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ภายใต้นโยบายหลักของรัฐบาล 12 ด้าน นโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน และเร่งส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาใน 6 ยุทธศาสตร์ ที่เป็นกรอบการเดินหน้าประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การดำเนินงานของรัฐบาลจำเป็นต้องหาวิธีการที่เหมาะสม ไม่ว่าจะมีเหตุหรือภาวะคุกคามจากปัจจัยภายนอก เช่น โรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยภายใน หรือผลกระทบจากเรื่องราวต่าง ๆ รัฐบาลก็มีหน้าที่ในการปรับแก้ทั้งหมด ขอให้ทุกท่านเข้าใจหลักการทำงานของรัฐบาล
· ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง ทุกวันนี้ คนไทยใช้สื่อดิจิทัล สื่อออนไลน์กันเยอะมาก คนไทยใช้โซเชียลมีเดียกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากร มาตรการล็อกดาวน์เป็นตัวเร่งให้คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบก้าวกระโดด ทั้งนี้ เริ่มมีข่าวภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นมากมาย เพราะมีผู้ไม่หวังดีนำมาใช้ในทางที่ผิด ทั้งพวกแก๊งค์คอลเซนเตอร์ที่กำลังระบาดหนัก หวยออนไลน์ พนันออนไลน์ Fakenews เหล่านี้ถือเป็นภัยคุกคาม ที่รัฐบาลต้องเร่งจัดการ ทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน สอนให้รู้จักใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทางที่เหมาะสม สอนให้รู้จักรับมือกับภัยทางไซเบอร์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องอาศัยลูกหลาน Gen Y, Gen Z มาช่วยสอนให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์
· ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่คนเปิดรับปรับใช้ดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs กลุ่มเกษตรกร ปรับเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัล โดยมีผู้ประกอบการดิจิทัล หรือดิจิทัลสตาร์ทอัพ เป็นกำลังสำคัญที่มาช่วยภาครัฐในการนำดิจิทัลมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนไทยน่าจะสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือการปรับตัวอย่างรวดเร็วของภาคประชาชนที่สามารถใช้แอพพลิเคชั่นการเงินที่ให้บริการผ่านมือถือที่ใช้ง่าย สะดวกมากขึ้น และความร่วมมือกับภาคธุรกิจในการปรับมาใช้ระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัส ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อย่างรวดเร็ว เพื่อเว้นระยะห่าง และลดการสัมผัสเงินสดซึ่งอาจเป็นตัวกลางแพร่กระจายเชื้อ
· ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้สร้างการรับรู้เรื่องดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง สร้างการรู้เท่าทันเทคโนโลยี รวมไปถึงการส่งเสริมทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาการคอมพิวเตอร์ให้กับเด็กและเยาวชน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในการปรับระบบการเรียนการสอนมาเป็นระบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การสร้างแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะแรงงานทักษะดิจิทัลขั้นสูง เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักพัฒนาหุ่นยนต์ เป็นต้น ด้วยการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผ่านการอบรมและฝึกงานผ่านหลักสูตรที่ภาคเอกชนมาช่วยออกแบบหลักสูตร เพื่อให้ผลิตแรงงานที่มีทักษะตรงตามตลาดต้องการ ธุรกิจไม่ขาดคน แรงงานมีงานทำ
· ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รัฐบาลได้เร่งส่งเสริมการพัฒนาเครือข่าย 5G นำร่องในพื้นที่ EEC เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และขยายผลการนำ 5G ไปใช้ในพื้นที่ โดยเฉพาะการนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องสาธารณสุข เรื่องสุขภาพอนามัย การให้คำปรึกษาและการรักษาพยาบาลทางออนไลน์ (Telemedicine) ในช่วงโควิด เพื่อความปลอดภัยทั้งหมอ และคนไข้ โดยเฉพาะคนไข้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ไม่ต้องเดินทางมาพื้นที่เสี่ยง จากนี้ไป ก็คงต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ มาใช้ในด้านสาธารณสุขมากขึ้น
· นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วน โดยให้ความสำคัญทั้งกลุ่มเมืองเดิม โดยจะมุ่งเน้นการฟื้นฟูเมืองเดิม พัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจริยะที่ใช้เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง พลังงาน และดิจิทัลในการปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมเมืองที่มีอยู่เดิมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม และกลุ่มเมืองใหม่ โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองใหม่ พัฒนาก่อสร้างพื้นที่เมืองขึ้นใหม่ทั้งหมดในเขตพื้นที่ เพื่อให้เป็นเมืองที่ทันสมัยระดับโลก เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคม การค้าการลงทุน การวิจัยพัฒนา ไปจนถึงการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล
· ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลให้ความสำคัญในการปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เป็นระบบ มีเอกภาพมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมแบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ ผังน้ำ คลังข้อมูลน้ำในรูปแบบวันแมป ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน National Thai Water ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนในทุกรูปแบบ
· ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารภาครัฐ ภาครัฐจะต้องใช้ประโยชน์จาก Big Data ให้มากขึ้น เพื่อเข้าใจความต้องการและยกระดับให้บริการประชาชน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น โดยผลักดันให้ภาครัฐทุกกระทรวงและหน่วยงานในสังกัด เร่งจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ซึ่งทุกหน่วยงานต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ไม่ใช่เพียงแค่การรวบรวมข้อมูลหรือการทำบัญชีข้อมูล (Data Catalog) เท่านั้น แต่เป็นการนำข้อมูลดังกล่าวมาเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ (Data Analytics) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อประกอบการตัดสินใจ การดำเนินงาน และการให้บริการประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
· ประเด็นสุดท้าย ผมอยากจะขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันคิด ช่วยดำเนินการต่อ เป็นเรื่องอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะประเทศเรากำลังก้าวไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผมมองข้ามเรื่องของโควิด-19 ไปแล้ว คนไทยต้องเตรียมพร้อมการก้าวต่อไปในอนาคต ที่ผ่านมา รัฐบาลเตรียมความพร้อมไว้หลายเรื่อง ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 5G เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาดิจิทัลของอาเซียน (ASEAN Digital Hub) เรื่องขับเคลื่อนการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร ชุมชน (หรือ เรียกว่า Digital Transformation) และความพร้อมเรื่อง Big Data การสร้างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล การสร้างผู้เชี่ยวชาญดิจิทัลทักษะสูงเป็นที่ต้องการของตลาด
· ดังนั้น ประเทศไทยหลังโควิด ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันเตรียมความพร้อมในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพร้อมที่จะเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน ทั้งการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ พยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ๆ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญการส่งเสริมให้ประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่เป้าหมายการเป็น Digital Thailand ที่มีระบบนิเวศที่มีความพร้อม มีพลวัต มีความยืดหยุ่น และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
· สุดท้ายนี้ ผมขอให้เราช่วยกันมองไปในอนาคต และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้กับประเทศ โดยเฉพาะเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ดังนั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันทำงานและก้าวไปสู่การเติบโตไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตลอดไป
ขอบคุณครับ