วันพุธที่ 23 มีนาคม 2565
กองทัพเรือ ยืนยันจัดหาอากาศยานไร้คนขับไม่เกี่ยวพันผลประโยชน์ร่วมโครงการท่าเรือดำน้ำ ส่วนครูสอนภาษา ตรวจพบ ตั้งแต่ปี 64 พร้อมสั่งห้ามเข้าพื้นที่
จากกรณีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุมีข้อสงสัยต่อโครงการจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ Hermers 900 ของกองทัพเรือ งบประมาณ 4.1 พันล้านบาท ซึ่งระหว่างที่มีการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กมธ.ได้คัดค้านเรื่องนี้ เพราะไม่มีเหตุผลที่ ทร.จะต้องซื้อโดรน โดยช่วงแรก ทร.ได้ให้ใบเสนอราคาของ 2 บริษัท ส่งมาที่ กมธ. คือ บริษัทแรก China National AeroTechnology Import & Export Corporation หรือ CATIC จากประเทศจีน ซึ่งเสนอ UAV แบบ Wing Loong ll จำนวน 3 ลำ แต่วันนี้ ทร.กลับถอยและไม่กล้าซื้อ เพราะเคยซื้อเรือดำน้ำจากจีน 3 ลำ แต่ไม่มีเครื่องยนต์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ทร.จึงเปลี่ยนไปซื้อโดรน Hermers 900 จากบริษัทของอิสราเอลแทน ซึ่งมีรายงานข่าวว่าเคยเกิดอุบัติเหตุตกเสียหายจากเครื่องยนต์มีปัญหา ดังนั้น จึงขอเรียนไปถึง พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร.ให้ตรวจสอบการจัดซื้อ เพราะ ทร.ทั่วโลกไม่เคยนำโดรนรุ่นนี้มาใช้ จึงเกรงว่าจะซ้ำรอยเรือดำน้ำที่ซื้อมาแล้วไม่มีเครื่องยนต์ และสงสัยว่าหากได้รับงบประมาณจำนวนมากแล้วทำไม ทร.จึงไม่ซื้อของดีๆ ไปเลยนั้น
วันที่ 22 มีนาคม 2565 นาวาเอก รุ่ง ดีรูป รองผู้อำนวยกองประชาสัมพันธ์ สำนักจิตวิทยา กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ไม่พบว่าบริษัทที่มายื่นข้อเสนอ UAV มีความเกี่ยวพันกับบริษัทเรือดำน้ำ และขอยืนยันว่ากองทัพเรือได้ดำเนินการจัดหา UAV ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด มีใช้งานจริงในกองทัพของหลายประเทศ มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในการใช้งานสูง รวมถึง ประเด็นครูภาษานั้น ทร.ได้ตรวจพบเองตั้งแต่ต้น และได้ดำเนินสั่งห้ามบุคคลเหล่านั้นเข้าพื้นที่ ตั้งแต่ ธ.ค.๖๔ โดยขอแยกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. ประเด็นที่ระบุว่า กองทัพเรือเปลี่ยนแบบ UAV จาก Wing Loong ของประเทศจีน เป็น UAV แบบ Hermes 900 ของประเทศอิสราเอล เนื่องจากปัญหาความไม่โปร่งใสในโครงการจัดหาเรือดำน้ำของจีนโดย บริษัทที่นำ UAV แบบ Hermes 900 เข้ามาอยู่ในเครือข่ายบริษัทนายหน้าของเรือดำน้ำจีนเช่นกันนั้น กองทัพเรือขอชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบความความสัมพันธ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ UAV ทุกรายเบื้องต้นแล้ว ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันและไม่พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดหาเรือดำน้ำแต่อย่างใด ทั้งนี้การดำเนินโครงการจัดหา UAV ในครั้งนี้ เป็นการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก โดยกำหนดคุณสมบัติและขีดสมรรถนะตามความต้องการของกองทัพเรือ ซึ่งจะต้องมีการรับรองมาตรฐานด้านการบิน มีความน่าเชื่อถือและความพร้อมใช้งาน รวมทั้งมีความสามารถในการอยู่รอดสูง ในการปฏิบัติภารกิจทั้งทางทะเลและทางบก มีใช้งานในกองทัพของประเทศผู้ผลิต มีค่าใช้จ่ายต่ำ มีการฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตลอดจนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการฯ สูงสุด แต่เนื่องจากการดำเนินการจัดซื้อยังไม่เสร็จสิ้น จึงยังไม่สามารถให้รายละเอียดทั้งหมดได้
2. ประเด็นข้อกล่าวหาว่า UAV แบบ Hermes 900 ของอิสราเอล เป็น UAV ที่ กองทัพเรือประเทศอื่นไม่เคยใช้งานมาก่อน รวมถึงมีประวัติการตกนั้น ขอนำเรียนว่า UAV ของทุกบริษัทที่ ทร.เชิญชวนยื่นข้อเสนอ มีใช้กันในหลายประเทศ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จึงขอให้วางใจว่ากองทัพเรือจะได้รับ UAV ที่ได้มาตรฐาน คุ้มค่ากับภาษีของประชาชนมาใช้งาน ส่วนเรื่องการตกของ UAV นั้น เป็นเรื่องเป็นไปได้ เหมือนการตกของเครื่องบินชนิดอื่นๆ ซึ่งจากข้อมูลการตกของ UAV ทั่วโลก อ้างอิงจากเว็บไชต์ https://dronewars.net/drone-crash-database/ พบว่ามี UAV หลายประเทศทั้งของ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี ตุรกี รวมถึง ประเทศอื่นๆ มีประวัติเกิดอุบัติเหตุเหมือนกันหมด ดังนั้นการตกของ UAV อาจจะไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของระบบหรือความผิดปกติของเครื่องยนต์ แต่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การโดนต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม สภาพอากาศที่แปรปรวน /ทักษะ หรือประสบการณ์ของผู้บังคับเครื่อง UAV อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับความน่าเชื่อถือของระบบ มั่นใจได้ว่า ระบบ UAV ที่ ทร.จะได้รับดีที่สุดตามวัตถุประสงค์การใช้งานและความต้องการของ ทร. ในวงเงินที่กำหนด
3. การจัดหา UAV ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน มีเอกสารหลักฐานการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีขั้นตอน ตอบข้อสงสัยและข้อซักถาม รวมทั้งโครงการนี้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมการจัดทำ “ข้อตกลงคุณธรรม ประจำปี งป.๖๕” โดยคณะกรรมการความร่วมมือการป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ได้จัดคณะผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาชน ร่วมสังเกตและให้คำแนะนำตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ
4. ส่วนภาพที่นายยุทธพงศ์ นำมาเผยแพร่และบอกว่าเป็นครูสอนภาษา นั้นกองทัพเรือ ตรวจพบว่า บ.CSOC ได้จ้างบุคคลเหล่านี้จริง โดยทำหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ไม่ได้ควบคุมงานทางวิศวกรรม ต่อมาภายหลัง กองทัพเรือตรวจพบด้วยตนเองว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง จึงไม่อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่โครงการก่อสร้างตั้งแต่ ธ.ค.64 ซึ่ง กองทัพเรือได้ดำเนินการเรียบร้อยก่อนที่จะถูกกล่าวหาใน ก.พ.65
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน