วันอังคารที่ 22 มีนาคม 2565
ปลัด อว. ยืนยันแก้ปัญหาพนักงานมหาวิทยาลัย เป็นธรรมทุกด้านตามกระบวนการปฏิรูปอุดมศึกษา
จากกรณีนายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวถึงปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงของพนักงานมหาวิทยาลัย หรือ “พ.ม.” โดยระบุว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากพนักงานในมหาวิทยาลัย ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยราชมงคล หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐทั่วประเทศ เจอปัญหาความเหลื่อมล้ำในการทำงาน และยังถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการปฏิรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มีการปรับเปลี่ยนจากอาจารย์ข้าราชการ ไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย โดยพบว่าพนักงานในรูปแบบสัญญาจ้างและอัตราจ้างจะไม่มีความมั่นคง ไม่ได้รับความเท่าเทียมเรื่องเงินเดือน สวัสดิการและยังไร้ซึ่งหลักทางวิชาการมาประเมินการทำงานด้วย จึงอยากให้รัฐโดยกระทรวงอุดมศึกษาฯ เข้ามาแก้ปัญหา ทั้งเรื่องสถานะ เงินเดือน ความมั่นคง สิทธิประโยชน์ เนื่องจากปัญหาเหล่านี้จะส่งผลต่อภาวะจิตใจกระทบต่องานด้านการสอนของอาจารย์ด้วย
วันที่ 21 มีนาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวชี้แจง ดังนี้
1. มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2542 วันที่ 31 สิงหาคม 2543 วันที่ 29 สิงหาคม 2543 และเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เห็นชอบในหลักการให้มหาวิทยาลัยของรัฐจ้างลูกจ้างในลักษณะการจ้างพิเศษที่มีวาระการจ้างที่กำหนดเวลาชัดเจนแทนการบรรจุข้าราชการใหม่ ซึ่งเรียกบุคลากรดังกล่าวว่า “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” โดยสำนักงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างบุคคล รวมสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูล ตามสัญญาจ้าง สถาบันอุดมศึกษาเป็นผู้มีหน้าที่ และรับผิดชอบในการบริหารงานบุคคล บริหารสัญญาจ้าง รวมถึงบริหารวงเงินตามที่ได้รับจัดสรร ซึ่งแต่ละสถาบันอุดมศึกษา ต้องมีการออกระเบียบ ข้อบังคับการบริหารงานบุคคล รวมถึง อัตราเงินเดือน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ในการประเมินผลบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษา ที่กำหนดไว้ในมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.อุดมศึกษา พ.ศ. 2562 คือการจัดการศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม การบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด”
2. อว. ได้ออกประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2564” ซึ่งเป็นการขยายโอกาสให้พนักงานสถาบันอุดมศึกษา สามารถที่จะทำงานด้านวิชาการเพื่อเลื่อนตำแหน่งวิชาการได้มากกว่ารูปแบบเดิมที่อาศัยตำราและงานวิจัย โดยมีรูปแบบ การขอตำแหน่งวิชาการเพิ่มขึ้นในอีก 5 ด้าน ซึ่งแนวทางนี้จะส่งเสริมให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้ทำงานวิชาการหลากหลาย มีการเติบโตในตำแหน่งวิชาการที่มีความเป็นธรรมและมั่นคงมากยิ่งขึ้น
3. สร้างระบบธรรมาภิบาลในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความเป็นธรรมแก่พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564 โดยมีแนวปฏิบัติให้สถาบันอุดมศึกษากำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบที่เป็นอิสระ โปร่งใสและเป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งรวมถึงการบริหารงานบุคคลดังกล่าวข้างต้นด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบธรรมาภิบาลในการบริหารงานในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อให้เกิดความมั่นใจสำหรับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน