ท่านประธานาธิบดี และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัยพิเศษ เนื่องในวาระครบรอบ
50 ปี ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ในครั้งนี้
ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมทั้งวิกฤตโควิด-19 ที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล การคุกคามธรรมชาติ โดยไม่ได้คำนึงว่ามนุษย์ต้องพึ่งพิงธรรมชาติ ดังนั้น UNEP ควรยกระดับบทบาทในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยผสานการทำงานร่วมกันกับสำนักเลขาธิการของ MEAs ผ่านสำนักงานในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นจุดแข็งสำคัญที่ช่วยเสริมกลไกอื่น ๆ ในการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ด้วยเหตุนี้ ผมจึงยินดีที่ไทยได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของ UNEP ในเอเชียและแปซิฟิกมายาวนานเกือบ 50 ปี ผมขอย้ำว่าไทยพร้อมจะสนับสนุนการดำเนินงานของ UNEP อย่างแข็งขันสืบต่อไป
ในระดับประเทศ ไทยได้บังคับใช้กฎหมายและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น โดยใช้ข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และความรู้พื้นบ้านไทยจากปราชญ์ชาวบ้านอย่างผสมผสาน นอกจากนี้ เราได้พัฒนากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฉบับแรก เมื่อปี 2518 ซึ่งนับเป็นเวลาเพียง 3 ปี หลังจากการประชุมสตอกโฮล์ม เมื่อปี 2515 และขณะนี้ เราอยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ
ผมเห็นว่า ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นโอกาสที่พวกเราจะร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อกัน โดยเฉพาะด้านการค้า ผมจึงหวังว่า UNEP จะช่วยสนับสนุนพวกเราในการแสวงหาแนวทางและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน
ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคปีนี้ ไทยจะส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยเน้นการสร้างความสมดุลของสรรพสิ่ง ควบคู่กับการใช้นวัตกรรมเพิ่มคุณค่า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายนี้ ผมหวังว่า พวกเราจะได้ร่วมกันแบ่งปันความคิดเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินการของ UNEPในอนาคตและฝ่าฟันมหันตภัยสิ่งแวดล้อมโลกไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเพื่อส่งต่อโลกที่สวยงามให้กับเยาวชนรุ่นหลังของเราต่อไป