วันที่ 25 มกราคม 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอรายงานผลการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจราชการ ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยพบความก้าวหน้าในหลายด้าน (ข้อมูล ณ 23 พ.ย. 64) อาทิ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม และด้านการพัฒนาภาคการเกษตร สอดคล้องกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ สู่การนำไปปฏิบัติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้มีการตรวจสถานการณ์น้ำและการระบายน้ำ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (เขื่อนเพชร) อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี อีกด้วย
ทั้งนี้ ตามข้อสังการของนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อการบริหารประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานหลักในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงปัจจัยหลักขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งสำคัญต่าง ๆ ในการอุปโภคบริโภค โดยดำเนินการเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งการสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานและพื้นที่ที่ระบบส่งน้ำไปได้ไม่ทั่วถึง ดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548-2564 ในพื้นที่ 66 จังหวัด ผลการดำเนินงานสะสม 613,222 บ่อ การบริหารจัดการน้ำให้เกิดความอย่างยั่งยืนและพอเพียง ครอบคลุมทุกมิติ สามารถใช้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ตลอดจนการรักษาระบบนิเวศสูงสุด โดยวิเคราะห์สถานการณ์เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ได้แก่ ปริมาณน้ำต้นทุน ความเหมาะสมของพื้นที่ พันธุ์ข้าว แนวโน้มการตลาด และกำหนดแผนนโยบายและมาตรการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 รวมทั้งดำเนินการตัดยอดน้ำหลากในพื้นที่ภูเขา เพื่อชะลอน้ำหลากและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งหรือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ และเตรียมข้อมูลแผนงานและประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมเตรียมการสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงการดำเนินงานของรัฐบาล
สำหรับด้านการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม ได้มีการส่งเสริมการเพาะปลูกที่หลากหลายและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ภายใต้โครงการบริหารจัดการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri - Map) ในปี 2564 มีเป้าหมายดำเนินการทั้งสิ้น 67,590 ไร่ และดำเนินการส่งเสริมเกษตรในพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวหรือพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ปรับเปลี่ยนกิจกรรมสู่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรเชิงรุกด้านการประมง (Zoning by Agri map) ในปี 2564 มีเป้าหมาย จำนวน 76 ราย โดยดำเนินการให้ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ สำหรับด้านการพัฒนาภาคการเกษตร ได้มีการเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรในพื้นที่ให้สามารถเข้าสู่ระบบการผลิต การแปรรูป และการตลาดที่ทันสมัย อีกทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และการใช้ประโยชน์จากพืชอย่างสร้างสรรค์ อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรในจังหวัดเพชรบุรี ทั้งสิ้น 17 กลุ่ม รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ ในการบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็น Smart Farmer และ Smart Group การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร เช่น มีการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการแปรรูปสินค้าเกษตรให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนที่ประกอบกิจการใหม่ หรือเริ่มประกอบกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร จำนวน 816 ราย จากเป้าหมาย 770 ราย คิดเป็นร้อยระ 105.97 และสนับสนุนการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร จำนวน 77 แห่ง อีกด้วย
จากการขับเคลื่อนข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั้น ทำให้การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลเป็นไปอย่างก้าวหน้า โดยเฉพาะภาคการเกษตรของไทยซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการขับเคลื่อนนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ความเป็นอยู่และภาคเกษตรของไทยเติบโตอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน