วันที่ 25 มกราคม 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอรายงานผลการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตามข้อสั่งการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปตรวจราชการ ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา โดยผลการดำเนินการของ ทส. ในประเด็นต่าง ๆ (ข้อมูล ณ 27 ธ.ค. 64) ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ การเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว และการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว มีความก้าวหน้าโดยสรุปดังนี้
1. การบริหารจัดการน้ำ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการตรวจสถานการณ์น้ำและการระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (เขื่อนเพชร) อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
ทส. ได้ดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้รับงบประมาณในการดำเนินการจำนวน 23 โครงการ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 0.8500 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ได้รับประโยชน์ 12,128 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,524 ครัวเรือน รวมทั้ง ทส. ได้พัฒนาและบริหารจัดการน้ำบาดาลเชิงลุ่มน้ำและพื้นที่แบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคโดยจัดทำแผนงาน/โครงการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สอดคล้องกับการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาและแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแผนปฏิบัติการทุกระดับ และสำหรับการพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ จ.เพชรบุรี กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และงบประมาณ งบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดำเนินโครงการจัดหาน้ำบาดาล เป้าหมาย จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 2) โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 300 ไร่ 3) โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน 4) โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชนภายใต้โครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปี 2564/2565 5) โครงการฟื้นฟูสภาพบ่อน้ำบาดาลเพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ภายใต้โครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปี 2564/2565
นอกจากนี้ มีการดำเนินโครงการเติมน้ำใต้ดิน ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ทั้งเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูคืนสู่สมดุลตามธรรมชาติให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้ง กำหนดเป้าหมายด้านการบริหารจัดการน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน เพื่อฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ที่เสื่อมโทรมและคืนความอุดมสมบูรณ์ใก้แก่ระบบนิเวศ รวมทั้งสำรวจพื้นที่ตามคำขอรับการสนับสนุนโครงการและดำเนินการจัดทำแผนงาน/โครงการ เพื่อจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลแบบบูรณาการ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งจัดทำข้อมูลและทบทวนเป้าหมายตัวชี้วัด ปี พ.ศ. 2566 ให้สำนักงานปลัด ทส. จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ต่อไป
2. การเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว และการพัฒนาภาคการท่องเที่ยว ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการประชุมเตรียมความพร้อมการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว (Sandbox) โดย ทส. ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสำหรับการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว ดังนี้
ดำเนินการขอรับการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยว (Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA และ SHA Plus) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 155 แห่ง มีอุทยานแห่งชาติที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน SHA จำนวน 101 แห่ง และอุทยานแห่งชาติที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน SHA Plus จำนวน 18 แห่ง ส่วนอุทยานอีก 36 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงอุทยานแห่งชาติให้เป็นไปตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) รองรับการใช้งานของคนทั้งมวล ดังนี้ 1) แบบมาตรฐานการติดตั้งอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือและป้ายสัญลักษณ์สำหรับห้องน้ำเพื่อคนทั้งมวล 2) แบบปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในอุทยานแห่งชาติให้เป็นไปตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) รองรับการใช้งานของคนทั้งมวล ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น 3) แบบปรับปรุงลานนันทนาการรองรับผู้พิการและคนทั้งมวลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 4) แบบปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วะ
ดำเนินโครงการพัฒนาและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเสริมศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยว ดังนี้ 1) โครงการจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล เพื่อกักขยะก่อนลงสู่ทะเล และกันขยะเข้าและออกบริเวณท่าเทียบเรือและชุมชนชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำ 3 รูปแบบ 2) โครงการป้องกันและเฝ้าระวังภัยจากแมงกะพรุนพิษในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว ติดตั้งจุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น และตาข่ายป้องกันแมงกะพรุนพิษและแมงกะพรุนกล่องพร้อมชุดเตือนภัยและระบบประเมินผลในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว 14 จุด 3) โครงการติดตั้งทุ่นแพลอยน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเล ฝั่งอันดามัน เพื่อเป็นจุดรับส่งนักท่องเที่ยวด้วยเรือสปีดโบ๊ต ลดการทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง ลดการก่อสร้างสะพาน ท่าจอดเรือต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล 4) โครงการติดตั้งทุ่นแพลอยน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลฝั่งอ่าวไทย 5) โครงการการพัฒนาป่าชายเลนในเมืองเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยว 6) โครงการติดตั้งทุ่นผูกเรือเพื่อการอนุรักษ์ปะการังในพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการทำลายแนวปะการังจากการทิ้งสมอเรือในบริเวณแนวปะการังที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและจากกิจกรรมท่องเที่ยว จำนวน 111 จุด ในพื้นที่ 6 จังหวัด
นอกจากนี้ ทส. มีการดำเนินการด้านที่สำคัญ ได้แก่ ดำเนินการด้านอุทยานธรณี ดังนี้ 1) การจัดตั้งอุทยานธรณี สำรวจ รวบรวม จำนวนทั้งสิ้น 1,264 แห่ง พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา จำนวน 38 แห่ง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 อยู่ระหว่างการพัฒนา จำนวน 7 แห่ง 2) การส่งเสริมและสนับสนุนอุทยานธรณี เพื่อพัฒนายกระดับอุทยานธรณี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยกระดับอุทยานธรณีให้เป็นอุทยานธรณีโลกของ UNESCO จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ อุทยานธรณีโคราช จ.นครราชสีมา ดำเนินการยื่นใบสมัครและผ่านการประเมินเอกสารแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอเจ้าหน้าที่ UNESCO ลงพื้นที่ตรวจประเมินภาคสนาม ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ UNESCO ไม่สามารถลงพื้นที่ฯ ได้ อุทยานธรณีขอนแก่น จ.ขอนแก่น แจ้งเจตจำนงในการสมัครการประเมินเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอุทยานธรณี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ 3) การดำเนินการภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอุทยานธรณีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
รวมทั้ง ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนป่าให้สวยงาม เน้นความเป็นธรรมชาติ ดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวสวนสัตว์ ดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวสวนพฤกษศาสตร์ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในรูปแบบป่านันทนาการ อนุรักษ์และพัฒนามรดกธรณี อุทยานธรณี และแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาอย่างยั่งยืนโดยการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ในส่วนของสวนพฤกษศาสตร์ ได้วางแผนเตรียมความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวตลอดปี โดยมีการจัดกิจกรรม ณ สวนพฤกษศาสตร์จังหวัดระยอง อาทิ การจัดเตรียมโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเตรียมการจัดงาน Botanic Festival 2022 กิจกรรม Camping in the Garden จัดพื้นที่ให้บริการกางเต็นท์และการให้บริการกิจกรรมพิเศษเฉพาะกลุ่ม เช่น Tea in the Garden หรือ Cha in the Garden จิบชา (มหาหงส์) ในสวน ซึ่งเน้นการจัดเฉพาะกลุ่ม หรือ Activity Super Car เป็นต้น