วันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2565
รมว.พม. ลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก เปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล 3 แห่ง ช่วยกลุ่มเปราะบางแบบ One Stop Service พร้อมดึงภาคีเครือข่ายเร่งแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น
วันที่ 21 ม.ค. 2565 เวลา 10.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วย นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) และ คณะผู้บริหารกระทรวง พม. ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมตําบลคันโช้ง จากนั้นเดินทางไปเปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมตําบลบ้านกร่างและศูนย์ช่วยเหลือสังคมตําบลบึงพระ โดยจะเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือและให้บริการด้านสวัสดิการสังคมแบบครบวงจรอย่างเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (One Stop Service) สำหรับกลุ่มเปราะบางที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมและได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 ตั้งแต่ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ด้อยโอกาส โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ นอกจากนี้ มีการมอบเกียรติบัตร แก่ อพม. และผู้สูงอายุ รถโยกสำหรับคนพิการ และถุงยังชีพสำหรับครอบครัวเด็กที่ประสบปัญหาทางสังคม จำนวน 900 ครอบครัว
นายจุติ กล่าวว่า ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลที่ตั้งขึ้นมาจะทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และหลายหน่วยงาน โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายว่า ปี 2565 จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และจะใช้ศูนย์ฯ ขับเคลื่อนงานที่ครอบคลุมทั้งหมดเหมือนกับร่มใหญ่ ทั้งศูนย์ผู้สูงอายุ คนพิการ และเด็กเล็ก ศูนย์คุ้มครองเด็ก ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ เป็นต้น โดยต้องเป็นศูนย์ของประชาชนที่ทำงานโดยจิตอาสาร่วมกับราชการและเอกชน และจะดูแลประชาชนทุกคนตามนโยบายของรัฐบาลว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่า ทุกปัญหาต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนและให้ทันใจประชาชน
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์โควิด - 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยมีความยากจนเพิ่มขึ้น และไม่สามารถส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือต่อได้ ซึ่งมีประมาณสองแสนกว่าครัวเรือนทั่วประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการติดตามเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา และรัฐบาลจะหาทุนการศึกษาให้ ขณะนี้สามารถติดตามเด็กได้แสนกว่าครัวเรือน และมีอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามารถติดตามกลับมาเรียนหนังสือได้ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากพ่อแม่ตกงาน มีรายได้น้อย ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือจะสร้างปัญหาความยากจนขึ้นในครอบครัว เพราะเด็กจะไม่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้หางานไม่ได้ รายได้ไม่มี เป็นภาระของครอบครัว ดังนั้น ปัญหานี้ในเชิงระบบราชการคือ ความยากจนข้ามรุ่น ซึ่งหมายความว่าเมื่อพ่อจนแล้ว ลูกก็จนเหมือนพ่อ เราจะมาแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับกลุ่มนี้เข้มแข็งและสามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน