วันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2565
ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ (กําแพงเพชร 6) ชำรุดนั้น ผู้รับจ้างเข้าดําเนินการซ่อมแซมตลอดเส้นทางต่อเนื่อง และหากหมดรับประกัยในปี 2566 การรถไฟฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อไป
วันที่ 16 มกราคม 2565 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อปี 2549 สํานักงานนโยบายขนส่งและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ดําเนินการออกแบบและจัดทํารายละเอียดโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิตในขณะนั้น และต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับนโยบายให้ดําเนินการจัดการประกวดราคาเพื่อดําเนินการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต ตั้งแต่ปี2550 เป็นต้นมา
กระทั่งเริ่มงานก่อสร้างในปี 2556 การรถไฟฯ ขอเรียนชี้แจงว่าการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ (กําแพงเพชร 6) อยู่ในโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ - รังสิต) สัญญาที่ 2 โดย บมจ. อิตาเลียนไทย เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการช่วงวัดเสมียนนารีถึงรังสิต สําหรับจุดประสงค์ในการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟตลอดแนวเส้นทางโครงการ มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้บริการของรถไฟฟ้าในทุกสถานี อีกทั้งเพิ่มความสะดวกในการสัญจรให้แก่ประชาชนที่อาศัยตลอดถนนเลียบทางรถไฟเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น โดยรูปแบบการก่อสร้างถนนในโครงการเป็นการดําเนินการก่อสร้างตามแบบรูป และข้อกําหนด Spec. ของสัญญาจ้างก่อสร้าง โดยมีที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบควบคุมคุณภาพของงานในระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามข้อกําหนดของสัญญา โดยงานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟเริ่มงานก่อสร้างเมื่อปี 2558 และแล้วเสร็จต้นปี 2560 ซึ่งปัจจุบันงานก่อสร้างสัญญาที่ 2 ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและสิ้นสุดสัญญาก่อสร้างไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562
ปัจจุบันอยู่ในช่วงการประกันความชํารุดบกพร่องโดยจะครบกําหนดการสิ้นสุดการนับประกันความชํารุดบกพร่อง ในวันที่ 11 มีนาคม 2566 สําหรับประเด็นปัญหาบริเวณดอนเมือง จากปัญหาที่เกิดขึ้น โครงการได้รับการรายงานสาเหตุจากที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างว่า เนื่องด้วยสภาพพื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นชั้นดินอ่อนประกอบกับมีโครงสร้างฐานรากของโฮปเวลล์อยู่บนถนนเกือบทั้งเส้นทาง เมื่อมีการสัญจรไปซักระยะหนึ่งก็จะเกิดปัญหาในลักษณะนี้ขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาตลอดปี 2563 ผู้รับจ้างเข้าดําเนินการซ่อมแซมตลอดเส้นทางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่บริเวณดอนเมืองได้ซ่อมแซมไปแล้วถึง 3 ครั้ง และปี 2564 อีกจํานวน 2 ครั้ง โดยมีช่อง PPTV และสํานักงานเขตดอนเมืองร่วมสังเกตการณ์และขอถ่ายทําสกู๊ปข่าวในการซ่อมแซม ตลอดระยะเวลาจนถึงปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้กําชับให้ผู้รับจ้างสํารวจซ่อมแซมถนนเลียบทางรถไฟทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง โดยรูปแบบการซ่อมแซมเป็นการดําเนินการที่อยู่ในเงื่อนไขและขอบข่ายของสัญญากําหนด และเป็นไปตามหลักวิศวกรรมซึ่งสอดคล้องตามข้อกําหนด Spec. ของสัญญา เนื่องจากที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพถนนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
สําหรับประเด็นที่กล่าวหาว่า “เรื่องนี้มีการร้องเรียนตั้งแต่ปี 2563 แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข” นั้น การรถไฟฯ ขอเรียนชี้แจงว่าไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ดังแสดงตามภาพถ่ายสําหรับประเด็นสาเหตุที่ทําให้ถนนเกิดการยุบตัวนั้น เกิดจากการออกแบบการก่อสร้างอย่างไม่มีความรับผิดชอบ ในทางวิศวกรรม ฯลฯ การรถไฟฯ ขอเรียนว่าการดําเนินการก่อสร้างถนนในโครงการเป็นไปตามรูปแบบและข้อกําหนด Spec. ของสัญญา และรวมถึงงบประมาณที่กําหนดตามกรอบค่างานในสัญญา หากจะดําเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขปัญหาการก่อสร้างถนนบนชั้นดินอ่อนตามประเด็นที่เกิดขึ้นนั้นมีความเป็นไปได้แต่การดําเนินการดังกล่าวจําเป็นต้องของบประมาณเพิ่มเติม เนื่องจากต้องใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นมากและต้องใช้ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะทําให้กรอบวงเงินสําหรับรายการก่อสร้างงานถนนตามสัญญาไม่เพียงพอและทําให้การบริหารสัญญาของงานก่อสร้างในภาพรวมโครงการมีความล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในสัญญาจ้างก่อสร้าง ดังนั้นแล้วโครงการเห็นว่าการก่อสร้างตามรูปแบบโครงการเป็นรูปแบบตามมาตรฐานงานวิศวกรรมการก่อสร้างงานถนน และรวมถึงวิธีการก่อสร้างที่ดําเนินการในโครงการก็เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรมดังกล่าวด้วย โครงการจึงดําเนินการก่อสร้างเป็นไปตามรูปแบบที่สัญญากําหนดเพื่อให้การดําเนินโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิตในภาพรวมสามารถดําเนินงานต่อไปได้ตามระยะเวลาของสัญญา
แนวทางแก้ไข : สําหรับการแก้ไขจะเป็นการแก้ไขในช่วงการรับประกันความชํารุดบกพร่องของโครงการ ซึ่งจะต้องดําเนินงานซ่อมแซมตามขอบเขตงานของโครงการ ซึ่งกําหนดไว้ตามแบบรูปและข้อกําหนด Spec. ของสัญญาเท่านั้น โดยแบ่งแนวทางแก้ไขเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 (การแก้ไขในช่วงของการรับประกันความชํารุดบกพร่องโดยจะสิ้นสุดในวันที่ 11 มีนาคม 2566) จะเข้าดําเนินการซ่อมแซมตามรูปแบบก่อสร้างของโครงการตามที่ได้มีการซ่อมแซมมาตลอดเรื่อยมา โดยมีรายละเอียดของบริเวณที่จะซ่อมแซมผิวจราจรที่ปูดนูนและลักษณะเป็นลูกคลื่น ให้เรียบเพื่อให้ประชาชนสัญจรได้อย่างปลอดภัยของถนนกําแพงเพชร 6 ดังนี้
จุดที่ 1 จากบริเวณช่วงสะพานรถยนต์ กม.22+642 จนถึงแยกนายใช้กม.23+800 ตลอด 4 ช่องจราจร ความยาว 1.158 กิโลเมตร โดยได้รับแจ้งจากผู้รับจ้างบมจ.อิตาเลียนไทย ว่าจะเร่งรัดแก้ไขและทําการปรับปรุง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าดําเนินการได้ในวันที่ 25 มกราคม 2565 โดยจะขอปิดการจราจรบริเวณดังกล่าวทั้งหมด และขอให้การรถไฟฯ มีหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางในระหว่างการดําเนินการ โดยจะทําการรื้อผิว Asphalt ออกทั้งหมด และทําการปรับชั้นทางตลอดแนวให้เรียบเสมอกันก่อนจะคืนผิว Asphaltic เพื่อให้สภาพถนนเรียบและสัญจรได้อย่างปลอดภัย
จุดที่ 2 จากบริเวณช่วงสน.ดอนเมืองจนถึงแยกนายใช้จะซ่อมแซมผิวจราจรตามช่องจราจรเฉพาะจุดที่ปูดนูน เป็นลูกคลื่นให้เรียบ และเปิดผิวจราจร Asphalt และช่องจราจรที่ติดติดกับเกาะกลางแบริเอ้อที่มีผิวจราจรทรุดตัว ฝั่งสน.ดอนเมือง 1 ช่องจราจร เพื่อทําการปรับชั้นทางตลอดแนวเกาะกลาง
จุดที่ 3 บริเวณใต้สถานีดอนเมืองตลอดแนว จะซ่อมแซมผิวจราจรตามช่องจราจรเฉพาะจุดที่ปูดนูน และเป็นลูกคลื่น ให้เรียบตลอดแนวและเปิดผิวจราจร Asphalt ด้านที่ติดกับเกาะกลางฝั่งสน.ดอนเมือง 1 ช่องจราจร เพื่อทําการปรับชั้นทางตลอดแนวเกาะกลาง
จุดที่ 4 จากสถานีการเคหะถึงหน้าสํานักงานเขตดอนเมือง จะซ่อมแซมผิวจราจรตามช่องจราจรตลอดแนวทั้ง 4 ช่องจราจรข้าเข้า-ขาออก โดยจะซ่อมแซมเฉพาะจุดที่ปูดนูนให้เรียบ
การแก้ไขจุดที่ 2-จุดที่ 4 จะแก้ไขถัดจากจุดที่ 1 เมื่อดําเนินการแล้วเสร็จไปจนกว่าจะดําเนินการแก้ไขครบทุกจุด คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดําเนินการประมาณ 2 เดือนในการดําเนินการจนครบทุกจุดสําหรับการแก้ไขตามที่เสนอในระยะที่ 1 ถึงแม้มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วอาจจะทําให้เกิดปัญหาในลักษณะเดิมดังที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งภายหลังสิ้นสุดการรับประกันความชํารุดบกพร่อง การรถไฟฯ จะต้องรับผิดชอบทําการซ่อมแซมไม่ให้เกิดปัญหาต่อไป หรือจนกว่าจะส่งมอบให้กับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญที่จะเข้ามารับมอบต่อไป
ระยะที่ 2 การแก้ไขในระยะยาว แนวทางการแก้ไขในอนาคตหากจะปรับปรุงไม่ให้เกิดปัญหาตามข้อร้องเรียนได้อย่างถาวร ที่ปรึกษาโครงการแนะนําว่า ภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาการรับประกันความชํารุดบกพร่องแล้วและอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของการรถไฟฯ หรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการบํารุงรักษาและปรับปรุงถนนเป็นผู้ดูแลรับมอบจากการรถไฟฯ จะต้องปรับปรุงแก้ไขตามแนวทางหลักเทคนิควิศวกรรรม อาทิ การใช้เทคนิคการสร้างเสาเข็มดิน-ซีเมนต์(Soil-Cement Column) หรือรูปแบบสะพานบก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาชั้นดินอ่อนอีกทั้งประกอบกับมีโครงสร้างฐานรากของโฮปเวลล์อยู่ในแนวถนนกําแพงเพชร 6 เกือบทั้งเส้นทางโดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณดอนเมือง ดังนั้น การรถไฟฯ มีนโยบาย ที่จะส่งมอบให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการบํารุงรักษาและปรับปรุงถนนให้เป็นผู้ดูแล เนื่องจากการรถไฟฯ ไม่มีภารกิจและความเชี่ยวชาญ จึงจําเป็นต้องดําเนินการส่งมอบให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแล ซึ่งหากในอนาคตหน่วยงานที่จะเข้ามารับผิดชอบดูแลถนนเลียบทางรถไฟจะทําการปรับปรุงซ่อมแซมชั้นทางให้เหมาะสมเพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ และประชาชนสัญจรไปมาอย่างปลอดภัย ถึงแม้จะเป็นที่ดินของการรถไฟฯ การรถไฟฯ ไม่มีข้อขัดข้องพร้อมสนับสนุนเพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนผู้สัญจรต่อไป
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน