วันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2565
กรมปศุสัตว์ ยืนยันปัจจุบันไทยยังคงสถานะปลอดโรค ASF
วันที่ 6 มกราคม 2565 นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงกรณีนายวิสุทธิ์ฯ ส.ส.เพื่อไทย เผยรัฐบาลเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ราคาเนื้อหมูสูงขึ้น จากการไม่ยอมรับว่าเกิดการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) แต่อ้างว่าเป็นโรคเพิร์สที่มีวัคซีนป้องกันแทน ทั้งนี้ ASF เริ่มเข้ามาระบาดในภาคเหนือของไทยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่รัฐไม่ยอมรับและไม่ได้รายงานให้องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศรับทราบ พร้อมกันนี้ นายวิสุทธิ์ฯ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ไทยไม่รายงานไปยังองค์กรระหว่างประเทศนั้น เพราะต้องการรักษาผลประโยชน์บริษัทใหญ่หรือไม่ ดังนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever ; ASF) พบรายงานครั้งแรกในทวีปเอเชียในปี 2561 ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และระบาดไปในวงกว้างไปยังประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงในการเกิดโรค ถึงแม้ว่าปัจจุบันไทยคงสถานะปลอดโรค ASF เป็นหนึ่งเดียวในอาเซียน โดยปัจจุบันพบการระบาดของโรคใน 39 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคดังกล่าวก่อนพบการระบาดของโรคที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมทั้งเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรียกระดับเป็นวาระแห่งชาติเพื่อการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมทั้งงบประมาณสำหรับการเฝ้าระวัง ป้องกันและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญคือการลดความเสี่ยงต่อโรคโดยการทำลายสุกรและจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ผ่านระบบการประเมินความเสี่ยงทั้งในระดับพื้นที่และระดับฟาร์ม จากข้อมูลของระบบการเฝ้าระวังโรคทั้งเชิงรุกและเชิงรับสำหรับโรคระบาดในปศุสัตว์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ถึง ปัจจุบัน พบการระบาดของโรค Porcine reproductive and respiratory syndrome (PRRS) เป็นโรคหรือกลุ่มอาการในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร จำนวน 635 ครั้ง โรค Classical Swine Fever (CSF) หรือโรคอหิวาต์สุกร จำนวน 17 ครั้ง และโรค Food and Mouth disease (FMD) หรือโรคปากและเท้าเปื่อย จำนวน 11 ครั้ง ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรถึงวิธีแนวทางการปรับปรุงฟาร์มและยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีความปลอดภัยไม่ให้เกิดความเสียหายจากโรคระบาดข้างต้น ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อยและรายกลางเกิดความตื่นตระหนกต่อข่าวของการเกิดโรคระบาดในสุกรจึงได้เร่งขายสุกรมีชีวิตออกจากฟาร์ม กรมปศุสัตว์จึงจำเป็นต้องพิจารณาความพร้อมขององค์ประกอบฟาร์มว่ามีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่จึงจะอนุญาตให้นำสุกรเข้าเลี้ยงใหม่ได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อราคาเนื้อสุกรที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่นับรวมเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น อาหารสัตว์ ยาในการรักษาโรค เป็นต้น และจากข้อมูลการเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตในปี 2564 เพื่อเข้าโรงฆ่าสัตว์ ผ่านระบบ e-movement พบว่ามีจำนวนสุกรที่ขออนุญาตทั้งสิ้น 19.27 ล้านตัว ซึ่งน้อยกว่าปี 2563 ที่ร้อยละ 12.61 ซึ่งมีจำนวนสุกรที่ขออนุญาตทั้งสิ้น 22.05 ล้านตัว การแก้ปัญหา : ปัจจุบันไทยยังคงสถานะปลอดโรค ASF แต่กรมปศุสัตว์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวัง ป้องกันโรคระบาดที่สำคัญในสุกรทุกโรค ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ ไม่ว่าจะเป็นในฟาร์มสุกร โรงฆ่าสุกร สถานที่จำหน่ายเนื้อสุกร และสถานที่จำหน่ายอาหารสัตว์ รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายสุกร/หมูป่ามีชีวิต และซากสุกรหรือหมูป่าทั้งการเคลื่อนย้ายภายในประเทศ จากต่างประเทศหรือการลักลอบเคลื่อนย้ายทุกกรณีอย่างเข้มงวด ทำการประเมินความเสี่ยงของพื้นที่การเลี้ยงสุกรและความปลอดภัยด้านชีวภาพของฟาร์ม ก่อนจะอนุญาตให้มีการนำสุกรเข้าเลี้ยงใหม่เพื่อลดความสูญเสียของเกษตรกร นอกจากนี้ ได้เร่งทำงานเชิงรุกในการเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคในปศุสัตว์รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรค ASF และการกำหนดพื้นที่การเลี้ยงสุกรที่ปลอดภัยภายใต้โครงการ Sand Box ด้านปศุสัตว์ โดยทุกอย่างมุ่งคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกรายให้ได้ประโยชน์เพื่อลดความเสียหายและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรและประเทศชาติให้น้อยที่สุด
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน