ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี
สำหรับการประชุมผู้นำเอเชีย - ยุโรป ครั้งที่ 13
การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ
(Retreat Session: ASEM Issues/ International and Regional Issues)
วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564
* * * * *
ท่านประธาน ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และ ฯพณฯ ทั้งหลาย
อริสโตเติล นักปรัชญากรีกโบราณกล่าวไว้ว่า คุณธรรมทางจริยธรรมคือค่ากลางระหว่างอธรรมสองฝั่ง โดยฝั่งหนึ่งคือความฟุ่มเฟือยเกินพอ ส่วนอีกฝั่งคือความขาดแคลน แนวคิดนี้มิใช่จำกัดอยู่ในกรอบศีลธรรมและจริยธรรมเท่านั้น แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับนโยบายการพัฒนาและการบริหารการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ด้วย
ปัจจุบัน เราทุกคนน่าจะตระหนักถึงการขาดความสมดุลอย่างรุนแรงของโลกและมวลมนุษย์แล้ว ไม่ต้องมองออกไปไกล ดูเพียงแค่รอบๆ ตัวเราเอง อากาศที่เราหายใจ น้ำที่เราดื่ม อาหารที่เราทาน สภาพอากาศที่สุดขั้วซึ่งแต่เดิมเกิดขึ้นไม่บ่อย ขณะนี้กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดา ช่องว่างของผู้ที่มี หรือประเทศที่มี กับผู้คนหรือประเทศที่ไม่มีนั้น แยกตัวห่างกันมากขึ้นทุกขณะ ยิ่งในปัจจุบัน เรากำลังเข้าสู่ยุคสังคมเทคโนโลยี ซึ่งความสามารถในการแข่งขันขึ้นอยู่กับองค์ความรู้และข้อมูล แต่คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้เพียงพอและครอบคลุม ส่งผลให้ความไม่สมดุลในโลกทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกด้าน หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเยียวยาที่เพียงพอ
คำถามสำคัญคือ เราจะสร้างความสมดุลในโลกหลังโควิด-๑๙ ได้อย่างไร และเราจะบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุค Next Normalอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตที่สร้างผลกระทบที่รุนแรงเช่นนี้อีก ผมขอกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลกในอนาคตอันใกล้ ๒ ประการที่เราต้องบริหารจัดการเพื่อสร้างความสมดุลในช่วงต่อจากนี้ ดังนี้
ประการแรก การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจะสร้าง
ความไม่สมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมอยากเห็นทุกประเทศช่วยกันสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อ
ความร่วมมืออย่างแท้จริง ซึ่งอาเซมเป็นเวทีที่เราสามารถหารือเพื่อลดความขัดแย้งบนพื้นฐานของกฎกติการะหว่างประเทศและการมีส่วนร่วมของประเทศต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงขนาดพื้นที่หรือขนาดเศรษฐกิจ เราไม่อยากให้เกิดการคาดการณ์สถานการณ์ที่ผิดพลาดและลุกลามเป็นการเผชิญหน้าระหว่างกันในระดับภูมิภาคและระดับโลก ผมจึงขอยืนยันว่า การหารือพหุภาคีบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมภายใต้หลักการ ๓ M คือ Mutual Trust, Mutual Respect, และ Mutual Benefit จะเป็นแนวทางที่จำเป็นสำหรับอาเซมในยุค Next Normal
ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ปี ๒๕๖๓ เป็นปีที่อุณหภูมิสูงที่สุดสำหรับเอเชียและยุโรปเท่าที่มีการบันทึกไว้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นและมีความถี่มากขึ้น รวมไปถึงโรคระบาดร้ายแรง การร่อยหรอของทรัพยากร และความมั่นคงทางอาหารของมวลมนุษย์ ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับธรรมชาติ ผมเห็นว่าอาเซม ซึ่งประกอบด้วยประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ควรสนับสนุนกันและกันในการเยียวยาสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีสีเขียว การสนับสนุนกลไกทางการเงินสีเขียว เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด และการลดการใช้พลังงานแบบฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น ทั้งในด้านการผลิต และการบริโภค ซึ่งผมได้กล่าวถึงไปแล้วในการประชุม COP 26 ที่ผ่านมา
ในส่วนของไทย เราได้นำโมเดลเศรษฐกิจที่เป็นการผสมผสานอย่างลงตัวของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เละเศรษฐกิจสีเขียว หรือ บีซีจี มาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ลดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ควบคู่ไปกับการบำรุงรักษาความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติด้านการพัฒนาประเทศ และจะเป็นวาระหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของไทยด้วย โมเดลเศรษฐกิจบีซีจีนี้ จะให้ความสำคัญกับการปรับให้มีความสมดุลของทุกองคาพยพในทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน มั่นคง และครอบคลุม
ภาวะความไม่มั่นคงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ตลอดจนความเสื่อมโทรมของสภาพภูมิอากาศและชีวิตของมนุษย์ที่ผมกล่าวมาข้างต้น ล้วนเกิดจากฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้น มนุษย์จึงมีหน้าที่อย่างใหญ่หลวงที่จะแก้ไขความผิดพลาดของตนเองให้ได้ ซึ่งผมเห็นว่าการที่เราจะเปลี่ยนแปลงการกระทำของเราได้นั้น ต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดในเรื่องการอยู่ร่วมกัน ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ ในเรื่องการกอบกู้ความสมดุลของสรรพสิ่งให้กลับมาดังเดิม ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่ทำได้ และต้องทำ เพื่อความอยู่รอดของโลกใบนี้ และของมวลมนุษยชาติ
ขอบคุณและสวัสดีครับ