วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2564
พน. ระบุได้กำหนดผลิตภัณฑ์หรือชนิดน้ำมันดีเซลเป็นชนิดบี 6 ชนิดเดียว และลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซล เพื่อลดผลกระทบผู้บริโภคช่วงระยะสั้น ด้าน กค. เผยการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง มีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
วันที่ 18 ตุลาคม 2564 กระทรวงพลังงาน ชี้แจงกรณีสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เตรียมจัดกิจกรรมเรียกร้องปัญหาน้ำมันปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนัดรวมพลตามถนนเส้นสำคัญทั้ง 4 มุมเมืองรอบกรุงเทพฯ ในวันที่ 19 ต.ค.64 เพื่อกดดันรัฐบาล เรียกร้องให้ลดภาษีสรรพสามิตหรือนำเงินกองทุนพลังงานมารักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสินค้า แต่หากไม่ได้รับการตอบรับ ก็จะประกาศหยุดวิ่งรถขนส่งสินค้าทั่วประเทศ เป็นเวลา 7 วันต่อไปนั้น
ประเด็นชี้แจง : มาตรการของกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดผลิตภัณฑ์หรือชนิดน้ำมันดีเซลเป็นชนิดบี 6 ชนิดเดียว และลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซล เพื่อลดผลกระทบผู้บริโภคช่วงระยะสั้น
จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กองทุนน้ำมันฯ) ที่ต้องจ่ายเงินชดเชยน้ำมันไบโอดีเซล (B100) และการที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 ได้มีราคาสูงกว่า 30 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเดือดร้อนจากสถานการณ์ราคาดังกล่าว เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมัน B7 เป็นร้อยละ 56 ของการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด
กระทรวงพลังงาน ได้ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นทันที โดยปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 จาก 1.00 บาทต่อลิตร เป็น 0.01 บาทต่อลิตร ซึ่งมาตรการนี้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2564 นอกจากนี้ ยังปรับลดสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร พร้อมทั้งเห็นชอบค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เท่ากับ 1.40 บาทต่อลิตร โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างวันที่ 11-31 ตุลาคม 2564 ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลจะลดระดับลงมาคงอยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร และกระทรวงพลังงาน จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกำหนดมาตรการช่วยเหลือประชาชนในระยะต่อไป
ข้อเรียกร้อง : ให้นำเงินกองทุนพลังงานมารักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับ 25 บาทต่อลิตร เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของรถบรรทุกขนส่งสินค้า
ประเด็นชี้แจง : ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันของไทย ประกอบด้วย
1) ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (ร้อยละ 40 – 60) คือ ต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย
2) ภาษีต่างๆ (ร้อยละ 30 – 40) ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และบำรุงท้องถิ่น
3) กองทุนต่างๆ (ร้อยละ 5 – 20) เช่น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
4) ค่าการตลาด (ร้อยละ 10 – 18) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดหลักเกณฑ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง : กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาน้ำมันแต่ละลิตรที่เราจ่ายไป ส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ต้องนำส่งเข้า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันและช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยเมื่อเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง กองทุนน้ำมันฯ จะลดอัตราเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ลงจนอาจจะไม่เก็บ หรือนำเงินออกมาชดเชย เพื่อที่ผู้ค้าจะได้ไม่ต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันอย่างรวดเร็วเท่ากับการปรับตัวขึ้นของราคาตลาดโลกจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ในกรณีที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงกองทุนน้ำมันฯ จะพิจารณาเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่มเพื่อทดแทนเงินที่ชดเชยไปและเพื่อสำรองไว้ใช้รับมือกับความผันผวนของราคาน้ำมันที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยกองทุนน้ำมันฯ ยังมีอัตราที่เรียกเก็บออกไปแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับน้ำมันแต่ละชนิดอีกด้วย น้ำมันบางชนิดที่มีการสนับสนุนอย่างเช่น น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ถ้าดูในกลุ่มเบนซิน จะเป็นน้ำมันเบนซิน E20 E85 ซึ่งในส่วนนี้กองทุนน้ำมันฯ ได้เข้าไปช่วยเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น ในส่วนของกลุ่มดีเซล คาดว่าจะใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนประมาณ 3,000 ล้านบาท/เดือน โดย ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2564 กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิอยู่ที่ 10,235 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 28,281 ล้านบาท บัญชี LPG (-18,046 ล้านบาท) โดยมีสภาพคล่อง (-4,215 ล้านบาท) ซึ่งคาดว่าอีก 2 เดือนกองทุนน้ำมันจะติดลบ โดยกระทรวงพลังงาน จะพิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันฯ ที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ ราคาขายปลีกในประเทศมีการปรับขึ้นและลงตามราคาตลาดโลก แต่อาจจะเหลื่อมเวลากับการปรับราคาน้ำมันในตลาดบ้างในบางช่วง การที่ตลาดน้ำมันของไทยเป็นตลาดเสรีการปรับขึ้นลงราคาของผู้ค้าจึงเป็นไปตามสภาพการแข่งขันของตลาดภายในประเทศด้วยเช่นเดียวกัน และเนื่องจากสถานการณ์พลังงานโลกมีความผันผวน กระทรวงพลังงานยังคงติดตามสถานการณ์ และออกมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน พร้อมทั้งติดตามดูแลความเหมาะสมของการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอยู่เสมอ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่าปัญหาราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันอยู่ที่ 83.53 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจาก COVID-19 ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศวันที่ 18 ตุลาคม 2564 อยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี (มกราคม 2564) อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลของไทยกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันแล้วพบว่า ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลของไทยอยู่ระดับใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ (สิงคโปร์ ลิตรละ 53 บาท สปป. ลาว ลิตรละ 31.50 บาท กัมพูชา ลิตรละ 30.24 บาท ฟิลิปปินส์ ลิตรละ 28.69 บาท เมียนมา ลิตรละ 26.95 บาท และมาเลเซีย (ผู้ส่งออกน้ำมัน) ลิตรละ 17.42 บาท) เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น รัฐบาลจึงได้ดำเนินนโยบายเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นกลไกหลักในการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและมีสภาพคล่องพร้อมดำเนินการ โดยได้มีการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 1.99 – 4.16 บาทต่อลิตร รวมทั้งได้มีการบริหารจัดการให้มีการปรับลดค่าการตลาดลงด้วย กล่าวคือ การใช้กลไกดังกล่าวมีความพร้อมและเพียงพอต่อการรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลภายใต้บริบทปัจจุบันได้
ในส่วนประเด็นการปรับลดภาษีสรรพสามิตเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น อาจยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะใช้กลไกดังกล่าวในขณะนี้ เนื่องจากการจัดเก็บของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับราคาพลังงาน แต่มีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ในอดีตมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาภาระของประชาชน เนื่องจากในขณะนั้นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลอาจพิจารณามาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อบรรเทาภาระของประชาชนต่อไป
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน