วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน 2564
สทนช. กรมชลประทาน และ ปภ. เผยแผนงานการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ พร้อมเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำแล้งน้ำท่วม ยืนยันใช้จ่ายงบประมาณก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพอย่างสูงสุดต่อประชาชนทุกภาคส่วน
วันที่ 30 กันยายน 2564 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ได้การดำเนินการแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมแบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม
1.ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งลดลง รัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งส่งผลให้สถิติความเสียหายภัยจากน้ำลดลงอย่างชัดเจน เห็นได้จากปี’62 แม้ว่าจะเป็นปีที่แล้งรุนแรงเป็นลำดับที่ 2 รองจากปี’58 แต่การบริหารจัดการน้ำในเชิงป้องกัน วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และหาแหล่งน้ำสำรอง ทำให้มีหมู่บ้านประกาศภัยแล้งปี 62 เพียง 30 จังหวัด 891 ตำบล ใน 7,662 หมู่บ้าน น้อยกว่าการบริหารจัดการน้ำในหลายปีที่ผ่านมา และในปี 2563/64 มีการประกาศภัยแล้งเพียง 2 หมู่บ้าน เท่านั้น นอกจากนี้ การแจ้งเตือนล่วงหน้า และบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ยังทำให้ความเสียหายจากอุทกภัยลดน้อยลง สามารถป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีแรกที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงาน มีความเสียหายเพียง 94 ล้านบาท โดยในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับน้ำในทุกมิติ จึงนับเป็นครั้งแรกของการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งเป็นการร่วมกันดำเนินงานจากทุกหน่วยงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และมีผลงานที่เป็นรูปธรรม ดังนี้ เพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 3,347 แห่ง จาก 5,472 แห่ง สระน้ำในไร่นา 190.59 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 118.43 ล้าน ลบ.ม. ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติ 225 แห่ง และปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 181 แห่ง
2.เร่งดำเนินการในเชิงป้องกัน โดยการพัฒนาโครงการสำคัญๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้า โดยแผนหลักในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขับเคลื่อนแล้วจำนวน 133 โครงการ จาก 526 โครงการ เช่น
1) แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
2) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
3) การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่น บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ บึงราชนก จ.พิษณุโลก บึงสีไฟ
จ.พิจิตร หนองหาร จ.สกลนคร ฯลฯ
4) ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนในทุกรูปแบบ อย่างเต็มศักยภาพ โดยทำงานร่วมกับแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
5) กำหนดมาตรการจัดการน้ำทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะแผนการจัดการคุณภาพน้ำระดับลุ่มน้ำ และการจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ
3.การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรด้านน้ำ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ถึงระดับนโยบาย ยกระดับการมีส่วนร่วมด้านน้ำ ได้แก่ องค์กรผู้ใช้น้ำ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำ การจัดตั้งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งเป็นการพัฒนากลไกการกำกับดูแล อำนวยการ สั่งการจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต ไปจนถึงการพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ ผังน้ำ คลังข้อมูลน้ำในรูปแบบ One Map ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน National Thai Water ฯลฯ
ขอยืนยันว่ารัฐบาลได้ดำเนินงานอย่างเข้มข้นในการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ได้ให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้มีการตรวจสอบข้อมูล ความซ้ำซ้อนของแผนงานด้านน้ำ ทำให้ประหยัดงบประมาณด้านน้ำได้กว่า 60,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Thai Water Plan เพื่อใช้ประกอบการจัดทำงบประมาณด้านน้ำด้วย ซึ่งจากผลการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำโดยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หากเปรียบเทียบกับในอดีตจะพบว่าตัวเลขสถิติความเสียหายทั้งจากภัยแล้งและอุทกภัยลดลงอย่างชัดเจน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมชลประทาน เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องน้ำ ซึ่งมีการร่วมบูรณาการทำงานกับหลายหน่วยงาน โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานระหว่างปีงบประมาณ 2557-2564 สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้แล้วกว่า 2 ล้าน ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้กว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านไร่ และมีจำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์กว่า 6 ล้านครัวเรือน ทั้งนี้ พื้นที่ของไทยมีทั้งหมด 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 150 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบชลประทานได้ประมาณ 60 ล้านไร่ แต่ในปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้ 35 ล้านไร่ ในขณะที่ข้อมูลน้ำฝนและน้ำท่าที่เกิดขึ้นในประเทศ พบว่า ไทยมีฝนเฉลี่ยปีละ 1,588 มิลลิเมตร คิดเป็นน้ำท่าใช้การได้ 205,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังเก็บกักน้ำได้เพียง 82,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำท่าทั้งหมด
ทั้งนี้ ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การเติบโตของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นโยบายเกษตร 4.0 และ Thailand 4.0 รวมทั้งการจัดทำสมดุลน้ำ (Water Balance) เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำและปริมาณน้ำที่มีอยู่ การปรับจำนวนลุ่มน้ำเหลือ 22 ลุ่มน้ำ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทานต้องวางแผนการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำให้เข้มข้นมากขึ้น มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างด้านเดียวจึงไม่เพียงพอต่อการดำเนินภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานที่สำคัญในการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center : SWOC) โดยมี SWOC MODEL และ MODEL อื่นๆ ทำหน้าที่ประมวล วิเคราะห์ข้อมูล คาดการณ์สถานการณ์น้ำด้วยระบบที่ทันสมัย สนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพทั่วประเทศ การติดตั้งระบบโทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัยลุ่มน้ำ เป้าหมายเพื่อการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำโดยการประยุกต์ใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ เพื่อประกอบการพิจารณาวางแผน/จัดเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพทันต่อสภาวการณ์ ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำ การพัฒนาฐานข้อมูลกลาง Big Data ด้านน้ำและการชลประทาน เพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานบนพื้นฐานดิจิทัล (Digital Platform) โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับปรุงระบบการทำงานให้บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ตามนโยบายคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 การพัฒนาแอพพลิเคชั่น WMSC (Water Watch and Monitoring System For Warning Center)
สำหรับโครงการชลประทานสำคัญๆ ที่สามารถดำเนินงานจนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม สร้างประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับประชาชน อาทิ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จ.สงขลา แผนดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565 เมื่อแล้วเสร็จจะได้คลองระบายน้ำความยาว 20.937 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้ 1,200 ลบ.ม./วินาที ช่วยระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ มีพื้นที่ได้รับการป้องกันและลดผลกระทบกว่า 12,500 ไร่ , โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ได้มากกว่า 1,610,000 ไร่ ช่วยผันน้ำไปเติมให้กับเขื่อนภูมิพลได้ปีละประมาณ 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว , โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง เพื่อเติมน้ำให้แหล่งเก็บกักน้ำเดิมให้มีปริมาณน้ำต้นทุนที่มั่นคงสำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ตลอดจนรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยด้วยการดักน้ำหลากจากพื้นที่รับน้ำตอนบน ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำรายงานชี้แจง คชก. (EIA) ครั้งที่ 14 , โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำต้นทุนของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ตอบสนองความต้องการใช้น้ำทั้งในด้านการเกษตร ด้านอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม มีผลงานคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 62 , โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุตรดิตถ์ ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคของราษฎร มีผลงานคืบหน้าแล้วร้อยละ 72 , โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองบางสะพานได้ 520 ลบ.ม./วินาที ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนตัวเมืองบางสะพานได้อย่างมีประสิทธิผล พื้นที่น้ำท่วมลดลง 4,894 ไร่ ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมลดลง 1,640 ครัวเรือน ผลงานคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 93 , โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 6 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำหนองค้อ จ.ชลบุรี โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณการจ่ายน้ำท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ จ.ชลบุรี โครงการสระทับมา จ.ระยอง และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกระแส จ.ชลบุรี สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อรองรับโครงการ EEC ได้รวมกันประมาณ 250.45 ล้าน ลบ.ม. , โครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ ตำบลยางสักกระโพหลุ่ม อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี (งานดำเนินการเอง) ผลสัมฤทธิ์เมื่อโครงการแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มความจุได้ 9.50 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 8,000 ไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์ 7,600 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 2,000 ครัวเรือน มีผลงานคืบหน้าร้อยละ 30
กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าใช้งบประมาณในการพัฒนาแหล่งน้ำ และบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง จะก่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพอย่างสูงสุดต่อประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานการปฏิบัติร่วมกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างเป็นระบบ ดังนี้
กรณีน้ำท่วม
(1) การจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย มีการดำเนินการในทั้ง 76 จังหวัด พร้อมทั้งได้มีการซักซ้อมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(2) การสำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย มีการดำเนินการในทั้ง 76 จังหวัด และได้มีการเตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ และเครื่องจักรกลสาธารณภัย ทั้งเครื่องสูบน้ำ รถยกสูง เรือ เป็นต้น ประจำในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทันท่วงทีและเป็นไปตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ตามนโยบายของรัฐบาล
(3) การติดตามเฝ้าระวัง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ เพื่อประสานการทำงานร่วมกับคณะทำงานติดตามสถานการณ์ในทุกจังหวัด เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยนำข้อมูลของหน่วยงานทางวิชาการไปประกอบการวางแผนในการบริหารจัดการตามสถานการณ์
(4) การป้องกันและลดผลกระทบ โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทุกเขต ได้สนับสนุนการดำเนินการของจังหวัด โดยจัดกำลังพลและเครื่องจักรกลสาธารณภัย สนับสนุนจังหวัดในการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การเปิดทางน้ำ การขุดลอก เป็นต้น
(5) เตรียมความพร้อมภาคประชาชนให้พร้อมรับมือสาธารณภัย ตามหลัก “การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน” (Community Based Disaster Risk Management : CBDRM)” เพื่อให้ชุมชนสามารถรับมือสถานการณ์ภัยได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น
(6) เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยในพื้นที่ ได้จัดชุดปฏิบัติการจากหน่วยราชการฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เร่งเข้าคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบเลี้ยง การแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
กรณีน้ำแล้ง
(1) ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อใช้ในการกำหนดแผนการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ โดยบูรณาการข้อมูลร่วมกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงฯ
(2) ได้ระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ทำการผันน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ขุดเจาะและเป่าล้างบ่อบาดาล ติดตั้งเครื่องสูบส่งน้ำสูบน้ำเข้าสู่ระบบการผลิตน้ำประปาในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและจุดแจกจ่ายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกครัวเรือนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ
(3) ได้ร่วมกับจังหวัด ในการสำรวจพื้นที่ แหล่งน้ำที่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อกักเก็บทั้งในด้านการอุปโภคบริโภคหรือเพื่อการประกอบอาชีพ และมีความเหมาะสมในการใช้เครื่องสูบส่งน้ำที่มีสมรรถนะสูง ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการดำเนินการสูบส่งน้ำ เพื่อนำน้ำที่เพิ่มขึ้นในฤดูฝนไปเก็บกักในแหล่งน้ำที่ขาดแคลนสำหรับการอุปโภคบริโภคต่อไป
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน