วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564
อธิบดีกรมศุลกากรและอธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่หนีภาษีมาโดยตลอด และปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สามารถจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าบุหรี่หนีภาษีได้จำนวนมาก
วันที่ 9 กันยายน 2564 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่าภายหลังจากที่มีปรับราคาบุหรี่ในท้องตลาดให้มีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงหันไปหาบุหรี่ที่มีราคาถูกหรือยาเส้นมวนเอง แต่ในพื้นที่ภาคใต้ผู้สูบบุหรี่กลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่หันไปหาบุหรี่หนีภาษี ที่มีราคาถูกกว่าบุหรี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายมาก ส่งผลให้เกิดการลักลอบค้าบุหรี่ผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น ร้านค้าที่ขายบุหรี่ถูกต้องตามกฎหมายจึงไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคากับบุหรี่หนีภาษีได้ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงสั่งการให้ กองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับ สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดด่านศุลกากรวังประจัน ด่านศุลกากรสะเดา ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ ด่านศุลกากรตากใบ และ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก สืบสวนหาข่าวและสกัดกันขบวนการค้าบุหรี่เถื่อนในพื้นที่ มีขอบเขตการดำเนินการ ดังนี้
1. ดำเนินการสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับแหล่งที่มา วิธีการลักลอบ เส้นทาง สถานที่เก็บรวบรวม และแหล่งจำหน่ายในพื้นที่ รวมถึงดำเนินการตรวจค้น – จับกุม ตามที่ได้รับข้อมูลจากการสืบสวนหรืองานการข่าว
2. ประสานข้อมูล งานการข่าว และการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานในสังกัดกรมฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและสนธิกำลังกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ เช่น สรรพสามิตภาคที่ 9 ในการสืบสวนหาข่าว ตรวจค้น และจับกุมขบวนการค้าบุหรี่หนีภาษี ตามที่ได้รับการร้องขอ
3. ลาดตระเวนด้วยรถยนต์และเรือตรวจการณ์ ตามแนวชายแดนและลำน้ำที่เป็นพรมแดนธรรมชาติ
ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย
4. ตรวจสอบยานพาหนะทุกชนิด ในขณะหรือหลังผ่านพิธีการศุลกากร ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำบุหรี่ จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร
5. จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของชุดปฏิบัติการประจำในแต่ละพื้นที่ ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือเป็นไปตามที่หน่วยงานอื่นร้องขอ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติการฯ
6. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบถึงการกระทำที่เป็นความผิดตาม พรบ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โทษตามกฎหมายที่จะได้รับจากการกระทำความผิด และผลเสียจากการใช้สินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร รวมถึงช่องทางในการแจ้งข้อมูลข่าวสารแก่เจ้าหน้าที่ในกรณีที่พบเห็น หรือทราบข่าวการลักลอบนำเข้า – ส่งออกบุหรี่ที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร
ซึ่งผลการดำเนินการของกรมศุลกากรในการสกัดกั้นการลักลอบบุหรี่ที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมาย ทำให้สามารถจับกุมบุหรี่ที่ลักลอบนำเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2564 นี้ (เดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 – สิงหาคม พ.ศ. 2564) กรมฯ ได้จับกุมบุหรี่ได้ทั้งหมด 647 คดี คิดเป็นมูลค่า 103 ล้านบาท
ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะดำเนินการปราบปรามการลักลอบการนำเข้าบุหรี่อย่างเข้มงวด และขอขอบคุณสมาคมการค้ายาสูบไทย ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้ให้เบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นประโยชน์ เกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าบุหรี่ ซึ่งกรม ฯ จะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการปราบปราม การลักลอบนำบุหรี่เข้ามาในราชอาณาจักรต่อไป
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า จากการที่บุหรี่ในประเทศปรับราคาสูงขึ้นและสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ผู้บริโภคส่วนหนึ่ง จึงหันไปสูบบุหรี่ที่มีราคาถูกหรือยาเส้นม้วนเอง สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปสูบบุหรี่หนีภาษีหรือบุหรี่เถื่อนซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า ส่งผลให้เกิดการลักลอบนำเข้าบุหรี่หนีภาษีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีเส้นทางการค้าบุหรี่หนีภาษีจากประเทศเพื่อนบ้านที่ติดต่อกับชายแดนของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องผ่านทางด่านชายแดน เช่น สระแก้ว ปัตตานี จันทบุรี สตูล สงขลาและจังหวัดต่าง ๆ ที่เป็นศูนย์กลางทางการค้า
กรมสรรพสามิตได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการลักลอบนำเข้าบุหรี่หนีภาษีที่เกิดขึ้น จึงได้มีมาตรการป้องกันและปราบปรามบุหรี่หนีภาษี ดังนี้
1. จัดทำแผนประจำปีอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการป้องกันและปราบปราบบุหรี่เถื่อน และทำแผนเฉพาะกิจในการปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบปราบปรามบริเวณชายแดน พร้อมให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของสำนักงานสรรพสามิตภาคและสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่
2. จัดตั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ เพื่อเฝ้าระวังและติดตามจับกุมผู้กระทำผิดและผู้ต้องสงสัยทางอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์
3. บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามบุหรี่หนีภาษี เช่น กรมศุลกากร ตำรวจ ทหาร เพื่อสกัดกั้นการลักลอบบุหรี่หนีภาษี
ซึ่งจากมาตรการดังกล่าว ทำให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรมสรรพสามิตสามารถจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับสินค้าบุหรี่ผิดกฎหมายได้ทั้งสิ้น จำนวน 6,252 คดี ของกลางจำนวน 1,404,782 ซอง เปรียบเทียบปรับและประมาณการค่าปรับเป็นเงินรวม 1,248,452,588.22 บาท โดยเป็นการจับกุมผู้กระทำผิดในเขตพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย จำนวน 1,792 คดี ของกลางจำนวน 815,981 ซอง เปรียบเทียบปรับและประมาณการค่าปรับเป็นเงินรวม 1,063,263,273.57 บาท ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจะติดตาม ป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความเป็นธรรมและความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน