วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2564
กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่ามีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างต่อเนื่อง
จากกรณีผู้ประกอบอาชีพขับเเท็กซี่ สมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย นำโดยนายวิฑูรย์ เเนวพานิช นายกสมาคมฯ นำรถเเท็กซี่สหกรณ์ราชพฤกษ์ จำกัด และกลุ่มบวรแท็กซี่ กว่า 100 คัน มาจอดที่หน้า ก.พลังงาน ธปท. และ ก.คลัง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาพักชำระหนี้ ช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดฯ โดยขอให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้น/ดอกเบี้ย เยียวยาค่าปรับผิดสัญญาเช่าซื้อ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ จัดหาที่จอดแท็กซี่ที่ไม่สามารถประกอบการได้ คนขับรถแท็กซี่เข้า ม.40 จัดถุงยังชีพ ประมาณ 30,000 คน และจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ฉีดให้กับ ปชช.อย่างครอบคลุมนั้น
วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 กระทรวงแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจง : ประเด็นการขอให้คนขับแท็กซี่สามารถเข้าสู่ มาตรา 40 ของกฎหมายแรงงาน
นายประทีป ทรงลำยอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผู้ประกันตนมาตรา 40 คือ บุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 ไม่เป็นข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจบุคคลประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เกษตรกร ที่มีอายุตั้งแต่ 15-65 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้ ดังนั้น บุคคลที่ประกอบอาชีพแท็กซี่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้เช่นกัน การชำระเงิน และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 มีดังนี้
ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน คุ้มครอง 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย
ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน คุ้มครอง 4 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ
ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน คุ้มครอง 5 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยรับเงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร
ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางเลือกความคุ้มครองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ปีละ 1 ครั้ง โดยยื่นความประสงค์เปลี่ยนแปลงทางเลือกกับสำนักงานประกันสังคมและจะมีผลในการเปลี่ยนแปลงทางเลือกใหม่ในเดือนถัดไป
สำนักงานประกันสังคมได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มคนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 15-65 ปีบริบูรณ์ ประกอบอาชีพอิสระให้สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 อยู่ตลอดเวลา และมีการรับสมัครเครือข่ายเพื่อเป็นตัวแทนสำนักงานประกันสังคมในการรับสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 และสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้แก่บุคคลทั่วไปทราบถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40
กระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชี้แจง : ประเด็นให้มีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และจัดหางบประมาณเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยเพื่อนำมาปรับปรุงสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมให้บริการ
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวชี้แจง ดังนี้
1.กระทรวงการคลัง และ ธปท. มีมาตรการด้านการเงินเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ดังนี้
1.1 มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย
1.1.1 ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั่วประเทศ ได้แก่ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการ
ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมแต่ต้องปิดกิจการจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 หรือเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกหนี้
1.1.2 ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน โดยพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของภาครัฐ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม ได้แก่ ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้
ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ลูกหนี้ในช่วงระยะเวลาที่การระบาดของ COVID-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง สถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ในทันทีเมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้ โดยลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถติดต่อสถาบันการเงินได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
1.2 ธปท. ร่วมกับผู้ให้บริการทางการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 3 โดยยกระดับมาตรการเดิมให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเหมาะสม ครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ดังนี้
1.2.1 บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาว หรือลดค่างวด ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้ยาวขึ้น และจ่ายอัตราดอกเบี้ยลดลง
1.2.2 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยเพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด และสำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
1.2.3 เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยเพิ่มทางเลือกการพักชำระค่างวด และสำหรับลูกหนี้จำนำทะเบียนรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงให้มีทางเลือกในการคืนรถ โดยหากมีภาระหนี้คงเหลือจากการขายประมูล
ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
1.2.4 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน โดยเพิ่มทางเลือกด้วยการพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และให้ลูกหนี้สามารถทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดย ธปท. ได้ขอให้ผู้ให้บริการทางการเงินให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสถานะของลูกหนี้ตามมาตรการที่กำหนด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมตามนโยบายของผู้ให้บริการทางการเงิน สำหรับลูกหนี้ที่มีศักยภาพ ธปท. สนับสนุนให้ทยอยชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการพักชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย จะยังคงมีการคิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาการกู้ยืมอยู่ ซึ่งจะทำให้ภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้เพิ่มขึ้นในระยะยาว
2. กระทรวงการคลัง มีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และยังมีวงเงินโครงการคงเหลือที่ประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สถาบันการเงินกำหนด ดังนี้
2.1 ประชาชน : ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
2.2 ผู้ประกอบการ :
2.2.1 ธนาคารออมสินมีโครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก และผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
2.2.2 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) มีโครงการสินเชื่อ Extra Cash วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 วงเงินต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564
กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่แล้ว ได้แก่ การขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี, อนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีทางเลือกอื่นติดตามรถแทน GPS, พัฒนา Application แทน GPS สำหรับให้กลุ่มแท็กซี่ใช้ “ฟรี” โดยไม่มีค่าใช้จ่าย, เปิดโอกาสให้มีการติดตั้งสื่อโฆษณาบนแท็กซี่, กำหนดค่าสัมภาระเพิ่มเติมให้กับแท็กซี่สนามบิน เป็นต้น โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาบริการรถสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ เกิดความปลอดภัย
โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขได้นำผู้ขับรถสาธารณะทุกประเภท ซึ่งเป็นบุคลากรด่านหน้าภาคการขนส่งสาธารณะ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ณ สถานีกลางบางซื่อ เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันร่วมป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ ช่วยเหลือผู้ขับรถ ระหว่างวันที่ 24 พ.ค. - 30 มิ.ย. 2564 โดยผู้ขับรถแท็กซี่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวน 18,427 คน
ทั้งนี้ หากกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่มีความประสงค์จะขอรับวัคซีนเพิ่มเติม กระทรวงคมนาคมได้ประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข โดยในเดือนสิงหาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุข จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สถานีกลางบางซื่อได้ ซึ่งผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่สามารถลงทะเบียนเพิ่มเติมในช่วงดังกล่าวได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย ลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต่อไป
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างดำเนินโครงการจัดหา อุปกรณ์กั้นระหว่างที่นั่งผู้ขับรถกับคนโดยสาร (Partition) ในรถแท็กซี่ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากการไอหรือจามซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสร้างความมั่นใจในการใช้บริการรถแท็กซี่ โดยในระยะแรกคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2564 จะดำเนินการจัดทำฉากกั้นจำนวน 3,000 ชิ้น เพื่อติดในแท็กซี่กลุ่มตัวอย่าง จากนั้นจะมีการประเมินผล เพื่อพิจารณาขยายผลการดำเนินการต่อไป
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน