วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2564
คำกล่าวพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุม APEC Informal Leaders’ Retreat วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 18.00-20.00 น. (เวลาประเทศไทย) ผ่านระบบการประชุมทางไกล
ขอบคุณครับท่านประธาน
ผมขอขอบคุณท่านประธานอีกครั้งที่ได้จัดการประชุมในช่วงเวลาที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดการและการฟื้นตัวจากวิกฤตที่ส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ โดยผมขอแบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ดังนี้
ประการแรก สิ่งสำคัญที่สุดในการเอาชนะวิกฤตด้านการสาธารณสุข คือ การเข้าถึงและ การกระจายวัคซีนโควิด-๑๙ ที่ปลอดภัย เป็นธรรม และรวดเร็วสำหรับประชาชนทุกคน ประเทศไทยยินดีที่เห็นการขยายความร่วมมือในระดับพหุภาคี และความมุ่งมั่นในการทำให้วัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะของโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะสำหรับประชากรในเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา ซึ่งสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การจัดส่งวัคซีนไปยังจุดหมายปลายทางให้รวดเร็วที่สุด นอกจากนั้น เราจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพและขยายฐานการผลิตวัคซีนฯ ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค รวมทั้งเอเชียแปซิฟิกเพื่อตอบสนองต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงมากขึ้น ตลอดจนความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งไทยพร้อมที่จะมีบทบาทและร่วมมือกับทุกเขตเศรษฐกิจในเรื่องนี้ นอกจากนั้น ไทยยังมีทีมแพทย์และนักวิจัยที่อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนฯ ภายในประเทศชนิดต่าง ๆ ซึ่งบางโครงการอยู่ในขั้นตอนของการทดลองในมนุษย์แล้ว
ประการที่สอง เพื่อให้เดินหน้าได้ต่อไป เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสและความเสี่ยงที่มาพร้อมกัน เราต้องบริหารจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพื่อให้สามารถกลับสู่สถานการณ์ปกติแบบ new normal ดังนั้น การเริ่มเปิดให้มีการเดินทางข้ามพรมแดน จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไทยได้เริ่มโครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus Model ไปแล้ว ส่วนในระยะยาว ไทยเล็งเห็นประโยชน์ของการจัดทำแนวปฏิบัติด้านการเดินทาง และการใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกัน โดยเฉพาะวัคซีนที่ WHO อนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน เพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ผมจึงสนับสนุนให้เอเปคในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ประการที่สาม ในด้านมาตรการช่วยเหลือทางธุรกิจ เราควรให้ความสำคัญกับ MSMEsและสตาร์ทอัพเป็นอันดับแรก เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตของภูมิภาค แต่กลับได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ มากที่สุด เอเปคจึงควรสนับสนุน MSMEs และสตาร์ทอัพ ผ่านข้อริเริ่มที่เป็นรูปธรรม เช่น การมีกลไกทางการเงินและการชำระเงินข้ามพรมแดน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนการเข้าถึงตลาดระหว่างประเทศ ห่วงโซ่มูลค่าโลก และข้อมูลด้านกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น ขณะเดียวกัน การพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ร่วมกันได้ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ ซึ่งไทยพร้อมร่วมผลักดันต่อไป นอกจากนั้น เราควรยกระดับขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ MSMEs และสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มศักยภาพ ในการดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์แบบ new normal ตลอดจนมีความยืดหยุ่น และทนทานต่อแรงกระแทกและวิกฤตในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประการสุดท้าย ผมเชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต่อจากนี้ไปจะสำเร็จและยั่งยืนได้ เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องการพัฒนาใหม่ สิ่งหนึ่งที่วิกฤติโรคร้ายตีแผ่ออกมาคือความไม่เท่าเทียมและความไร้สมดุลของการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาเน้นเรื่องการผลักดันทุกอย่างให้ถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหากำไร การเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการดำรงชีวิต โดยไม่คำนึงความพอดี (just right) หรือความสมดุล (balance) ดังนั้นประเทศไทยจึงได้นำเอาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่นำเอาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งหลายประเทศใช้เป็นหลักในการพัฒนาอยู่แล้ว มาร้อยเรียงให้มีความผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวโดยมีหัวใจคือความสมดุลของทุกสิ่งและของทุกหน่วยเศรษฐกิจ ไม่เป็นการคิดแบบแท่งหรือ Silo มาเริ่มใช้เป็นหลักการในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโมเดลใหม่นี้จะส่งผลดีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การกำจัดความยากจน และการกู้สภาพสิ่งแวดล้อมให้กลับมามีสุขภาพดี เพื่อลดปัญหาโลกร้อน และภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกขณะได้
ในช่วงเวลาแห่งปัญหาเช่นในขณะนี้ ผมขอส่งกำลังใจถึงทุกท่านด้วยคำกล่าวของ Dostoevsky ที่ว่า ค่ำคืนที่มืดสนิทเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ดวงดาวสว่างขึ้นเท่านั้น (“The darker the sky, the brighter the stars.”) อนาคตของพวกเราทุกคนเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น เสมือน jigsaw puzzles ซึ่งแต่ละชิ้นแม้จะเป็นหน่วยเล็กๆไม่มีความหมายนัก แต่เมื่อนำมารวมต่อกันได้ครบถ้วน เราก็จะได้ภาพที่สมบูรณ์และมีคุณค่า ความร่วมมือร่วมใจของทุกเขตเศรษฐกิจอย่างผสมผสานสามัคคี คือความอยู่รอดและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทุกเราทุกคน
สุดท้ายนี้ ผมขอร่วมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค อวยพรให้การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิก ที่กรุงโตเกียวซึ่งจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ประสบผลสำเร็จทุกประการ
ขอบคุณครับ
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน