วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม 2564
โฆษก ศบค. เผยนายกฯ ย้ำดูแลกลุ่มเสี่ยง คนไทยและแรงงานต่างด้าวสามารถเข้าตรวจคัดกรองได้ พร้อมเชิญชวนประชาชนสมัครเสริมทีมฉีดวัคซีน กทม. ร่วมมือกันผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้
วันนี้ 22 พฤษภาคม 2564 เวลา 12.30 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธินโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตอบคำถามสื่อมวลชนสรุป ดังนี้
กรณีที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในแคมป์แรงงานต่างด้าวมีพื้นที่ตรวจในการรองรับกลุ่มแรงงานต่างด้าวมากน้อยเพียงใด โฆษก ศบค. ชี้แจงว่าได้รับรายงานเรื่องนี้พบมีการระบาดในแคมป์แรงงานต่างด้าว ซึ่งในแคมป์ก็มีทั้งแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาถูกกฎหมายจำนวนหนึ่งขณะเดียวกันก็มีคนที่ไม่ได้มีสิทธิ์ในการเข้าไปตรวจ อย่างไรก็ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. บอกว่าทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ประเทศไทย ต้องได้รับการตรวจและดูแลเหมือนกันทั้งหมด ทั้งนี้ขอให้แจ้งให้ประชาชนได้รับทราบทั้ง 3 ส่วน คือ 1) ประชาชนที่เป็นคนไทยและต่างด้าวทั้งที่มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์อะไรก็แล้วแต่ หากสงสัยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรืออยู่ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยง หากต้องการตรวจสามารถเดินไปที่หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขที่อยู่ใกล้พื้นที่ของตนเองได้ 2) กลุ่มผู้ประกอบการ ต้องมีส่วนรับผิดชอบคนงานที่ตนเองนำพามา โดยหากสามารถที่จะแบ่งเบาภาระ ทางด้านค่าใช้จ่ายได้ก็ต้องขอบคุณด้วย แต่หากไม่สามารถที่จะดูแลได้ก็ขอให้พาคนงานไปตรวจโดยภาครัฐจะเป็นผู้ดูแลให้เอง และ 3) ภาครัฐที่ดูแลเรื่องการตรวจ ไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณ เพราะกรมควบคุมโรคแจ้งว่าได้ของบประมาณไปเพียงพอสำหรับการดำเนินการส่วนนี้ รวมถึงงบประมาณในค่าใช้จ่ายในการตรวจแล็ปเพื่อแยกกลุ่มคนที่ป่วยกับกลุ่มคนที่ไม่ปวยออกมา ทั้งนี้หากมีข้อยุ่งยากหรือมีรหัสรายละเอียดต่าง ๆ ให้ประสานกับกรมควบคุมโรค เพื่อแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ดังนั้นขอให้มั่นใจว่า 100% ของคนที่อยู่ในพื้นแผ่นดินไทยจะได้รับการดูแลอย่างดี
ส่วนความคืนหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากจำนวนวัคซีน 6 ล้านโดสที่เข้ามานั้น มีการกระจายวัคซีนลงไปในพื้นที่ 3.6 ล้านโดส ขณะนี้ฉีดไปแล้ว 2.7 ล้านโดส เหลือประมาณ 9 แสนกว่าโดส ซึ่งกำลังจะมีการปูพรมฉีดต่อไปยืนยันไม่มีการค้างสต็อกวัคซีนที่ไหนแต่อย่างใด เมื่อได้รับวัคซีนมาแล้วมีการจัดสรรส่งไปให้ในพื้นที่ทันทีสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของแต่ละพื้นที่ โดยขณะนี้ประชาชนมีความเชื่อมั่นใจมากขึ้นในการที่เข้ารับการฉีดวัคซีนทำให้พบว่าหลายแห่งประชาชนไปแล้วไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีการบริหารจัดการในเรื่องSupply วัคซีนให้เร็วขึ้นสอดคล้องกับ Demand ทั้งนี้ทุกเรื่องเป็นเรื่องของการบริหารสถานการณ์ให้สอดคล้องกับระยะเวลาขณะนั้นให้ดีที่สุด
ในตอนท้าย โฆษก ศคบ. เชิญชวนประชาชนที่มีจิตอาสาเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันในการเสริมทีมบุคาลากรสาธารณสุขของ กทม. โดยขณะนี้มีผู้สนใจสมัครเข้ามา จำนวน 81 คน แบ่งเป็น แพทย์ 11 คน พยาบาล 18 คน ผู้ช่วยพยาบาล 2 คน เภสัชกร 3 คน นักระบาดวิทยา 5 คน ล่าม (ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ) 2 คน และธุรการ 40 คน ซึ่งต้องขอบคุณทุกคนอย่างมากที่ได้มาช่วยทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่กระจายไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามเขตต่าง ๆ ทั้งนี้ ยังมีความต้องการทีมฉีดวัคซีนเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน โดยต้องการ 5 ทีม ทีมละ 72 คน รวมทั้งหมด 360 คน ซึ่งแต่ละทีประกอบด้วย แพทย์ 2 คน พยาบาล 30 คน ทำหน้าที่ฉีดวัคซีน 10 คน เตรียมยา 5 คน ช่วยคัดกรอง 12 คน สังเกตอาการ 3 คน และอาสาสมัครทั่วไป (วัคความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก ลงทะเบียน อำนวยความสะดวก) ประมาณ 40 คน จึงขอเชิญชวนและแจ้งประชาชนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาสมัครเพื่อช่วยกันทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้โดยสามารถสมัครได้ผ่านทางศูนย์ปฏิบัติการด้านสาธารณสุขของสำนักการอนามัย กทม. เบอร์โทรศัพท์ 064 805 2620
________
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ข่าวทำเนียบรัฐบาล
- การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
ข่าวกระทรวง
วีดิทัศน์รายการ/คลังภาพ
วาระงาน