คำกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรี
สำหรับการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum)
หัวข้อ “Shaping the post-COVID era: Asia’s Role in the Global Recovery”
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล
ท่านประธานและผู้บริหารระดับสูงของนิคเค
แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ขอบคุณคุณทาคาฮาชิ สำหรับการกล่าวแนะนำครับ
ผมรู้สึกยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุม Future of Asia ตามคำเชิญของหนังสือพิมพ์นิคเคในวันนี้ และขอใช้โอกาสนี้แบ่งปันมุมมองของไทยในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ตลอดจนผลักดันความร่วมมือกับหุ้นส่วนภายนอกในระดับภูมิภาคและระดับโลกเพื่อขับเคลื่อนบทบาทของเอเชียในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙
เมื่อปีที่แล้ว วิถีชีวิตที่พวกเรารู้จักคุ้นเคยได้หยุดชะงักลง ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าผลกระทบของโควิด-๑๙ จะมีความรุนแรงถึงกับทำให้การเดินทางถูกตัดขาด ห่วงโซ่อุปทานพังทลาย และที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชนต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนถึงปัจจุบัน การแพร่ระบาดของ
โควิด-๑๙ ยังคงมีความรุนแรงในบางประเทศ ขณะที่อีกหลายประเทศก็กำลังพยายามฟื้นฟูจากความเสียหายที่เกิดขึ้น
การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ถือเป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องเร่งปรับตัว และแก้ไขจุดอ่อน เพื่อกลับมาลุกขึ้นยืนและเข้มแข็งกว่าเดิมให้ได้เร็วที่สุด ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมองให้ไกลกว่าความท้าทายต่าง ๆ ที่อยู่ตรงหน้าและค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ร่วมกัน โดยความร่วมมือพหุภาคีเป็นกุญแจที่จะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสและเสริมสร้างขีดความสามารถของภูมิภาคในการฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาเข้มแข็งและดีกว่าเดิม
ถึงแม้เอเชียจะเป็นภูมิภาคแรกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ แต่เศรษฐกิจในเอเชียเป็นกลุ่มแรกที่แสดงสัญญาณของการฟื้นตัว สิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า เอเชียเป็นภูมิภาคแห่งความเข้มแข็ง มุ่งมั่น และยืดหยุ่น อีกทั้งยังเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียประสบกับวิกฤตนับครั้งไม่ถ้วนในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายระดับ นับตั้งแต่วิกฤตการเงินเอเชีย โรคระบาด หรือแม้แต่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ แต่เราก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ทุกครั้ง ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ นี้ ผมเชื่อมั่นว่า เอเชียจะสามารถมีบทบาทนำในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โลก ให้มีการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น โดยมีญี่ปุ่นและไทยเป็นผู้เล่นที่สำคัญ
ผมเห็นว่า ความเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่และใกล้ชิด รวมทั้งการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูแบบองค์รวมได้ และในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความยินดีในโอกาสจะครบรอบ ๑๓๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศในปีหน้า
ญี่ปุ่นมีบทบาททางธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานหลายทศวรรษ และจนถึงปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่ง ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตและพัฒนาการ
ทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบัน ไทยมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลก โดยเป็นฐานการผลิตและศูนย์กลางกระจายสินค้า ให้แก่บริษัทญี่ปุ่นที่มีการลงทุนในไทยกว่า ๕,๘๐๐ แห่ง ขณะเดียวกันไทยยังเป็นฐานสำหรับการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โดยจนถึงปี ๒๕๖๓ FDI สะสมของญี่ปุ่นในไทยมีมูลค่าสูงกว่า ๙๓,๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในการนี้ รัฐบาลไทยขอขอบคุณรัฐบาล นักลงทุน และนักธุรกิจญี่ปุ่นที่ได้ให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นในประเทศไทยเสมอมา และขอยืนยันว่าไทยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุนจากทุกประเทศรวมทั้งจากญี่ปุ่น ให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนจะสนับสนุนการขยายการลงทุนของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามนโยบาย Thailand + 1 ต่อไป โดยจะพยายามอย่างเต็มเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะของบริษัทญี่ปุ่นในไทย ซึ่งครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้
หนึ่ง การรักษาความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุน โดยเฉพาะใน
อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงใน EEC ซึ่งเมื่อปี ๒๕๖๐ นักธุรกิจและสื่อมวลชนญี่ปุ่นเกือบ ๖๐๐ คน ที่เดินทางเยือนไทยในโอกาสการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ครบ ๑๓๐ ปี และได้พบหารือกับผมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล เพื่อรับฟังแนวนโยบายและแสวงหาลู่ทางในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน ก็น่าจะเกิดความเชื่อมั่นและได้ประจักษ์ถึงศักยภาพของไทยและโครงการ EEC ที่มีต่อภูมิภาคแล้ว
สอง การพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมา ไทยได้รับความร่วมมือจาก
ญี่ปุ่นเป็นอย่างดี เช่น โครงการระบบราง โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคใต้ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน และโครงการการพัฒนา smart city รอบสถานีกลางบางซื่อ เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยพร้อมจะขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นในโครงการอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
สาม การพัฒนาแรงงานทักษะ โดยเฉพาะวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม
สำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน ผมยินดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทยได้ร่วมมือกันในการจัดตั้งสถาบันการเรียนการสอนแบบโคเซ็นในไทยเพื่อสร้างวิศวกรนักปฏิบัติตามเป้าหมาย โดยเรามุ่งหวังที่จะให้โคเซ็นในไทยเป็นศูนย์การอบรมทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป
สี่ การปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพิธีการศุลกากรและภาษีนิติ
บุคคล ผมยินดีที่จะแจ้งว่ารัฐบาลไทยมีแผนจะเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการจากต่างชาติมากขึ้นด้วย
และ ห้า การเสริมสร้างโอกาสการค้าที่เสรี เป็นธรรมและเปิดกว้าง รวมถึงการพิจารณา
เรื่องการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ซึ่งผมจะกล่าวถึงรายละเอียดในภายหลัง
นอกจากความร่วมมือในระดับทวิภาคีแล้ว ความร่วมมือพหุภาคีก็มีความสำคัญ อย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรอบด้าน โดยกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่าง อาเซียน เอเปค RCEP และ CPTPP ล้วนเป็นกลไกสำคัญต่อกระบวนการฟื้นฟูดังกล่าว
เมื่อปีที่แล้ว อาเซียนได้จัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ เพื่อจัดซื้อและกระจายเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมถึงพัฒนาวัคซีนและยารักษา ซึ่งได้รับ
การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากประเทศอาเซียนบวกสาม ทั้งในรูปแบบ in cash และ in kind
โอกาสนี้ ผมขอยืนยันความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ในการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤตด้านสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งจากภายในและนอกภูมิภาคอาเซียน
ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค ซึ่งไทยจะรับตำแหน่งเจ้าภาพปี ค.ศ. ๒๐๒๒
ในปลายปีนี้ เราจะต่อยอดจากวาระของมาเลเซียและนิวซีแลนด์ และจะกำหนดประเด็นให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ค.ศ. ๒๐๔๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนที่เสรีและเปิดกว้าง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปคเพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืน และครอบคลุมในระยะยาว นอกจากนี้เราจะริเริ่มการพูดคุยเกี่ยวกับหนทางที่จะนำไปสู่เขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือเอฟแทป อีกครั้ง ซึ่งผมเชื่อว่าก็เป็นประเด็นที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญเช่นกัน จึงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดนี้ร่วมกันต่อไป
ในเรื่องหนทางไปสู่เอฟแทป นั้น นอกเหนือจากความตกลง RCEP ที่ลงนามกันไปเมื่อ
ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยได้พิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วม TPP ซึ่งต่อมากลายเป็น CPTPP
อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ โดยไทยขอขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนไทยด้วยดีมาโดยตลอด และในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรและผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทย ผมตระหนักดีว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยยกระดับการบูรณาการของ value chain ในโลกและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมากขึ้น เพิ่มเติมจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ
เจเท๊ปป้า (JTEPA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น หรือ เอเจเซ็ป (AJCEP) ที่มีอยู่แล้ว
ปัจจุบัน หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรได้ศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับความพร้อมของไทยในการเข้าร่วม CPTPP แล้ว คณะรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ. หารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเพื่อเตรียมความพร้อมของภาคส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศ รวมทั้งการพิจารณามาตรการเยียวยาที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ คาดว่า กนศ. จะนำเสนอผลการดำเนินการและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในกลางเดือน
มิถุนายนนี้ กรกฎาคมนี้
นอกจากนั้น ในระดับโลก ไทยสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์การค้าเป็นพื้นฐานที่สามารถกำกับตลาดโลกที่เสรีและเปิดกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไทยหวังว่าสหรัฐฯ และจีนจะมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในบริบทโลกใหม่หลังโควิด และขอถือโอกาสนี้ยินดีกับผู้อำนวยการ WTO คนใหม่ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นผลลัพธ์ที่สำคัญจากการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ครั้งที่ ๑๒ ในปลายปีนี้
ขณะเดียวกัน ไทยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ e-commerce และการค้าดิจิทัล เพื่อตอบสนองต่อยุคสมัยแบบ new normal โดยจะเพิ่มขีดความสามารถให้ทุกคนมีความพร้อมและมีทักษะที่จำเป็นต่อการเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลง
อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรม รวมถึงสนับสนุนธุรกิจ start-ups โดยไทยยินดีที่ธุรกิจ start-up จากญี่ปุ่นหลายรายได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งเราจะให้การสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ต่อไปและพร้อมต้อนรับธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาดำเนินกิจการเพิ่มเติมในอนาคต
การฟื้นฟูของโลกขึ้นอยู่กับความสามารถในการฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะในเรื่องการเดินทางข้ามพรมแดนด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังนั้น ผมเห็นว่า เราต้องเร่งดำเนินการในขั้นต้น ดังนี้
หนึ่ง ประชาชนต้องเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม โดยขณะนี้ ถึงแม้จะเป็นที่น่ายินดีว่า
ทั่วโลกได้เริ่มการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็พบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาอยู่พอสมควร ดังนั้น ไทยจึงขอเน้นย้ำและเรียกร้องให้วัคซีน โควิด-๑๙ จัดเป็นสินค้าสาธารณะของโลก และขอให้ทุกประเทศร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดความคิดวัคซีนชาตินิยมและการใช้วัคซีนเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง
สอง เราต้องยอมรับเอกสารการฉีดวัคซีนระหว่างกัน และพัฒนาบัตรสุขภาพแบบดิจิทัล ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับระบบของประเทศต่าง ๆ ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปัจจุบัน เราเริ่มเห็นความร่วมมือจัดทำ travel bubbles ในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก ขณะที่ในระดับพหุภาคี เช่น อาเซียน อียู และเอเปค ได้เริ่มการพูดคุยเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วในกลุ่มของตน นอกจากนี้ เราต้องพิจารณาและพัฒนาแนวปฏิบัติสำหรับการเดินทางของผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนไปพร้อมกันด้วย โดยไทยพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นและหุ้นส่วนอื่น ๆ ในเรื่องนี้ภายใต้กรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาม เราต้องเปิดพรมแดนและอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการที่จำเป็น ในฐานะเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า ไทยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยง
ในทุกมิติ โดยเฉพาะการเดินทางและท่องเที่ยว นอกจากนั้น การฟื้นฟูความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ โดยภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงนี้ อีกทั้งยังสามารถช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานต่อแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย ในการนี้ รัฐบาลไทยจึงมุ่งมั่นที่จะผลักดันความร่วมมือแบบประชารัฐ เพื่อเพิ่มการผลิตและการกระจายสินค้าและบริการให้ตอบสนองต่ออุปสงค์ของคู่ค้าต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนั้น ไทยได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้ธุรกิจ MSMEs ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานโลก สามารถเข้าถึงตลาดในประเทศและระหว่างประเทศให้มากและสะดวกยิ่งขึ้น
ในส่วนของประเทศไทย เราได้เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่และประชาชนที่เป็นด่านหน้าและกลุ่มเสี่ยง ทั้งไทยและต่างชาติ ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์แล้ว
และมีเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและอยู่ในข่ายที่สามารถฉีดได้
บนพื้นฐานของความสมัครใจ อย่างน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่า ๕๐ ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ ๗๐ ของประชากรทั้งหมด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ อย่างไรก็ดี
รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกประมาณ ๕๐ ล้านโดส รวมเป็น ๑๕๐ ล้านโดส เพื่อให้มีเพียงพอสำหรับประชาชนทุกคนในโอกาสแรกสุดที่จะเป็นไปได้ พร้อมกันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นแบบดิจิทัลบนโทรศัพท์มือถือเพื่อบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนตามเวลาจริง ซึ่งระบบดังกล่าวจะสามารถเชื่อมต่อกับระบบของประเทศอื่นได้หากมีการตกลงกัน
ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ไทยได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติเกือบทุกประเภทสามารถเดินทาง
เข้าประเทศได้ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขที่กำหนด ซึ่งจนถึงปัจจุบัน
ไทยได้อำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจที่เดินทางจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยแล้วกว่า
๑๓,๐๐๐ คน และในส่วนของภาคการท่องเที่ยว นั้น ไทยจะเริ่มดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ซึ่งจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าภูเก็ตโดยไม่ต้องกักตัว โดยได้เร่งฉีดวัคซีนแก่ผู้ให้บริการและประชาชนในจังหวัดภูเก็ตแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการดังกล่าว ซึ่งหากประสบผลสำเร็จ รัฐบาลจะพิจารณาขยายโครงการไปยังจังหวัดและเมืองอื่น ๆ ต่อไป ผมเชื่อมั่นว่าข้อริเริ่มดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการเดินทางและการท่องเที่ยวมายังประเทศไทยอย่างปลอดภัย และหวังว่าจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นผ่านข้อริเริ่มนี้
เมื่อมองไปข้างหน้า โควิด-๑๙ สร้างโอกาสสำหรับการพัฒนาภูมิภาคและโลกให้ดีขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม โดยทุกภูมิภาครวมถึงเอเชียจำเป็นต้องบูรณาการนโยบายด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ในระดับ
ที่สูงยิ่งขึ้น ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะผลักดันวาระเรื่องการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมกับประชาคมระหว่างประเทศ โดยเราจะส่งเสริมแนวปฏิบัติและการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ รวมทั้งสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจแบบ low-carbon และ zero-waste ซึ่งรัฐบาลไทยได้เห็นชอบให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ให้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยเร่งการบรรลุ SDGs ให้สำเร็จโดยเร็ว
ไทยวางแผนที่จะร่วมมือกับหุ้นส่วนของเราและประชาคมระหว่างประเทศในการขับเคลื่อน BCG Model ซึ่งผมเห็นว่าเป็นประเด็นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น จึงน่าจะสามารถร่วมมือกันได้ เช่น ด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร เกษตรอัจฉริยะ และการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของ BCG model คือ การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้กลายเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ปลอดมลพิษ หรือ zero-emission vehicles อย่างสมบูรณ์ ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ ZEV (แซด อี วี) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี ๒๕๗๘ โดยเชื่อมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้เนื่องจากไทยมีประสบการณ์ในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สำหรับตลาดโลกมามากกว่า ๓๐ ปี ตลอดจนมีองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง
BCG Model จะเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย
ในปีหน้า เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า BCG สามารถเป็นวาระร่วมกันของเอเปคได้ ทั้งเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา เนื่องจากสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเอเปคในการบรรลุการฟื้นฟูที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งสำหรับเอเชีย-แปซิฟิกและนอกภูมิภาค โดยผมหวังว่า ญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนไทยอย่างแข็งขันในการผลักดันวาระที่สำคัญนี้
เอเชียมีบทบาทนำที่สำคัญในการฟื้นฟูของโลกจากโควิด-๑๙ เราสามารถร่วมมือกันเพื่อสร้างโลกในยุคหลังโควิด-๑๙ ที่เข้มแข็ง ครอบคลุม ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งไทยมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้
โอกาสนี้ ผมขอเน้นย้ำการสนับสนุนและส่งกำลังใจจากไทยต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคและพาราลิมปิคที่กรุงโตเกียวในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ไทยและทัพนักกีฬาของเรามุ่งหวังและตั้งตารอที่จะเข้าร่วมการแข่งขันที่สำคัญนี้ นอกจากนั้น ไทยขอยืนยันการสนับสนุนและการเข้าร่วมจัดแสดงศาลาไทยในงานมหกรรม Expo 2025 ที่นครโอซากาในปี ๒๕๖๘ ซึ่งงานดังกล่าวจะเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นฟูของโลกในยุคหลังโควิด-๑๙ ได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายนี้ ผมขอส่งความปรารถนาดีและความนับถือไปยังท่านนายกรัฐมนตรีซูกะ
รัฐบาลญี่ปุ่น และประชาชนชาวญี่ปุ่นทุกคน ผมขอให้ทุกท่านมั่นใจว่า ไทยสนับสนุนญี่ปุ่นเสมอ ในฐานะเพื่อน และเราจะชนะวิกฤตโรคระบาดนี้ พร้อมกับสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมให้แก่ชนรุ่นหลัง ไปด้วยกัน
อะริกะโตะ โกะไซมัส ขอบคุณครับ