http://www.thaigov.go.th
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2564) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
1. เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปัน ผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ....
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. ....
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. ....
4. เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญ รวม 3 ฉบับ
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าแผ่นม้วนรีดร้อนสำหรับงานท่อต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องเป็นไปตามมาตรฐาน รวม 2 ฉบับ
9. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ในส่วนของงานโยธาของกรมทางหลวง
10. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก
11. เรื่อง ขอปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียน
12. เรื่อง ขออนุมัติการเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณและขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
13. เรื่อง การขอขยายเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
14. เรื่อง ขอความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธาการจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี
15. เรื่อง ขอเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64
16. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินการตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2564
17. เรื่อง สรุปมติการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 2/2563
18. เรื่อง การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 เรื่อง แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570
19. เรื่อง รายงานประจำปี 2562 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
20. เรื่อง รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2562
21. เรื่อง หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
22. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 2563 และแนวโน้มปี 2564
23. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech)
24. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน
25. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน ว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เหมาะสมกับสังคมไทย ของคณะกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา
26. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา
27. เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น
28. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2564
29. เรื่อง รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-บราซิล
30. เรื่อง การจัดกิจกรรมพระมหาสมณานุสรณ์ รัฐบาลไทยและองค์การยูเนสโกร่วมฉลอง 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสพุทธศักราช 2564
31. เรื่อง ผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2
และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12
32. เรื่อง รายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาของรองนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการ (จำนวน 7 ราย)
33. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
35. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเอกอัครราชทูต (กระทรวงการต่างประเทศ)
36. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
37. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการองค์การสะพานปลา
38. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
39. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
*******************
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
1. เรื่อง ร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ พน. เสนอว่า
1. โดยที่ข้อ 5 วรรคหนึ่ง ของประกาศปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ได้กำหนดให้มีการทบทวนโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม และการพิจารณารูปแบบการให้สิทธิสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมของแต่ละภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมทุก ๆ 3 ปี นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ซึ่งครบกำหนด 3 ปี ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563
2. ในปี 2564 พน. อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิต
ปิโตรเลียม พน. โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงได้ดำเนินการทบทวนโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยและของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม และการพิจารณารูปแบบการให้สิทธิสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมของแต่ละภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศดังกล่าว โดยได้พิจารณาข้อมูลการเจาะหลุมสำรวจในปี 2560 – 2562 กับข้อมูลการเจาะหลุมสำรวจตั้งแต่ปี 2514 – 2559 เพื่อทบทวนโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย และโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมโดยปรากฏผลการทบทวน ดังนี้
2.1 โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทย
ร้อยละ 38 (ลดลง
จากร้อยละ 39)
2.2 โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมตะวันออกเฉียงเหนือ
ร้อยละ 13 (ลดลง
จากร้อยละ 14)
2.3 โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมเหนือและกลาง
ร้อยละ 30 (ลดลง
จากร้อยละ 31)
2.4 โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมทะเลอ่าวไทย
ร้อยละ 49 (ลดลง
จากร้อยละ 50)
2.5 โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม
ใต้บนบก และภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม
ทะเลอันดามัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้ ผลของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้ทำให้การพิจารณารูปแบบการให้สิทธิสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมของแต่ละภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
3. ประกอบกับมาตรา 23 วรรคสี่ บัญญัติให้การกำหนดให้ที่ใดสมควรที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม ในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือสัญญาจ้างบริการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ดังนั้น พน. จึงได้ยกร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม ในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงเอกสารหมายเลข 1 ท้ายประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2560 และให้ใช้เป็นเอกสารหมายเลข 1 ท้ายร่างประกาศในเรื่องนี้แทน ซึ่งคณะกรรมการปิโตรเลียมได้เห็นชอบร่างประกาศดังกล่าวแล้ว
จึงได้เสนอร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทานสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างประกาศ
ให้ยกเลิกเอกสารหมายเลข 1 ท้ายประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ
ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2560 และให้ใช้เอกสารหมายเลข 1 ท้ายร่างประกาศนี้แทน ดังนี้
ประเทศไทย/ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียม |
โอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ (ร้อยละ) |
ประกาศฯ |
ผลการทบทวน (ร่างประกาศ) |
1. ประเทศไทย |
39 |
38 |
2. ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมตะวันออกเฉียงเหนือ |
14 |
13 |
3. ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมเหนือและกลาง |
31 |
30 |
4. ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมใต้บนบก |
0 |
0 |
5. ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมทะเลอ่าวไทย |
50 |
49 |
6. ภูมิภาคธรณีวิทยาปิโตรเลียมทะเลอันดามัน |
0 |
0 |
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ ของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้ตรวจพิจารณาร่วมกับร่างพระราชกฤษฎีการะเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. .... ในคราวเดียวกัน ตามความเห็นของสำนักงาน ก.พ. แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ กห. เสนอ
3. ให้ กห. รับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาโครงสร้างหน่วยงานและระบบค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
เป็นการกำหนดอัตราเงินเดือน อัตราเงินประจำตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเดือน การให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง การให้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งที่ประจำอยู่ในต่างประเทศหรือที่มีเหตุพิเศษ เงินเพิ่มผู้ชำนาญงานและเงินเพิ่มอื่น เงินช่วยเหลือ เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการพลเรือนกลาโหมตามประเภทตำแหน่ง สายงาน และระดับที่กำหนดไว้ ได้แก่ ประเภททั่วไป ประเภทวิชาการ ประเภทอำนวยการ ประเภทบริหาร ประเภทสอนและวิจัย และกำหนดประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ
ทั้งนี้ กห. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ ให้ประชาชนได้รับทราบแล้วตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้จัดทำแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบสาระสำคัญ และกรอบระยะเวลาของกฎหมายลำดับรองที่จะออกตามร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้แล้ว จำนวน 6 ฉบับ
3. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย รับข้อเสนอของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนที่ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า พระพุทธศักราช 2464 และพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 ไปประกอบการพิจารณาในคราวเดียวกันด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เป็นการยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันหรือมีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นที่ตราขึ้นในภายหลัง รวม 7 ฉบับ ซึ่งการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งลดอุปสรรคในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยังเป็นการลดภาระต่อรัฐในเรื่องงบประมาณในการบังคับใช้กฎหมายและลดภาระต่อประชาชนผู้อยู่ภายใต้บังคับกฎหมาย ตลอดจนเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น รวม 7 ฉบับ ได้แก่
1. พระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก พุทธศักราช 2479
2. พระราชกำหนดควบคุมและดำเนินงานภารธุระการทำเหมืองแร่ทองคำ พุทธศักราช 2483
3. พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการไฟฟ้า พุทธศักราช 2484
4. พระราชบัญญัติกำหนดวิธีปฏิบัติแก่บุคคลซึ่งเผยแพร่ข่าวอันเป็นการทำให้เสียสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่มีสนธิสัญญาทางไมตรีกับประเทศไทย ในภาวะสงคราม พุทธศักราช 2488
5. พระราชบัญญัติกำหนดวิธีการระงับการค้ากำไรเกินสมควรจากราชการ พ.ศ.2491
6. พระราชบัญญัติจัดการฝึกและอบรมเด็กบางจำพวก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2501
7. พระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. 2548
4. เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญ รวม 3 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบ ดังนี้
1. อนุมัติ
(1) ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภททั่วไป ในหรือต่างกระทรวงหรือกรม พ.ศ. ....
(2) ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทวิชาการ ในหรือต่างกระทรวงหรือกรม พ.ศ. ....
(3) ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทอำนวยการ ในหรือต่างกระทรวงหรือกรม พ.ศ. ....
รวม 3 ฉบับ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
2. ให้สำนักงาน ก.พ. รับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
3. เห็นชอบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอร่างกฎ ก.พ. ต่อคณะรัฐมนตรี โดยถือเป็นหลักการว่าเมื่อร่างกฎ ก.พ. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป เว้นแต่สำนักงาน ก.พ. จะได้เสนอขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นการเฉพาะ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. เสนอว่า
1) โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้การย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญในหรือต่างกระทรวงหรือกรม แล้วแต่กรณี ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว สำนักงาน ก.พ. จึงได้ยกร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญ รวม 3 ฉบับ ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการย้าย การโอน และการเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญในหรือต่างกระทรวงหรือกรม สำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภททั่วไป ประเภทวิชาการ และประเภทอำนวยการ
2) ในคราวประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ) ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎ ก.พ. รวม 3 ฉบับ ในข้อ 1. แล้ว
3) สำนักงาน ก.พ. ได้นำร่างกฎ ก.พ. รวม 3 ฉบับ ในข้อ 1. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว โดยได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 และรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2563
4) โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 พฤศจิกายน 2551) เห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ที่ออกตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ได้ผ่านการพิจารณาจาก ก.พ. และ อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกรรมการกฤษฎีกาเกือบทั้งคณะ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าวอีก ดังนั้น เมื่อร่างกฎ ก.พ. รวม 3 ฉบับ ตามข้อ 1. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงสมควรให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับต่อไป โดยไม่ต้องส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีก
จึงได้เสนอร่างกฎ ก.พ. รวม 3 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ.
หัวข้อ |
ร่างกฎ ก.พ. ตาม (1)
(ประเภททั่วไป) |
ร่างกฎ ก.พ. ตาม (2)
(ประเภทวิชาการ) |
ร่างกฎ ก.พ. ตาม (3)
(ประเภทอำนวยการ) |
การย้ายและโอน |
การย้ายและโอนไปดำรงตำแหน่งในสายงานในกลุ่มตำแหน่งเดียวกันทุกระดับ
เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ |
การย้ายและโอนผู้ที่ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการในระดับเดียวกับระดับที่จะแต่งตั้ง
เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ |
|
ระดับปฏิบัติงาน
เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ
ระดับชำนาญงาน อาวุโส และทักษะพิเศษ
ผู้มีอำนาจดำเนินการได้เมื่อประเมินโดยคณะกรรมการที่ อ.ก.พ. กรม แต่งตั้ง |
ระดับปฏิบัติการ
ประเมินผลการปฏิบัติงาน การประเมินผลงาน การสอบข้อเขียน หรือวิธีการอื่น
ระดับชำนาญการ และชำนาญการพิเศษ
ให้คณะกรรมการที่ อ.ก.พ. กรม แต่งตั้งประเมินบุคคลและประเมินผลงาน
ระดับเชี่ยวชาญ
ให้คณะกรรมการที่ อ.ก.พ. กรม แต่งตั้งประเมินบุคคล และคณะกรรมการที่ อ.ก.พ. กระทรวง แต่งตั้งประเมินผลงาน
ระดับทรงคุณวุฒิ
ให้คณะกรรมการที่ อ.ก.พ. กระทรวง แต่งตั้งประเมินบุคคล และ ก.พ. ประเมินผลงาน |
การย้ายและโอนผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการในระดับเดียวกับระดับที่จะแต่งตั้ง
ใช้วิธีการเลือกสรรโดยการจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการกลั่นกรองและให้มีการคัดเลือกจากบัญชีรายชื่อดังกล่าว เพื่อเสนอผู้มีอำนาจสั่งบรรจุพิจารณา |
|
การย้ายและการโอนตำแหน่งประเภทวิชาการ อำนวยการ หรือบริหาร ไปแต่งตั้งดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป
กระทำได้เฉพาะผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งประเภททั่วไปมาก่อน โดยให้ย้ายหรือโอนมาแต่งตั้งในระดับที่ไม่สูงกว่าระดับที่เคยดำรงอยู่เดิม ในตำแหน่งประเภททั่วไป |
การย้ายและการโอนตำแหน่งประเภทอำนวยการ หรือบริหาร ไปแต่งตั้งดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ
กระทำได้เฉพาะผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการมาก่อน
- หากย้ายหรือโอนมาแต่งตั้งในระดับที่ไม่สูงกว่าระดับที่เคยดำรงอยู่เดิม ในตำแหน่งประเภทวิชาการ ให้ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการย้ายหรือการโอนของประเภทวิชาการ
- หากย้ายหรือโอนมาแต่งตั้งในระดับที่สูงกว่าระดับที่เคยดำรงอยู่เดิม ในตำแหน่งประเภทวิชาการ ให้ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการเลื่อนของประเภทวิชาการ |
|
การเลื่อน |
ระดับชำนาญงาน
ประเมินความรู้ความสามารถ
ระดับอาวุโส
ประเมินโดยคณะกรรมการที่ อ.ก.พ. กรมแต่งตั้ง
ระดับทักษะพิเศษ
แต่งตั้งได้เมื่อ อ.ก.พ. กระทรวง มีมติกำหนดตำแหน่งที่จะแต่งตั้งเป็นตำแหน่งระดับทักษะพิเศษ |
ระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ
ให้คณะกรรมการที่ อ.ก.พ. กรม แต่งตั้งประเมินบุคคลและผลงาน
ระดับเชี่ยวชาญ
ให้คณะกรรมการที่ อ.ก.พ. กรม แต่งตั้งประเมินบุคคลและคณะกรรมการที่ อ.ก.พ. กระทรวง แต่งตั้งประเมินผลงาน
ระดับทรงคุณวุฒิ
ให้คณะกรรมการที่ อ.ก.พ. กระทรวง แต่งตั้งประเมินบุคคล และ ก.พ. ประเมินผลงาน |
การเลื่อนให้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้น และระดับสูง
ใช้วิธีการเลือกสรรโดยการจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการกลั่นกรอง และให้มีการคัดเลือกจากบัญชีรายชื่อดังกล่าว เพื่อเสนอผู้มีอำนาจสั่งบรรจุพิจารณา |
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ พณ. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 มาตรา 66/1 กำหนดข้อยกเว้นให้บริษัทสามารถถือหุ้นของตนเองได้ โดยการซื้อหุ้นคืน รวมถึงการจำหน่ายหุ้น หรือการตัดหุ้นจดทะเบียน ส่วนที่จำหน่ายไม่ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
2. พณ. จึงได้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท พ.ศ. 2544 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืนการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท
3. โดยที่กฎกระทรวงในข้อ 2 ได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ทำให้ข้อกำหนดบางประการไม่ยืดหยุ่น และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดทุน อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของภาคเอกชน และการบริหารทางการเงินของบริษัทในการดำเนินการซื้อหุ้นคืน หรือจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาที่บริษัทจะทำโครงการซื้อหุ้นคืนครั้งใหม่ ข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาที่บริษัทจะจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน ประกอบกับเพื่อเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการของบริษัทกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดให้บริษัทต้องมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแล้ว เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาที่บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการซื้อหุ้นคืนแก่สาธารณะ
4. ดังนั้น เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารสภาพคล่องทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงสมควรแก้ไขกฎกระทรวงตามข้อ 2 โดยแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับข้อกำหนดดังกล่าวให้มีความชัดเจน เพื่อทำให้บริษัทสามารถบริหารทางการเงินที่มีสภาพคล่องส่วนเกินให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและตลาดทุนรวมถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการซื้อหุ้นคืน การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน และการตัดหุ้นที่ซื้อคืนของบริษัท (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืน โดยแก้ไขถ้อยคำให้ทันสมัยเป็นปัจจุบันสอดคล้องกับเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีหุ้นที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหุ้นที่จะซื้อคืนตามโครงการมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 10 ของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมด วิธีการซื้อหุ้นคืนอาจเสนอซื้อโดยผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยวิธีการจับคู่ซื้อขายโดยอัตโนมัติ หรือเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไปก็ได้ (จากเดิมที่ใช้ถ้อยคำว่า “เสนอซื้อในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ...”)
2.
ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาที่บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการซื้อหุ้นคืนแก่สาธารณะ โดยกำหนดให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อย ดังนี้ กำไรสะสมของบริษัทและความสามารถในการชำระหนี้ เหตุผลในการซื้อหุ้นคืน จำนวนหุ้นที่จะซื้อคืน โดยเปิดเผยแก่สาธารณชนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 14 วัน ก่อนวันซื้อหุ้นคืน และการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้กระทำโดยปิดประกาศ ณ ที่ทำการสำนักงานแห่งใหญ่และสำนักงานสาขาของบริษัท (ถ้ามี) และเพิ่มเติมข้อยกเว้นให้บริษัทไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการซื้อหุ้นคืนดังกล่าวแก่สาธารณชนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 14 วัน ก่อนวันซื้อหุ้นคืน ถ้าหุ้นที่ซื้อคืนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3.
แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะเวลาที่บริษัทจะทำโครงการซื้อหุ้นคืนครั้งใหม่ โดยลดระยะเวลาที่ห้ามบริษัทซื้อหุ้นคืนครั้งใหม่ ให้สามารถซื้อหุ้นคืนครั้งใหม่ได้เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือน (จากเดิม 1 ปี) นับแต่วันซื้อหุ้นคืนครบตามจำนวนที่กำหนดไว้แล้ว หรือวันสิ้นสุดตามระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนตามโครงการซื้อหุ้นคืนครั้งหลังสุดเสร็จสิ้น
4.
แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะเวลาที่บริษัทจะจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนโดยลดระยะเวลาให้บริษัทสามารถจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนได้ เมื่อพ้นกำหนด 3 เดือน (จากเดิม 6 เดือน) นับแต่การซื้อหุ้นคืนในแต่ละคราวเสร็จสิ้น และกรณีบริษัทจะจำหน่ายหุ้นที่ซื้อหุ้นคืนให้แก่กรรมการหรือพนักงานได้เมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่การซื้อหุ้นคืนในแต่ละคราวเสร็จสิ้น
5.
แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืน โดยเพิ่มให้สามารถเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม กรรมการ หรือพนักงานของบริษัทได้ โดยปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
6.
กำหนดบทเฉพาะกาล
6.1 กรณีบริษัทจะเปลี่ยนแปลงโครงการที่ประกาศไว้แล้ว กำหนดให้บริษัทต้องประกาศรายละเอียดโครงการที่เปลี่ยนแปลงให้สาธารณชนทราบก่อน จึงจะดำเนินการตามโครงการที่เปลี่ยนแปลงนั้นได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสาธารณชนที่เกี่ยวข้อง
6.2 กำหนดให้การซื้อหุ้นตามโครงการซื้อหุ้นคืนครั้งใหม่ได้รับการยกเว้นกำหนดระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนตามข้อ 3 โดยบริษัทสามารถจัดทำโครงการซื้อหุ้นคืนครั้งใหม่ได้หลังจากที่ร่างกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องย้อนกลับไปนับเวลาการซื้อหุ้นคืนในรอบระยะเวลา 6 เดือนก่อนหน้านี้ แต่หากการซื้อหุ้นคืนมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ 10 ของทุนชำระจะต้องได้รับอนุญาตจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองและแจ้งให้ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ของบริษัททราบด้วย
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ มท. เสนอว่า
1. เนื่องจากงาน ประเภท และขนาดของงาน ในสาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม แต่ละสาขา ได้แก่ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมเคมี ตามกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 ยังไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าด้านวิทยาการและเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนคุณภาพของสิ่งแวดล้อม สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับลักษณะงาน ประเภทและขนาดของงาน ในสาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมดังกล่าวให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
2. มท. ได้นำร่างกฎกระทรวงที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันการศึกษา สมาคมวิชาชีพ ผู้ประกอบการภาคเอกชนภาครัฐ สมาชิกสภาวิศวกร และประชาชนทั่วไปแล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดงาน ประเภท และขนาดของงานในสาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรมเคมี เพื่อให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าด้านวิทยาการและเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม ดังนี้
1. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
สาขาวิศวกรรมโยธา เช่น
1.1 อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป หรือโครงสร้างของอาคารที่ชั้นใดชั้นหนึ่งมีความสูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป หรืออาคารที่มีระยะห่างระหว่างศูนย์กลางเสาหรือสิ่งรองรับอื่นตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป หรือองค์อาคารยื่นจากขอบนอกของที่รองรับตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป
1.2 อัฒจันทร์ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของพื้นอัฒจันทร์สูงจากระดับฐานหรือพื้นดินที่ก่อสร้างตั้งแต่ 2.50 เมตรขึ้นไป
1.3 อุโมงค์ส่งน้ำ ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ หรือช่องระบายน้ำ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางภายในตั้งแต่ 0.80 เมตรขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่หน้าตัดตั้งแต่ 0.50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือที่มีอัตราการไหลของน้ำตั้งแต่ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีขึ้นไป
1.4 งานวางแนวและกำหนดระดับของทางรถไฟ ทางรถสาธารณะ ทางหลวง ทางสาธารณะ หรือทางวิ่งทางขับ หรือลานจอดของสนามบินทุกขนาด และงานต่อเติมรื้อถอน หรือดัดแปลงอาคารทุกประเภท ที่ทำให้สัดส่วนของอาคารผิดไปจากแบบแปลน
1.5 โครงสร้างที่มีลักษณะเป็นหอ ปล่อง หรือศาสนวัตถุที่มีความสูงตั้งแต่ 6 เมตรขึ้นไป โครงสร้างสะพานทุกประเภทที่มีระยะห่างระหว่างศูนย์กลางเสาหรือตอม่อช่วงใดช่วงหนึ่งยาวตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป และโครงสร้างที่มีการเก็บกักของไหล เช่น ถังเก็บน้ำ ถังเก็บน้ำมัน หรือสระว่ายน้ำ ที่มีความจุตั้งแต่ 50 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป
2. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ เช่น
2.1 การทำเหมือง การทำเหมืองใต้ดิน การทำเหมืองในทะเล ตามกฎหมายว่าด้วยแร่ทุกขนาด การเจาะอุโมงค์หรือช่องเปิดในหินหรือแร่ทุกขนาด และการแต่งแร่หรือการแยกวัสดุต่าง ๆ ออกจากของที่ใช้แล้ว โดยใช้กำลังเครื่องจักรทุกขนาด
2.2 การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนทำเหมือง การปรับคุณภาพแร่หรือวัสดุด้วยกรรมวิธีแต่งแร่ การฟื้นฟูสภาพพื้นที่ภายหลังการทำเหมืองหรือการปิดเหมืองและการควบคุมการพังทลายของดินหรือหินในเขตเหมืองแร่ทุกประเภทและทุกขนาด
2.3 การผลิตโลหะสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปด้วยกระบวนการขึ้นรูปต่าง ๆ และการปรับปรุงสมบัติโลหะด้วยกรรมวิธีการอบชุบทางความร้อน การตกแต่งผิว การเคลือบผิวโลหะที่ใช้คนงานตั้งแต่สามสิบคนขึ้นไป
3. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
สาขาวิศวกรรมเครื่องกล เช่น
3.1 งานวางโครงการเครื่องจักรกล เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่น ภาชนะรับแรงดัน เตาอุตสาหกรรม ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่ใช้งานในอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรืออาจมีผู้ใช้สอยพื้นที่ตั้งแต่สองร้อยคนขึ้นไป
3.2 เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือความร้อนที่มีขนาดทำความเย็นหรือความร้อนตั้งแต่ 350 กิโลวัตต์ต่อโครงการขึ้นไป การจัดการพลังงานที่มีการใช้พลังงานตั้งแต่ 20 ล้านเมกะจูลต่อปีขึ้นไป และระบบดับเพลิงและระบบป้องกันอัคคีภัยที่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป
3.3 งานออกแบบและคำนวณเครื่องจักรกลที่มีขนาดกำลังตั้งแต่ 7.50 กิโลวัตต์ต่อเครื่องขึ้นไป เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่นหรือภาชนะรับแรงดันทุกขนาด เตาอุตสาหกรรมที่มีขนาดอัตราความร้อนตั้งแต่ 40 กิโลวัตต์ขึ้นไป เครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือความร้อนที่มีขนาดตั้งแต่ 25 กิโลวัตต์ต่อเครื่องขึ้นไป หรือเพื่อประกอบเป็นระบบทำความเย็นหรือความร้อนที่มีขนาดตั้งแต่ 70 กิโลวัตต์ขึ้นไป
3.4 กำหนดระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันเกจตั้งแต่ 500 กิโลปาสกาลขึ้นไป หรือมีสุญญากาศเกจต่ำกว่าลบ 50 กิโลปาสกาล
3.5 งานพิจารณาตรวจสอบลิฟต์โดยสารและระบบของไหลในท่อรับแรงดันสำหรับแก๊สเชื้อเพลิงในยานพาหนะทุกขนาด งานอำนวยการใช้เครื่องจักรกลที่มีขนาดกำลังรวมกันตั้งแต่ 500 กิโลวัตต์ต่อระบบ หรือขนาดกำลัง 250 กิโลวัตต์ต่อเครื่องขึ้นไป เครื่องกำเนิดไอน้ำหรือไออย่างอื่นที่มีความดันเกจตั้งแต่ 500 กิโลปาสกาลขึ้นไป หรือมีอัตราการผลิตไอน้ำหรือไออย่างอื่นตั้งแต่ 20,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมงต่อเครื่องขึ้นไป หรือมีอัตราการผลิตอย่างอื่นรวมกันตั้งแต่ 60,000 กิโลกรัมต่อชั่วโมงขึ้นไป
3.6 ภาชนะรับแรงดันที่มีความดันเกจตั้งแต่ 1,300 กิโลปาสกาลขึ้นไป หรือมีปริมาตรตั้งแต่ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อหน่วยขึ้นไป เตาอุตสาหกรรมที่มีขนาดอัตราความร้อนตั้งแต่ 1,500 กิโลวัตต์ต่อเตาขึ้นไป การจัดการพลังงานที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์หรือพลังงานความร้อนตั้งแต่ 20 ล้านเมกะจูลต่อปีขึ้นไป และเครื่องปรับภาวะอากาศหรือเครื่องทำความเย็นหรือความร้อนที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 1,750 กิโลวัตต์ขึ้นไป
3.7 ระบบของไหลในท่อรับแรงดันหรือสุญญากาศที่มีความดันเกจตั้งแต่ 500 กิโลปาสกาลขึ้นไป หรือมีสุญญากาศเกจต่ำกว่าลบ 50 กิโลปาสกาล
4. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เช่น
4.1 งานไฟฟ้ากำลัง โครงการระบบการผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือที่มีขนาดแรงดันสูงสุดระหว่างสายตั้งแต่ 3,300 โวลต์ขึ้นไประบบส่ง ระบบจำหน่าย ระบบการใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีขนาดแรงดันระหว่างสายตั้งแต่ 12 กิโลโวลต์ขึ้นไป ระบบและเครื่องจักรกลไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 100 กิโลวัตต์ขึ้นไป และการจัดการพลังงานที่มีขนาดตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป
4.2 งานออกแบบและคำนวณระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดตั้งแต่ 300 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีขนาดแรงดันระหว่างสายตั้งแต่ 3,300 โวลต์ขึ้นไป ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษหรืออาคารชุด ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารประเภทควบคุมการที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป และระบบและเครื่องจักรกลไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 7.50 กิโลวัตต์ขึ้นไป เว้นแต่อาคารสำหรับใช้เก็บวัตถุอันตรายเฉพาะวัตถุระเบิดได้และวัตถุไวไฟทุกขนาด
4.3 งานควบคุมการสร้างหรือการผลิตระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีขนาดแรงดันระหว่างสายตั้งแต่ 12 กิโลโวลต์ขึ้นไป ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารชุด ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารประเภทควบคุมที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป และระบบและเครื่องจักรกลไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 20 กิโลวัตต์ขึ้นไป เว้นแต่อาคารสำหรับใช้เก็บวัตถุอันตรายเฉพาะวัตถุระเบิดได้และวัตถุไวไฟทุกขนาด
4.4 งานพิจารณาตรวจสอบระบบไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีแรงดันสูงสุดระหว่างสายตั้งแต่ 12 กิโลโวลต์ขึ้นไป ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษหรืออาคารชุด ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารสาธารณะที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป ระบบไฟฟ้าสำหรับอาคารประเภทควบคุมที่มีขนาดการใช้ไฟฟ้ากำลังรวมกันตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป เว้นแต่อาคารสำหรับใช้เก็บวัตถุอันตรายเฉพาะวัตถุระเบิดได้และวัตถุไวไฟทุกขนาด
4.5 งานอำนวยการใช้ระบบหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีขนาดตั้งแต่ 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป หรือมีขนาดแรงดันสูงสุดระหว่างสายตั้งแต่ 12 กิโลโวลต์ขึ้นไป ระบบและเครื่องจักรกลไฟฟ้าที่มีขนาดรวมกันตั้งแต่ 500 กิโลวัตต์ขึ้นไป และระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยและระบบป้องกันฟ้าผ่าสำหรับอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่พิเศษ หรืออาคารชุด
4.6
งานไฟฟ้าสื่อสาร ได้แก่ งานวางโครงการ งานออกแบบและคำนวณ งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต และงานพิจารณาตรวจสอบ ของระบบที่มีสถานีวิทยุคมนาคมที่ใช้คลื่นความถี่ตามตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติโดยใช้กำลังส่งออกอากาศสมมูลแบบไอโซทรอปิก ต่อคลื่นพาห์ต่อสถานีตั้งแต่ 30 วัตต์ขึ้นไป ระบบสายสัญญาณที่รองรับระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ ระบบสั่งการระยะไกล ระบบโทรมาตร หรือระบบควบคุมระยะไกลในการขนส่งสาธารณะ
4.7 งานอำนวยการใช้ระบบที่มีสถานีวิทยุคมนาคมที่ใช้คลื่นความถี่ตามตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติใช้กำลังส่งออกอากาศสมมูลแบบไอโซทรอปิกต่อคลื่นพาห์ต่อสถานีตั้งแต่ 3.30 กิโลวัตต์ขึ้นไป
5. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
สาขาอุตสาหการ เช่น
5.1 โรงงานที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 50 แรงม้า ระบบการผลิต การสร้างหรือการประกอบสิ่งใด ๆ ที่ใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป
5.2 ระบบสนับสนุนการผลิตหรือระบบความปลอดภัย ระบบกึ่งอัตโนมัติ ระบบอัตโนมัติ หรือระบบอัจฉริยะ สำหรับทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ทดสอบ เก็บรักษา หรือทำลายสิ่งใด ๆ หรือสิ่งก่อสร้างและเครื่องจักรที่ใช้ควบคุมมลพิษ หรือระบบระบายอากาศ ระบบแสงสว่าง และระบบอย่างอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือกระบวนการผลิตที่มีปฏิกิริยาเคมี ใช้สารไวไฟ ใช้สารอันตราย หรือเครื่องจักรที่ใช้ในระบบการผลิต ที่ใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปหรือที่ใช้เงินลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยแรงงาน
5.3 การถลุงแร่และการทำโลหะให้บริสุทธิ์ ในกรณีที่เป็นดีบุกตั้งแต่ 2 ตันต่อวันขึ้นไป ในกรณีที่เป็นตะกั่ว สังกะสี ทองแดง หรือพลวง ตั้งแต่ 5 ตันต่อวันขึ้นไป หรือในกรณีที่เป็นเหล็กหรือเหล็กกล้าตั้งแต่ 10 ตันต่อวันขึ้นไป หรือในกรณีที่ทำให้เกิดกากกัมมันตรังสี
5.4 ระบบดับเพลิงที่มีมูลค่ารวมกันตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่ป้องกันอัคคีภัยตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป
6. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เช่น
6.1 ระบบประปาที่มีอัตรากำลังผลิตสูงสุดตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป ระบบน้ำสะอาดสำหรับชุมชนหรืออาคารที่มีอัตราการผลิตหรืออัตราการจ่ายน้ำสูงสุดตั้งแต่ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป ระบบน้ำเสียและระบบการนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่สำหรับชุมชนหรืออาคารที่สามารถรองรับน้ำเสียในอัตรากำลังสูงสุดตั้งแต่ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป
6.2 ระบบระบายน้ำสำหรับพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำรวมกันตั้งแต่ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศที่มีปริมาตรการระบายอากาศตั้งแต่ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ระบบการจัดการมลภาวะทางเสียงหรือความสั่นสะเทือนสำหรับโรงงานหรืออาคารสาธารณะที่มีค่าเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ระบบการฟื้นฟูสภาพดินหรือฟื้นฟูสภาพน้ำ ที่มีการปนเปื้อนที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 3,000 ตารางเมตรขึ้นไป
6.3 ระบบการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนที่มีปริมาณขยะมูลฝอยตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมต่อวันขึ้นไป โรงงาน อาคารสาธารณะ หรืออาคารขนาดใหญ่ที่มีปริมาณขยะมูลฝอยตั้งแต่ 2,000 กิโลกรัมต่อวันขึ้นไป ระบบน้ำบาดาลหรือระบบเติมน้ำลงในชั้นน้ำบาดาลที่มีปริมาณตั้งแต่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป
7. แก้ไขเพิ่มเติมประเภทและขนาดของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
สาขาวิศวกรรมเคมี เช่น
7.1 กระบวนการผลิตของโรงงานหรือสถานประกอบการที่อาศัยปฏิกิริยาเคมีเพื่อให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำลังตั้งแต่ 500 กิโลวัตต์หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือก่อให้เกิดสารพิษ หรือสารไวไฟ หรือวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายหรือที่อาศัยปฏิกิริยาเคมีภายใต้ความดันเกจตั้งแต่ 2 บรรยากาศขึ้นไป หรือความดันต่ำกว่า 1 บรรยากาศสัมบูรณ์
7.2 กระบวนการจัดการหรือบำบัดของเสียจากกระบวนการผลิตของโรงงานหรือสถานประกอบการที่ใช้สารเคมีตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีที่ใช้กำลังในการบำบัดของเสียตั้งแต่ 20 กิโลวัตต์หรือเทียบเท่าขึ้นไป ระบบการเก็บ ขนส่ง หรือขนถ่ายซึ่งวัตถุอันตรายมีขนาดตั้งแต่ 20 เมตริกตันขึ้นไป
7.3 กระบวนการผลิตที่มีหรือประกอบด้วยอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หอกลั่น หอดูดซับ หอดูดซึม ถังตกตะกอน อุปกรณ์แยกสาร อุปกรณ์แยกขนาดที่ใช้กำลังตั้งแต่ 7.50 กิโลวัตต์หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือเครื่องต้มระเหยที่มีปริมาณความจุเกิน 500 ลิตรขึ้นไป หรือที่ใช้กำลังตั้งแต่ 7.50 กิโลวัตต์หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือเครื่องปฏิกรณ์ที่อาศัยปฏิกิริยาเคมีภายใต้ความดันเกจตั้งแต่ 3 บรรยากาศขึ้นไปหรือต่ำกว่า 1 บรรยากาศสัมบูรณ์โดยใช้กำลังตั้งแต่ 7.50 กิโลวัตต์หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือมีกำลังการผลิตตั้งแต่ 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมงหรือมีขนาดตั้งแต่ 1,000 ลิตรขึ้นไป
7. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าแผ่นม้วนรีดร้อน สำหรับงานท่อต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าแผ่นม้วนรีดร้อน สำหรับงานท่อต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าแผ่นม้วนรีดร้อน สำหรับงานท่อต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ....ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เป็นการออกกฎกระทรวงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าแผ่นม้วนรีดร้อน สำหรับงานท่อ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอ้างอิง การพัฒนาเทคโนโลยี การทำและการใช้ภายในประเทศ รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าแผ่นม้วนรีดร้อน สำหรับงานท่อต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 1735 – 2563 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 5806 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่องยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าคาร์บอนรีดร้อนแผ่นม้วนและแผ่นแถบสำหรับงานท่อ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าแผ่นม้วนรีดร้อนสำหรับงานท่อ ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
8. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องเป็นไปตามมาตรฐาน รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหัวนมยางสำหรับขวดนม ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหัวนมยางดูดเล่นต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหัวนมยางสำหรับขวดนม ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. ... และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหัวนมยางดูดเล่นต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เป็นการออกกฎกระทรวงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหัวนมยางสำหรับขวดนม และหัวนมยางดูดเล่นให้มีความเหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน และสอดคล้องกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหัวนมยางสำหรับขวดนม ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหัวนมยางสำหรับขวดนม ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน
2.
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหัวนมยางดูดเล่นต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหัวนมยางดูดเล่น ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน
3. ให้ร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
9. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ในส่วนของงานโยธา ของกรมทางหลวง
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กรมทางหลวงดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว ในส่วนของงานโยธา วงเงินค่าก่อสร้าง 19,700 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางตามแผนประมาณการรายจ่ายที่จะขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง (กค.) ภายหลังได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายลข 82 สายบางขุนเทียน - ปากท่อ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดและแบ่งเบาปริมาณจราจรบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) และเพิ่มโครงข่ายและเป็นทางเลือกการเดินทางสู่พื้นที่ภาคใต้ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 โดยกระทรวงคมนาคม (กรมทางหลวง) ได้วางแผนการดำเนินงานในส่วนแรกช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย - บ้านแพ้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธาในระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย ด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2565
2. ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้เป็นการขออนุมัติดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 2 ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ในส่วนของงานโยธา ระยะทางรวม 16.4 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณกิโลเมตร 20 + 295.417 ของทางหลวงหมายเลข 35 ในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร และสิ้นสุดบริเวณกิโลเมตร 36 + 645 ของทางหลวงหมายเลข 35ในเขตพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร วงเงินค่าก่อสร้างรวม 19,700 ล้านบาท ระยะดำเนินการ ปี พ.ศ. 2564 - 2567 โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับ ร้อยละ 19.7 ประกอบกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 ได้มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วยแล้ว สำหรับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการ นั้นใช้จ่ายจากเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง ซึ่งคณะกรรมการบริหารเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางในคราวประชุมครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ได้เห็นชอบให้บรรจุโครงการฯ ไว้ในแผนปฏิบัติการเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง กรมทางหลวง ระยะยาว 5 ปี พ.ศ. 2563 – 2567 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2564) แล้ว
10. เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้แก่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) จำนวน 188.95 ล้านบาท ตามที่ พณ. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการดูดซับผลผลิตในกรอบปริมาณ 5 ล้านตัน เป็นระยะเวลา 2 - 6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐที่ผู้ประกอบการค้าข้าวเป็นลูกค้าอยู่ ตามมูลค่าข้าวเปลือกที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เก็บสต๊อกไว้ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อกไว้นับแต่วันที่รับซื้อ (เบิกจ่ายเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก (ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ) เป็นผู้พิจารณาอนุมัติจำนวนเงินชดเชย
2. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกปีการผลิต 2560/61 และปีการผลิต 2561/62 มีผลการดำเนินการและการเบิกจ่ายเงิน ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2563 ดังนี้
หัวข้อ |
โครงการฯ ปี 2560/61 |
โครงการฯ ปี 2561/62 |
รวม |
1. ผู้เข้าร่วมโครงการ (ราย) |
305 |
270 |
575 |
2. เก็บสต๊อกสูงสุด (ล้านตัน) |
3.79 |
3.23 |
7.02 |
3. รายละเอียดงบประมาณ
(ล้านบาท) |
|
|
|
3.1 กรอบวงเงินรวม |
940.00 |
572.00 |
1,512.00 |
3.2 คณะอนุกรรมการ
พิจารณาชดเชยดอกเบี้ยฯ
อนุมัติเงินชดเชย |
421.61 |
445.76 |
867.37 |
3.3 เบิกจ่ายแล้ว |
421.39 |
257.03 |
678.42 |
3.3.1 งบประมาณ
ประจำปี 2563 |
157.11 |
157.32 |
314.43 |
3.3.2 งบกลาง |
264.28 |
- |
264.28 |
3.3.3 งบกองทุนรวม
เพื่อช่วยเหลือ
เกษตรกร |
- |
99.71 |
99.71 |
3.4 คงเหลือยังไม่ได้
รับจัดสรร (3.2) – (3.3) |
0.22 |
188.73 |
188.95 |
ทั้งนี้
รวมวงเงินชดเชยดอกเบี้ยที่คณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยฯ อนุมัติแล้ว แต่ยังไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 188.95 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการขอรับเงินชดเชยดอกเบี้ยของผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองจากคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด 14 ราย ใน 4 จังหวัด จำนวน 18.10 ล้านบาท (ยังไม่ได้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณมาในครั้งนี้)
3. สำนักงบประมาณแจ้งว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้ พณ. โดยกรมการค้าภายในใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 188.95 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2560/61 จำนวน 0.22 ล้านบาท และปีการผลิต 2561/62 จำนวน 188.73 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายในงบรายจ่ายอื่น
11. เรื่อง ขอปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่าย และค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่มีราคาสูงขึ้น โดยให้ปรับอัตราค่าอาหารกลางวันของนักเรียนทุกคน ตั้งแต่เด็กเล็ก - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นอัตรา 21 บาท/คน/วัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป และเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นค่าอาหารกลางวัน ปรับมาใช้ในอัตราดังกล่าวด้วยเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนดังกล่าว มีค่าบริหารจัดการในการประกอบอาหารในสัดส่วนที่เพียงพอที่หน่วยงานจะสามารถบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้มีคุณภาพ มีความคุ้มค่า และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยแต่ละหน่วยงานสามารถบริหารจัดการได้ตามความเหมาะสมสอดคล้องกับขนาดโรงเรียนและจำนวนนักเรียนในขั้นตอนการบริหารงบประมาณ
ทั้งนี้ การขอปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนในครั้งนี้ จะมีผลต่อภาระงบประมาณรายจ่ายประจำเพิ่มสูงขึ้น และสัดส่วนเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีความคุ้มค่า โดยคำนึงถึงความเสมอภาคตามความจำเป็นของกลุ่มเป้าหมายในทุกสังกัด และความซ้ำซ้อนกับการจัดสวัสดิการของรัฐในกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการใช้จ่ายให้ครอบคลุมจากทุกแหล่งเงิน อาทิ ดอกผลของเงินกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา การสนับสนุนจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา และรายได้/เงินสะสม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาสมทบค่าอาหารกลางวันในส่วนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการกำหนดแนวทางให้ชัดเจนในทุกขั้นตอนสำหรับการบริหารโครงการอาหารกลางวันให้มีคุณภาพทางโภชนาการ มีความปลอดภัย มีการวางแผนการผลิตทางการเกษตร เพื่อใช้ในทุกหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ตลอดจนให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในทุกมิติสำหรับการสนับสนุนโครงการดังกล่าวด้วย ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งงบประมาณ พิจารณาปรับเพิ่มการเสนอขอจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน
ให้แก่นักเรียนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนโรงเรียน 51,637 โรงเรียน จำนวนนักเรียน 6,147,469 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2563)
ค่าอาหารกลางวันที่เสนอเพิ่มขึ้นตามจำนวน และขนาดโรงเรียน จำนวน 200 วัน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สถ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา และจำนวน 252 วัน สำหรับโรงเรียนในสังกัด สถ. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเมืองพัทยา
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เนื่องจากราคาวัตถุดิบและต้นทุนที่ใช้ในการประกอบอาหารมีราคาสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราค่าอาหารกลางวันที่รัฐบาลสนับสนุนอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งการประกอบอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนจะต้องคำนึงถึงปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการเป็นสำคัญ
12. เรื่อง ขออนุมัติการเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณและขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณและขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
จากเดิมก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2567 วงเงิน 22,046,000 บาท
เป็นก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2575 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2575 วงเงินทั้งสิ้น 81,997,801 บาท (เพิ่มขึ้น 59,951,801 บาท) ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเช่าที่ดินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้ ศย. ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ได้รับจัดสรรไว้แล้ว สมทบกับเงินรายได้ค่าธรรมเนียมศาล ส่วนภาระงบประมาณในปีต่อไป เห็นควรให้จัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายในแต่ละปีให้ครบถ้วนตามวงเงินในสัญญาเช่าที่ดินต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
ศย. รายงานว่า
1. สัญญาเช่าที่ดินกับ รฟท. บริเวณสถานีบ้านฉิมพลี – ชุมทางตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร สำหรับก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลพื้นที่ส่วนเพิ่มพร้อมสาธารณูปโภคในพื้นที่เพื่อทำทางเข้า - ออก และปรับปรุงภูมิทัศน์ (ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารที่ทำการศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลอาญาตลิ่งชัน สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 รวมระยะเวลา 15 ปี จำนวน 3 ฉบับ ได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 ศย. จึงได้แจ้งความประสงค์ขอเช่าที่ดินต่อไปยัง รฟท. โดยขอให้รวมสัญญาเช่า ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวเป็นฉบับเดียวกัน และให้คำนวณอัตราค่าเช่ากำหนดระยะเวลาเช่า 14 ปี 6 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2576
2. รฟท. พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรต่อสัญญาเช่าให้กับ ศย. โดยมีกำหนด 13 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2575 (ปรับอัตราค่าเช่าเพิ่มร้อยละ 5 ทุกปี) และให้ ศย. ลงนามบันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าพร้อมชำระค่าเช่าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้กับ รฟท.
3. การก่อหนี้ผูกพันการเช่าที่ดิน รฟท. ตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของอาคารที่ทำการศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลอาญาตลิ่งชัน สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ระยะเวลา 13 ปี โดยอัตราค่าเช่ามีการปรับเพิ่มร้อยละ 5 ต่อตารางเมตรต่อปี ตามอัตราค่าเช่าที่ได้รับแจ้งจาก รฟท. โดยค่าเช่าที่ดินปี 2563 เบิกจ่ายจากเงินค้างเบิกข้ามปีงบประมาณ ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการเงิน พ.ศ. 2545
13. เรื่อง การขอขยายเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติดังนี้
1. เห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาในส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรการภาษีต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป
2. อนุมัติในหลักการ
(1) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินกรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
(2) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการโอนและการจำนองห้องชุดตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
3. อนุมัติวงเงินงบประมาณจำนวน 507.33 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้น ให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
4. การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินงบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ต่อไป
5. การขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ถึง พ.ศ. 2566 เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 ให้ ศอ.บต. ไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เห็นควรให้ ศอ.บต. พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป็นลำดับแรก และให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. โดยที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้
ประกอบด้วยจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา) เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และมีมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจดังกล่าว เพื่อจูงใจผู้ประกอบกิจการในพื้นที่และกระตุ้นให้มีการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว โดย กค. มีหน้าที่รับผิดชอบมาตรการในส่วนที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย
มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียม มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านประกันภัย ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้มีการขยายระยะเวลาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย กค. ได้ดำเนินการมาตรการในส่วนที่เกี่ยวข้องสรุปได้ ดังนี้
1.1
มาตรการด้านภาษีและค่าธรรมเนียม ได้แก่
(1)
มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่ผู้มีเงินได้ที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และ
มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย และภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 624) พ.ศ. 2560
(2)
มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เหลือร้อยละ 0.01 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการโอนและการจำนองห้องชุดตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
โดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
(3)
มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้
หักค่าใช้จ่ายและรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าซื้อและติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ได้เป็นจำนวน 2 เท่า โดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 625) พ.ศ. 2560
(4)
มาตรการส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สิน โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจสามารถ
หักรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการในจังหวัดดังกล่าว แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายดังกล่าว โดยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 626) พ.ศ. 2560
(5)
มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 627) พ.ศ. 2560
(6)
มาตรการส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงไปทำงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ให้มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้
และมาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจกับกิจการที่มีศักยภาพในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่มีสถานประกอบกิจการอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนร่วมได้เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายดังกล่าว
โดยมีผลบังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 628) พ.ศ. 2560
1.2
มาตรการด้านการเงิน
(1)
มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ธ.ก.ส. ในส่วนของเงินต้นที่ไม่เกิน 200,0000 บาทต่อราย
เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
(2)
โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รายย่อย) กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563
1.3
มาตรการด้านการประกันภัย
(1)
โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ โดยชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 0.3 - ร้อยละ 3 สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้าย และชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุของพนักงานที่สถานประกอบการทำประกันภัยให้
ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
(2)
โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับการประกันอัคคีภัย การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ผู้ประกอบการ
ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
2. ต่อมา ศอ.บต. ขอให้ กค. พิจารณา
ขยายระยะเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ออกไปอีก 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
3.
กค. พิจารณาแล้วเห็นควรขยายระยะเวลาการดำเนินการมาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิต การให้บริการ และการจ้างงาน อันเป็นการสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนที่สำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
4. ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี (28 พฤศจิกายน 2560) เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ธ.ก.ส. เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยที่มาตรการดังกล่าวได้สิ้นสุดไปแล้ว ธ.ก.ส. ได้มีการสำรวจข้อมูลในพื้นที่พบว่าลูกค้า ธ.ก.ส. ยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพ อีกทั้งสินค้าเกษตรและพืชผลการเกษตรราคาตกต่ำ นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้น
เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ในคราวประชุมครั้งที่ 16/2563 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563
เห็นชอบให้ขยายระยะเวลา มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้า ธ.ก.ส. ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
5. คณะกรรมการตลาดของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2563 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563
เห็นชอบให้ขยายกรอบวงเงินและระยะเวลาดำเนินโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากกรอบวงเงินเดิม 5,000 ล้านบาท
เป็น 8,000 ล้านบาท และขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2563
เป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2565 โดย ธอส. ไม่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาล
สาระสำคัญของมาตรการและร่างประกาศ
1.
มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจ ประกอบด้วย
1.1
มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย |
· ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
|
วิธีดำเนินงาน |
· ลดภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่มีสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ให้สามารถนำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) และ (8) มาคำนวณในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดเงินได้พึงประเมินโดยเลือกไม่ต้องนำเงินได้นั้นไปรวมคำนวณภาษีปลายปี สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในปี 2564 ถึงปี 2566 |
การสูญเสียรายได้ |
· คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี |
1.2
มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้มีเงินได้ที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย |
· ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ |
วิธีดำเนินงาน |
· ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จากอัตราร้อยละ 20 เหลืออัตราร้อยละ 3 ของกำไรสุทธิให้กับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ |
การสูญเสียรายได้ |
· คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี |
1.3
มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย |
· ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ |
วิธีดำเนินงาน |
· ลดอัตราภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์โดยลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเหลือร้อยละ 0.1 ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปี 2566 |
การสูญเสียรายได้ |
· คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณ 330 ล้านบาทต่อปี |
1.4
มาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย |
· ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินธุรกิจเฉพาะ ซึ่งมีรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ |
วิธีดำเนินงาน |
· ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ เหลือร้อยละ 0.1 สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เป็นทางการค้าหรือกำไร |
การสูญเสียรายได้ |
· คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้ภาษีธุรกิจจำเพาะประมาณ 350 ล้านบาทต่อปี |
ทั้งนี้ การดำเนินการตาม ข้อ 1.1 – ข้อ 1.4 จะดำเนินการโดยการตรา
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 1 ฉบับ
1.5
มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินและตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
กลุ่มเป้าหมาย |
· ผู้มีหน้าที่เสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน และตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด |
วิธีดำเนินงาน |
· ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุด ร้อยละ 0.01 สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดโดยการขาย แลกเปลี่ยน ให้ และการโอนโดยทางมรดกให้แก่ทายาท หรือการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดที่ตั้งอยู่ในท้องที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ |
การสูญเสียรายได้ |
· คาดว่าจะสูญเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 230 ล้านบาทต่อปี |
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการได้โดยการออก
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีการโอนและการจำนองห้องชุดตามมาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด รวม 2 ฉบับ
2.
มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย |
· ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำหรือใช้เป็นที่ผลิตสินค้าเป็นประจำ |
วิธีดำเนินงาน |
· กำหนดให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักค่าใช้จ่ายค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ณ สถานประกอบกิจการนั้น ได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายดังกล่าว สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่ปี 2564 ถึงปี 2566 |
การสูญเสียรายได้ |
· คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี |
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการได้โดยการตรา
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 1 ฉบับ
3.
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน
3.1
มาตรการส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สินของกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย |
· ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำหรือใช้เป็นที่ผลิตสินค้าเป็นประจำ |
วิธีดำเนินงาน |
· กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานะประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักรายจ่ายการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการในจังหวัดดังกล่าว แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายดังกล่าว |
การสูญเสียรายได้ |
· คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี |
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการได้โดยการตรา
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 1 ฉบับ
3.2
มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย |
· ผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการ |
วิธีดำเนินงาน |
· ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด |
การสูญเสียรายได้ |
· คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี |
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะดำเนินการได้โดยการตรา
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 1 ฉบับ
3.3
มาตรการส่งเสริมให้บุคลากรผู้มีความสามารถสูงนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจไปทำงานในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย |
· ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นแรงงานฝีมือและผู้เชี่ยวชาญที่อยู่นอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ซึ่งเข้าไปทำงานประจำในกิจการที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ |
วิธีดำเนินงาน |
· กำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินซึ่งมีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่น ๆ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา |
การสูญเสียรายได้ |
· คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 60 ล้านบาทต่อปี |
3.4
มาตรการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันระหว่างกิจการที่มีศักยภาพนอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจกับกิจการที่จัดตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
กลุ่มเป้าหมาย |
· สถานประกอบกิจการที่มีศักยภาพซึ่งจัดตั้งอยู่นอกเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ |
วิธีดำเนินงาน |
· ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่มีสถานประกอบกิจการอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สามารถหักรายจ่ายเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายจริงสำหรับรายจ่ายดังนี้ (1) เงินลงทุนในหุ้นหรือการเป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นการเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นที่มีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจโดยไม่รวมถึงหุ้นบุริมสิทธิ และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องนำเงินลงทุนไปใช้ในการประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น (2) เงินลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และต้องนำเงินลงทุนไปใช้ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจเท่านั้น |
การสูญเสียรายได้ |
· คาดว่าจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี |
ทั้งนี้ การดำเนินการตามข้อ 3.3 - ข้อ 3.4 จะดำเนินการได้โดยการตรา
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 1 ฉบับ
4.
มาตรการด้านการเงิน
4.1
มาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ธ.ก.ส.
กลุ่มเป้าหมาย |
· ลูกค้า ธ.ก.ส. ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รายเดิมที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 และมีหนี้คงเหลือ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2563 ประมาณ 38,948 ราย |
วิธีดำเนินงาน |
· ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีหนี้คงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ได้รับการพักชำระหนี้ ไม่ต้องชำระต้นเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
· รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยแทนลูกค้า ในส่วนของต้นเงินที่ไม่เกิน 200,000 บาท ที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยชดเชยให้แก่ ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ย MRR - ร้อยละ 1.50
· ดอกเบี้ยในส่วนของต้นเงินที่เกิน 200,000 บาท ลูกค้าต้องรับภาระดอกเบี้ยเอง |
งบประมาณ |
· รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรลูกค้าในอัตราดอกเบี้ย MRR - ร้อยละ 1.50 (ปัจจุบัน MRR ร้อยละ 6.50 ต่อปี) คิดเป็นวงเงินปีละ 169.11 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3 ปี เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 507.33 ล้านบาท โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามภาระที่เกิดขึ้นจริง |
4.2
โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ธอส. ขยายกรอบวงเงินและระยะเวลาดำเนินโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากกรอบวงเงินเดิม 5,000 ล้านบาท
เป็น 8,000 ล้านบาท และขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 ธันวาคม 2563
เป็นวันที่ 30 ธันวาคม 2565 โดย ธอส. ไม่ขอรับการชดเชยจากรัฐบาล
5.
มาตรการด้านประกันภัย
5.1
โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
กลุ่มเป้าหมาย |
· ผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ |
วิธีดำเนินงาน |
· ภาครัฐชดเชยส่วนต่างค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 0.3 - 3 สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินคุ้มครองภัยก่อการร้าย และชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุของพนักงานที่สถานประกอบการทำประกันภัยให้ |
งบประมาณ |
· งบประมาณ 30 ล้านบาทต่อปี |
5.2
โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
กลุ่มเป้าหมาย |
· ผู้ประกอบการในเขตพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา |
วิธีดำเนินงาน |
· ภาครัฐชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราร้อยละ 50 สำหรับการประกันอัคคีภัยการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักให้ผู้ประกอบการ |
งบประมาณ |
· งบประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี |
14. เรื่อง ขอความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ โดยให้ คค. ดำเนินการตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
1. รฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (ผู้รับสัมปทาน Northern Bangkok Monorail: NBM) (นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดย BSR JV) ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 ซึ่งสัญญาได้ระบุเกี่ยวกับข้อเสนอของผู้รับสัมปทานในชั้นการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ที่เสนอจะก่อสร้างส่วนต่อขยายแยกออกจากเส้นทางสายหลักเพื่อเชื่อมต่อระหว่างสถานีศรีรัช (PK - 10) เข้าสู่ใจกลางพื้นที่เมืองทองธานี โดยในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญานี้ คู่สัญญาต้องเจรจาเงื่อนไข ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ แต่ต้องไม่ทำให้ รฟม. ได้รับสิทธิตามสัญญาน้อยกว่าที่ได้รับอยู่เดิม
2. รฟม. และ NBM ได้ดำเนินการเจรจาต่อรองเงื่อนไขและประเด็นต่าง ๆ ของโครงการส่วนต่อขยายฯ เพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
ตัวอย่างเงื่อนไขและประเด็นเจรจา |
ผลเจรจา |
1. การปรับปรุงรูปแบบสถานีศรีรัชของโครงการส่วนหลักเมื่อมีโครงการส่วนต่อขยาย รวมทั้งค่าก่อสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลง |
NBM ยอมรับในการดำเนินการก่อสร้างสถานีศรีรัช รวมทั้งส่วนปรับปรุงและรับผิดชอบค่าก่อสร้างที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงงานทั้งหมด |
2. การจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่ รฟม. ตามสัญญาร่วมลงทุน |
NBM ยังคงชำระค่าตอบแทนให้แก่ รฟม. ตามสัญญาโครงการส่วนหลัก และจะชำระผลตอบแทนเพิ่มเติมกรณีรวมโครงการส่วนหลักและส่วนต่อขยาย ให้แก่ รฟม. โดยอ้างอิงปริมาณผู้โดยสารในสัญญาโครงการส่วนหลัก |
3. อัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสาร |
NBM ยอมรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารและการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการส่วนต่อขยาย ให้สอดคล้องตามหลักการในสัญญาโครงการส่วนหลัก |
4. การดำเนินโครงการส่วนต่อขยายจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาดำเนินการตามสัญญาโครงการส่วนหลัก |
NBM ยอมรับให้คงระยะเวลาดำเนินโครงการส่วนหลัก ในระยะที่ 1และ 2 ตามสัญญาโครงการส่วนหลักถึงแม้จะมีการก่อสร้างของโครงการส่วนต่อขยาย |
5. การให้ รฟม. มีส่วนแบ่งผลตอบแทนจากการเชื่อมต่อกับอาคารและพื้นที่ของเมืองทองธานี |
NBM จะดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจาก รฟม. ก่อน และสิทธิในรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ (รวมถึงการเชื่อมต่อ) เป็นไปตามสัญญาโครงการส่วนหลัก |
6. ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย |
NBM รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมด ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินโครงการส่วนต่อขยาย |
3. ภายหลังจากการเจรจาจนได้ข้อยุติ รฟม. ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีขั้นตอนและสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
วันที่ |
รายละเอียด |
มกราคม – กุมภาพันธ์ 2562 |
คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ รฟม.) และคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี (คณะกรรมการกำกับดูแลฯ) เห็นด้วยกับประเด็นเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน |
28 มิถุนายน 2562 |
คณะกรรมการ รฟม. เห็นชอบผลการเจรจา |
6 มกราคม 2563 |
คณะกรรมการกำกับดูแลฯ เห็นด้วยกับผลการเจรจา ตามมติคณะกรรมการ รฟม. เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 และมีความเห็นประเด็นเจรจาเพิ่มเติม |
22 มกราคม 2563 |
คณะกรรมการ รฟม. เห็นชอบผลการเจรจาเพิ่มเติม |
5 กุมภาพันธ์ 2563 |
คณะกรรมการกำกับดูแลฯ รับทราบผลการเจรจาเพิ่มเติม ตามมติคณะกรรมการ รฟม. เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 โดยให้ รฟม. จัดเตรียมร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขร่วมกับ NBM และให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ถึงแนวทางการดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน (โดยมีหลักการ เช่น ต้องไม่ทำให้ รฟม. ได้รับสิทธิตามสัญญาร่วมลงทุนน้อยกว่าที่ได้รับเดิม และปรับแก้ไขเฉพาะข้อที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับผลเจรจา) |
11 มีนาคม 2563 |
คณะกรรมการ รฟม. เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข |
3 เมษายน 2563 |
คณะกรรมการกำกับดูแลฯ เห็นด้วยกับร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข ตามมติคณะกรรมการ รฟม. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 |
16 เมษายน 2563 |
รฟม. เสนอสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข |
27 พฤษภาคม 2563 |
อส. ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขเรียบร้อยแล้ว |
30 มิถุนายน 2563 |
รฟม. เสนอเรื่องการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาและเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป |
4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ โดยสรุปได้ ดังนี้
หน่วยงาน |
ความเห็น/ข้อสังเกต |
สคร. |
โครงการส่วนต่อขยาย เข้าข่ายเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในหมวด 7 การแก้ไขสัญญาและการทำสัญญาใหม่ แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งบทเฉพาะกาลมาตรา 68 (3) แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กำหนดให้ดำเนินการตามบัญญัติในหมวดดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ |
อส. |
ก่อนลงนาม รฟม. ควรดำเนินการ ดังนี้
- ตรวจสอบความถูกต้องของข้อความ/ตัวเลขให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขมีวงเล็บที่ยังไม่ได้ใส่ข้อความ/ตัวเลข
- ตรวจสอบข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องระยะทาง การจัดเก็บรายได้ และระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการส่วนต่อขยายให้ถูกต้องครบถ้วน สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมถึงผลการเจรจาระหว่าง รฟม. และ NBM
- ตรวจสอบเอกสารแนบท้ายสัญญาต่าง ๆ มิให้ขัดหรือแย้งกับร่างสัญญาที่ อส. ตรวจพิจารณาแล้ว
- ตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการและขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน
- ส่งความเห็นของคณะกรรมการกำกับดูแลฯ สคร. และคณะกรรมการ รฟม. พร้อมทั้งร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ อส. ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป |
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เรียบร้อยแล้ว
15. เรื่อง ขอเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเบื้องต้น เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 28,046.82 ล้านบาท โดยขอวงเงินเพิ่มเติมอีก 28,046.81 ล้านบาท เป็น 56,093.63 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) และขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และปีถัด ๆ ไป
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ดังนี้
รายการ |
รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ |
กลุ่มเป้าหมาย |
เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.56 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ |
วิธีการดำเนินการ |
กรมส่งเสริมการเกษตร นำข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งให้ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท (พณ. ขอดำเนินการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท ก่อนในเบื้องต้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563) |
วงเงินงบประมาณ |
จ่ายขาดรวม 56,093.63 ล้านบาท จำแนกเป็น (1) งบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกรวงเงิน 54,828.08 ล้านบาท (2) ชดเชยต้นทุนเงิน จำนวน 1,233.63 ล้านบาท (ชดเชยต้นทุนเงินในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 เท่ากับ ร้อยละ 2.25 ต่อปี) และ (3) ค่าบริหารจัดการให้ ธ.ก.ส. จำนวน 31.92 ล้านบาท (รายละ 7 บาท) |
ระยะเวลาดำเนินการ |
ระยะเวลาการจ่ายเงิน : เดือนสิงหาคม 2563 - เมษายน 2564
ระยะเวลาโครงดาร : เดือนสิงหาคม 2563 - พฤษภาคม 2564 |
2. ภายหลังจากที่คณะรัฐในตรีมีมติวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินให้เกษตรกรในเบื้องต้นในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท
จำนวน 4,614,777 ครัวเรือน วงเงินทั้งสิ้น 26,617.90 ล้านบาท (จากกรอบวงเงินจ่ายขาดให้เกษตรกรรวม 27,414.04 ล้านบาท) ณ วันที่ 27 มกราคม 2564
3. พณ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาการขอเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 จากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเบื้องต้น เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 28,046.82 ล้านบาท
ขอวงเงินเพิ่มเติมอีก 28,046.81 ล้านบาท เป็น 56,093.63 ล้านบาท ตามที่ นบข. มีมติเห็นชอบ (ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563) โดยจำแนกเป็น
หน่วย : ล้านบาท
หัวข้อ |
คณะรัฐมนตรีอนุมัติ
(3 พฤศจิกายน 2563) |
ขอวงเงินเพิ่มเติม |
รวม |
วงเงินจ่ายขาดให้เกษตรกร
(อัตราไร่ละ 500 บาท) |
27,414.04 |
27,414.04 |
54,828.04 |
ค่าใช้จ่ายในชดเชยต้นทุนเงิน ธ.ก.ส.
(อัตราร้อยละ 2.25) |
616.82 |
616.81 |
1,233.63 |
ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส.*
(รายละ 7 บาท) |
15.96 |
15.96 |
31.92 |
รวม |
28,046.82 |
28,046.81 |
56,093.63 |
หมายเหตุ : *ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. อัตรารายละ 7 บาท จะมีการจ่ายเงินภายหลังครั้งเดียวจากที่ดำเนินการโอนเงินให้เกษตรกรทั้ง 2 รอบ รอบละ 500 บาทต่อไร่ แล้วเสร็จ
16. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินการตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอดังนี้
1.
อนุมัติดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2564 โดยขอรับการจัดสรรวงเงินงบประมาณเบื้องต้น จำนวน 4,613.04 ล้านบาท จากวงเงิน 8,807.54 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 เพื่อดำเนินโครงการฯ ไปพลางก่อน ซึ่งประมาณการงบประมาณที่ต้องใช้จากราคาเป้าหมาย (4 บาทต่อกิโลกรัม) หักด้วยราคาตลาดผลปาล์มทะลาย (อัตราน้ำมันร้อยละ 18) เฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2561 - 2563) เป็นฐานในการคำนวณ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1
ค่าชดเชยส่วนต่างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน วงเงิน 4,500 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายจากแหล่งเงินทุน
1.2
ค่าชดเชยต้นทุนเงินที่อัตราร้อยละ 2.20 (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. ปัจจุบันที่ร้อยละ 1.20 + 1)
วงเงิน 99 ล้านบาทและ
ค่าบริหารจัดการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการประชุม ประชาสัมพันธ์ สร้างระบบการตรวจสอบสิทธิและคำนวณเงินโอนประกันรายได้ตามสิทธิ สร้างระบบการโอนเงินประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรค่าดำเนินการโอนเงินประกันรายได้ และค่าใช้จ่ายอื่น
ในอัตรา 7 บาทต่อรายเกษตรกรจำนวนเกษตรกร (เบื้องต้น) 370,000 ราย
วงเงิน 2.59 ล้านบาท
ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และปีถัด ๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป เพื่อรัฐบาลชำระคืนต้นเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการทั้งหมดภายในระยะเวลา 4 ปี ปีละ 1,200 ล้านบาท ยกเว้นปีที่ 4 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด
1.3
ค่าบริหารจัดการโครงการประกันรายได้ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมการค้าภายใน วงเงิน 1.45 ล้านบาท และวงเงิน 10 ล้านบาท ตามลำดับ ให้ขอปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการประกันรายได้ตามที่เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่าวงเงินที่ได้รับอนุมัติแล้ว พณ. จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณในส่วนที่เหลือต่อไป
2. มอบหมาย พณ. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ธ.ก.ส. กระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงบประมาณ (สงป.) ดำเนินโครงการตามอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมายของโครงการ และเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้านรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันทั่วประเทศที่ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 - 2563 แล้ว โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงปัจจุบัน
ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินประกันรายได้ให้เกษตรกร จำนวน 378,892 ครัวเรือน วงเงิน 7,221.21 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55.55 ของวงเงินชดเชยส่วนต่างรายได้ให้แก่เกษตรกร จำนวน 13,000 ล้านบาท (สิ้นสุดระยะเวลาการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563) แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันราคาปาล์มน้ำมันเริ่มปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตทั้งปี ประกอบกับไทยยังต้องเฝ้าระวังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่คลี่คลาย ภาวะการค้าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มจึงยังไม่ปรับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2564 อย่างต่อเนื่องต่อไป
2. ในการประชุม กนป. ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2564 โดยคงหลักการเช่นเดียวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 - 2563 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
1. วัตถุประสงค์ |
- ให้ความช่วยเหลือด้านรายได้ของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน
- บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาผลผลิตตกต่ำ |
2. เป้าหมาย |
เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรทุกครัวเรือน โดยให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ และต้องเป็นพื้นที่ปลูกต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้ว (อายุ 3 ปีขึ้นไป) |
3. เกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ |
- กำหนดราคาเป้าหมายจากการขายผลปาล์มทะลาย (อัตราน้ำมันร้อยละ 18) กิโลกรัมละ 4 บาท
- รัฐจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาตลาดอ้างอิงให้แก่เกษตรกรโดยตรง
- ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่อปีที่ใช้คำนวณวงเงินช่วยเหลือที่เกษตรกรแต่ละครัวเรือนจะได้รับ โดยใช้ข้อมูลผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศย้อนหลัง 3 ปี (เดือนกันยายน 2560 ถึงสิงหาคม 2563) คิดเป็น 2,948 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี |
4. การจ่ายเงินประกันรายได้ |
- ธ.ก.ส. จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาตลาดอ้างอิงให้แก่เกษตรกร โดยจ่ายเข้าบัญชีของเกษตรกรทุก 30 วัน หรือตามกรอบเวลาที่คณะอนุกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันกำหนด (มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน และมีผู้อำนวยการกองส่งเสริมการสินค้าเกษตร 1 กรมการค้าภายใน เป็นเลขานุการ) |
5. งบประมาณและแหล่งงบประมาณ |
หน่วย : ล้านบาท
งบประมาณ |
วงเงิน |
(1) วงเงินชดเชยส่วนต่างรายได้ให้แก่เกษตรกร |
8,600.00 |
(2) วงเงินบริหารจัดการของ ธ.ก.ส.
(2.1) ชดเชยต้นทุนเงินในอัตราร้อยละ 2.251 ของวงเงินชดเชยฯ
(2.2) ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. (อัตรา 7 บาทต่อรายเกษตรกรประมาณการเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเบื้องต้น จำนวน 370,000 ราย) |
193.50
2.59 |
(3) วงเงินบริหารจัดการโครงการประกันรายได้ของส่วนราชการ
(3.1) กรมส่งเสริมการเกษตร
(3.2) กรมการค้าภายใน |
1.45
10.00 |
รวม |
8,807.54 |
- เงินช่วยเหลือที่จ่ายให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายจากแหล่งเงินทุน ธ.ก.ส. และให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และปีถัด ๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป เพื่อที่รัฐบาลจะชำระคืนต้นเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการทั้งหมดภายในระยะเวลา 4 ปี ปีละ 2,200 ล้านบาท ยกเว้นปีที่ 4 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด
- ค่าบริหารจัดการโครงการของส่วนราชการ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมการค้าภายใน ให้ขอปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามที่เกิดขึ้นจริง |
6. ระยะเวลาดำเนินการ |
- ระยะเวลาดำเนินการ : เดือนมกราคม - กันยายน 2564
- ระยะเวลาโครงการ : เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 โดยมีระยะเวลาสิ้นสุดจนกว่า ธ.ก.ส. จะได้รับงบประมาณชดเชยตามที่ทดรองจ่าย |
7. หน่วยงานดำเนินการ |
- หน่วยงานหลัก : พณ. กษ. ธ.ก.ส. และ มท.
- หน่วยงานสนับสนุน : กค. สงป. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
3. กรมการค้าภายใน ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สงป. กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องให้ พณ. ขอรับการจัดสรรงบประมาณกรอบใหม่เพื่อดำเนินโครงการฯ ปี 2564 จำนวน 8,807.54 ล้านบาท ตามที่ กนป. ได้มีมติเห็นชอบแล้วแทนการใช้กรอบวงเงินเดิมที่เหลืออยู่จากการดำเนินโครงการฯ ปี 2562 - 2563 ประกอบกับสถานการณ์ราคาผลปาล์มน้ำมันในปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงตามปัจจัยฤดูกาล
โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ซึ่งอาจส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาด้านราคาผลผลิตอ่อนตัวในช่วงดังกล่าว ดังนั้น ในครั้งนี้ พณ. จึงขอรับการจัดสรรวงเงินงบประมาณค่าชดเชยส่วนต่างรายได้ให้แก่เกษตรกรเบื้องต้น จำนวน 4,500 ล้านบาท (จากวงเงิน 8,807.54 ล้านบาท) และค่าชดเชยต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 2.20 จำนวน 99 ล้านบาท (จากเดิมอัตราร้อยละ 2.25) โดยให้ ธ.ก.ส. เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อที่รัฐบาลชำระคืนต้นเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการทั้งหมดภายในระยะเวลา 4 ปี ปีละ 1,200 ล้านบาท ยกเว้นปีที่ 4 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
________________________
1ค่าชดเชยต้นทุนเงินที่อัตราร้อยละ 2.25 (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. ที่ร้อยละ 1.25 + 1) เป็นอัตราเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่เสนอ กนป. แล้วในการประชุม กนป. ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563
17. เรื่อง สรุปมติการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 2/2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช (คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 (คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 แต่งตั้งคณะกรรมการพืชน้ำมันฯ โดยมีอำนาจหน้าที่เสนอนโยบาย แผนการบริหาร การจัดการ การพัฒนาการผลิตและการตลาดพืชน้ำมันและน้ำมันพืชต่อคณะรัฐมนตรี) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure: SSG) ภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2563 (คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการ SSG แล้วเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563) คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ได้มีมติ ดังนี้
1.1 เห็นชอบให้มีการบังคับใช้มาตรการ SSG สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2563 ที่นำเข้าตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม – 31 ธันวาคม 2563 (กรมศุลากรได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การเก็บอากรศุลากากรตามมาตรการปกป้องพิเศษ ตามความตกลงการเกษตรขององค์การการค้าโลก และความตกลงการค้าของอาเซียนสำหรับสินค้ามะพร้าว พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2563 แล้ว)
1.2 มอบหมายให้กรมศุลกากรดำเนินการตามประกาศกระทรวงการคลัง และให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. การบริหารการนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองและแฟรกชันของน้ำมันถั่วเหลือง มะพร้าวและมะพร้าวฝอย เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าวและแฟรกชันของน้ำมันมะพร้าว ปี 2564 (คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการบริหารการนำเข้าฯ แล้วเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562) คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ได้มีมติเห็นชอบการบริหารการนำเข้าฯ ภายใต้กรอบ WTO กรอบ AFTA และกรอบการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น
การบริหารการนำเข้า |
กรอบ WTO และกรอบ FTA |
กรอบ AFTA |
น้ำมันถั่วเหลือง |
1. คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ กำหนดแนวทางและมาตรการบริหารการนำเข้า
2. จัดสรรปริมาณการนำเข้าให้เป็นไปตามที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยกำหนด |
แสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบฟอร์ม ดี (Form D) ประกอบการนำเข้า |
มะพร้าว |
1. จัดสรรให้นิติบุคคลซึ่งเป็นโรงงานที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตและดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน
2. ช่วงเวลานำเข้าเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และเดือนกันยายน-ธันวาคมของแต่ละปี |
1. ต้องได้รับอนุมัติปริมาณการนำเข้าจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว
2. เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นโรงงานที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าไว้กับกรมการค้าต่างประเทศเป็นรายปี
3. ต้องนำเข้ามาเพื่อการแปรรูปเป็นน้ำมันพืชหรืออาหารคนในกิจการของตนเอง
4. ต้องให้คำรับรองว่าจะไม่นำมาจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ
5. กรณีนำเข้ามะพร้าว พิกัดฯ 0801.12.00 และ 0801.19.90 ต้องให้คำรับรองว่าจะไม่นำมะพร้าวนำเข้าไปจ้างกะเทาะภายนอกโรงงานตนเอง และต้องรายงานบัญชีสมดุลแปรสภาพมะพร้าวผลเป็นเนื้อมะพร้าวขาว
6. ช่วงเวลานำเข้าเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และเดือนกันยายน-ธันวาคมของแต่ละปี |
น้ำมันมะพร้าว |
1. จัดสรรให้นิติบุคคลซึ่งเป็นโรงงานที่ใช้น้ำมันมะพร้าวฯ เป็นวัตถุดิบในการผลิตและดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน
2. ให้นำเข้าได้ทั้งปี |
1. เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นโรงงานที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าไว้กับกรมการค้าต่างประเทศเป็นรายปี
2. ต้องนำเข้ามาเพื่อการแปรรูปเป็นน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคหรืออาหารคนในกิจการของตนเองไม่เกินปริมาณที่ระบุไว้ในแผนการนำเข้าและการใช้ในกิจการของตนเอง
3. ต้องให้คำรับรองว่าจะไม่นำมาจำหน่าย จ่าย โอน ภายในประเทศ
4. ช่วงเวลานำเข้าเดือนมกราคม-พฤษภาคม และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของแต่ละปี |
ในส่วนของหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาภายใต้กรอบ WTO มะพร้าวและมะพร้าวฝอย เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว และแฟรกชันของน้ำมันมะพร้าว ให้เป็นไปตามที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด
3. การบริหารการนำเข้ามะพร้าวผลตามกรอบความตกลง AFTA ปี 2564 (คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการบริหารการนำเข้าฯ แล้วเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562) คณะกรรมการพืชน้ำมันฯ ได้มีมติ ดังนี้
3.1 เห็นชอบช่วงเวลานำเข้ามะพร้าวผลฯ ทั้ง 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ และเดือนกันยายน-ธันวาคม (รวม 6 เดือน) สำหรับช่วงแรก เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 จะใช้ผลการรับซื้อผลผลิตมะพร้าวในประเทศของผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวที่มีคุณสมบัติและเป็นผู้มีสิทธินำเข้าฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2563 มาพิจารณาจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้มีสิทธินำเข้าในอัตรา 1 : 2 (นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวผลในประเทศ 2 ส่วน)
3.2 เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวพิจารณากำหนดปริมาณการนำเข้าฯ และการจัดสรรให้กับผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวแต่ละรายที่มีคุณสมบัติ และเป็นผู้มีสิทธินำเข้าตามข้อ 3.1
3.3 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ รายงานผลการพิจารณาจัดสรรปริมาณการนำเข้าฯ ให้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชทราบ และแจ้งกรมการค้าต่างประเทศดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
18. เรื่อง การดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 เรื่อง แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564-2570 [คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (14 มกราคม 2563) เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนด้านการอุดมศึกษาฯ และให้สภานโยบายฯ ส่ง (ร่าง) แผนดังกล่าวให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาการฯ) ในการประชุมครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนด้านการอุดมศึกษาฯ โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การกำหนดขอบเขตและทิศทางการพัฒนาภายใต้บทบาทใหม่ของการอุดมศึกษา 2) แนวทางการดำเนินงานในส่วนการพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนและการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม และ 3) กลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนด้านการอุดมศึกษาฯ และให้ดำเนินการเสนอแผนฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ความเห็นสภาพัฒนาการฯ |
การปรับแผนด้านการอุดมศึกษาฯ ตามความเห็นสภาพัฒนาการฯ |
1. การกำหนดขอบเขตและทิศทางการพัฒนาภายใต้บทบาทใหม่ของการอุดมศึกษา |
- ได้บรรจุไว้ในเป้าหมายของแผนด้านการอุดมศึกษาฯ ในยุทธศาสตร์ที่ 1-3 แนวทางที่ 2 กลยุทธ์ 4-5, 7-9, 12 และเพิ่มเติมผังความเชื่อมโยงในหน้าที่ 77 |
2. แนวทางการดำเนินงานการพัฒนานวัตกรรมการจัดงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม |
- ได้บรรจุไว้ในเป้าหมายของแผนด้านการอุดมศึกษาฯ ยุทธศาสตร์ที่ 1-2 แนวทางที่ 1-2 และกลยุทธ์ 1-2, 5-9 |
3. กลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนด้านการอุดมศึกษาฯ |
- ได้บรรจุไว้ในเป้าหมายของแผนด้านการอุดมศึกษาฯ และปรับถ้อยคำให้ชัดเจนมากขึ้น ส่วนที่ 3 ข้อ 3.1-3.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 แนวทางที่ 1 กลยุทธ์ 1-3 |
อว. ได้ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาการฯ และเสนอต่อสภานโยบายฯ ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งที่ประชุมสภานโยบายฯ มีมติเห็นชอบแผนด้านการอุดมศึกษาฯ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
19. เรื่อง รายงานประจำปี 2562 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและประธานกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เสนอรายงานประจำปี 2562 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทั้งนี้ คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในการประชุมครั้งที่ 12/2563 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 รับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 22 ที่บัญญัติให้ สวรส. จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แล้วเสนอรายงานประจำปีต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ผลการดำเนินงานที่เด่น
1.
แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบยา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยี
- การประเมินโครงการนำร่องให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการ ซึ่ง สวรส. และทีมวิจัยได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายต่าง ๆ เช่น (1) การรับยาที่ร้านควรดำเนินการแบบ re-prescription โดยผู้ป่วยที่รับยาที่ร้านยาควรเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่โรงพยาบาลประเมินว่าเหมาะสมไม่ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ก่อน ซึ่งช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ (2) สปสช. ควรพิจารณาเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ
- การดำเนินโครงการการศึกษาในสหสถาบันของวัสดุนำส่งยาปฏิชีวนะประเภทไฮดรอกซีแอปาไทต์ สำหรับการรักษาการอักเสบติดเชื้อของกระดูกในประเทศไทย โดยวัสดุที่ผลิตขึ้นสามารถนำส่งยาได้หลายประเภทและทำหน้าที่เป็นกระดูกเทียมในตัว โดยไม่ต้องผ่าตัดนำออก
2.
แผนงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ
- การดำเนินโครงการศึกษารูปแบบการจ้างงานแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลของภาครัฐในประเทศไทยในระยะ 15 ปีข้างหน้า เพื่อนำไปใช้วางแผนระบบการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพในระยะยาว เช่น ควรจัดสรรตำแหน่งข้าราชการให้กลุ่มวิชาชีพที่มีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในภาครัฐนานที่สุดก่อน รวมทั้งควรเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบการจ้างงานบุคลากรในพื้นที่ตนเอง
3.
แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบบริการสุขภาพ
- การวิจัยเชิงสังเคราะห์เพื่อพัฒนาระบบการวัด วิเคราะห์ ทบทวนและปรับปรุงผลการดำเนินการของระบบการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ โดยองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ เช่น (1) มิติด้านประเภท (หรือเป้าประสงค์) ของบริการสำหรับการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ (2) มิติด้านสถานที่ของการจัดบริการหรือการรับบริการของประชาชน และ (3) มิติของการใช้บริการของประชาชน
4.
แผนงานวิจัยและพัฒนาการเงินการคลังสุขภาพ
- การประเมินความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของบริการป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนการสัมผัสเชื้อและการบริบาลเพื่อคุณภาพชีวิตระยะท้ายในประเทศไทย ผลการวิจัยพบว่า มาตรการการให้ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อมีความคุ้มค่ามาก โดยอัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม เท่ากับ 10,600 บาท/DALYS (พบว่า การรักษาใน 1 ปี สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย 10,600 บาท/กลุ่มเสี่ยง 1 ราย) ทั้งนี้ หากให้บริการกับกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่มก็จะเกิดความคุ้มค่าที่สุด
5.
แผนงานวิจัยและพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพ
- การประเมินผลการดำเนินงานของการขับเคลื่อนเขตสุขภาพที่ 10 ผลการวิจัยพบว่า คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ทุกคนเข้าใจบริบท บทบาทหน้าที่ และเป้าหมายในการดำเนินงาน ซึ่งผลงานของ กขป. เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่ยังไม่บรรลุตามผลลัพธ์ที่ต้องการ เนื่องจากไม่มีตัวชี้วัดความสำเร็จของแผนงานที่ชัดเจน ทั้งนี้ จะเสนองานวิจัยดังกล่าวต่อ กขป. เขต 10 และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาปรับปรุงการดำเนินการของ กขป. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป
6.
แผนงานวิจัยและพัฒนากลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
- การปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายผลเทคโนโลยี TaWai for Health เพื่อการรายงานและแจ้งเตือนข้อมูลคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายผลระบบ web application TaWai for Health Version 1.0 ที่ได้พัฒนาต้นแบบเมื่อปี พ.ศ. 2559 และใช้มาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 10 และ 12 โดยระบบดังกล่าวมีความสามารถในการรับรายงานปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพระดับชุมชนใน 3 ลักษณะ คือ (1) รายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ (2) รายงานการพบผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยและยาชุด และ (3) รายงานการพบเห็นโฆษณาเกินจริง ทั้งนี้ ในอนาคตสามารถพัฒนาเครื่องมือและระบบการจัดการเพื่อเสริมการทำงานของภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับประเทศต่อไป
20. เรื่อง รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มาตรา 9 (7) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่เสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ
ต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ ในการประชุม ครั้งที่ 25/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบรายงานฯ และให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ รายงานฯ ได้ใช้หลักการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงตามกรอบแนวคิด Driver-Pressure-State-Im pact-Response: DPSIR) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ปัจจัยขับเคลื่อน (Driver) ประกอบด้วย
การขับเคลื่อนจากทิศทางการพัฒนานโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศและต่างประเทศ และทิศทางการพัฒนาประเทศที่ส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเล ทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2562 และนโยบายที่เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ. 2558 - 2564 การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การดำเนินโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และการดำเนินโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) การนำแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (BLUE Economy) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเลเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่ส่งผลต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยตรง
2. ภาวะกดดัน (Pressure) ประกอบด้วย
2.1
สถานการณ์การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่ง และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ เกษตรกรรม การท่องเที่ยวทางทะเล การขนส่งและพาณิชย์นาวี และชุมชนชายฝั่ง แต่มีบางกิจกรรมที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ นาเกลือ การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
โดยรวมกิจกรรมการใช้ประโยชน์บนฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีแนวโน้มของปริมาณการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมากขึ้นจนทำให้เกิดความเสื่อมโทรมมากขึ้นด้วย
2.2
สถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในระดับโลกและระดับภูมิภาคที่ส่งผลต่อสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้เข้าร่วมดำเนินงานตามเป้าหมายและวิธีการที่กำหนดเองเรียกว่า “แผนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ”(Nationally Appropriate Mitigation Actions: NAMAs) โดยแสดงเจตจำนงที่จะลดก๊าซเรือนกระจกเท่ากับร้อยละ 7 - 20 ภายในปี ค.ศ. 2020 และ “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด”(Nationally Determined Contributions: NDCs) โดยระบุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 จากกรณีปกติ และกำหนดเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25
3. สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง (States)
3.1
สถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ทรัพยากร |
สถานภาพ |
1) ปะการัง |
พื้นที่แนวปะการังใน 17 จังหวัด พบว่า แนวปะการังอยู่ในสภาพ สรุปได้ดังนี้
หน่วย : ร้อยละ
สภาพแนวปะการัง |
ฝั่งอ่าวไทย |
ฝั่งอันดามัน |
สมบูรณ์ดีมาก – สมบูรณ์ดี |
38.85 |
23.48 |
สมบูรณ์ปานกลาง |
21.32 |
42.32 |
เสียหาย – เสียหายมาก |
39.83 |
34.20 |
ทั้งนี้ แนวปะการังฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชลบุรีและประจวบคีรีขันธ์มีสภาพเสื่อมโทรมที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดตราด และฝั่งอันดามัน จังหวัดพังงามีแนวปะการังเสื่อมโทรมที่สุด รองลงมาคือ จังหวัดภูเก็ต และสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ปี 2562 ถือว่าไม่รุนแรง |
2) ปะการังเทียม |
ในช่วงปี 2521 - 2560 มีการวางปะการังเทียม 8,425 แห่ง และในปี 2560 มีการวางปะการังเทียมเพิ่มอีก 145 แห่ง โดยฝั่งอ่าวไทยมีการวางปะการังเทียมมากที่สุด คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 1,122 แห่ง ส่วนฝั่งอันดามันมีการวางปะการังเทียมมากที่สุด คือ จังหวัดพังงา 542 แห่ง |
3) หญ้าทะเล |
ประเทศไทยมีพื้นที่หญ้าทะเลทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย รวม 98,912 ไร่ โดยในปี 2561 สถานภาพส่วนใหญ่สมบูรณ์ปานกลาง เพิ่มจากร้อยละ 56.0 เป็นร้อยละ 65.6 เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต และพบว่า แหล่งหญ้าทะเลหลายพื้นที่มีความสมบูรณ์ลดลง |
4) ทะเลสาบ
(สงขลา) |
มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดสงขลาและพัทลุง รวม 651,250 ไร่ ในช่วงปี 2558 - 2559 สถานภาพทะเลสาบในจังหวัดสงขลาและพัทลุงมีความเสื่อมโทรมใกล้เคียงกัน และพบการวางเครื่องมือประมงขวางทางการไหลของน้ำ รวมทั้งการปล่อยสารอาหารจากการปศุสัตว์บริเวณชายฝั่งลงสู่ทะเลสาบทำให้เกิดการทับถมและทะเลสาบตื้นเขินมากยิ่งขึ้น |
5) สัตว์ทะเลหายาก
และใกล้สูญพันธุ์ |
สัตว์ทะเลหายากในน่านน้ำไทย ได้แก่
- เต่าทะเล พบว่า ปี 2561 จำนวนครั้งของการวางไข่เฉลี่ยของเต่าตนุลดลง ส่วนเต่ากระเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และพบการขึ้นมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง จำนวน 2 รัง หลังจากที่ไม่มีรายงานการพบเห็นมาหลายปี
- พะยูน พบว่า ปี 2561 มีกาพบเห็นพะยูนประมาณ 240 ตัว โดยจังหวัดตรังจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยมากที่สุด และพบอัตราการเกยตื้นหรืออัตราการตายเพิ่มมากขึ้น
- โลมาและวาฬ พบว่า ปี 2561 พบโลมา 2,283 ตัว โดยพบในฝั่งอ่าวไทยมากกว่าฝั่งอันดามันประมาณ 2 เท่า และในปี 2559 พบวาฬบรูด้า 65 ตัว |
6) ป่าชายเลน |
ในช่วง 2504 - 2557 พบว่า พื้นที่ป่าชายเลนได้ถูกบุกรุกทำลายไปมาก จากปี 2504 มีพื้นที่ป่าชายเลน 2,299,375 ไร่ ในปี 2557 พบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือเพียง 1,534,584.74 ไร่ (ลดลง 764,790.26 ไร่) แต่จากการดำเนินนโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการประกาศยกเลิกสัมปทานการทำไม้ป่าชายเลนเมื่อปี 2546 ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนเริ่มฟื้นตัวและมีสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น 17 จังหวัด โดยพบว่า พื้นที่ป่าชายเลนฝั่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้น 467.94 ไร่ และฝั่งอันดามันเพิ่มขึ้น 33.68 ไร่ |
7) ป่าชายหาด |
สภาพป่าชายหาดหลายพื้นที่ถูกทำลายและปรับเปลี่ยนสภาพเพื่อรองรับกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวจนไม่เหลือสภาพธรรมชาติดั้งเดิม ทำให้ระบบนิเวศป่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ดังนั้น การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมของระบบนิเวศป่าชายหาดในประเทศจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง |
8) พื้นที่ชุ่มน้ำ |
ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำ ประกอบด้วย ป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง ทะเลสาบ และแม่น้ำกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมเนื้อที่ประมาณ 22,885,100 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.75 ของพื้นที่ประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์) ของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ รวม 14 แห่ง |
9) พื้นที่ป่าพรุ
ในประเทศไทย |
มีพื้นที่ป่าพรุที่คงสภาพในประเทศไทยประมาณ 20,922.99 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 20,135.63 ไร่ และฝั่งอันดามัน 787.36 ไร่ |
10) หาดทราย หาดโคลน และหาดหิน |
มีความยาว 1,630.75 กิโลเมตร จำนวน 357 แห่ง ความยาวฝั่งอ่าวไทย 1,163 กิโลเมตร และฝั่งอันดามัน 468 กิโลเมตร |
3.2
สถานภาพคุณภาพสิ่งแวดล้อม สาเหตุของปัญหามลพิษทางน้ำเกิดจากการระบายน้ำที่ไม่ได้รับการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ ในส่วนส
ถานการณ์คุณภาพน้ำทะเลในรอบ 5 ปี (ปี 2557 - 2561) พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในสถานะดีและมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน ปัจจัยที่ส่งให้คุณภาพน้ำมีแนวโน้มดีขึ้น คือ การบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมการระบายน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษและการตระหนักถึงผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางน้ำมากขึ้นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน นอกจากนี้ในช่วงปี 2557 - 2559
เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งอ่าวไทยตอนบน
ปัญหาขยะทะเล ในปี 2561 พบว่า มีปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด จำนวน 11.47 ล้านตัน มีการกำจัดที่ถูกต้อง 6.73 ล้านตัน/ปี คิดเป็นร้อยละ 59 ในปริมาณนี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ 2.93 ล้านตัน/ปี คิดเป็นร้อยละ 25 และในช่วงปี 2558 - 2561
เกิดการรั่วไหลของน้ำมันทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ รวม 15 ครั้ง ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณท่าเทียบเรือ
3.3
สถานภาพด้านการกัดเซาะชายฝั่ง ปี 2561 จากการติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง พบว่า ร้อยละ 87.71 ของพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งทั่วประเทศได้รับการแก้ไขแล้ว ซึ่งโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด และเขื่อนป้องกันริมตลิ่งทะเล ระยะทางประมาณ 239.87 กิโลเมตร และ 224.34 กิโลเมตร ส่วนในพื้นที่หาดโคลนเป็นการปักเสาดักตะกอน ระยะทาง 187.04 กิโลเมตร ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งเบื้องต้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ การทำลายแนวป้องกันการกัดเซาะตามธรรมชาติ การกัดเซาะจากการรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงสภาพตามธรรมชาติและการกัดเซาะเนื่องจากสาเหตุอื่น เช่น การเปลี่ยนแปลงบริเวณปากแม่น้ำ
4. สถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่ง 24 จังหวัด พบว่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัดมีความเสื่อมโทรมลงทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นในบางทรัพยากร เช่น ป่าชายเลน คุณภาพน้ำทะเล และสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสถานการณ์โดยรวมทั้งประเทศ ทั้งนี้ การเสื่อมโทรมมากขึ้น หรือสถานภาพดีขึ้นของสถานการณ์ดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับทรัพยากรและกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ปรากฏในจังหวัดนั้น ๆ สำหรับสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชและสงขลาได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่สุด
5. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
5.1
การสร้างองค์ความรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทรัพยากร เช่น ความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำทิ้ง การจัดการขยะทะเล การฟื้นฟูระบบนิเวศ และเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ
5.2
การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และภาคธุรกิจ เช่น จัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชน การสนับสนุนกิจกรรม CSR ที่เหมาะสมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร การจัดกิจกรรมให้ความรู้/ความตระหนักที่ถูกต้องกับภาคประชาชน ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงชุมชนเพื่ออนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
5.3
การอนุรักษ์และเฝ้าระวังตรวจตราทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เช่น การตรวจตราเฝ้าระวัง การทำเครื่องหมายแนวเขต การกำหนดเส้นชายฝั่งเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงและติดตามการดำเนินคดีต่าง ๆ
5.4
การฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน แนวปะการัง หญ้าทะเล ชายหาด และการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก
5.5
การป้องกัน เฝ้าระวัง และส่งเสริมการลดผลกระทบจากแผ่นดินและเกาะ โดยใช้กลไกคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด การจัดทำรายงาน สถานการณ์ และจัดทำนโยบายและแผนระดับจังหวัด
5.6
การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ และคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง และพื้นที่กัดเซาะชายฝั่ง
5.7
การปรับปรุง/ออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
5.8
การเข้าร่วมกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
21. เรื่อง หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหา
การกัดเซาะชายฝั่ง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
ทั้งนี้ ทส. เสนอว่า หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ
ชายฝั่ง จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาแผนงานโครงการและงบประมาณ ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สำหรับสำนักงบประมาณต้องนำไปพิจารณาเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องตามหลักวิชาการ ลดความซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน และเกิดการบูรณาการอย่างแท้จริง อันจะส่งผลให้เกิดความมั่นคง และยั่งยืนต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ปัจจุบันพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลของประเทศไทย ยังคงประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และเกิดความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยหลักแนวคิดทางวิชาการ มาตรการที่เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ อนึ่ง หลายหน่วยงานอยู่ระหว่างการจัดเตรียมแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีเอกภาพและเกิดความยั่งยืน จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการที่ชัดเจนและเหมาะสมสำหรับดำเนินการโดยด่วน จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดรับทราบหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สำหรับดำเนินการโดยด่วนต่อไป
สาระสำคัญ
หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. วัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกัน
และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และใช้ประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้านการ
ป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้เป็นไปตามหลักวิชาการ โดยมุ่งเน้นการดำเนินการเป็นระบบหาด ซึ่งต้องคำนึงถึงพลวัตของการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งและสมดุลตะกอน สภาพเศรษฐกิจสังคม ศักยภาพการพัฒนาของพื้นที่ สิ่งแวดล้อม และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการมีความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
2. หลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 กลุ่มปัจจัยหลัก 54 ปัจจัยย่อย ซึ่งครอบคลุม
ทั้งปัจจัยด้านกายภาพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม ศักยภาพการพัฒนาของพื้นที่ รวมทั้งโครงสร้างป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ ซึ่งทำให้สามารถกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ได้ตลอดแนวชายฝั่งของประเทศไทย ระยะทาง 3,151 กิโลเมตร โดยจำแนกออกเป็น
4 แนวทาง ดังนี้
2.1 การปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ คือ การคงไว้ซึ่งสภาวะสมดุลพลวัตหรือกระบวนการชายฝั่งตามธรรมชาติ เพื่อปล่อยให้ชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะได้มีการปรับสมดุลและฟื้นคืนสภาพธรรมชาติด้วยตนเอง โดยการออกมาตรการรักษาความสมบูรณ์ของสภาพธรรมชาติชายฝั่ง และกำหนดไม่ให้มีกิจกรรมของมนุษย์ที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือรบกวนเสถียรภาพของชายฝั่ง โดยมีระยะชายฝั่งที่อยู่ในแนวทางการปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ 2,296.70 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 72.88 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ รูปแบบวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสม คือ การกำหนดพื้นที่ถอยร่น การปลูกป่า และการฟื้นฟูชายหาด
2.2 การฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง คือ การดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะไปแล้วฟื้นคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ และสามารถกลับมาให้บริการของระบบนิเวศได้เหมือนธรรมชาติ โดยมีระยะชายฝั่งที่อยู่ในแนวทางการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง 389.34 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12.36 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ รูปแบบวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสม คือ การกำหนดพื้นที่ถอยร่น การปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาด และการปักเสาไม้ดักตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน
2.3 การป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ การดำเนินกิจกรรมใด ๆ เพื่อป้องกันพื้นที่ชายฝั่งที่มีการกัดเซาะให้มีอัตราการกัดเซาะลดลง โดยมีระยะชายฝั่งที่อยู่ในแนวทางการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 446.67 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 14.18 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ รูปแบบวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสม คือ การกำหนดพื้นที่ถอยร่น การปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาดการปักเสาไม้ดักตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งรอดักทราย เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด
2.4 การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ การดำเนินกิจกรรมใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ ทั้งการใช้รูปแบบที่สอดคล้องหรือเลียนแบบธรรมชาติหรือโครงสร้างทางวิศวกรรม ตลอดจนการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มีระยะชายฝั่งที่อยู่ในแนวทาง การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง 18.42 กิโลเมตร ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.58 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ รูปแบบวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่เหมาะสม คือ การกำหนดพื้นที่ถอยร่น การปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาด การปักเสาไม้ดักตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง รอดักทราย เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล กำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด และการรื้อถอน
ทั้งนี้ ภาพรวมของพื้นที่ชายฝั่งประเทศไทย มีแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา
การกัดเซาะส่วนใหญ่เป็นการปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 72.88 ของความยาวชายฝั่งทะเล
ทั้งประเทศ รองลงมาเป็นการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คิดเป็นร้อยละ 14.18 ของความยาวชายฝั่งทะเล
ทั้งประเทศ ส่วนการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่งและการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มีสัดส่วนคิดเป็น
ร้อยละ 12.36 และ 0.58 ของความยาวชายฝั่งทะเลทั้งประเทศ ตามลำดับ
3. ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ประกอบการจัดทำแผนงาน/โครงการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล
ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ที่จะให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างเป็นเอกภาพ
มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น อีกทั้งมีกรอบแนวทาง
และรูปแบบวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามหลักวิชาการ
22. เรื่อง รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 2563 และแนวโน้มปี 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 2563 และแนวโน้มปี 2564 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
เดือนพฤศจิกายน 2563 เมื่อพิจารณาจาก
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวครั้งแรก ในรอบ 19 เดือน
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤศจิกายน 2563 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
1. รถยนต์ และเครื่องยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.02 เป็นการขยายตัวเป็นเดือนแรก ในรอบ 19 เดือน จากการขยายตัวของทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก โดยมีปัจจัยหลักจากกำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น และการเตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดในงานแสดงรถยนต์ ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 รวมถึงคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าต่างๆ ที่เริ่มมีมากขึ้น
2. การกลั่นปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.95 เนื่องจากปีก่อนโรงกลั่นปิโตรเลียมบางรายมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น
3. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.71 ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น
4. เภสัชภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.61 จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ของผู้ผลิต และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีเพราะมีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศรวมถึงผู้ผลิตบางรายสามารถเพิ่มการผลิตได้สูงขึ้น หลังขยายอาคารเก็บรักษายาตั้งแต่ปลายปีก่อน
5. มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.29 จากมอเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้ามอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.29 เนื่องจากความต้องการใช้มอเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้าในช่วงการกักตัวอยู่บ้านของลูกค้าประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2563 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 8.0 ในขณะที่ปี 2562 MPI หดตัวร้อยละ 3.6 โดย
อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัวในปี 2563 อาทิ รถยนต์ เป็นการลดลงของตลาดในประเทศและตลาดส่งออกเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนปัจจัยในประเทศมีการหยุดการผลิตชั่วคราวช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2563 ตามมาตรการลดการแพร่ระบาด
การกลั่นปิโตรเลียม ภาวะการผลิตลดลง เนื่องจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ในประเทศและการส่งออกในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงไป โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ทำให้การเดินทางของผู้คนทั้งที่เป็นการเดินทางระหว่างประเทศและในประเทศลดลง
ยางล้อ จากการชะลอตัวของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการหดตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์
ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวดีในปี 2563 อาทิ
เภสัชภัณฑ์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มความต้องการใช้ที่สูงขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
อาหารสัตว์สำเร็จรูป ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นจากความต้องการสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นผลจากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2564 ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0 - 5.0 โดยมีแรงสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ (2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (3) แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐจากการเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ และ (4) ฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 อย่างไรก็ตามการขยายตัวจะดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงระบาดต่อเนื่องทั่วโลก และรอความชัดเจนของการใช้วัคซีนที่จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ในปี 2564
23. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และ บริษัท อีซีจี-รีเซิร์ซ จำกัด ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและการตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ สรุปสาระสำคัญดังนี้
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรม ได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนในลักษณะของการร่วมทุน (Venture Capital) ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Statup) ด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่การกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าร่วมติดตามความก้าวหน้าในการส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) ในกิจกรรมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและการตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect) ณ อาคารเกษรทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นสมควรรายงานความก้าวหน้ามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพ S-Curve
สาระสำคัญ
1. กระทรวงอุตสาหกรรม ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) เพื่อยกระดับผลิตภาพของผู้ประกอบการไทย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ส่งเสริมเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เท่านั้น แต่ได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ
2. การดำเนินการด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมศักยภาพ (S-Curve) ระหว่างกระทรวงอุตสหกรรม และบริษัท อีซีจี-รีเซิร์ช จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนด้านการลงทุนภาคเอกชนเฉพาะราย (Private Equity) ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและการตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Connect) ซึ่งมีผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 35 ทีม และมีผู้ผ่านการคัดเลือก 6 ทีม อาทิ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) เทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management) โดยบริษัท อีซีจี-รีเซิร์ช จำกัด มีความสนใจในการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ดังกล่าว รวมมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท
3. กระทรวงอุตสาหกรรม ได้วางแผนขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนรายอื่น ๆ ต่อไป อาทิ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นอกเหนือจาก บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ได้ร่วมมือกันมาแล้วกว่า 5 ปี และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 6 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรม S-Curve
ให้ครอบคลุมหลากหลายสาขามากยิ่งขึ้น
24. เรื่อง รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน
คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. รายงานว่า
1. เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 54 บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่งเพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย แต่การดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้รัฐพยายามระดมทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการพัฒนาเด็กเล็กอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาเด็กเล็กไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายพร้อมทั้งปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน มีความเห็นโดยสรุปว่า เพื่อให้การดำเนินการจัดการศึกษาของเด็กเล็กสอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนของประชาชน และได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ และพิจารณารายงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่อง การจัดการศึกษาเด็กเล็ก
2.
นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาและมีบัญชา
มอบหมาย ศธ. นำความเห็นและข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินไปพิจารณาดำเนินการเพื่อจัดทำประเด็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ต่อมา ศธ. โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ได้นำเสนอเรื่องข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ที่ประชุมมีมติรับทราบและมอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน
3. ศธ. ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินใน 6 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้
ประเด็นข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน |
ความก้าวหน้าการดำเนินงานของ ศธ. |
1) เสนอให้เร่งรัดติดตามการดำเนินการสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมีความเหมาะสมเป็นที่ยอมรับมาปฏิบัติหน้าที่ และมีอำนาจในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อจัดทำนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยและให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย |
สกศ. ได้ดำเนินการสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยแล้วเสร็จ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 96/2563 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ลงวันที่ 30 มีนาคม 2563 และได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยในปี 2563 จำนวน 3 ครั้ง
|
2) เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งเน้นให้เกิดการจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพ และจัดทำฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยโดยเร็ว โดยแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องมีการกำหนดกรอบการบริหารจัดการตามแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัย ติดตามผลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สนับสนุนแผนงานและโครงการการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นระบบ บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานที่ดำเนินการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย |
ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 และครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 เห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 และมอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนการเสนอแผนระดับที่ 3 ต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอเรื่องไปที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาตามลำดับ
|
3) เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวถือเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานของประเทศและเป็นมาตรฐานกลางของประเทศเพื่อให้ทุกหน่วยงาน และสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศใช้เป็นแนวทางในการประเมินผลการดำเนินงานและยกระดับคุณภาพ สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ที่มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ เพื่อการพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ |
ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติ (2 มกราคม 2562) เห็นชอบ (ร่าง) มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ สกศ. ได้แจ้งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกกระทรวง รวมถึงจัดประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจและจัดพิมพ์มาตรฐานฯ พร้อมคู่มือเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางหน่วยงานที่ยังไม่สามารถนำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติไปใช้ได้ เนื่องจากข้อจำกัดบางประการ เช่น การพัฒนาบุคลากรครู/ผู้ดูแลเด็กเพื่อรองรับการดำเนินงานตามมาตรฐานฯ การดำเนินการตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้ใช้มาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานศูนย์การศึกษาพิเศษ ฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม 2561 เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การขับเคลื่อนการดำเนินงานจึงยังไม่สามารถทำได้ครบทุกสังกัด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทำการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาระดับปฐมวัยของ ศธ. ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนการใช้มาตรฐานฯ ร่วมกันต่อไป |
4) เสนอให้มีการกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและส่งเสริมการบูรณาการงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะการให้บริการและการจัดสวัสดิการในด้านต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ควรกำหนดให้แต่ละหน่วยงานมีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนและกำหนดแผนปฏิบัติการทำงานร่วมกันระหว่าง 4 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ ศธ. กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรให้มีการดำเนินการแบบบูรณาการในหน่วยงานเดียวกัน (One Stop Service) |
หาก (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 – 2570 ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี หน่วยงานที่มีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะกระทรวงหลักทั้ง 4 แห่ง (ศธ. มท. สธ. และ พม.) จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องและเป็นไปตามที่แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563 - 2570 กำหนด ซึ่ง สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ จะเป็นหน่วยงานในการประสานงานและติดตามการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ ต่อไป |
5) เสนอให้ ศธ. ส่งเสริมและปลูกฝังให้ความสำคัญกับการผลิตครูและพัฒนาบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย โดยมุ่งเน้นให้มีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรที่มีการเสริมสร้างจิตวิญญาณของความเป็นครู โดยการพัฒนาและเสริมสร้างจริยธรรมครู ปลูกฝังให้ครูปฐมวัยสามารถอดทนทำงานหนักและเสียสละกำลัง เวลา และทุนทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อช่วยทำประโยชน์ให้กับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพต่อสังคม และส่งเสริมให้วิชาชีพครูเป็นที่ยอมรับ ได้รับความชื่นชม เพื่อยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับ มีเกียรติ และเป็นที่ไว้วางใจ |
ศธ. มีนโยบายการส่งเสริมการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของประเทศ รวมทั้งมีเป้าหมายในการพัฒนาครูและผู้บริหารในระบบปัจจุบันให้มีความรู้ ทักษะ และชุดความคิดใหม่ในการจัดการศึกษา โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ ศธ. ได้มีคำสั่ง ที่ คส 1/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษารูปแบบ แนวทาง และวิธีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับการศึกษาปฐมวัย และการศึกษาพิเศษ เพื่อส่งเสริมการผลิตและพัฒนาครูโดยใช้กรอบการทำงานตามข้อมูล ความรู้และผลการวิจัยที่มีอยู่ในส่วนต่าง ๆ นำมาสู่แผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้จัดทำ (ร่าง) รายละเอียดความรู้ สมรรถนะ และวิธีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ระดับการศึกษาปฐมวัย การศึกษาพิเศษ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ |
6) เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการบูรณาการร่วมกันระหว่างองค์กรภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นระบบ การพัฒนางานด้านเด็กปฐมวัยควรเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะภาครัฐ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมให้มีการพัฒนาและดูแลเด็กปฐมวัยอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมกันสร้างเสริมเจตคติและค่านิยมที่ดีในสังคมโดยมีมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และความร่วมมือกับภาคเอกชน และชุมชน และการแลกเปลี่ยนเพื่อจัดการองค์ความรู้ระหว่างกัน |
ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย กำหนดแนวทางบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งการบูรณาการการจัดบริการในแต่ละช่วงรอยต่อของเด็กปฐมวัย จัดทำแผนงบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีแบบบูรณาการของหน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางการติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งจัดทำมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย สมรรถนะและตัวชี้วัดการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยอำนาจและหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ มีความสอดคล้องตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งหากมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เรียบร้อยแล้วก็สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว) |
25. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วนว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เหมาะสมกับสังคมไทย ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน ว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เหมาะสมกับสังคมไทย ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน ว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เหมาะสมกับสังคมไทย ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ
โดยคณะกรรมาธิการการศึกษาได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะกรณีที่ไม่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และกรณีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในมาตรการเร่งด่วน และมาตรการระยะยาว
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ศธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ศธ. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานแล้ว เห็นว่า
รายงานการพิจารณาศึกษาดังกล่าวมีความเหมาะสมในอันที่จะเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายสนับสนุนและการนำนโยบายไปปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางในการปรับปรุงระบบการบริหารการจัดการศึกษาในระดับต่าง ๆ ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือในสถานการณ์อื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันที่เหมาะสมกับสังคมไทยให้มีคุณภาพต่อไป ส่วนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน ว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของ ศธ. ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้กำหนดมาตรการระยะยาวเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว
จึงได้เสนอผลการพิจารณาฯ มาเพื่อดำเนินการ
สรุปผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วนว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เหมาะสมกับสังคมไทย ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณาศึกษา |
มาตรการเร่งด่วน
1. ศธ. ควรดำเนินการด้านนโยบาย และการกระจายอำนาจ และด้านการบริหารจัดการ |
1. ศธ. กระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา โดยเปิดโอกาสให้ร่วมกันตัดสินใจ ร่วมกันวางแผนเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบท บนพื้นฐานของความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนภายใต้ “ความปกติใหม่” (New Normal”
การบริหารจัดการการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกล โดยดำเนินการจัดประชุมทางไกล เพื่อสร้างความเข้าใจถึงแนวทางและจัดเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนโดยกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนระบบทางไกล แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม ดำเนินการสำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การขออนุมัติการใช้ช่องรายงการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมขออนุมัติเผยแพร่การเรียนการสอนจากห้องเรียนต้นทางผ่านโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)
- ระยะที่ 2 การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ดำเนินการทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกลในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยการแพร่สัญญาณจาก DLTV
- ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่คลี่คลาย ดำเนินการสอนด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระบบออนไลน์ หากสถานการณ์คลี่คลาย ดำเนินการเรียนการสอนปกติในโรงเรียนโดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
- ระยะที่ 4 การทดสอบและศึกษาต่อ ดำเนินการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ |
2. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้ติดตามการสนับสนุนงบประมาณและความพร้อมของสถานศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ |
- ดำเนินงานตามนโยบายและแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกลภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งดำเนินการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลพื้นฐาน เพื่อประกอบวางแผนการดำเนินงานให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมในสถานศึกษาทุกจังหวัด
- การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและพัฒนาผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมการผลิตสื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนทางไกลของโรงเรียน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ผู้ว่าราชการจังหวัดมีมาตรการติดตามเฝ้าระวัง พร้อมให้รายงานผลอย่างจริงจัง ส่งผลให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการสอนแบบปกติและแบบทางไกล |
3. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรติดตามความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของผู้เรียนในด้านการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี |
- จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจ (COVID-19) ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้นำไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงาน โดยเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน เพื่อชี้แจงนโยบายและมาตรการให้กับสถานศึกษาในสังกัดและบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดของโรค กำกับ ติดตามนโยบายและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการข้อมูลที่ได้รับรายงานจากศูนย์และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันและแนวโน้มสถานการณ์ในอนาคต และประชาสัมพันธ์ให้กับสถานศึกษา เพื่อสร้างความรู้เท่าทัน และความเข้าใจที่ตรงกันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
- จัดประชุมชี้แจงแผนการดำเนินงานให้ทุกฝ่ายรับทราบและเข้าใจตรงกัน มีการแต่งตั้งคณะทำงาน ผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนในการดำเนินงานและการติดตาม ดูแล ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาหรือสนับสนุน การดำเนินงานการจัดการเรียนการสอนทางไกล
- สำรวจและประเมินความพร้อมของสถานศึกษาตามมาตรการที่ส่วนราชการกำหนด โดยต้องสอดคล้องกับคู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา และมาตรการการป้องกันโรคตามที่ส่วนราชการกำหนด |
4. สถานศึกษาควรจัดการเรียนการสอนทั้งแบบ Online และ Onsite โดยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้หลักสูตรเดียวกันตามที่ ศธ. กำหนด |
- การจัดการเรียนการสอนแบบปกติ (Onsite) สำหรับสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 120 คน หรือมีจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนในระดับปฐมวัยและประถมศึกษาไม่เกิน 20 คนต่อห้อง หรือจำนวนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายไม่เกิน 25 คนต่อห้องสามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของ สธ. 6 ข้อ ได้แก่ 1) วัดไข้ 2) ใส่หน้ากาก 3) ล้างมือ 4) เว้นระยะห่าง 5) ทำความสะอาด และ 6) ลดแออัด หากสถานศึกษามีจำนวนนักเรียนเกินขนาดห้องเรียนตามที่กำหนด ให้จัดการเรียนการสอนรูปแบบปกติได้ในลักษณะการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน เช่น การสลับชั้นมาเรียนของนักเรียน แบบสลับชั้นมาเรียน แบบสลับวันคู่ - วันคี่ การสลับกลุ่มนักเรียนแบบแบ่งนักเรียนในห้องเรียนเป็น 2 กลุ่ม เป็นต้น
- การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) เป็นการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชัน การจัดการเรียนการสอนแบบนี้เหมาะสำหรับครูและนักเรียนที่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ โดยมีทั้งหมด 4 ช่องทาง 1) เว็บไซต์ DEEP ผ่าน www.deep.go.th 2) เว็บไซต์ DLTV ผ่าน www.dltv.ac.th 3) เว็บไซต์ Youtube ผ่าน www.youtube.com ช่อง DLTV1 Channel - DLTV15 Channel และ 4) แอปพลิเคชัน DLTV บน Smartphone / Tablet |
5. ครูและบุคลากรทางการศึกษา ควรให้สิทธิครูได้ออกแบบการจัดการเรียนการสอนตามสถานการณ์และความพร้อมของห้องเรียน |
- เตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลการเรียนการสอน ดูแลด้านสุขอนามัยของนักเรียนตามหลักของกรมอนามัย สธ. ประสานผู้ปกครอง และนักเรียนเรื่องช่องทางการเรียนการสอนทางไกล การนัดหมายการทำกิจกรรม ใบงาน หรืองานที่ครูมอบหมายต่าง ๆ ถ้าหากผู้ปกครองมีศักยภาพสามารถช่วยครูจัดการเรียนการสอนได้ ให้ร่วมกับผู้ปกครองวางแผนการเรียนรู้ สำหรับการเรียนผ่านระบบทางไกลตามช่องทางต่าง ๆ ให้นักเรียนเรียนรู้ตามบริบทความพร้อมของนักเรียน |
6. ผู้ปกครองควรทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรับรู้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างสถานศึกษากับผู้เรียนเพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง |
- ติดตามข่าวสารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากแหล่งที่เชื่อถือได้ สังเกตอาการป่วยของนักเรียน หากมีอาการให้รีบพาไปพบแพทย์ และควรแยกเด็กไม่ให้ไปเล่นกับคนอื่น ให้พักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ กรณีมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคโควิด-19 หรือกลับจากพื้นที่เสี่ยงอยู่ในช่วงกักตัว ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
- จัดหาของใช้ส่วนตัวให้นักเรียนอย่างเพียงพอในแต่ละวัน และทำความสะอาดทุกวัน กำกับดูแลนักเรียนให้ล้างมือบ่อย ๆ จัดเตรียมอาหารปรุงสุก ใหม่
- ผู้ปกครองและโรงเรียนต้องขอความร่วมมือกับคนขับรถในการหามาตรการความปลอดภัยในขณะที่นักเรียนอยู่บนรถ โดยเน้นมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
- กรณีที่มีการจัดการเรียนการสอนทางไกล ออนไลน์ ผู้ปกครองควรให้ความร่วมมือกับครู ในการดูแลจัดการสอนแก่นักเรียน เช่น การส่งการบ้าน การร่วมทำกิจกรรม เป็นต้น |
7. นักเรียน/ผู้เรียน/นักศึกษา ต้องติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อจะได้ทันต่อการเตรียมการวางแผนศึกษาเล่าเรียนผ่านวิธีต่าง ๆ |
- ให้มีการปฏิบัติตนตามมาตรการความปลอดภัยของ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ออกจากบ้าน มาเรียน อยู่ในโรงเรียน จนกลับถึงบ้าน ในวันที่เรียนอยู่ที่บ้านต้องเตรียมหนังือ อุปกรณ์การเรียนให้พร้อมในการเรียนทางไกล การเรียนผ่านระบบทางไกลตามช่องทางต่าง ๆ ให้นักเรียนตามบริบทความพร้อมของนักเรียน โดยต้องนัดหมายกับครูในการเรียนรู้การทำกิจกรรม ใบงาน การบ้าน หรืองานที่ครูมอบหมายต่าง ๆ |
8. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ในพื้นที่ที่ตั้งสถานศึกษา ต้องจัดให้มีจุดคัดกรองสุขภาพอนามัยและอุณหภูมิหน้าประตูก่อนเข้าสถานศึกษาทุกวัน |
- สถานศึกษาต้องประสานหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งที่เป็นและไม่เป็นหน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือช่วยสนับสนุนภารกิจของสถานศึกษา ตามมาตรการสำคัญที่กำหนดไว้ตามความเหมาะสม เช่น ด่านควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด การท่าอากาศยานตรวจคนเข้าเมือง ทำหน้าที่คัดกรองนักเรียนที่เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ สถานพยาบาลทุกระดับทุกสังกัด และสถานพยาบาลเอกชน เตรียมพื้นที่รองรับผู้ป่วยและจัดระบบป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในสถานศึกษา เป็นต้น |
มาตรการระยะยาว
ศธ. ควรจัดทำหลักสูตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดต่อชนิดอื่น ๆ ที่อาจจะอุบัติขึ้นใหม่ในอนาคต และควรจัดหารูปแบบที่เหมาะกับการศึกษาไทยในอนาคตด้วย |
1. กำหนดมาตรการการเปิด-ปิด โรงเรียนให้สอดคล้อง และยืดหยุ่นตามความรุนแรงของการระบาดของโรค (COVID-19) โดยวางแนวทางให้พื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่องใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาต้องปิดโรงเรียน และให้นักเรียนเรียนทางไกลที่บ้าน ในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประปรายหรือไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาให้พิจารณาเปิดโรงเรียนได้ภายใต้ข้อจำกัดความพร้อมของห้องเรียน และความพร้อมในการเรียนทางไกลของนักเรียน และกำหนดให้แนวทางการเปิด-ปิด โรงเรียนยืดหยุ่นตามสถานการณ์ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในกรณีที่สถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้น และสถานการณ์ผ่อนคลายลง
2. ปรับปรุงห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนปลอดภัย ห่างไกล Covid-19 โดยกำหนดแนวทางให้โรงเรียนทุกแห่งสำรวจความพร้อมของห้องเรียน โดย ศธ. ประสานงานกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา กำหนดลักษณะของห้องเรียนที่เหมาะสม เช่น จัดระยะห่างระหว่างนักเรียนอย่างน้อย 1 เมตร และมีอากาศหมุนเวียนอย่างน้อย 10 เท่าของปริมาณอากาศในห้องเรียนเพื่อให้โรงเรียนทุกแห่งได้มีการประเมินความพร้อมด้านกายภาพของตน ทั้งนี้ ศธ. ควรสื่อสารอย่างชัดเจน โดยกำหนดแนวทางที่อิงกับแบบแปลนอาคารเรียนมาตรฐาน หรือในกรณีที่โรงเรียนไม่ได้ใช้แบบแปลนมาตรฐานควรแจ้งให้โรงเรียนทราบถึงมาตรฐานของการระบายอากาศอย่างชัดเจน
3. สำรวจความพร้อมการเรียนการสอนทางไกลของเด็ก เพื่อประเมินความเสี่ยง ศธ. หรือหน่วยงานต้นสังกัดโรงเรียนควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลพื้นฐานครัวเรือนนักเรียนมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อจัดกลุ่มตามระดับความเสี่ยงในการเข้าถึงการเรียนทางไกล โดยแบ่งนักเรียนเป็น 3 กลุ่ม โดย นักเรียนมีอุปกรณ์ดิจิทัลพร้อมอินเทอร์เน็ตที่บ้าน กลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ นักเรียนที่ไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่บ้าน แต่เข้าถึงไฟฟ้าได้ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่บ้าน และไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งนี้ ควรใช้ข้อมูลเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ปกครองด้วย เช่น เป็นนักเรียนอยู่กับพ่อแม่หรือไม่ เพื่อวางแผนในการสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ครอบครัว ที่ผู้ปกครองไม่พร้อมสนับสนุนบุตรหลานในกรณีที่ต้องเรียนที่บ้าน
4. จัดเตรียมอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล ในกรณีที่โรงเรียนต้องปิดเพราะพื้นที่มีการระบาดรุนแรงหรือโรงเรียนที่ไม่สามารถจัดชั้นเรียนในห้องเรียนแก่นักเรียนทุกคนได้ ศธ. และหน่วยงานต้นสังกัดควรจัดเตรียมอุปกรณ์ รวมทั้งสื่อการเรียนการสอนแก่นักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น จัดเตรียมแท็บเล็ต (Tablet) พร้อมเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในการยืมเรียนแก่นักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ที่บ้านแต่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนออนไลน์ได้ และจัดเตรียมสื่อแห้งในรูปชุดสื่อการเรียนรู้ (Learning Package) สำหรับนักเรียนที่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้
5. ใช้มาตรการทางสาธารณสุข และมาตรการทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอน ในกรณีที่โรงเรียนสามารถจัดการสอนได้ หรือใช้การสอนแบบผสม ควรบังคับใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดตามแนวทางปฏิบัติสำหรับสถานศึกษา เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค (COVID-19) ที่กำหนดโดย ศธ. ร่วมกับองค์กร UNICEF อย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ให้นักเรียน ครู หรือเจ้าหน้าที่ที่เจ็บป่วยมาโรงเรียน กำหนดให้มีการล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ และรณรงค์ส่งเสริมให้ใส่หน้ากากอนามัย
6. สื่อสารให้ผู้ปกครองทราบถึงความจำเป็นของมาตรการเปิด - ปิดโรงเรียน รวมทั้งให้คู่มือสนับสนุนนักเรียนสำหรับการเรียนทางไกล โดยให้ผู้ปกครองทราบว่ารัฐบาลมีแนวทางการเปิดโรงเรียนอย่างไรเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถประเมินสถานการณ์ในอนาคตได้ ศธ. ได้จัดทำคู่มือสำหรับผู้ปกครอง สนับสนุนบุตรหลานในกรณีเรียนที่บ้าน เช่น วิธีการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อเรียนออนไลน์ แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นหรือคู่มือการใช้สื่อการเรียนรู้ |
26. เรื่อง ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ
โดยคณะกรรมาธิการการศึกษาเห็นว่าการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาควรมีการวางแผนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและพัฒนากำลังสังคม มีการจัดการเรียนการสอนแบบ Onsite
และมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหากรณีที่ไม่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น และกรณีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ศธ. รับรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ศธ. ได้พิจารณาศึกษารายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะตามข้อ 2. แล้วเห็นว่า
กรณีที่ไม่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น สถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกแห่งดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบ Onsite เพื่อให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอนเป็นการจัดการศึกษาในลักษณะเต็มรูปแบบตามหลักสูตรอาชีวศึกษา และ
กรณีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น สถานศึกษาอาชีวศึกษาดำเนินการจัดการศึกษาโดยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบ Onsite ควบคู่ไปกับรูปแบบ On-Air และแบบ Online โดยสถานศึกษาบูรณาการจัดการศึกษาตามหลักสูตรในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมและความพร้อมของสถานศึกษาอาชีวศึกษาแต่ละแห่ง โดยการจัดเตรียมความพร้อมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถานศึกษาการจัดการเรียนการสอนมีการจัดทำคู่มือสร้างความเข้าใจและการเรียนการสอนตามหลักสูตร มีการพัฒนาครูผู้สอนและพัฒนาผู้เรียน และ สอศ. จะนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เรื่อง การบูรณาการการเรียนการสอนในรายวิชา หมวดวิชา กิจกรรมเสริมหลักสูตร และโครงการพัฒนาทักษะวิชาชีพไปประยุกต์ใช้ให้สัมพันธ์และสอดคล้องกับสภาวการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคตอย่างต่อเนื่องทุกภาคเรียน และการบริหารจัดการหลักสูตรอาชีวศึกษาให้เอื้อต่อการเรียนรู้ในวิถีความปกติใหม่ (New Normal) เพื่อให้สถานศึกษาอาชีวศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะและตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
จึงได้เสนอผลการพิจารณาฯ มาเพื่อดำเนินการ
สรุปผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการการศึกษาหลักสูตรอาชีวศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณาศึกษา |
กรณีที่ไม่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น |
สถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกแห่งดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบ Onsite เพื่อให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอนเป็นการจัดการศึกษาในลักษณะเต็มรูปแบบตามหลักสูตรอาชีวศึกษา ทั้งการจัดการศึกษาภาคทฤษฎีในสถานศึกษา และการฝึกภาคปฏิบัติหรือฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานศึกษา และสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตัวชี้วัดและวัตถุประสงค์ในการจัดหลักสูตรการจัดการศึกษา เพื่อให้มีสมรรถนะ มีคุณสมบัติและมีคุณภาพที่สอดคล้องตามที่หลักสูตรกำหนด |
กรณีที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น |
- การเตรียมความพร้อมของ สอศ.
(1) แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับ ติดตาม และแก้ปัญหาการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาอาชีวศึกษา และการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งมีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบดำเนินงานในแต่ละภาคครอบคลุมทุกจังหวัดที่มีสถานศึกษาสังกัด สอศ.
(2) การพัฒนาชุดการเรียนออนไลน์ (Online Course) ซึ่งพัฒนาจากรายวิชาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ในหมวดสมรรถนะแกนกลางและรายวิชาหมวดสมรรถนะวิชาชีพ เฉพาะสาขาวิชาที่มีผู้เรียนจำนวนมาก จำนวน 195 รายวิชา
- การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา
(1) คำนึงถึงความปลอดภัยตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต รวมถึงแนวทางการป้องกัน เช่น มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทั้งครู บุคลากรในโรงเรียน และผู้เรียน ก่อนเข้าสถานศึกษา การใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง กระจายให้มีผู้เรียนในห้องเรียนลดลง โดยจัดตารางเรียนให้เหมาะสม
(2) จัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้ของ สอศ. ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เผยแพร่ให้กับสถานศึกษาเพื่อให้ครู นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรในสถานศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เท่าทัน และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(3) จัดการเรียนการสอนโดยให้ความรู้กับผู้เรียนครบตามหลักสูตร โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีคุณภาพหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ การใช้แบบเรียนหรือเอกสารประกอบการสอนที่บ้าน โดยครูผู้สอนมีระบบออนไลน์ที่ติดต่อสื่อสารถึงผู้เรียนได้หลากหลายช่องทาง เช่น Line Facebook SMS การใช้ชุดการเรียนออนไลน์ (Online Course) ในรูปแบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (DEEP) และการใช้ระบบการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ของสถานศึกษา ได้แก่ การประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันที่สถานศึกษาสร้างขึ้น หรือที่มีใช้แพร่หลายในสังคมออนไลน์ รวมถึงการผลิตบทเรียนออนไลน์ด้วยตนเอง และการใช้ห้องเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของสถานศึกษา ซึ่งสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Realtime ได้
(4) สร้างความตระหนักและให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสในอนาคต และสร้างโอกาสในการฝึกวิชาชีพโดยใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษา ครูผู้สอน นักเรียน นักศึกษา ร่วมกันผลิตหน้ากากผ้า Face Shield เจลแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ในการป้องกันโรค
- การพัฒนาครูผู้สอน ด้านการใช้เทคโนโลยี พัฒนาครูอาชีวศึกษาให้สร้างบทเรียนออนไลน์ สื่อการสอน เทคนิควิธีสอน และการประเมินผลที่เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์
- การพัฒนาผู้เรียน โดยพัฒนาทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้วุฒิบัตรที่ลงนามร่วมกันระหว่าง สอศ. และ The Digital Skills Standard (ICDL) |
27. เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมติคณะกรรมการผู้สุงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่นตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญคือ
1. ชะลอการดำเนินการเรียกเงินเบี้ยยังชีพคืนจากผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ซึ่งมีผู้สูงอายุถูกทวงถามจำนวน 5,700 คน และอีก 2,000 คน อยู่ในบัญชีทวงถาม
2. ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรมบัญชีกลาง กรุงเทพมหานคร ร่วมหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สุงอายุซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น กำหนดเกณฑ์กลางที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหาทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดการรับซ้ำซ้อน
28. เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ได้พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการการขอยกเลิกการดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) และการรายงานผลการดำเนินโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี รวมถึงการรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 พ.ศ. 2563 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ) และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
1.
อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการสุขภาพ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เร่งปรับปรุงสาระสำคัญของโครงการฯ ในระบบ eMENSCR ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
2.
อนุมัติให้จังหวัดสุโขทัย ยกเลิกการดำเนินโครงการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรชุมชนเพื่อสนับสนุนการผลิตสมุนไพรในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย วงเงิน 3,537,800 บาท และให้จังหวัดนครปฐม ยกเลิกการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านเกษตร วงเงิน 2,952,800 บาท ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรสู่มาตรฐานเกษตรปลอดภัยของจังหวัดนครปฐมตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
3.
รับทราบผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ของกรมการจัดหางาน พร้อมทั้งเห็นควรให้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการฯ ตามขั้นตอนต่อไป
4.
รับทราบผลการติดตามการเบิกจ่ายเงินกู้ของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ตามที่คณะกรรมการฯ เสนอ พร้อมทั้งให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อนวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และยังมีผลการเบิกจ่าย ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ต่ำกว่าร้อยละ 10 จำนวน 209 โครงการ เร่งดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการฯ โดยเคร่งครัด
สาระสำคัญของเรื่อง
1) คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ของโครงการจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยบริการสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นการจัดซื้อ Surgical Mask Isolation Gown หน้ากาก N95 และชุด PPE โดยขอปรับลด/เพิ่มจำนวนหน่วยนับ ที่ไม่กระทบต่อราคาต่อหน่วยและกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 1,927.8089 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 และผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 32/2563 เพื่อให้การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นในเบื้องต้นสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน ที่มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (Patient Under Investigation: PUI) เป็นจำนวนมาก
2) คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้ว เห็นชอบให้จังหวัดสุโขทัย ยกเลิกโครงการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรชุมชนเพื่อสนับสนุนการผลิตสมุนไพรในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นหน่วยดำเนินงาน เนื่องจากติดปัญหาเรื่องความพร้อมของพื้นที่ ซึ่งเป็นผลจากที่พื้นที่ที่ได้สำรวจในเบื้องต้นเป็นพื้นที่ธรณีสงฆ์ และครุภัณฑ์ผลิตยาสมุนไพรที่จะจัดซื้อไม่ผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรฐานอุตสาหกรรม
และให้จังหวัดนครปฐมยกเลิกกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร วงเงิน 2,952,800 บาท เนื่องจากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการ ได้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรตามภารกิจของหน่วยงานและได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชจากภาคเอกชน ภายใต้โครงการ “ตู้เย็นข้างบ้านต้านโควิด-19” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งภายหลังการยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว จะส่งผลให้วงเงินของโครงการฯ ลดลงจาก 18,565,840 บาท เป็น 15,613,040 บาท
29. เรื่อง รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย-บราซิล
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย – บราซิล (บันทึกความเข้าใจฯ) และให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทย โดยมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญ ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
บันทึกความเข้าใจฯ เป็นการปรับปรุงข้อบทภายใต้ความตกลงฯ เพื่อสนับสนุนให้สายการบินของทั้งสองฝ่ายมีความยืดหยุ่นในการวางแผนการให้บริการเป็นการส่งเสริมการเดินทางระหว่างทั้งสองประเทศ
บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย – บราซิล มีสาระสำคัญ ดังนี้
รายการ |
สาระสำคัญ |
สายการบินที่กำหนด |
แต่ละฝ่ายยอมรับการกำหนดสายการบินได้หนึ่งหรือหลายสายการบินในการทำการบินตามเส้นทางที่ระบุ ในภาคผนวกของร่างความตกลงฯ โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ต่อไปนี้
1) สายการบินมีถิ่นที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในอาณาเขตของภาคีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
2) การควบคุมเชิงกำกับดูแลของสายการบินดำเนินการและคงไว้โดยภาคีคู่สัญญา ผู้กำหนดสายการบิน
3) ภาคีคู่สัญญาผู้กำหนดสายการบินต้องดำเนินการตามข้อบทเรื่องความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัยการบิน ซึ่งกำหนดไว้ภายใต้ความตกลงฯ
4) สายการบินที่กำหนดจะต้องมีคุณสมบัติซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่เป็นปกติในการดำเนินบริการเดินอากาศระหว่างประเทศ โดยภาคีที่ได้รับแจ้งการกำหนดสายการบิน |
ใบพิกัดเส้นทางบิน |
ให้สามารถทำการบินตามเส้นทางบิน ดังต่อไปนี้
ไทย จุดต่าง ๆ ในไทย – จุดระหว่างทางใด ๆ – จุดต่าง ๆ ในบราซิล – จุดพ้นใด ๆ
บราซิล จุดต่าง ๆ ในบราซิล – จุดระหว่างทางใด ๆ – จุดต่าง ๆ ในไทย – จุดพ้นใด ๆ
โดยไม่มีข้อจำกัดในด้านทิศทางหรือลักษณะทางภูมิศาสตร์และไม่มีสิทธิกาโบตาจ |
สิทธิรับขนการจราจร |
แต่ละฝ่ายสามารถทำการบินด้วยสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 4 และ 5 ได้ ภายใต้ความจุความถี่ที่กำหนด |
ความจุความถี่ |
ทำการบินได้ฝ่ายละ 14 เที่ยว/สัปดาห์ ด้วยแบบอากาศยานใด ๆ |
พิกัดอัตราค่าขนส่ง |
สายการบินสามารถกำหนดพิกัดอัตราค่าขนส่งของตนเองได้ โดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติพิกัดอัตราค่าขนส่งจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของแต่ละฝ่ายอาจขอให้สายการบินที่กำหนดแจ้งราคาที่กำหนดในการทำการบินไปยัง/มาจากอาณาเขตของตน |
การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน (Code Sharing) |
ให้สายการบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่ายสามารถทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินใด ๆ รวมถึงสายการบินของประเทศที่สามได้ โดยสายการบินที่กำหนดต้องได้รับการอนุญาตที่เหมาะสมและเป็นไปตามข้อกำหนดของการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน นอกจากนี้ จะไม่นับหักสิทธิความจุความถี่ของการบินที่ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินบริการ ทั้งนี้ สายการบินต้องได้รับการอนุญาตก่อนเริ่มดำเนินบริการ |
การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ |
ให้สิทธิแก่สายการบินในการรวมการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ต่อนื่องกับการขนส่งทางอากาศมายังหรือไปจากจุดใด ๆ ในอาณาเขตของภาคีคู่สัญญาหรือประเทศที่สาม โดยมีเงื่อนไขว่า จุดต้นทางและจุดปลายทางของการทำการบินต้องอยู่ในอาณาเขตของภาคีคู่สัญญาซึ่งดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการขนส่งอื่น ๆ ได้ โดยอยู่ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่าย |
ประโยชน์ที่จะได้รับจากผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – บราซิล ในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ปฏิบัติการการบินของสายการบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่ายมีความยืดหยุ่นในการวางแผนการตลาดให้เกิดความคุ้มทุนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการแข่งขันกันในเส้นทางบิน ส่งผลให้ค่าขนส่งเป็นไปตามกลไกตลาด อันเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้ผู้โดยสารมากขึ้น
30. เรื่อง การจัดกิจกรรมพระมหาสมณานุสรณ์ รัฐบาลไทยและองค์การยูเนสโกร่วมฉลอง 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พุทธศักราช 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกิจกรรมพระมหาสมณานุสรณ์ รัฐบาลไทยและองค์การยูเนสโกร่วมฉลอง 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พุทธศักราช 2564 และให้หน่วยราชการแต่ละหน่วยใช้งบประมาณของตนเองในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในการดำเนินงาน หรือทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมได้ พร้อมให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรมพระมหาสมณานุสรณ์ รัฐบาลไทยและองค์การยูเนสโกร่วมฉลอง 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระ มหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พุทธศักราช 2564 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
สาระสำคัญ
เนื่องด้วยใน
วันที่ 2 สิงหาคม 2564 จะเป็นวันครบรอบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ)
กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นสมควรจัดกิจกรรมพระมหาสมณานุสรณ์ รัฐบาลไทยและองค์การยูเนสโกร่วมฉลอง 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พุทธศักราช 2564 ในการประกาศยกย่องและเฉลิมฉลองวาระครบรอบที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับงานขององค์การยูเนสโกปี 2563 - 2564 ตามมติที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (องค์การยูเนสโก) ครั้งที่ 40 ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1) กระทรวงศึกษาธิการ 2) กระทรวงวัฒนธรรม 3) สำนักนายกรัฐมนตรี 4) กระทรวงมหาดไทย 5) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย 6) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 7) กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมจัดกิจกรรม
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2564 โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การจัดนิทรรศการเผยแพร่พระประวัติ วัตรปฏิบัติ และพระกรณียกิจของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ การออกแบบและจัดทำตราสัญลักษณ์ การจัดตั้ง “กองทุนสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา” การจัดตั้ง “สถาบันวชิรญาณวโรรส” การจัดนิทรรศการภาพถ่ายพระประวัติและภาพศิลปกรรมเหมือนจริง การเผยแพร่สารคดี เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรมพระมหาสมณานุสรณ์ฯ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมพระมหาสมณานุสรณ์ฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 ของหน่วยงานที่สามารถจัดสรรได้เป็นทางเลือกแรก หากไม่สามารถดำเนินกิจกรรมโดยใช้งบประมาณของหน่วยงานได้ จึงจะขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากงบประมาณของรัฐบาล
31. เรื่อง ผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือ ลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 และพิจารณามอบหมายส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2
ถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 มีสาระสำคัญไม่แตกต่างจากร่างถ้อยแถลงฯ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มประเด็น ได้แก่ 1) การแสดงความกังวลถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) รายละเอียดในสาขาการเกษตรและการพัฒนาชนบท 3) ความมั่นคงทางไซเบอร์ เทคโนโลยี 5G และ 4) การปรับถ้อยคำในส่วนของการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
สาระสำคัญของถ้อยแถลงของผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ สาธารณรัฐเกาหลี ยกระดับความร่วมมือไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันผ่านนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus) ประเทศไทย (ไทย) สนับสนุนนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส พร้อมทั้งผลักดันความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูภายหลังโควิด-19 โดยเน้นย้ำใน 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และ 2) การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาคและโลก ภาพรวมร่วมกันรับมือโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ การต่อต้านภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ และยกระดับความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์
2. ผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12
ถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 มีสาระสำคัญไม่แตกต่างจากร่างถ้อยแถลงฯ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มประเด็น ได้แก่ 1) การแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์พายุโซนร้อนหลิ่นฟา นังกา และไต้ฝุ่นโมลาเบ 2) การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 3) การส่งเสริมการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานและความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรม 4) การยินดีต่อการประกาศหุ้นส่วนของการลงทุน และ 5) การสนับสนุนกัมพูชาในการจัดประชุมเอเชีย-ยุโรป
สาระสำคัญของถ้อยแถลงของผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ญี่ปุ่นพัฒนาและส่งเสริมสันติภาพใน อนุภูมิภาคและส่งเสริมความเชื่อมโยงของ อนุภูมิภาค ได้เสนอความร่วมมือ 5 ด้าน ได้แก่ 1) หุ้นส่วนการลงทุน 2) ข้อริเริ่ม “คูซาโนเนะ” 3) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4) ความมั่นคงทางทะเล และ 5) การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน
ไทย เน้น 3 ประเด็นที่มีความสำคัญเร่งด่วน ได้แก่ 1) ด้านสาธารณสุข 2) การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการจัดทำแผนแม่บทเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบและดิจิทัล และ 3) การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการพัฒนาระดับรากหญ้า
ภาพรวม ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 พัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเน้นความเชื่อมโยงระหว่างมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิกกับแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่น และกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นและกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง
ทั้งนี้ มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำผลประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 เช่น การเกษตรและการพัฒนาชนบท ความเชื่อมโยงทางกายภาพ กฎระเบียบ และอุตสาหกรรม การส่งเสริมการพัฒนาข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
32. เรื่อง รายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาของรองนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการ (จำนวน 7 ราย)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอรายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา (ปคร.) ของรองนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการ (จำนวน 7 ราย) ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เนื่องจาก ปคร. ของรองนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการดังกล่าวที่ได้รับการแต่งตั้งมีการแต่งตั้งใหม่ เกษียณอายุราชการ และโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่ง ซึ่ง สลค. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของ ปคร. ทั้ง 7 ราย ดังกล่าวแล้วว่า เป็นไปตามข้อ 5 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา พ.ศ. 2551 ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรี/ส่วนราชการ |
รายชื่อ ปคร. |
1. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) |
นายเอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง |
2. พม. |
นายอนุกูล ปีดแก้ว
รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ |
3. อว. |
นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม
ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
4. รง. |
นางสาวบุปผา เรืองสุด
ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน |
5. ศธ. |
นายวีระ แข็งกสิการ
รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ |
6. สธ. |
นายสุระ วิเศษศักดิ์
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข |
7. ตช. |
พลตำรวจโท อัคราเดช พิมลศรี
ผู้บัญชาการ ประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ |
33. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
(หมายเหตุ เรื่องนี้ขอให้ดูเนื้อหาในไฟล์เอกสารดาวน์โหลด)
34. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
1.
นางศิริลักษณ์ นิยม อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก
2.
นางสาวชวนาถ ทั่งสัมพันธ์ รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ให้ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ สาธารณรัฐฟินแลนด์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป ซึ่งการแต่งตั้งข้าราชการให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำต่างประเทศทั้ง 2 ราย ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ
35. เรื่อง การต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของเอกอัครราชทูต (กระทรวงการต่างประเทศ)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสนอการต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 3 ราย ดังนี้
1.
นายธีรวัฒน์ ภูมิจิตร เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะครบการต่อเวลา 1 ปี (ครั้งที่ 1) ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ต่อไปอีก (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 (นายธีรวัฒน์ฯ จะเกษียณอายุราชการวันที่ 1 ตุลาคม 2564)
2.
นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวครบ 4 ปี เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ต่อไปอีก 1 ปี (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
3.
นายพรพงศ์ กนิษฐานนท์ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ซึ่งดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะครบ 4 ปี ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ต่อไปอีก (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 (นายพรพงศ์ฯ จะเกษียณอายุราชการวันที่ 1 ตุลาคม 2564)
36. เรื่อง ขออนุมัติแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมชุดใหม่ จำนวน 9 คน ดังนี้
1. นายประพันธ์ เทียนวิหาร ผู้แทนเกษตรกร
2. นายเด่นณรงค์ ธรรมมา ผู้แทนเกษตรกร
3. นายมีชัย ดีมะการ ผู้แทนเกษตรกร
4. นายบุญช่วย มหิวรรณ ผู้แทนเกษตรกร
5. นายเผด็จ ดิฐษดี ผู้แทนเกษตรกร
6. นายสุวิทย์ ไทยเอียด ผู้แทนเกษตรกร
7. นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส ผู้ทรงคุณวุฒิ
8. นายเกษมสันต์ จิณณวาโส ผู้ทรงคุณวุฒิ
9. นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
37. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการองค์การสะพานปลา
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการองค์การสะพานปลา แทนคณะกรรมการที่ครบวาระ ดังนี้
1. นายประยูร ดำรงชิตานนท์ ประธานกรรมการ
2. นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ กรรมการ
(ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
3. นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ กรรมการ
4. นายสมิทธิ ดารากร ณ อยุธยา กรรมการ
5. นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการ
6. นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ กรรมการ
7. นางสาวชุติมา ศรีปราชญ์ กรรมการ
(ผู้แทนกระทรวงการคลัง)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
38. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง
รองศาสตราจารย์จอมพงศ์ มงคลวนิช เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ แทนผู้ที่ลาออก และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
39. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง
นางสุพัชรี ธรรมเพชร เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป
..............
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)